ฟาโรห์รามเสสที่ 2 หรือพระเจ้ารามเสสที่สอง (Ramses II) เป็นเพียงคนไม่กี่คนในประวัติศาสตร์อียิปต์ที่กระตุ้นทั้งความน่าสงสัยและความน่ากังวลให้กับผู้คน ฟาโรห์องค์ที่สามแห่งราชวงศ์ที่ 19 ที่ประวัติศาสตร์ขนานนามพระองค์ว่าเป็น “รามเสสมหาราช”
โดยในทุกวันนี้ พระองค์ทรงอาจมีชื่อเสียงมากที่สุดจากบรรดาสิ่งก่อสร้างมากมายมหาศาลที่ทรงสร้างเอาไว้ — ทั้งบรรดาราชวัง วิหาร รูปสลัก และแผ่นศิลาจารึก — ซึ่งล้วนแล้วแต่ยกย่องเชิดชูคุณูปการและความสำเร็จในฐานะฟาโรห์ การศึกของพระองค์แต่ละครั้งล้วนเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ สถาปัตยกรรมทุกชิ้นนั้นโอ่อ่า รูปสลักทุกรูป และสาธารณูปโภคทุกแห่งล้วนดีเลิศ
ราชวงศ์ของพระเจ้ารามเสสขึ้นสู่อำนาจในฐานะคนนอก พวกเขาไม่ใช่ชาวใต้ซึ่งผงาดขึ้นจากบรรดากลุ่มชนชั้นนำในธีบส์ แต่เป็นชาวเหนือจากสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ซึ่งเริ่มขึ้นสู่อำนาจด้วยการรับราชการในกองทัพ ในการป่าวประกาศความยิ่งใหญ่ของพระองค์ให้ผู้คนทุกหมู่เหล่า รามเสสที่สองทรงใช้บรรดาอนุสาวรีย์ขนาดยักษ์ใหญ่เพื่อดึงดูดประชาชนและเพิ่มพูนผู้สนับสนุน พระองค์ทรงมีพระชนม์มายุราว 90 ชันสา และทรงครองราชย์เกือบ 70 ปี
อย่างไรก็ตาม แม้สิ่งต่างๆ ที่พระองค์ทรงสร้างไว้จะทำให้บรรดานักอียิปต์วิทยาสามารถทราบถึงคุณูปการที่พระองค์มีต่อชาวอียิปต์ แต่คำถามต่างๆ เกี่ยวกับเหล่าพระมเหสีและราชโอรสและธิดาของพระองค์ก็ยังคงมีอยู่เช่นเดียวกัน
หนึ่งในสิ่งที่เด่นชัดที่สุดในเรื่องราวของพระเจ้ารามเสสที่สองคือเหล่า ‘อิสตรี’ ที่รายล้อมพระองค์ ทั้งบรรดาพระอัครมเหสีหลวง (great royal wife) และพระมเหสีน้อย พระมเหสีชั้นสองและเหล่าราชธิดา ผู้ซึ่งพระองค์ทรง “อภิเสกสมรส” ด้วยเหตุผลทางการเมืองหรืออาจเพราะความรัก พระองค์ทรงให้กำเนิดราชโอรสและราชธิดาที่มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ จารึกบางฉบับกล่าวว่าราชโอรสธิดาเหล่านี้อาจมีมากถึงหนึ่งร้อยพระองค์ และเนื่องด้วยรัชสมัยที่ยาวนานของพระองค์ รัชทายาทของรามเสสหลายองค์กลับต้องสิ้นพระชนม์ลงก่อนตัวพระองค์เอง
จากพระมเหสีทุกพระองค์ มีเพียงสองพระองค์ที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ เนเฟอร์ตารี (Nefertari) และ ไอเซตโนเฟรต (Isetnofret) ผู้เป็นพระอัครมเหสีหลวงสองพระองค์แรกซึ่งได้รับยศศักดิ์นี้ อย่างไรก็ตาม ในขณะที่พระนางเนเฟอร์ตารีทรงปรากฏอยู่ในพงศาวดารอียิปต์อยู่บ่อยครั้ง และภาพโฉมของพระองค์ก็มีอยู่อย่างมากมายนับไม่ถ้วน สิ่งที่ทราบกันเกี่ยวกับไอเซตโนเฟรตกลับมีเพียงเล็กน้อยราวกับว่าพระเจ้ารามเสสต้องการปิดซ่อนตัวตนของพระองค์ จึงถือเป็นเรื่องธรรมดาหากผู้คนจะสงสัยว่าเพราะเหตุใด พระมเหสีทั้งสองได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันเช่นนี้
เมื่อพระองค์ได้รับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการร่วมกับพระเจ้าเซติที่หนึ่ง (Seti I) ผู้เป็นพระบิดา รามเสสที่สองได้ครอบครองพระราชวังแห่งหนึ่งในเมมฟิสพร้อมกับ “ฮาเร็มขนาดใหญ่” ซึ่งมีพระอัครมเหสีหลวงสองพระองค์แรกรวมอยู่ด้วย ต้นกำเนิดของเนเฟอร์ตารีและไอเซตโนเฟรตนั้นไม่เป็นที่ทราบกัน จึงมีการคาดเดาอย่างสุดโต่งไปต่างๆ นาๆ เกี่ยวกับทั้งสองพระองค์ ทุกสิ่งบ่งชี้ว่า เนเฟอร์ตารี คือพระมเหสีองค์โปรดของพระเจ้ารามเสสที่สอง รูปโฉมอันงดงามของพระองค์ถูกยืนยันด้วยบรรดารูปสลักและพระบรมสาทิสลักษณ์ในพระราชสุสานของพระองค์ที่หุบเขาราชินี (Valley of the Queens)
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าแท้จริงแล้วพระองค์ทรงมีรูปโฉมอย่างไร เนื่องจากพระบรมสาทิศลักษณ์บางภาพก่อให้เกิดคำถามว่าเป็นภาพของผู้ใดกันแน่ เช่นในคาร์นัก รูปสลักขนาดเล็กของพระองค์ยืนอยู่ที่พระบาทของรูปสลักขนาดยักษ์ของพระสวามีของพระองค์ ต่อมา รูปสลักขนาดยักษ์ของพระเจ้ารามเสสที่สองถูกแย่งชิงโดยฟาโรห์พิเนดเจมที่หนึ่ง (Pinedjem I) ผู้สลักพระนามของพระองค์ลงบนปฏิมากกรมชิ้นนี้ และรูปร่างลักษณะของรูปสลักทั้งสองอาจถูกปรับเปลี่ยนไป คำถามคือ พระนามคือสิ่งเดียวที่ถูกเปลี่ยนหรือไม่? และพระพักตร์อันงดงามนั้นยังคงเป็นของเนเฟอร์ตารีหรือไม่? สำหรับเหล่านักอียิปต์วิทยา คำตอบคือพระพักตร์อันงดงามนั้นคือพระพักตร์ของเนเฟอร์ตารี
เนเฟอร์ตารีเข้าร่วมพระราชพิธีทางการเคียงคู่กับรามเสส พระองค์ทรงปรากฏอยู่ในงานเฉลิมฉลองพิธีราชาพิเษกของพระสวามี ในเทศกาลของเทพ Min และในพิธีรับตำแหน่งมหาปุโรหิตแห่งเทพอามุนของเนบูเนเนฟ และหลายปีหลังจากสมรภูมิ Kadesh (1274 ปีก่อนค.ศ.) ระหว่างรามเสสและชาวฮิตไทต์ที่ทำให้ฝ่ายอำนาจทั้งสองตกอยู่ในภาวะคุมเชิง การทูตของพระมเหสีองค์นี้ก็ได้ส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายทำสัญญาสันติภาพระหว่างกัน
พระเจ้ารามเสสที่สองทรงแสดงความลำเอียงต่อเนเฟอร์ตารีอย่างชัดเจน ด้วยความอุทิศตนอันควรค่าแก่เรื่องราวความรักอันยิ่งใหญ่สักเรื่อง เมื่อพระองค์ทรงสร้างวิหารอะบูซิมเบล (Abu Simbel) อันยิ่งใหญ่ พระองค์ทรงตัดสินพระทัยว่าจะนำพระบรมสาทิสลักษณ์ของเนเฟอร์ตารี ซึ่งในตอนนั้นสวรรคตไปแล้ว ไปอยู่เตียงข้างตูยา (Tuya) ผู้เป็นพระมารดาของพระองค์ที่ด้านนอกอาคารของวิหาร
ในวิหารแห่งนี้ เนเฟอร์ตารีกลายเป็นซ๊อปเดต (Sopdet) หรือดาวซีเรียส ซึ่งการปรากฏของมันคือลางพยากรณ์ของการไหลหลากประจำปีของแม่น้ำไนล์ ไกลขึ้นไปทางทิศเหนือ วิหารขนาดเล็กกว่าอีกแห่งซึ่งขุดลงไปในหินถูกอุทิศให้กับพระมเหสีองค์นี้ ที่วิหารแห่งนี้ พระองค์ทรงเชื่อมโยงกับเทพีฮาธอร์ (Hathor) ที่ด้านนอกอาคารของวิหาร มีคำจารึกว่า “เนเฟอร์ตารี สตรีที่ดวงอาทิตย์ฉายแสงให้” สลักไว้
ส่วนไอเซตโนเฟรตนั้นคือผู้ถูกลืม? ดูเหมือนว่าเป็นเช่นนั้น ก่อนเนเฟอร์ตารีเสด็จสวรรคตเมื่อราวรัชสมัยที่ 26 ของพระเจ้ารามเสสที่สอง ภาพบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์กลับไม่ปรากฏอยู่ที่วิหารมากมายที่ฟาโรห์ผู้นี้สร้าง ทั้งที่นูเบีย คาร์นัก และลักซอร์ ที่ซึ่งพระสาทิสลักษณ์ของเนเฟอร์ตารีมักปรากฏอยู่บ่อยครั้ง ในท้ายที่สุด พระสาทิสลักษณ์ของไอเซตโนเฟรตก็เริ่มปรากฏอยู่บนวิหารบางแห่งซึ่งเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และเหล่ารัชทายาท พระสาทิสลักษณ์ของเนเฟอร์ตารีอาจถูกพบเห็นได้มากกว่าในสถานที่ต่างๆ แต่กลับเป็นไอเซตโนเฟรตที่เป็นผู้ให้กำเนิดรัชทายาทสองพระองค์ที่รามเสสที่สองทรงรักใคร่แนบชิดดวงใจอย่างที่สุด
พระเจ้ารามเสสที่สองทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดาจากบรรดาพระมเหสีในฮาเร็มของพระองค์ราวหนึ่งร้อยพระองค์ ในบรรดารัชทายาทที่พระองค์ทรงให้การยอมรับ บางองค์นั้นจะมีบทบาทที่สำคัญ แต่มีเพียงผู้ที่ประสูติจากพระครรภ์ของเนเฟอร์ตารีและไอเซตโนเฟรตเท่านั้นที่ได้ปรากฏอยู่บนบรรดาอนุสาวรีย์ของพระองค์ พระบรมสาทิสลักษณ์ของรามเสสในวัยเยาว์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้สำเร็จราชการร่วมกับพระเจ้าเซติที่หนึ่งผู้เป็นพระบิดาที่วิหารเบตเอลวาลี (Beit el Wali) ในนูเบีย แสดงฉากการปราบปรามการลุกฮือของชาวนูเบีย รถม้าหลวงของพระองค์ถูกขนาบข้างโดยบุคคลสองคน โดยคนหนึ่งถูกระบุตัวตนว่าเป็น อาเมนเฮอร์เคปเชฟ (Amenherkhepshef) พระราชโอรสองค์แรกของเนเฟอร์ตารี ส่วนอีกคนคือ คาเอมวาเซต (Khaemwaset) ผู้เป็นราชโอรสของไอเซตโนเฟรต
ในบรรดาราชโอรสทั้งหมดของพระเจ้ารามเสสที่สอง เป็นที่เชื่อกันว่า คาเอมวาเซต ทรงเป็นที่โปรดปรานมากที่สุดของพระองค์ แทนที่จะจับอาวุธขึ้นสู้กับพระเชษฐา (ผู้มีพระนามว่ารามเสสเช่นกัน) ราชโอรสองค์นี้กลับทรงรับตำแหน่งบรมครูแห่งเหล่าช่างฝีมือแห่งเทพพตาห์ (Ptah) ซึ่งเป็นตำแหน่งยศฐาของหลักความเชื่อแบบเมมฟิสที่เทียบได้กับตำแหน่งมหาปุโรหิตแห่งเทพอามุนในธีบส์ และพระองค์ยังบำรุงซ่อมแซมพีระมิดจำนวนหนึ่งในพระนามของพระบิดา โดยผลงานของพระองค์ยังคงปรากฏให้เห็นที่พีระมิดของพระเจ้ายูนัส (Unas) จากราชวงศ์ที่ห้า
คาเอมวาเซตยังทรงวางแผนและควบคุมการสร้าง “หอศิลป์ขนาดย่อม” เช่นหลุมฝังศพแด่เทพเซราพิสที่ซัคคารา (Serapeum at Saqqara) ซึ่งเป็นสุสานหมู่สำหรับฝังเอพิสหรือวัวศักดิสิทธิ์ของเมมฟิส การขุดสำรวจสุสานดังกล่าวโดย Auguste Mariette เมื่อปี 1850 ได้ค้นพบมัมมี่ของชายนาม คาเอมวาเซต ซึ่งสวมหน้ากากทองคำ พร้อมทั้งตุ๊กตาหุ่นปั้นสำหรับฝังในหลุมศพหรือยูชับติ (ushabti) อีกหลายตัว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการพิสูจน์อย่างชัดเจนว่ามัมมี่ซึ่งถูกค้นพบนี้คือพระศพของพระองค์จริงหรือไม่ และตำแหน่งที่ตั้งของหลุมฝังพระศพของพระองค์ก็ยังคงไม่ได้รับการยืนยันอย่างแน่ชัด แม้หลักฐานส่วนใหญ่จะชี้ว่ามันตั้งอยู่ที่เมืองสุสานในซัคคารา
สำหรับบรรดาพระราชธิดาซึ่งประสูติจากพระครรภ์ของพระอัครมเหสีหลวง บางพระองค์ทรงได้ครอบครองตำแหน่งสำคัญในพระราชสำนักของพระเจ้ารามเสสที่สองด้วยเช่นกัน อันที่จริงแล้ว ราชธิดาเหล่านี้หลายพระองค์จะได้รับตำแหน่งพระอัครมเหสีหลวง ‘หลังการอภิเสกสมรสกับพระบิดาของตนเอง’ การสมรสระหว่างฟาโรห์และราชธิดาของตัวพระองค์เองนั้นกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในสมัยราชวงศ์ที่ 18 พระเจ้าอาเมนโฮเทปที่สามทรงอภิเสกสมรสกับซิตอามุน (Sitamun) ผู้เป็นราชธิดาของพระองค์และพระอัครมเหสีติเย (Tiye) ผู้ยังทรงมีชีวิตในขณะนั้น และต่อมาพระเจ้าอเคนาเตน (Akhenaten) ก็ทรงอภิเสกสมรสกับพระราชธิดาสองพระองค์ซึ่งทรงประสูตรจากราชินีเนเฟอร์ตีติ (Nefertiti) ไม่มีผู้ใดทราบว่าการอภิเสกสมรสเหล่านี้ ‘กระทำจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์’ หรือเป็นเพียงแค่พิธีการเท่านั้น
พระเจ้ารามเสสที่สองทรงแต่งตั้งราชธิดาหลายพระองค์ให้เป็นพระอัครมเหสีหลวงหลังเนเฟอร์ตารีและไอเซตโรเฟรตเสด็จสวรรคตลง บินท์อานัธ (Bintanath) ผู้เป็นราชธิดาองค์แรกของไอเซตโนเฟรตถูกสืบทอดโดยเมริตอามอน (Merytamon) และเนเบตตาวี (Nebettawy) ผู้เป็นราชธิดาของเนเฟอร์ตารี และเฮนุตมิเร (Henutmire) นอกจากพระราชธิดาองค์เหล่านี้แล้ว พระองค์ยังทรงแต่งตั้งยศดังกล่าวนี้ให้เจ้าหญิงองค์อื่นๆ ซึ่งมิได้อยู่ในราชตระกูลของพระองค์ เช่น มาอัตฮอร์เนเฟรูเร (Maathorneferure) ผู้เป็นพระราชธิดาของกษัตริย์ของชาวฮิตไทต์ และเจ้าหญิงฮิตไทต์ซึ่งไม่ทราบพระนามอีกพระองค์หนึ่ง
หากคาเอมวาเซตคือพระราชโอรสองค์โปรดของพระเจ้ารามเสสที่สองแล้ว ทุกสิ่งบ่งชี้ว่า บินท์อานัธ คือพระราชธิดาที่พระองค์ทรงรักใคร่ ฐานะตำแหน่งที่พระองค์ได้รับมิได้มีเพียงพระอัครมเหสีหลวง แต่ยังรวมไปถึงเจ้าหญิงแห่งสองอียิปต์ (Lady of the Two Lands) และองค์อธิปัตย์แห่งอียิปต์เหนือและใต้ (Sovereign of Upper and Lower Egypt) บินท์อานัธทรงได้ครอบครองบริเวณอภิสิทธิ์ที่นอกอาคารของวิหารอะบูซิมเบล โดยพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์และของเนเบตตาวีผู้เป็นพระเชษฐภคินีนั้นปรากฏอยู่บนทั้งสองด้านของรูปปั้นยักษ์ นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่าเนเบตตาวีคือพระราชธิดาของไอเซตโนเฟรต แต่คนอื่นๆเชื่อว่าพระองค์คือพระราชธิดาของเนเฟอร์ตารี
รามเสสทรงไม่มีปัญหาในการให้กำเนิดทายาทจากพระมเหสีมากมายในช่วงชีวิตที่ยาวนานของพระองค์ แต่พระราชโอรสเหล่านี้ถูกบังคับให้ต้องอดทนเพียงเพราะพระองค์ทรงกุมราชบัลลังก์อย่างเหนียวแน่นเป็นเวลากว่าเกือบ 70 ปี พระองค์ทรงมอบตำแหน่งต่างๆ ไปทั่วทั้งระบบบริหาร บรรษัท ศาสนา และกองทัพให้กับเหล่ารัชทายาทอย่างแทบไร้ข้อจำกัด เพื่อฟูมฟักความจงรักภักดีที่พระองค์ทรงไม่สามารถสร้างได้ด้วยตนเอง เพราะการเป็นชาวเหนือจากปากสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำไนล์ทำให้พระองค์ทรงเป็น ‘คนนอก’ ที่แปลกแยกจากชนชั้นนำผู้ร่ำรวยในธีบส์ซึ่งอยู่ในภาคใต้ แหล่งอำนาจของพระองค์จึงมาจากสายสัมพันธ์กับกองทัพ มิใช่ชนชั้นเศรษฐีหรือนักบวช ดังนั้นการมอบตำแหน่งอันทรงอำนาจต่างๆ ทั่วทั้งอียิปต์ให้พระราชโอรสของพระองค์จึงช่วยให้รามเสสสามารถเพิ่มพูนอำนาจของพระองค์เองในกิจการต่างๆ เหล่านี้ได้
เมื่อพระเจ้ารามเสสที่สองเสด็จสวรรคตลงเมื่อ 1213 ปีก่อนค.ศ. พระองค์ทรงมีพระชนม์มายุราว 90 ชันสา และทรงมีชีวิตยืนยาวกว่าราชโอรสหลายพระองค์ โดย อาเมนเฮอร์เคปเชฟ ผู้เป็นพระราชโอรสองค์โตที่สุดและทรงเป็นมกุฎราชกุมาร เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุ 25 ชันสา ส่วนคาเอมวาเซตนั้นสิ้นพระชนม์เมื่อราว 50 ชันสา หรือเมื่อราว 1215 ปีก่อนค.ศ. และสุดท้าย ผู้ที่ได้สืบทอดพระราชบัลลังก์ของพระองค์คือ เมอร์เนพตาห์ (Merneptah) ทายาทลำดับที่ 13 ผู้เป็นราชโอรสของไอเซตโนเฟรต เมื่อพระองค์ทรงได้ขึ้นครองราชย์และสวมมงกุฎคู่ของอียิปต์ เมอร์เนพตาห์ก็ทรงมีพระชนมายุ 60 กว่าชันสาแล้ว
หลังการรอคอยการรับสืบทอดอำนาจมานานนับหลายทศวรรษ พระเจ้าเมอร์เนพตาห์อาจทรงคาดหวังว่ารัชสมัยของพระองค์จะมั่นคงเช่นเดียวกับรัชสมัยของพระบิดา แต่พระองค์ต้องทรงผิดหวัง ในเวลาสิบปีที่พระองค์ทรงครองบัลลังก์ กองทัพอียิปต์สามารถป้องกันประเทศจากการโจมตีจากศัตรูทางตะวันตกและตะวันออกได้หลายครั้งหลายครา แต่เมล็ดพันธุ์ที่พระเจ้ารามเสสที่สองทรงหว่านเอาไว้กลับนำอียิปต์ไปสู่ความวุ่นวาย หลังพระเจ้าเมอร์เนพตาห์เสด็จสวรรคตลง บรรดาผู้แย่งชิงบัลลังก์ ซึ่งบางองค์อาจเป็นราชโอรสของพระเจ้ารามเสสที่สอง ผลักอียิปต์เข้าสู่ยุคแห่งความวุ่นวายและสงครามกลางเมือง และเมื่อราวปี 1189 ก่อนค.ศ. ราชวงศ์ที่ 19 ก็ได้ล่มสลายลงในท้ายที่สุด
แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน