มาร์โค โปโล กับข้อกังขาเรื่องเคยไปจีนจริงหรือไม่ ประเด็นถกเถียงในหมู่นักประวัติศาสตร์ไม่รู้จบ

มาร์โค โปโล กับข้อกังขาเรื่องเคยไปจีนจริงหรือไม่ ประเด็นถกเถียงในหมู่นักประวัติศาสตร์ไม่รู้จบ

หลายคนอาจรับรู้ว่า มาร์โค โปโล คือหนึ่งในนักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่ของโลก จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ล่องเรือไปพบทวีปอเมริกา แต่เมื่อเวลาผ่านไปมันอาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมด

มาร์โค โปโล ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ว่า เกิดในราวปี ค.ศ.1254 (พ.ศ.1797) ที่เมืองเวนิซ ประเทศอิตาลีในปัจจุบัน แต่ตระกูลของเขาน่าจะอพยพมาจากแถบยูโกสลาเวีย ในยุคนั้นชาวยุโรปยังไม่รู้จักดินแดนทางตะวันออกที่เลยอาหรับออกไป โดยเชื่อว่าอีกแถบหนึ่งเป็นสวนอีเดนหรือดินแดนของมนุษย์ประหลาด แม้จะมีการค้าตามเส้นทางสายไหมบ้าง ก็เป็นการค้าแบบส่งสินค้าต่อกันมาเป็นทอดๆ จากเขตหนึ่งไปอีกเขตหนึ่ง เรื่องราวของทวีปเอเชียในตอนนั้นจึงคล้ายกับนิทานที่เล่ากันแบบปากต่อปาก ข้อเท็จจริงจึงยังน้อยอยู่

กระทั่งในปี 1269 พ่อและลุงของ มาร์โค คือ นิโคโล และ มัฟเฟโอ ได้เดินทางไปค้าขายทางตะวันออก ผ่านเส้นทางสายไหมจนได้พบกับผู้แทนของจักรพรรดิ์กุบไลข่านที่เชิญพี่น้องทั้งสองให้ติดตามไปเข้าเฝ้าจักรพรรดิ์ซึ่งไม่เคยรู้จักจากชาวยุโรปมาก่อน นิโคโล และ มัฟเฟโอ รับคำเชิญ ตามผู้แทนดังกล่าวไปจนถึงเมืองจีน และได้เข้าเฝ้าองค์จักรพรรดิ์กุบไลข่าน ดังนั้น มาร์โค โปโล จึงมิใช่ชาวยุโรปคนแรกที่เดินทางไปเมืองจีน เพราะนอกจาก พ่อ และ ลุง ของเขาแล้ว อาจเคยมีชาวตะวันตกเดินทางมาถึงจีนแล้วอย่างไม่เป็นทางการก่อนหน้านั้น

กุบไลข่าน ทรงพอพระทัยในความสามารถของสองพี่น้องตระกูล มาร์โค และได้ขอให้ทั้งสองนำสาส์นไปถวายองค์พระสันตปาปาเพื่อขอนักปราชญ์ 100 คน ใน 7 สาขา มาเพื่อช่วยพัฒนาจีนในตอนนั้น โดยเมื่อทั้งสองกลับมาถึงเวนิซในอีก 9 ปีต่อมา พวกเขาพบว่าพระสันตปาปาพึ่งสิ้นพระชนม์ ซึ่งทางวาติกันยังไม่ได้ดำเนินการเลือกพระสันตปาปาองค์ใหม่ แผนการเดินทางของทั้งคู่จึงหยุดชะงัด

การเดินทางไปจีนของ มาร์โค โปโล

ในปี 1271 พี่น้องตระกูลมาร์โค ตัดสินใจเดินทางกลับไปเฝ้ากุบไลข่าน โดยครั้งนี้พวกเขาพา มาร์โค โปโล ลูกชายของ นิโคโล วัย 17 ปี เดินทางไปด้วย ระหว่างการเดินทางคณะได้เข้าเฝ้าพระสันตปาปาองค์ใหม่ที่พึ่งได้รับเลือก ณ กรุงเยรูซาเล็ม พระสันตปาปาได้มอบหมายให้พระโดมินิกันเดินทางไปด้วยเพียง 2 รูป แต่ทั้ง 2 ได้หายตัวไประหว่างการเดินทาง ซึ่งคาดว่าจะกลัวอันตรายจึงเปลี่ยนใจกลับ แต่ครอบครัวโปโลไม่สนใจพระทั้งสองรูป คณะเดินทางไปยังเส้นทางสายไหมต่อไป พวกเขาผ่านทั้งเมืองเอเคอร์ อามาเนียร์ และ อาเซอร์ไบจาน ก่อนจะเดินลงใต้ไปยังบริเวณ อ่าวเปอร์เซีย อัฟกานิสถาน ข้ามทะเลทราบโกบีอันกว้างใหญ่ จนมาถึงราชสำนักของ กุบไล ข่าน ในเมืองจีนได้สำเร็จ เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1275 ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 4 ปีกว่าๆ

หลังจากได้เข้าเฝ้าองค์จักรพรรดิ์กุบไลข่านที่พระราชวังเมืองชางตู มาร์โค โปโล ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินจีนตอนใต้ รวมถึงเป็นเจ้าเมืองหยางโจว 3 ปี ต่อมาเขาได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นทูตต่างประเทศมาร์โค โปโล ถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจทางการทูตมากมายทั่วทั้งจักรวรรดิและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า อินเดีย อินโดนีเซีย ศรีลังกา และเวียดนามในปัจจุบัน

ผ่านไปกว่า 17 ปี หลังจากครอบครัวโปโลรับใช้ราชสำนักมองโกลมานานจนใกล้สิ้นสุดยุคของ กุบ ไลข่าน ที่ทรงพระชราภาพ ครอบครัว มาร์โค โปโล กังวลเรื่องความปลอดภัยหลังผลัดแผ่นดินจึงทูลขอเดินทางกลับยุโรป แต่ กุบ ไลข่าน ทรงไม่อนุญาต จน มาร์โค โปโล อาสาว่าจะพาองค์หญิงมองโกลพระนามว่า Kököchin ไปส่งยังเปอร์เซีย เพื่อสมรสกับเจ้าชายชาวเปอร์เซียในยุคนั้น กุบ ไลข่าน จึงยอมให้พวกเขาออกจากจีนในปี ค.ศ. 1291-92 พวกเขาตัดสินใจใช้ความเป็นชาติที่ชำนาญการเดินทางโดยเรือพาณิชย์กลับทางทะเลแทน คณะของ มาร์โค โปโล ติดมรสุมอยู่ถึง 5 เดือน ก่อนจะผ่านศรีลังกา อินเดีย ได้ ผู้ร่วมเดินทางหลายคนเสียชีวิตจากพายุและโรคภัยไข้เจ็บ กระทั่งประมาณปี ค.ศ. 1293 พวกเขาจึงมาถึงท่าเรือฮอร์มุซในเปอร์เซีย เมื่อได้ลาองค์หญิงแล้ว พวกเขาได้ใช้เวลาอีก 2 ปี เดินทางทางบกต่อไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิลจนมาถึงเวนิสในปี 1295

ครอบครัวโปโลนำสมบัติอันล้ำค่ามากมายเป็นซึ่งเป็นอภินันทนาการจากการรับใช้จักรวรรดิมองโกลมายาวนาน ทว่าญาติๆจำพวกเขาไม่ได้เลย และคิดว่าพวกเขาตายไปแล้ว ซํ้ายังโชคร้ายที่ช่วงนั้นเวนิสกำลังทำสงครามกับเจนัว หลังแพ้สงคราม ทรัพย์สมบัติของครอบครัวจำนวนมากจึงถูกยึด โดย มาร์โค โปโล ถูกจับตัวคุมขังเป็นนักโทษ เรื่องราวการเดินทางไปจีนของครอบครัวโปโลจึงไม่ค่อยถูกรับรู้ในสังคมสมัยนั้น

เรื่องเล่าของ มาร์โค โปโล

ในคุกที่เจนัว มาร์โค โปโล ถูกขังคุกรวมอยู่กับ รัสติเชลโล นักเขียนนิยายเพ้อฝัน โดย รัสติเชลโล ได้บันทึกเรื่องเล่าการเดินทางของ มาร์โค โปโล ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรตามคำบอกเล่าของ มาร์โค จนทำเป็นหนังสือชื่อ Il Milione ความยาวสี่เล่ม โดยหลังจากทั้งสองพ้นโทษในปี 1299 ได้เริ่มมีการแจกสำเนาหนังสือนี้จากการคัดลอกด้วยมือทั้งหมด Il Milione ได้รับการแปลถึง 4 ภาษา แต่นักอ่านหลายคนมองว่ามันเป็นเพียงเรื่องแต่ง และหนังสือไม่ได้รับการยอมรับจากทางการเวนิซเท่าที่ควร

ทั้งนี้ เหตุการณ์ทั้งในยุโรปและจีนในระยะต่อมาก็เป็นอุปสรรคในการเดินทางติดต่อกัน เมื่อจักรพรรดิ์กุบไลข่านสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ปี 1294 ชาวมองโกลเกิดการแตกแยกสู้รบกันเองจนอาณาจักรแตกสลาย และชาวมองโกลถูกขับออกจากจีน ส่วนยุโรปได้เกิดกาฬโรคระบาด คร่าชีวิตผู้คนไปกว่าครึ่งทวีป จึงไม่มีใครคิดจะเดินทางไปจีนเพื่อพิสูจน์เรื่องเล่าของ มาร์โค โปโล

มาร์โค โปโล ถึงแก่กรรมในปี 1324 แม้จะถูกครหาจากคนจำนวนมากว่า เรื่องราวในหนังสือของเขาเป็นเรื่องโม้ อย่างมากก็แค่ฟังคนอื่นเขาเล่ามาตอนที่เดินทางแถบบริเวณยุโรปตะวันออก แต่ มาร์โค ยืนยันว่าสิ่งที่อยู่หนังสือยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเรื่องราวทั้งหมดในการเดินทางของเขา และน่าสนใจว่าต่อมาสิ่งที่อยู่ในหนังสือ Il Milione ทั้งสี่เล่ม หลายอย่างก็ตรงตามประวัติศาสตร์จีน รวมถึงยังเป็นแรงบันดาลใจให้ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส อีกหนึ่งนักเดินทางชาวเจนัว ล่องเรือตามรอยหนังสือ Il Milione จนไปพบทวีปอเมริกา เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 1492 ( โคลัมบัส ต้องการเดินทางไปจีน แต่ไปผิดทิศจนไปพบดินแดนที่ไม่เคยมีผู้ใดค้นพบมาก่อน )

ข้อกังขา มาร์โค โปโล เคยเดินทางไปจีนจริงหรือไม่

มาร์โค โปโล เดินทางไปจีนจริงหรือไม่ เป็นข้อกังขาที่มีมาตั้งแต่สมัยที่หนังสือ Il Milione ออกเผยแพร่ จนถึงยุคปัจจุบันก็ยังเป็นที่ถกเถียงทั้งในบรรดานักประวัติศาสตร์ชาวยุโรปและอเมริกัน มีบางคนตั้งข้อสังเกตถึงขั้นว่า มาร์โค โปโล มีตัวตนจริงหรือไม่ รวมทั้งมีภาพยนตร์สารคดีอย่าง The True Story of Marco Polo ที่พยายามตั้งข้อสงสัย ไปจนถึงพิสูจน์ว่า มาร์โค โปโล ไม่เคยเดินทางไปถึงเมืองจีน (อาจเดินทางไปจริง แต่ไม่ถึง)

สำหรับข้อสงสัยจากนักประวัติศาสตร์ที่ว่า มาร์โค โปโล โป้ปดมดเท็จ ไม่เคยไปถึงจีนมีหลายข้อทั้ง ความไม่น่าเชื่อถือของผู้บันทึกอย่าง รัสติเชลโล ที่เป็นทั้งนักเขียนนิยาย และ นักโทษ , ไม่มีการบันทึกเรื่องการส่งพระโดมินิกันเดินทางไปราชสำนักมองโกลในสำนักวาติกันเลย , ฝ่ายราชสำนึกจีนไม่ได้มีการบันทึกเรื่องการให้ชาวต่างชาติมารับตำแหน่งข้าหลวงในยุค กุบ ไลข่าน , การที่ มาร์โค อ้างว่าได้รับการแต่งตั้งเป็น ทูตต่างประเทศ ในวัยเพียง 21 ปี ซึ่งหลายคนไม่เชื่อว่าเด็กหนุ่มอายุน้อยจะได้รับความไว้วางใจจาก กุบ ไลข่าน , หนังสือของ มาร์โค โปโล ส่วนใหญ่เรียกชื่อต่างๆ เป็นภาษาเปอร์เซีย หรือตุรกี ทำให้เกิดความสงสัยว่า เรื่องของเขาอาจเป็นเพียงการปะติดปะต่อคำบอกเล่าต่อๆกันมาของบรรดาพ่อค้าชาติต่างๆ , ความเชื่อที่ว่า มาร์โค โปโล เป็นผู้ให้กำเนิดพาสต้า ที่จริงหนังสือ Il Milione ไม่เคยอวดอ้าง เพราะชาวอาหรับเป็นผู้นำข้าวสาลีและพาสต้าเข้ามายังยุโรปหลายร้อยปีก่อน มาร์โค โปโล และ การที่ มาร์โค โปโล ไม่ได้พูดถึง กำแพงเมืองจีน หรือวัฒนธรรมการใช้ตะเกียบ การดื่มนํ้าชา กับการห่อเท้าของผู้หญิงจีนเลย ซึ่งทั้งที่สี่เรื่องนี้เป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนมากของจีน แต่กลับไม่ปรากฏในหนังสือ Il Milione

ขณะที่นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ที่เชื่อว่า มาร์โค โปโล ไปจีนมาจริงโต้แย้งว่า การที่ มาร์โค โปโล พูดถึงเงินกระดาษที่ใช้ในจีนยุคนั้น ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในยุโรป ข้อนี้ตรงตามประวัติศาสตร์ , การพูดถึงคลองใหญ่ขนาดยักษ์อย่าง ต้ายุ่นเหอ ตอนที่เขาเดินทางช่วงทำงานเป็นข้าหลวงคือคลองที่มีอยู่จริง และ สะพานชะลอนํ้าของหยางโจว ที่ มาร์โค โปโล บรรยายว่าเป็นสถาปัตยกรรมของจีนในยุคนั้น ถูกพิสูจน์ว่ามีอยู่จริงในเมืองหยางโจว เช่นกัน

ส่วนการได้รับการแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงตอนอายุ 21 ของ มาร์โค โปโล ก็สอดคล้องกับบันทึกของราชวงศ์หยวนในช่วงนั้น โดยตรงกับความจริงว่า ราชวงศ์จีนในยุคมองโกลมีค่านิยมชอบแต่งตั้งชาวต่างชาติมาเป็นข้าหลวงปกครองดินแดนต่างๆ ด้านการที่ มาร์โค โปโล ไม่พูดถึงกำแพงเมืองจีน นักประวัติศาสตร์บางคนมองว่า เพราะมองโกลนำกองทัพปีนข้ามกำแพงมายึดเมืองจีนได้สบายๆ ราชวงศ์มองโกลจีนจึงเห็นว่า กำแพงเมืองจึงคือความล้มเหลว ไม่ใช่แนวป้องกันที่น่าทึ่ง แต่เป็นเพียงกำแพงกันเขตแดนธรรมดาที่มีความยาว มาร์โค โปโล จึงมองข้ามไป

ดังนั้น แม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า มาร์โค โปโล เดินทางไปถึงเมืองจีนด้วยตัวเองจริงหรือไม่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ 100% เช่นกันว่า มาร์โค โปโล ไม่เคยเดินทางไปยังประเทศจีนเลย ประเด็นนี้จึงน่าจะกลายเป็นหนึ่งในสิ่งที่นักประวัติศาสตร์โลกจะถกเถียงกันต่อไปอีกนาน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า หนังสือ Il Milione ทั้ง 4 เล่มมีประโยชน์ เนื่องจากเรื่องเล่าของ มาร์โค โปโล มีอิทธิพลอย่างมากต่อความทะเยอทะยานในการเดินเรือของชาวยุโรป จนสามารถค้นพบดินแดนต่างๆมากมายในเวลาต่อมา

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ภาพ AKG/ALBUM / LEEMAGE/GETTY IMAGES

ที่มา

https://en.wikipedia.org/wiki/Marco_Polo

https://www.nytimes.com/1996/04/05/opinion/ l-how-marco-polo-missed-china-s-charms-052256.html

https://www.sciencedaily.com/releases/2012/04/120416100439.htm

https://www.nationalgeographic.com/history/history-magazine/article/rabban-bar-sauma-epic-east-to-west-travels-rival-marco-polo

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส จากผู้สร้างข้อพิพาทสนธิสัญญาทอร์เดซิลลาส สู่ฆาตกรและสัญลักษณ์การเหยียดผิว

Recommend