ใครคือ ฟาโรห์องค์แรก ของอียิปต์

ใครคือ ฟาโรห์องค์แรก ของอียิปต์

ในทวีปแอฟริกาเหนือเมื่อห้าพันปีก่อน กษัตริย์ผู้ทะเยอทะยานองค์หนึ่งซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในพระนาม “พระเจ้านาร์เมอร์” ฟาโรห์องค์แรก ได้ผนึกดินแดนสองแห่งให้เป็นอียิปต์หนึ่งเดียว อันเป็นรัฐอาณาเขตที่ยิ่งใหญ่รัฐแรกของโลก

ฟาโรห์องค์แรก – เมื่อห้าพันปีที่แล้วยังไม่มีอียิปต์ที่ผนึกกันเป็นชาติเดียว อย่างน้อยก็ไม่ใช่แบบที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ในอดีต หลายพันปี อียิปต์แยกออกเป็นสองดินแดน คือ “อียิปต์บน” (Upper Egypt) ในทิศใต้ และ “อียิปต์ล่าง” (Lower Egypt) ในทิศเหนือ โดยมีจารึกบนเซรามิกอายุนับพันปีและภาพของบรรดาผู้นำจากทั้งสองราชอาณาจักรที่แสดงถึงดินแดนสองแห่งที่แยกจากกันอย่างชัดเจน และมีประเพณีที่แตกต่างกัน

ก่อนการรวมแผ่นดิน ภาพของกษัตริย์แต่ละองค์แสดงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่แตกต่างกัน ผู้ปกครองอียิปต์ตอนบนทรงพระมงกุฎสีขาวทรงสูงเรียกว่า hedjet ในขณะที่กษัตริย์ของอียิปต์ตอนล่างทรงพระมงกุฎสีแดงทรงต่ำเรียกว่า deshret

ในช่วงราว 3100 ปีก่อนคริสต์ศักราช ราชาของอียิปต์ตอนเหนือองค์หนึ่งซึ่งรู้จักกันในพระนามว่า พระเจ้านาร์เมอร์ (Narmer) ได้เปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดโดยการรวบรวมดินแดนทางตะวันตกของภูมิภาคปากสามเหลี่ยมแม่น้ำไนล์ซึ่งอุดมสมบูรณ์และมีรูปทรงสามเหลี่ยมเข้ากับราชอาณาจักรของพระองค์ซึ่งปกคลุมบริเวณหุบเขาไนล์อันชุ่มชื้นในตอนใต้ (หรือพื้นที่จากกรุงไคโรในปัจจุบันถึงทะเลสาบนัสเซอร์) พระองค์ทรงรวบรวมอียิปต์เป็นหนึ่งเดียว และก่อตั้งรัฐอาณาเขต (territorial state) อันยิ่งใหญ่ ขึ้นเป็นรัฐแรกของโลก

เมื่อรัฐทั้งสองรวมตัวกัน ไม่เพียงเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐทางการเมือง (political state) เท่านั้น แต่ยังเป็นจุดกำเนิดของรัฐที่มีวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ด้วย โดยการเริ่มต้นในยุคของพระองค์ อียิปต์เริ่มพัฒนารูปแบบทัศนศิลป์ที่โดดเด่นของตนเอง ซึ่งสะท้อนไปจากยุคสู่ยุคเมื่อการเขียนรูปลักษณ์ (iconography) และสัญลักษณ์ต่างๆ ที่นาร์เมอร์และผู้สืบทอดของพระองค์ถูกนำมาใช้ สัญลักษณ์เหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือที่เหล่าฟาโรห์ — ตั้งแต่คูฟู จนถึงฮัตเชปซุต จนถึงทอเลมีที่สิบสอง — ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการสำแดงอำนาจ กำลัง และความเป็นปึกแผ่นเป็นเวลากว่าหนึ่งพันปี

ราชันย์และมงกุฎ

งานศิลปะนั้นโดดเด่นเรื่องความสามารถในเก็บการรักษาเหตุการณ์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เพราะเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นมีผลกระทบต่อผู้คนที่ผ่านมันมาได้ บันทึกในช่วงเวลาของพระเจ้านาร์เมอร์เป็นสิ่งหายาก แต่วัตถุชิ้นหนึ่งที่อยู่รอดผ่านยุคสมัยมากมายมาได้นั้นเป็นเสมือนหน้าต่างที่ทำให้เรามองเห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในรัชสมัยของพระองค์

วัตถุนั้นคือแผ่นหินสลักภาพนูนแบบเดียวกับที่บรรดาฟาโรห์หลายพระองค์ของอียิปต์ตอนเหนือทรงมีพระบัญชาให้สร้างเมื่อท้ายยุคก่อนราชวงศ์ (Predynastic Period) แผ่นจารึกซึ่งทำจากหินทรายแป้งสีเทาและมีรูปสลักของเหล่าทวยเทพ อสูรกาย และกษัตริย์เหล่านี้ถูกใช้สำหรับบดและผสมเม็ดสีในเครื่องสำอาง หินเหล่านี้บางแผ่นถูกออกแบบมาสำหรับการใช้งานจริง ในขณะที่บางแผ่นใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมหรือนำไปวางไว้ที่วิหารเพื่อเป็นเครื่องถวายแด่เทพเจ้า

นาร์เมอร์ทรงมีพระบัญชาให้ประดิษฐ์แผ่นหินขึ้นมาชิ้นหนึ่ง เจมส์ ควิเบลล์ และเฟรเดอริก กรีน สองนักโบราณคดีชาวอังกฤษค้นพบมันในซากของวิหารแห่งหนึ่งที่เฮียราคอนโปลิส (Hierakonpolis) หรือเน็คเคน (Nekhen) ทางตอนใต้ของลักซอร์ เมื่อปี 1897-98

วัตถุทรงโล่ห์ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในชื่อแผ่นหินของพระเจ้านาร์เมอร์ (Narmer Palette) นี้อยู่ในช่วง 3200-3000 ปีก่อนคริสต์ศักราช และดูเหมือนว่าพระองค์อุทิศหินแผ่นนี้ให้วิหารของฮอรัส เทพผู้มีหัวเป็นนกอินทรีและเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจทางโลกและจักรวาล

ต่างจากหน้ากากของพระเจ้าตุตันคามุนซึ่งได้ท่องไปทั่วโลก แผ่นหินดังกล่าวนี้ไม่เคยออกจากอียิปต์ ในปัจจุบัน วัตถุโบราณความสูง 63.5 เซนติเมตร (ซึ่งมีหนึ่งในอักษรภาพอียิปต์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก) นี้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อียิปต์ในกรุงไคโร

แผ่นหินของพระเจ้านาร์เมอร์ประดิษฐ์ขึ้นจากหินทรายแป้งชิ้นเดียวและมีรูปสลักอยู่ทั้งสองด้าน ทั้งด้านหน้าและหลังมีภาพของพระองค์ปรากฏอยู่ นี่คือการแสดงความยิ่งใหญ่ของฟาโรห์สักองค์ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบจนถึงปัจจุบัน บนด้านหนึ่ง พระองค์ทรงสวมมงกุฎ hedjet ของอียิปต์เหนือ ดึงผมของศัตรูคนหนึ่ง และทรงง้างไม้กระบองเพื่อเตรียมฟาดลง บนอีกด้าน พระองค์ทรงสวมมงกุฎ deshret แบบอียิปต์ใต้และทอดพระเนตรมองดูเหล่าศัตรูที่สิ้นชีพลง นี่คือครั้งแรกที่มีการแสดงภาพฟาโรห์องค์หนึ่งทรงสวมมงกุฎของอียิปต์ทั้งสองดินแดน

เหล่านักอียิปต์วิทยามองว่ามงกุฎทั้งสองคือหลักฐานของการรวบรวมแผ่นดินของอียิปต์ทั้งสองให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครองของพระเจ้านาร์เมอร์ และยังเป็นการเชิดชูความสำเร็จดังกล่าว ต่อมา บรรดาฟาโรห์ที่ขึ้นครองราชย์หลังพระองค์จะสืบทอดการใช้งานอักษรภาพ (Iconography) ประจำตัวพระมหากษัตริย์และเปลี่ยนรูปลักษณ์ ในท้ายที่สุด มงกุฎทั้งสองแบบจะถูกผสานรวมเป็นหนึ่งเดียวและเรียกว่า pschent (อีกชื่อหนึ่งคือ sekhmety)

มงกุฎทั้งสองนี้เป็นสัญลักษณ์ของการปกครองดินแดนอียิปต์ทั้งสองให้แก่ผู้ที่สวม บ่อยครั้ง ภาพของเทพฮอรัสแสดงเทพผู้มีหัวเป็นนกอินทรีย์องค์นี้กำลังสวม pschent ส่วนพระเจ้าเดน (Den) ฟาโรห์ผู้ทรงครองราชย์เมื่อราว 2900 ปีก่อนคริสต์ศักราช คือผู้ที่เชื่อกันในขณะนี้ว่าเป็นฟาโรห์พระองค์แรกที่มีภาพแสดงว่าสวมมงกุฎนี้อยู่ และทำให้การผนึกอียิปต์ทั้งสองเข้าเป็นหนึ่งเดียวที่เริ่มต้นโดยพระเจ้านาร์มาร์เมื่อหลายยุคก่อนเสร็จสมบูรณ์

แม้อาจไม่ใช่สิ่งที่ดูสมเหตุสมผล แต่แนวคิดสองแผ่นดินนี้มิได้จบลงพร้อมราชวงศ์แรกหรือราชวงศ์ใดๆ ในทางกลับกัน ได้มีการเน้นย้ำความเป็นสองของอาณาจักรอียิปต์ เพราะหลักทวิภาวะ (duality) คือหลักความเชื่อสำคัญสำหรับทั้งวัฒนธรรมและการปกครองดินแดนแห่งนี้ ฟาโรห์ในช่วงปลายราชวงศ์แรกจะยอมรับตำแหน่งฐานะ “ผู้ปกครองแห่งสองแผ่นดิน” โดยฟาโรห์ผู้ครองราชย์ต่อมาก็จะใช้ยศฐานี้สืบเนื่องไปในทุกยุคสมัย

การแบ่งอัตลักษณ์ของสองแผ่นดินให้เด่นแยกออกจากกันคือหนทางหนึ่งในการสร้างความชอบธรรมทางเทวะ (divine sanction) ให้ระเบียบการเมืองใหม่นี้ โดยแกนหลักของความเชื่ออียิปต์แบบโบราณคือพลังสองขั้วซึ่งอยู่ตรงข้ามกันซึ่งล้วนมีความจำเป็น ได้แก่ มาอัต (ma’at) คือความเป็นระเบียบ และอิสเฟต (isfet) คือความวุ่นวาย โดยพลังหนึ่งคือพลังนิ่ง และอีกพลังคือพลังเคลื่อนไหว พลังทั้งสองควบคุมจักรวาล ความสมดุลคือสิ่งพึงปรารถนา ระเบียบและความวุ่นวายต้องอยู่ร่วมกันเพื่อให้เกิดความสมดุล

ฟาโรห์องค์แรก, ฟาโรห์, อียิปต์
มงกุฎผสานบนพระเศียรของฮอรัสรวมมงกุฎของอียิปต์ทั้งสองเข้าด้วยกัน วัตถุจากราว 1850-1700 ปีก่อนค.ศ. ช่วงปลายยุคอาณาจักรกลาง ภาพถ่ายโดย METROPOLITAN MUSEUM OF ART/ROGERS FUND AND EDWARDS S. HARKNESS GIFT, 1913

ท่วงท่าแห่งอำนาจ

แผ่นหินของพระเจ้านาร์เมอร์ยังเปิดเผยลักษณะของแนวทางศิลปะอียิปต์ ก่อนรัชสมัยของพระองค์ ศิลปะของอียิปต์ได้รับอิทธิพลจากภายนอก ซึ่งดูเหมือนว่าบางลายจารึกบนแผ่นหินนี้มีจุดประสงค์เพียงเพื่อประดับตกแต่งเท่านั้น เช่นลวดลายรูปใบไม้ ซึ่งเป็นแม่บท (motif) แบบอีลาไมต์ (Elamite) ซึ่งใช้ระบุตัวผู้ถือฉลองพระบาตรของกษัตริย์ผู้นี้ที่ยืนอยู่ทางด้านซ้ายของพระองค์บนด้านหน้าของแผ่นหิน ส่วนที่ด้านหลัง เซอร์โพพาร์ด (serpopard) แมวในตำนานซึ่งมีลำคอยาวคล้ายอสรพิษสองตัวสร้างรูปทรงกลมด้วยลำคอที่พัวพันของพวกมัน สัตว์ประหลาดดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในศิลปะอีลาไมต์โบราณด้วยเช่นกัน

อิทธิพลอื่นๆ จากเมโสโปเตเมียยังรวมถึงการแสดงภาพผู้ปกครองเป็นสัตว์ร้ายต่างๆ เช่นราชสีห์ กระทิง เหยี่ยว หรือแมลงป่องอันน่าเกรงขามที่ทำลายล้างบรรดาเมืองและบดขยี้ศัตรู บนแผ่นหิน ภาพของพระเจ้านาร์เมอร์ในรูปร่างมนุษย์ทรงปรากฏอยู่สองครั้ง และนักวิชาการเชื่อว่าพระองค์อาจทรงรูปโฉมเป็นอสูรราชาอีกสองครั้ง บนด้านหน้า พระองค์อาจทรงปรากฏกายเป็นเหยี่ยวซึ่งยื่นแขนแบบมนุษย์อยู่เหนือศีรษะของศัตรูผู้หนึ่ง ในขณะที่ส่วนด้านล่างสุดของแผ่นหินด้านหลัง พระองค์อาจเป็นกระทิงที่กำลังพุ่งตัวเข้าใส่บรรดากำแพงเมืองและเหยียบขยี้ศัตรูที่ไร้ทางสู้ ภาพอสูรราชานี้แทบไม่ปรากฏอีกเลยหลังรัชสมัยของพระองค์ แม้บางร่องรอยของมันจะยังหลงเหลืออยู่บ้าง เหล่าฟาโรห์อาจถูกแสดงให้มีรูปร่างแบบมนุษย์แต่มีหางของกระทิง (เช่นพระเจ้าเดน ฟาโรห์องค์ที่สี่ซึ่งขึ้นครองราชย์หลังพระเจ้านาร์เมอร์)

ภาพการฟาดศัตรูบนด้านหน้าของแผ่นหินของพระเจ้านาร์เมอร์ยืนหยัดเหนือกาลเวลาในศิลปะอียิปต์ การจัดท่าทางพระกายของพระองค์ซึ่งมีพระหัตถ์ข้างหนึ่งชูไม้กระบองขึ้นเหนือพระเศียร ขณะที่อีกข้างหนึ่งคว้าจับศัตรูผู้ไร้ทางสู้ สามารถพบเห็นได้เกือบทุกยุคสมัยของอียิปต์ยุคฟาโรห์ บนกำแพงของพระวิหารของพระองค์ที่อะบูซิมเบล (Abu Simbel) รามเสสที่สอง (Ramses II) ทรงฟาดฟันศัตรูด้วยท่าทางแบบดังกล่าว ในขณะที่อีกหนึ่งพันปีต่อมา ภาพของทอเลมีที่สิบสองในท่าทางแบบเดียวกันก็ถูกแสดงที่วิหารฮอรัสที่เอ็ดฟู (Edfu)

ฟาโรห์องค์แรก, ฟาโรห์, อียิปต์
ภาพฟาโรห์เดน ผู้สวมหางกระทิงเหมือนพระเจ้านาร์เมอร์ ฟาดทุบศัตรูผู้หนึ่งบนแผ่นประดับรองเท้าจากสมัยราว 2985 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ภาพถ่าย SCALA, FLORENCE/THE TRUSTEES OF THE BRITISH MUSEUM

พระนามของผู้ใด?

พระนามของพระเจ้านาร์เมอร์ถูกจารึกอยู่บนทั้งสองด้านของแผ่นหินจารึก โดยมีการผสมกันของสัญลักษณ์ของปลาดุก (นาร์) และสิ่ว (เมอร์) ปรากฏอยู่ที่ด้านบน อย่างไรก็ตาม บรรดานักอียิปต์วิทยาในยุคแรกไม่เชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นฟาโรห์องค์แรก เพราะบันทึกหลวงจากรัชสมัยของพระองค์คือสิ่งหายาก และบันทึกที่มีอยู่นั้นก็ไม่สมบูรณ์ ในขณะเดียวกันก็มี“รายพระนามพระมหากษัตริย์” ซึ่งบันทึกพระนามของบรรดาฟาโรห์และผู้สืบทอดอยู่หลายฉบับ บันทึกที่ครบสมบูรณ์ซึ่งย้อนไปถึงยุคต้นราชวงศ์ (Early Dynastic era) นั้นมีอยู่เพียงน้อยนิด

รายพระนามสองฉบับที่สำคัญที่สุดถูกค้นพบในช่วงทศวรรษที่ 1980 โดยนักวิจัยจากสถาบันโบราณคดีเยอรมัน (German Archaeological Institute) ในไคโร พวกเขาค้นพบรอยประทับตราทรงกระบอกในสุสานของพระเจ้าเดน ตราประทับเหล่านี้เป็นรายพระนามพระมหากษัตริย์ที่เก่าแก่ที่สุดที่ถูกบันทึกไว้ บันทึกรายนามของผู้ปกครองและผู้สืบบัลลังก์ของราชวงศ์แรก ตราประทับตราหนึ่งมีอายุย้อนไปถึงช่วงกลางของราชวงศ์แรกและบันทึกรายพระนามของกษัตริย์หกพระองค์ ส่วนอีกตราย้อนไปถึงจุดสิ้นสุดของราชวงศ์ดังกล่าว และมีรายนามฟาโรห์แปดพระองค์ ตราประทับทั้งสองเริ่มต้นจากพระนามของพระเจ้านาร์เมอร์

บันทึกรายพระนามอื่นๆ ซึ่งถูกรวบรวมขึ้นในพันปีให้หลังในสมัยราชอาณาจักรใหม่ (New Kingdom) กลับก่อให้เกิดความสับสน

หนึ่งในรายพระนามที่สมบูรณ์ที่สุดคือรายพระนามกษัตริย์แห่งอไบดอส (Abydos King List) ซึ่งสลักอยู่บนผนังวิหารประกอบพิธีศพของฟาโรห์เซติที่หนึ่ง (Seti I) จากศตวรรษที่ 13 ก่อนคริสต์ศักราชบนผนัง เซติและรามเสสผู้เป็นรัชทายาท (ผู้ต่อมาจะกลายเป็นรามเสสที่สอง) หันหน้าเข้าหาแถวของคาร์ทูช (cartouche) ที่จารึกพระนามของฟาโรห์อียิปต์ในยุคก่อน อย่างไรก็ตาม ในรายพระนามนี้ ผู้ถูกบันทึกว่าเป็นปฐมฟาโรห์คือพระเจ้าเมเนส (Menes) มิใช่พระเจ้านาร์เมอร์

ฟาโรห์องค์แรก, ฟาโรห์, อียิปต์
ภาพฮอรัส เทพผู้มีหัวเป็นเหยี่ยวยืนเกาะอยู่เหนืออักษรสัญลักษณ์พระนามของนาร์เมอร์ ซึ่งประกอบด้วยปลาดุก (นาร์) และสิ่ว (เมอร์) บนเซเรค (serekh) บนไหหินจากอไบดอสจากปี 2500 ก่อนคริสต์ศักราช ภาพถ่ายโดย ALAMY/ACI
ฟาโรห์องค์แรก, ฟาโรห์, อียิปต์
วิหารประกอบพิธีศพขนาดใหญ่ของพระเจ้าเซติที่หนึ่งที่อไบดอสมีทางเดินซึ่งรู้จักกันในนามทางเดินของเหล่าบรรพบุรุษ (Gallery of the Ancestors) บนผนังด้านหนึ่ง รายพระนามของฟาโรห์ 76 องค์ (รายพระนามกษัตริย์แห่งอไบดอส) ถูกจารึกไว้ โดยมีพระนามของเมเนสเป็นนามแรก ภาพถ่ายโดย KENNETH GARRETT

รายพระนามกษัตริย์อีกฉบับหนึ่งจากยุคเดียวกับพระเจ้าเซติที่หนึ่งมาจากกระดาษปาปิรุสแห่งตูริน (Turin Papyrus) แทนที่จะถูกสลักลงบนหิน รายพระนามดังกล่าวประกอบด้วยตัวอักษรอียิปต์ที่เขียนต่อๆ กันบนกระดาษปาปิรุส และเป็นหนึ่งในรายพระนามที่แม่นยำและสมบูรณ์ที่สุด โดยมีรายชื่อฟาโรห์ของราชวงศ์แรกไปถึงราชวงศ์ที่ 19 รายพระนามบนกระดาษปาปิรุสนี้กล่าวว่าเป็นพระเจ้าเมเนส มิใช่พระเจ้านาร์เมอร์ ที่เป็นปฐมกษัตริย์ บรรดาผู้เขียนประวัติศาสตร์ยุคคลาสสิกเช่นฮีโรโดทุส นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกจากสมัยห้าร้อยปีก่อนคริสต์ศักราช เขียนว่าเป็นเมเนสและไม่ใช่นาร์เมอร์ที่เป็นผู้ผนึกรวมอียิปต์ทั้งสอง เช่นเดียวกับมาเนโธ (Manetho) นักบวชที่วิหารเฮลิโอโปลิสจากสมัยสามร้อยปีก่อนคริสต์ศักราช ผู้แต่งแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้อีกหนึ่งแหล่ง บันทึกว่าเมเนสคือปฐมกษัตริย์เช่นกัน

บรรดานักอียิปต์วิทยาพยายามหาจุดร่วมของการใช้ชื่อทั้งสองนี้ ฟาโรห์ทั้งสองอาจเป็นบุคคลที่แตกต่างกัน โดยองค์หนึ่งคือผู้ผนึกดินแดนอียิปต์ในขณะที่อีกองค์คือผู้ซึ่งปกครองต่อมา หรือเมเนสอาจเป็นฟาโรห์ผู้เกิดจากการนำพระประวัติและวีรกรรมของฟาโรห์องค์อื่นๆ ก่อนหน้ามาผสมรวมกันให้เป็นบุคคลเดียว

ฟลินเดอร์ส เพทรีย์ นักอียิปต์วิทยาชาวอังกฤษคิดค้นทฤษฎีซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางที่สุด นั่นคือทั้งนาร์เมอร์และเมเนสคือฟาโรห์องค์เดียวกัน โดยนาร์เมอร์คือพระนามของพระปฐมฟาโรห์แห่งปฐมราชวงศ์ ส่วนเมเนสคือยศฐาซึ่งแต่งตั้งเป็นเกียรติ และมีความหมายว่า “กษัตริย์ผู้อดทน”

ชีวิตและความตาย

รายละเอียดที่แน่ชัดของชีวิตพระเจ้านาร์เมอร์ยังระบุชัดเจนได้ยาก เชื่อกันว่าพระองค์ทรงเติบโตที่เฮียราคอนโปลิส พระองค์ทรงได้ชื่อว่าเป็นผู้รับผิดชอบการจัดแบ่งราชอาณาจักรที่เพิ่งผนึกรวมกันเป็น 40 ภูมิภาคซึ่งเรียกว่าโนมิส (nomes)

พระองค์ทรงอภิเษกสมรส โดยพระราชินีของพระองค์มีพระนามว่านีธโฮเทป (Neithhotep) ตามชื่อของนีธ (Neith) เทพีผู้สร้าง และพระองค์ยังทรงสรา้งวิหารซึ่งอุทิศแด่พทาห์ (Ptah) เทพผู้สรรค์สร้างที่เมมฟิส ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเมืองโบราณสำคัญของอียิปต์

รายละเอียดการสวรรคตของพระองค์นั้นยังคลุมเครือ เหล่านักประวัติศาสตร์ยุคคลาสสิกซึ่งเขียนเกี่ยวกับพระองค์ในอีกหนึ่งพันปีให้หลังอธิบายว่าพระองค์ทรงถูกฮิปโปคาบไปกิน แต่นักอียิปต์วิทยาเชื่อว่ามันอาจเป็นการเปรียบเปรยมากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม สาเหตุของการสวรรคตครั้งนี้ยังคงเป็นคำถามปลายเปิด พระองค์ทรงเลือกให้สร้างสุสานของตนเองในภาคใต้ของอียิปต์และจะทรงถูกฝังที่สุสานราชวงศ์อไบดอส (Abydos Royal Cemetery) ซึ่งเป็นสุสานสำหรับบรรพบุรุษและผู้สืบสายเลือดของพระองค์เช่นกัน

สุสานของพระองค์นั้นมีขนาดเล็ก โดยมีห้องใต้ดินสองห้องตามแบบแผนสถาปัตยกรรมสุสานในยุคก่อนราชวงศ์ ซึ่งเป็นรูปแบบที่จบลงพร้อมกับตัวพระองค์ ทั้งราชินีผู้เป็นหม้ายและบุตรชายของพระองค์ (ฮอร์-อฮา: Hor-Aha) จะทรงถูกฝังในสุสานขนาดใหญ่กว่า และฟาโรห์ผู้สืบบัลลังก์ต่อมาจะถูกฝังอยู่ในสุสานที่ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นประเพณีที่พัฒนาสู่จุดสูงสุดด้วยการสร้างพีระมิดอันโอ่อ่าของเหล่าฟาโรห์ในยุคอาณาจักรเก่า (Old Kingdom)

ฟาโรห์องค์แรก, ฟาโรห์, อียิปต์
สิงโตหินจากเฮียราคอนโปลิส ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ประสูติของนาร์เมอร์ ตัวนี้ มีอายุจากราว 2250 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ภาพถ่ายโดย WERNER FORMAN/ACI
ฟาโรห์องค์แรก, ฟาโรห์, อียิปต์
เริ่มต้นจากพระเจ้านาร์เมอร์ ฟาโรห์แห่งสองราชวงศ์แรกของอียิปตูถูกฝังที่สุสานแห่ง Umm el Qaab ในอไบดอส ครั้งหนึ่ง ห้องฝังพระศพที่ว่างเปล่าเหล่านี้เคยบรรจุพระศพของ Khasekhemwy ฟาโรห์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ที่สอง ภาพถ่ายโดย KENNETH GARRETT

เรื่อง กองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก 

แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน


อ่านเพิ่มเติม ย้อนรอยการค้นพบ ฟาโรห์ ตุตันคามุน และขุมทรัพย์โลกตะลึง

Recommend