นักคณิตศาสตร์ เอส. ศรีนิวาสะ รามานุจัน ผู้มีประวัติโดดเด่นราวกับนิยาย

ศรีนิวาสะ รามานุจัน มีผลงานเด่นคือ การค้นพบสูตรอนุกรมอนันต์ที่ใช้หาค่าพาย (π) และตลอดชีวิตรามานุจันสร้างผลงานทางคณิตศาสตร์กว่า 3,900 ชิ้น

3.14 คือค่าของสัญลักษณ์พายที่หาจากความยาวของเส้นรอบวงกลม (Perimeter) หารด้วยความยาวของเส้นผ่านศูนย์กลางของวงกลมวงนั้น (Diameter) โดยประมาณ ซึ่งมีค่าเท่ากับ 3.14 แต่ในขณะเดียวกัน 3.14 สามารถหมายถึงวันที่ 14 มีนาคม ด้วยเช่นกัน นักคณิตศาสตร์จึงพร้อมใจกำหนดให้วันแห่งค่าพายนี้เป็นวันคณิตศาสตร์โลก เพื่อเฉลิมฉลองการคิดค้นอัตราส่วนทางคณิตศาสตร์อย่าง “ค่าพาย”

นอกจากนี้วันที่ 14 มีนาคม ยังตรงกับวันคล้ายวันเกิดของ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” นักวิทยาศาสตร์และนักฟิสิกส์ที่หลายคนบนโลกรู้จัก

นับตั้งแต่มนุษย์เริ่มรู้จักคณิตศาสตร์ ได้มีนักคณิตศาสตร์มากมายที่ทำงานเพื่อวางรากฐานสู่การค้นพบใหม่ๆ จนพัฒนาชีวิตมนุษย์ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในบรรดาพวกเขา เราขอนำเสนอเรื่องราวของนักคณิตศาสตร์ชาวอินเดีย “ศรีนิวาสะ รามานุจัน” ที่ความเป็นอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ของตัวเขาโดดเด่นขึ้นด้วยตัวเอง และมีชีวิตราวกับนวนิยาย

ศรีนิวาสะ รามานุจัน เกิดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 1887 ที่แคว้นมัทราส หรือเจนไน ประเทศอินเดีย เขาเกิดในครอบครัววรรณะพราหมณ์ที่ยากจน ในขณะนั้น อินเดียเป็นประเทศที่ยากจนซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอังกฤษ จึงไม่ได้มีการศึกษาในด้านคณิตศาสตร์อย่างกว้างขวางเท่าไรนัก

ในวัยเด็ก รามานุจัน เข้ารับการศึกษาแบบเด็กประถมทั่วไปในยุคนั้น แต่ช่วงที่เขาอายุได้ 10 ขวบ ก็เริ่มฉายแววความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ เขาสามารถท่องค่าของสแควร์รูท 2 และค่าของพาย ที่มีทศนิยม ถึง 50 หลัก ได้อย่างถูกต้อง สามารถอ่านตรีโกณมิติได้อย่างแตกฉาน และสามารถศึกษาคณิตศาสตร์ในเรื่องนี้ด้วยตัวเองอย่างลึกซึ้ง ทำให้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ของเขาก้าวล้ำกว่าเด็กๆในวัยเดียวกัน

เมื่ออายุได้ 17 ปี รามานุจันสามารถคิดค้นทฤษฎีคณิตศาสตร์ของตนเอง เขาสามารถพิสูจน์ทฤษฎีเอกลักษณ์ของออยเลอร์ได้ และทำวิจัยสมการของแบร์นูลลี จนได้รับทุนการศึกษาจาก University of Madras มหาวิทยาลัยในแคว้นเจนไน แต่ถูกริบทุนคืนในปีแรก เนื่องจากเขาตั้งใจศึกษาวิชาคณิตศาสตร์เพียงอย่างเดียวจนสอบตกวิชาอื่น

เขาต้องออกจากมหาวิทยาลัยมาทำงานเป็นเสมียนบัญชี และต้องแต่งงานกับเด็กสาวอายุ 9 ขวบ ตามคำสั่งของพ่อแม่ กระนั้น เขายังไม่ได้ทิ้งความหลงใหลที่มีต่อคณิตศาสตร์

ในปี 1910 เขาได้พบกับ R. Ramachandra Rao ชาวอินเดียที่เป็นเลขาธิการสมาคมคณิตศาสตร์แห่งดินเดีย ซึ่งเป็นผู้ค้นพบความอัจริยะของรามานุจัน เขาจึงอาสาสนับสนุนด้านการเงินและการศึกษาคณิตศาสตร์ จนปี 1911 รามานุจันมีโอกาสเผยแพร่งานวิจัยของตัวเองในวารสารของสมาคมคณิตศาสตร์อินเดีย

ความอัจฉริยะด้านคณิตศาสตร์ของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และโดดเด่นเกินนักคณิตศาสตร์เพื่อนร่วมชาติ เขาได้รับคำแนะนำว่าควรมีโอกาสศึกษาไปที่อังกฤษ เจ้าอาณานิคมที่มีการศึกษาคณิตศาสตร์ในระดับแนวหน้าของโลก

เขาจึงเขียนจดหมายไปถึงบรรดาศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จดหมายสองฉบับแรกไม่ได้รับการตอบกลับ แต่ในจดหมายฉบับที่ 3 ที่เขียนในปี 1913 ถึงศาสตราจารย์ ก็อดฟรีย์ แฮโรลด์ ฮาร์ดี้ (Godfrey H. Hardy) แห่งทรินิตี้ คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทำให้ ศ. ก็อดฟรีย์ สนใจร่วมงานกับรามานุจันเป็นอย่างยิ่ง ท่ามกลางเสียงคัดค้านเพราะรามานุจันไม่มีวุฒิการศึกษา และพวกเขาไม่ยอมรับความสามารถจากคนในประเทศใต้อาณานิคม

อย่างไรก็ตาม รามานุจันก็มีโอกาสที่ไปประเทศอังกฤษได้สำเร็จ โดยเขาต้องเขาเรียนคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย พร้อมกับทำงานร่วมกับ ศ. ก็อดฟรีย์ ทำให้ทั้งสองคนได่มีโอกาสพัฒนาทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ร่วมกันหลายชิ้น

สำหรับผลงานเด่นของรามานุจันคือ การค้นพบสูตรอนุกรมอนันต์ที่ใช้หาค่าพาย (π) และตลอดชีวิตรามานุจันสร้างผลงานทางคณิตศาสตร์กว่า 3,900 ชิ้น ส่วนใหญ่เป็นเอกลักษณ์และสมการ แม้บางทฤษฎีจะผิดหรือซ้ำกับที่มีคนเคยคิดค้นมาแล้ว แต่ส่วนใหญ่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นจริง

ทฤษฎีที่สำคัญของเขา คือ ทฤษฎีจำนวน, ความไม่มีที่สิ้นสุดหรืออนุกรมอนันต์ (Infinity), เศษส่วนต่อเนื่อง โดยงานของเขาสามารถนำมาเป็นส่วนในการวิจัยคำนวณเรื่องหลุมดำ, ทฤษฎีเส้นเชือก และทฤษฎีความโน้มถ่วงควอนตัม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสุดท้ายของชีวิต รามานุจันล้มป่วยลงด้วยโรคตับอักเสบ โรคซึมเศร้า และวัณโรค จนต้องกลับมารักษาตัวที่อินเดีย แต่ถึงจะป่วยหนัก รามานุจันยังหมกมุ่นในคณิตศาสตร์อย่างบ้าคลั่ง จนทำให้ร่างกายทนไม่ไหว และจากไปเมื่อวันที่ 26 เมษายน 1920 ในวัย 32 ปี ซึ่งถือเป็นชีวิตที่แสนสั้น สร้างความเศร้าโศกให้กับวงการคณิตศาสตร์ทั่วโลกในขณะนั้น

ประวัติชีวิตของเขาได้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Man Who Knew Infinity หรือ “อัจฉริยะโลกไม่รัก” สร้างและฉายในปี 2015

ที่มา

https://www.britannica.com/story/interesting-facts-about-srinivasa-ramanujan

ศรีนิวาสะ รามานุจัน (Srinivasa Ramanujan)

https://www.scimath.org/article-mathematics/item/10973-2019-10-25-07-15-13

รามานุชัน (Srinivasa Ramanujan)

https://www.thepeople.co/read/27081

https://en.wikipedia.org/wiki/Srinivasa_Ramanujan

อ่านเพิ่มเติม 10 เรื่องที่คุณอาจจะยังไม่รู้เกี่ยวกับ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.