Top Gun สงครามโลกครั้งที่ 1 – รบเดือดเหนือฟ้า ในยุคมีเครื่องบินได้สิบปี

การบินสู้รบถือกำเนิดขึ้นบนท้องฟ้าเหนือยุโรปในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อเหล่านักบินผู้กล้าหาญเรียนรู้วิธีการนำเครื่องบินเข้าปะทะกันในสงครามครั้งนี้

5 ตุลาคม 1914 ดูเหมือนวันธรรมดาวันหนึ่งสำหรับสิบอากาศเอก Joseph Frantz ผู้เป็นนักบิน และสิบอากาศโท Louis Quénault ผู้ทำหน้าที่ตรวจการณ์ ทหารฝรั่งเศสทั้งสองกำลังบินอยู่บนเครื่องบินปีกสองชั้น Voisin 3 ใกล้กับแร็งส์ (Reims) ในภาคเหนือของฝรั่งเศส เรื่องที่ว่าทั้งสองกำลังโบยบินอยู่บนฟ้านั้นถือเป็นปาฏิหารย์ เนื่องเพราะเป็นเวลาเพียงหนึ่งทศวรรษเศษเท่านั้นตั้งแต่สองพี่น้องตระกูลไรต์ขับเครื่องบินขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นครั้งแรก

ในเดือนแรกๆ ของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เครื่องบินมีบทบาททางการทหารไม่มากนัก เริ่มมีการใช้ยานพาหนะที่เล็กและคล่องตัวเหล่านี้เพื่อสอดแนมแทนบอลลูนซึ่งเชื่องช้าและควบคุมได้ยากแต่ยังใช้เป็น “ดวงตาบนท้องฟ้า” เพื่อบันทึกความเคลื่อนไหวของกองกำลังฝ่ายข้าศึกอยู่ แม้บรรดานักบินคนแรกๆ จะนำปืนไรเฟิลขึ้นติดตัวใช้ยิงใส่เครื่องบินของฝ่ายตรงข้ามเป็นครั้งคราว แต่มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่คิดว่าพวกเขาจะมีบทบาทในการสู้รบโดยแท้จริงในระยะนี้ของสงคราม

นักบินของสหรัฐฯ เตรียมพร้อมเครื่องบินของตนเองในภาพถ่ายจากปี 1918  ภาพถ่ายโดย CHARLES PHELPS/GETTY IMAGES

แต่การเปลี่ยนแปลงกำลังมาถึง เครื่องบินของ Frantz คือหนึ่งในเครื่องบินลำแรกๆ ที่มีปืนกลฮอตช์คิส (Hotchkiss) ติดอยู่ในห้องนักบิน ในวันนั้น เขาและ Quénault พบเครื่องบิน Aviatik ของฝ่ายเยอรมันลำหนึ่งอยู่ใกล้ๆ พวกเขาจึงบินเข้าหาและเปิดฉากยิง ฝ่ายเยอรมันยิงสวนกลับมาก่อนที่นักบินของพวกเขาจะบาดเจ็บและเครื่องบินร่วงหล่นลงสู่พื้น นี่คือการเก็บแต้มสังหารทางอากาศสู่อากาศ (air-to-air kill) ครั้งแรกของประวัติศาสตร์ และการบินรบพัวพันหรือ dogfight ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่วันนั้นเอง

แนวรบแห่งใหม่

เมื่อสงครามเริ่มต้นขึ้นในเดือนกรกฎาคม 1914 ขั้วอำนาจคู่สงครามทั้งสองฝ่ายยังไม่รู้ว่าจะใช้งานเครื่องบินอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ชาติตะวันตกบางชาติมีกองทัพอากาศขนาดย่อมซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามและความกระตือรือร้นของผู้ที่คิดปรับตัวเป็นคนแรกๆ ในฝรั่งเศส การบินได้รับความนิยมในวงกว้างมากเป็นพิเศษ การสาธิตการบินของวิลเบอร์ ไรท์ ในปี 1908 เป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศนี้ และการริเริ่มการขับเครื่องบินข้ามช่องแคบอังกฤษของ Louis Blériot ในปีต่อมาก็ยิ่งเสริมให้มันเป็นความภาคภูมิใจประจำชาติมากขึ้นไปอีก

เมื่อสงครามเริ่มขึ้น ฝ่ายต่างๆ ที่เข้าร่วมรบยังไม่ได้มองว่า “ท้องฟ้า” จะอีกแนวรบหนึ่งได้ และยิ่งไม่มองว่าจะมีความสำคัญเทียบเท่ากับพื้นดินและทะเล ในการทหาร การเดินทางทางอากาศซึ่งมักกระทำด้วยบอลลูนนั้นจะใช้สำหรับภารกิจสอดแนม ด้วยเหตุนี้ ในตอนแรกเริ่ม เครื่องบินจึงถูกใช้งานในภารกิจนี้ด้วยเช่นกัน และเครื่องยนต์ของเครื่องบินรุ่นแรกๆ นั้นก็ยังไม่ทรงพลังมากนัก ทำให้ยานพาหนะเหล่านี้มักบรรทุกได้เพียงแค่นักบินและพลตรวจการณ์เท่านั้น

ภาพวาดโดยฮอเรซ เดวิส จากปี 1919 ซึ่งถูกจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์สงครามโลก (Imperial War Museum) ในกรุงลอนดอนนี้แสดงภาพเครื่องบินขับไล่ของเยอรมนีที่กำลังไล่ตามเครื่องบินปีกสองชั้นแบบ DH.9A ของฝ่ายสหราชอาณาจักรซึ่งจัดขบวนสำหรับการตั้งรับ ภาพถ่ายโดย IMPERIAL WAR MUSEUM, AURIMAGES

นอกจากนี้ การนำทางก็ยังเป็นสิ่งที่อยู่ในขั้นแรกเริ่มอย่างมาก และการหลงทางก็เป็นความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ หลายครั้ง เหล่านักบินจำเป็นต้องเปิดแผนที่หรือลูกโลกในระหว่างการบินเพื่อหาทิศทาง มีแม้แต่เรื่องเล่าเกี่ยวกับนักบินบางคนที่ต้องบินโฉบลงไปยังสถานีรถไฟเพื่ออ่านสัญลักษณ์บอกทิศทางบนชานชาลาเพื่อรับรู้ตำแหน่งของตนเอง และเที่ยวบินเหล่านี้ยังต้องเผชิญอันตรายจากเบื้องล่าง เนื่องจากในช่วงต้นสงครามนั้น สัญลักษณ์ระบุฝ่ายบนเครื่องบินยังไม่ถูกทำให้เป็นมาตรฐานเดียว ส่งผลให้เครื่องบินบางลำต้องถูกยิงโดยหน่วยภาคพื้นดินของฝ่ายตนเอง

บ่อยครั้ง พลตรวจการณ์ประจำเครื่องบินมักเคยเป็นนายทหารม้ามาก่อน ทำให้พวกเขามีประสบการณ์ในการสอดแนมด้วยวิธีแบบดั้งเดิม แต่ทหารเหล่านี้ไม่เคยฝึกการตีความสิ่งที่เห็นจากมุมมองด้านบน ในตอนแรก ผลการสังเกตการณ์ถูกบันทึกโดยการวาดด้วยมือ ในเวลาไม่นานนัก การถ่ายภาพทางอากาศก็กลายเป็นข้อได้เปรียบชัดเจน แม้ว่าพลถ่ายภาพจะต้องขยับกล้องบ๊อกซ์ซึ่งมีน้ำหนักมากไปมาในเครื่องบินที่ยังไม่สมบูรณ์แบบเหล่านี้ก็ตาม เป็นเช่นเดียวกับการบิน ต้องอาศัยเวลาสักพักก่อนที่เทคโนโลยีประเภทใหม่ดังกล่าวนี้จะเป็นที่ยอมรับ

เมื่อช่วงต้นสงคราม ในการยุทธครั้งแรกที่แม่น้ำมาร์น (Marne) เมื่อวันที่ 6-12 กันยายน 1914 อากาศยานได้แสดงให้เห็นว่าพวกมันช่วยเหลือหน่วยรบภาคพื้นดินได้มากเพียงใด นักบินชาวฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรสามารถตรวจพบจุดเปราะบางต่างๆ ของกองทัพเยอรมนีที่กำลังรุกคืบเข้ามา และข่าวกรองที่ถูกรวบรวมด้วยการสังเกตการณ์ทางอากาศนี้เองที่ช่วยให้หน่วยภาคพื้นดินของทั้งสองชาติสามารถหยุดยั้งกองทัพเยอรมันที่กำลังยาตราไปสู่ปารีสได้

บรรดานักยุทธศาสตร์การทหารเริ่มมองเห็นว่าเครื่องบินนั้นมีศักยภาพในการสอดส่องการเคลื่อนไหวของฝ่ายศัตรูมากเพียงใด พวกเขาเรียนรู้อย่างรวดเร็วว่าการจำกัดการเข้าถึงน่านฟ้าของฝ่ายตรงข้ามจะช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับหน่วยภาคพื้นดินของฝ่ายตนเองได้ และการต่อสู้เพื่อชิงความเหนือกว่าบนพื้นดินนี้เองที่จะนำไปสู่การต่อสู้เพื่อช่วงชิงความเหนือกว่าบนอากาศ เพื่อบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าวนี้ บรรดาเครื่องบินขับไล่ (fighter) จึงเริ่มปรากฏขึ้น และต่อจากนี้ จะไม่มีการใช้เครื่องบินสำหรับการเสาะหาข่าวกรองเพียงอย่างเดียว แต่จะถูกใช้สำหรับการสู้รบอีกด้วย

เมื่อต้นปี 1915 บรรดาผู้วางแผนการทหารฝ่ายสหราชอาณาจักรประมาณการว่าหากพวกเขาต้องการท้าทายฝ่ายเยอรมันในแนวรบบนฟากฟ้า กองทัพของตนจำเป็นต้องมีฝูงบินอย่างน้อย 50 ฝูง ซึ่งนับเป็นเครื่องบิน 700 ลำ ณ เวลานั้น กองบินหลวง (Royal Flying Corps) มีฝูงบินในฝรั่งเศสเพียงหกฝูงเท่านั้น สถานการณ์ที่กล่าวมาน่ากังวลขึ้นเรื่อยๆ สำหรับฝ่ายสัมพันธมิตร นอกจากนี้ นายทหารยศสูงบางคนยังมีความสงสัยในความสำคัญของเครื่องบินในสงครามที่กำลังดำเนินไป

เครื่องบิน Eindecker III ซึ่งกำลังถูกประกอบชิ้นส่วนที่โรงงานผลิตของฟอกเกอร์ในกรุงเบอร์ลิน ภาพถ่ายโดย ALAMY, ACI

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มีการผลิตเครื่องบิน 50 รุ่นซึ่งมีการออกแบบที่ต่างกัน และจะมีการพัฒนาเครื่องบินรุ่นต่างๆ เหล่านี้เพิ่มเติมจากรุ่นก่อนหน้า โดยทั่วไปแล้ว เครื่องบินจะจากไม้และเสริมความแข็งแรงด้วยเส้นลวด ก่อนจะถูกหุ้มด้วยผ้าขัดเงา ที่นั่งของนักบินมักตั้งอยู่เหนือถังเชื้อเพลิง อุปกรณ์ลงจอดไม่สามารถพับเก็บได้ ไม่มีวัสดุรับแรงกระแทก และไม่เป็นไปตามหลักอากาศพลศาสตร์โดยสิ้นเชิง เมื่อสงครามเริ่มขึ้น เครื่องบินส่วนใหญ่มีความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 112.66 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะทำความเร็วได้เกิน 160.9 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเพียงหลังจากสงครามดำเนินไประยะหนึ่งแล้วเท่านั้น

ขณะอยู่บนฟ้า เหล่านักบินจะใช้อุปกรณ์ที่หลากหลายเพื่อปกป้องตนเองจากสภาพอากาศ ชุดนักบินสมัยแรกๆ ดูเหมาะสมกับการไต่เขามากกว่าการขับเครื่องบิน หมวกหนังซึ่งถูกใช้เมื่อตอนแรกถูกแทนที่ด้วยหมวกโลหะแข็งซึ่งช่วยเสริมการป้องกัน หมวกเหล่านี้มักพ่วงมาด้วยแว่นตากันลมเพื่อปกป้องดวงตา แม้มันจะหมายถึงทัศนวิสัยที่ลดลงพอควรก็ตาม ส่วนแว่นชนิดกันแตกนั้นจะยังไม่ถูกใช้จนกว่าจะถึงช่วงสุดท้ายของสงคราม นอกจากชุดรัดรูป หมวกหนัง และเสื้อแจ็กเกตแล้ว พวกเขายังสวมเสื้อคลุมขนสัตว์เพื่อเสริมความอบอุ่น

โปสเตอร์จากปี 1917 ซึ่งวาดโดย Pual Verrees เชิญชวนให้อาสาสมัครมาเข้าร่วมกับหน่วยบินแห่งสหรัฐฯ ซึ่งยังมีขนาดเล็กในขณะนั้น ภาพถ่ายโดย PHOTO 12/GETTY IMAGES

เครื่องบินซึ่งติดใบพัดไว้ด้านหลังห้องนักบิน เช่น Voisin 3 ของฝรั่งเศสนั้นเป็นที่รู้จักกันในนาม “เครื่องบินแบบผลัก (pusher)” ตำแหน่งของใบพัดนี้ทำให้พลประจำเครื่องมีทัศนวิสัยที่เปิดโล่งโดยไม่ถูกบดบัง ทำให้การสาดกระสุนเข้าใส่ข้าศึกเป็นเรื่องง่าย แต่จุดแข็งดังกล่าวนี้ต้องแลกมาด้วยความคล่องตัวที่มีไม่มากนัก ส่วนเครื่องบินซึ่งติดใบพัดไว้ที่ด้านหน้านั้นถูกเรียกว่า “เครื่องบินแบบลาก (tractor)” ซึ่งมีข้อดีในด้านความคล่องตัวที่มากกว่าเครื่องบินแบบผลักอย่างมาก แต่ใบพัดที่อยู่ด้านหน้านั้นก็ทำให้ความสามารถในการเล็งยิงของนักบินลดลงอย่างมากเช่นกัน

เมื่อสงครามเริ่มต้นขึ้น เครื่องบินเหล่านี้ยังไม่มีการติดตั้งระบบอาวุธ นักบินขับไล่ยุคแรกสุดจึงต้องยิงใส่ข้าศึกด้วยปืนพก ไรเฟิล หรือแม้แต่ปืนลูกซอง ก่อนที่ปืนกลจะกลายเป็นอาวุธมาตรฐาน เครื่อง Voisin 3 มีอาวุธดังกล่าวติดอยู่ที่ด้านหน้าหนึ่งกระบอก เช่นเดียวกับวิกเกอร์ส เอฟ.บี.5 กันบัส (Vickers F.B.5 Gunbus) ซึ่งผลิตโดยสหราชอาณาจักรและเข้าประจำการในปี 1915 แม้การติดตั้งปืนกลลงบนเครื่องบินจะทำให้พวกมันมีอาวุธที่พึ่งพาได้มากขึ้น มันกลับทำให้การรบมีความซับซ้อนมากขึ้นเช่นกัน และตำแหน่งใบพัดของเครื่องบินแบบผลักมีโอกาสทำให้นักบินทำเครื่องบินของตนเองเสียหายมากขึ้นอีกด้วย

ลิ่งเหล่านี้เปลี่ยนไปในปี 1915 เมื่อการพัฒนาการทางเทคนิคครั้งสำคัญทำให้ปืนกลและใบพัดสามารถประสานงานกันได้ โดย Raymond Saulnier วิศวกรชาวฝรั่งเศสได้พัฒนาเฟืองขัดจังหวะ (interrupter gear) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมจังหวะการยิงของปืนขึ้น ทำให้กระสุนสามารถพุ่งผ่านช่องว่างระหว่างใบพัดได้โดยไม่ทำลายพวกมัน และใบพัดเหล่านี้ยังได้รับการป้องกันมากขึ้นด้วยการติดตั้งแผ่นโลหะสำหรับสะท้อนกระสุน ในเดือนเมษายนปีเดียวกัน นักบินของฝรั่งเศสสามารถจัดการเครื่องบินฝ่ายเยอรมนีสามลำได้ด้วยเทคโนโลยีแบบใหม่นี้

ทัณฑ์หายนะโดยฟอกเกอร์

ต่อมาในเดือนเดียวกัน ฝ่ายเยอรมันยึดเครื่องบินฝรั่งเศสซึ่งติดตั้งเครื่องกลขัดจังหวะมาได้ลำหนึ่งและใช้มันพัฒนาเทคโนโลยีเฟืองประสานจังหวะของตนเองได้ด้วยฝีมือของ แอนโธนี่ ฟอกเกอร์ (Anthony Fokker) วิศวกรชาวดัชต์ผู้นำสิ่งประดิษฐ์ของฝ่ายฝรั่งเศสปรับปรุงเพิ่มเติม และในไม่ช้า เยอรมนีก็สามารถช่วงชิงความได้เปรียบในการแข่งขันควบคุมฟากฟ้ามาจากฝ่ายสัมพันธมิตรได้

ความได้เปรียบดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากการเข้าประจำการของเครื่องบินปีกชั้นเดียวแบบฟอกเกอร์ ไอน์เดกเกอร์แบบที่หนึ่ง (Fokker Eindecker I) ซึ่งออกแบบโดยวิศวกรผู้ประดิษฐ์เฟือง “ขัดจังหวะ” ของฝ่ายเยอรมนีนั่นเอง บรรดานักบินของประเทศแห่งนี้ ซึ่งรวมถึงออสวัลด์ เบิลเค่อ (Oswald Boelcke) และ มักซ์ อิมเมลมันน์ (Max Immelmann) คือหนึ่งในนักบินฝีมือฉกาจที่สุดในสงคราม และมีผลงานจากเครื่องบินเหล่านี้ นักบินเหล่านี้เองที่ปลดปล่อยส่วนผสมอันน่าสะพรึงกลัวของความรวดเร็ว อำนาจการยิง และฝีมือการบังคับเครื่องที่จะทำให้เกิดช่วงเวลาแห่งการครองอากาศของเยอรมนี ช่วงเวลาที่ถูกขนานนามว่าทัณฑ์หายนะโดยฟอกเกอร์ (the Fokker Scourge) ข้อมูลบางแหล่งระบุว่าเครื่องจักรสังหารอันคล่องแคล่วเหล่านี้อาจส่งเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรให้ร่วงหล่นสู้พื้นดินไปถึงกว่า 1,000 ลำ

ฟอกเกอร์สามารถรักษาความเหนือกว่าในเชิงเทคนิคของพวกมันได้ ก่อนที่แอร์โค ดีเอช.2 (Airco DH.2) ของสหราชอาณาจักรและ Nieuport รุ่นใหม่ๆ ของฝรั่งเศสเริ่มจะปรากฏตัวขึ้นบนท้องฟ้าและเริ่มต่อสู้กับอากาศยานอันเป็นที่เกรงขามเหล่านี้อย่างได้ผล อย่างไรก็ตาม แม้เฟืองขัดจังหวะของชาติพันธมิตรทั้งสองจะถูกปรับปรุงให้มีความก้าวหน้าขึ้น แต่บรรดาวิศวกรของฝ่ายเยอรมนีก็ยังมุ่งมั่นพัฒนาเครื่องจักรของตนให้มีความเสถียรและมีความถูกต้องตามหลักอากาศพลศาสตร์มากขึ้นเพื่อให้พวกมันคงความเหนือชั้นต่อฝ่ายตรงข้าม

เมื่อถึงปี 1916 การคิดค้นทางเทคโนโลยียังคงเคลื่อนที่ต่อไปด้วยความรวดเร็วอย่างน่าทึ่ง คู่สงครามทั้งสองฝ่ายก็ใช้มันเพื่อท้าทายการครองน่านฟ้าของฝ่ายตรงข้ามเพื่อควบคุมความได้เปรียบในการรวบรวมข่าวกรอง มากไปกว่านั้น กลุ่มมหาอำนาจทั้งสองยังมองเห็นถึงความเป็นไปได้ในการทิ้งระเบิดใส่ฐานบิน ตำบลที่ตั้ง และเมืองต่างๆ ของข้าศึกจากบนฟ้า บ่อยครั้ง ปฏิบัติการทิ้งระเบิดเหล่านี้ก็ทำได้เพียงง่ายดายด้วยการพิงตัวออกนอกห้องนักบินและทิ้งระเบิดด้วยมือเปล่าเท่านั้น ในลางบอกเหตุอันน่ากลัวถึงการโจมตีทางอากาศครั้งต่างๆ ที่จะก่อร่างศตวรรษที่ 20 เยอรมนีได้เริ่มโจมตีเป้าหมายทางพลเรือนในอังกฤษด้วยความรุนแรงมากขึ้นด้วยการใช้เรือเหาะ Zeppelin ในปีดังกล่าว และเครื่องบินขับไล่รุ่น Gotha ในปีต่อมา

และในปีเดียวกันนี้เอง การจัดกำลังทางยุทธวิธีก็ก้าวหน้าขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ในเดือนมกราคม การจัดขบวนรบอย่างเป็นระบบก็เริ่มปรากฏขึ้นเหนือน่านฟ้าของฝรั่งเศส โดยสำหรับภารกิจทิ้งระเบิด เครื่องบินของฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรจะจัดขบวนเป็นรูปตัว v และมอบหมายให้เครื่องบินขับไล่คุ้มกันเครื่องบินทิ้งระเบิดจากตำแหน่งที่สูงกว่า ส่วนสำหรับฝ่ายเยอรมนี พวกเขาจะจัดเครื่องบินหลายลำเข้าเป็นกลุ่มเรียกว่า kette

เช่นเดียวกันกับเทคโนโลยีและการฝึกฝน ยุทธวิธีของเยอรมนีนั้นก็ก้าวล้ำกว่าใครเพื่อน และในระหว่างสมรภูมิอันยาวนานที่แวร์เดิง (Verdun) ระหว่างเดือนกุมภาพันถึงธันวาคม 1916 พวกเขาก็ปรับปรุงให้มันมีประสิทธิภาพอย่างอันตรายร้ายกาจ ออสวัลด์ เบิลเค่อ หนึ่งในเสืออากาศของพวกเขา ได้เขียนกฎพื้นฐานสำหรับการรบพัวพันทางอากาศขึ้นมาหนึ่งรายการ ชื่อว่า หลักการของเบิลเค่อ (Boelcke doctrine) ที่ไม่เพียงแต่ถูกนำไปปรับใช้โดยนักบินของฝ่ายพันธมิตรเท่านั้น แต่ยังคงถูกสอนให้กับนักบินขับไล่ในยุคปัจจุบันอีกด้วย หลักนิยมนี้มีกฎเกณฑ์ว่าด้วยการหลีกเลี่ยงการเข้าโจมตีหากยังไม่อยู่ในตำแหน่งได้เปรียบ นักบินต้องทำงานเป็นทีม, ตัดสินใจอย่างเยือกเย็นว่าการเข้าปะทะเป็นสิ่งคุ้มค่าหรือไม่, ไม่กระทำความกล้าหาญอย่างโง่เขลา และต้องรอคอยให้ศัตรูอยู่ในตำแหน่งเสียเปรียบก่อนจะเข้าจู่โจมอย่างไร้ความปราณี โดยการโจมตีจากด้านหลังของศัตรูนั้นต้องกระทำด้วยกำลังอย่างเต็มกำลังที่สุด

นักบินของฝ่ายสหราชอาณาจักรทิ้งระเบิดใส่ตำบลที่ตั้งของข้าศึกในภาพจากปี 1919 ภาพนี้ ภาพถ่ายโดย PCDE, BRIDGEMAN, ACI

ในฤดูร้อนของปี 1916 กองบินหลวงของสหราชอาณาจักรได้เติบโตขึ้นอย่างมาก และมีพลประจำเครื่องและบุคลากรภาคพื้นรวมกันถึงกว่า 42,000 คน กระนั้น อัตราการสูญเสียนักบินของเยอรมนีก็ยังต่ำกว่าฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่มาก และกองทัพอากาศของเยอรมนีก็มีระเบียบวินัยและความสามัคคีอย่างน่าเกรงขาม ในเวลานั้น Boelcke ได้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาหนึ่งในฝูงบินขับไล่หรือ Jadgstaffel (หรือรู้จักกันในชื่อย่อว่า Jasta) ซึ่งมีเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวคือการทำลายเครื่องบินข้าศึกเป็นจำนวนมากและช่วยให้เยอรมนีครองความเหนือกว่าทางอากาศได้อย่างเหนียวแน่นมากขึ้น เขาฝึกฝนเหล่านักบินในฝูงบินขับไล่ที่สอง (Jasta 2) ของตนอย่างเข้มข้นเพื่อทำให้แน่ใจว่าบรรดาสมาชิกจะเป็นนักบินซึ่งมีฝีมือดีที่สุด และทำให้เป็นหน่วยรบที่ทั้งดุดันและเข้าขากันได้ดี

เบิลเค่อเสียชีวิตในเดือนตุลาคม 1916 ฝูงบินที่ต้องตกอยู่ในความทุกข์ระทมจากการสูญเสียเสืออากาศอายุ 25 ปีผู้นี้เปลี่ยนชื่อเป็นฝูงบินเบิลเค่อเพื่อเป็นเกียรติแด่เขา ในเดือนมกราคม 1917 มันเฟรด ฟอน ริชท์โฮเฟิน (Manfred von Richthofen) หนึ่งในศิษย์เอกของเขา เข้ารับตำแหน่งฝูงบินขับไล่ที่ 11 ซึ่งเปลี่ยนมาใช้เครื่องบินขับไล่อัลบาทรอส (Albatros) นอกจากความรวดเร็วที่เหนือกว่าเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรแล้ว เครื่องบินเหล่านี้ยังติดตั้งปืนกลถึงสองกระบอก เสืออากาศผู้นี้ทาสีเครื่องบินทั้งลำของเขาด้วยสีแดงสด ทำให้เขาได้รับฉายาโด่งดังว่าบารอนสีแดง (the Red Baron) ริชท์โฮเฟินจะมีชื่อเสียงโด่งดังสำหรับฝีมือทางยุทธวิธีและฝีมือการยิงปืนอย่างแม่นยำร้ายกาจของเขา การยึดถือในข้อบัญญัติของเบิลเค่อนั้นทำให้เขาบินในตำแหน่งที่สูงกว่าเครื่องบินลำอื่นๆ ในขบวนเพื่อล่อลวงให้ข้าศึกเข้ามาติดในแหการโจมตีของตน

ฝูงบินทิ้งระเบิดซึ่งกำลังเตรียมออกตัว ณ Saint-Omer ในฝรั่งเศส ภาพถ่ายโดย CULTURE CLUB/GETTY IMAGES

หลักการข้อหนึ่งในหลักการของเบิลเค่อ — ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการฝึกนักบินของเยอรมนีแต่ถูกสหราชอาณาจักรนำมาปรับใช้อย่างช้าๆ — คือความรอบคอบ จงอย่าเข้าปะทะกับข้าศึกเพื่อสวมบทวีรบุรุษ แม้สงครามจะดำเนินมาแล้วกว่าสองปีเมื่อปี 1916 แต่นักบินของสหราชอาณาจักรบางคนกลับยังมองเรื่องง่ายๆ นี้ด้วยความรังเกียจ และคิดว่ามันเป็นสิ่งขลาดเขลามากกว่าความเฉลียวฉลาด นักบินเยอรมันคนหนึ่งซึ่งสังเกตการรบบนอากาศอย่างสบายอารมณ์หลังเขาถูกจับเป็นเชลยเมื่อปลายปี เขียนไว้ว่า “พวกคุณ…. ไม่เคยวิเคราะห์สถานการณ์ ผมเห็นเครื่องบินลำหนึ่งของคุณเข้าปะทะกับฟอกเกอร์ลำหนึ่ง สองลำ และสามลำ ก่อนจะถูกยิงตกที่ Lille พวกเราจะไม่เข้าปะทะหากมันไม่ใช่เรื่องจำเป็น”

ยุทธวิธีที่ผ่านการไตร่ตรองและคำนวณมาเป็นอย่างดีของฝ่ายเยอรมนีนั้นหมายความว่า เมื่อพวกเขาจู่โจม ศัตรูจะต้องเจ็บปวดอย่างสาหัส ในเดือนเมษายน 1917 ในเหตุการณ์ที่ต่อมาจะถูกเรียกว่าเมษานองเลือด (Bloody April) อัลบาทรอสจากฝูงบินของริชท์โฮเฟินได้เข้าจู่โจมเครื่องบินของสหราชอาณาจักรซึ่งทำหน้าที่คุ้มกันหน่วยภาคพื้นดินในระหว่างยุทธการที่อาร์รัส (Arras) อย่างดุดันและทำให้ข้าศึกต้องเกิดความสูญเสียเป็นจำนวนมาก

แต่ในขณะที่เหล่านักบินของเยอรมนีเลือกเป้าหมายอย่างระมัดระวัง พวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของลัทธิแห่งนักบินผู้ห้าวหาญที่กำลังก่อตัวขึ้นมากเทียบเท่ากับศัตรูของตนอยู่เช่นกัน เสน่ห์ การวางท่าทาง และความเป็นวีรบุรุษนั้นได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของคำกล่าวขานเกี่ยวกับบุรุษผู้บ้าบิ่นเหล่านี้ที่ไม่เพียงแต่บังคับควบคุมยวดยานอันตรายที่ล้ำหน้าไปด้วยเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังยึดมั่นในกฎสัญญาที่ย้อนกลับไปได้ถึงยุคแห่งอัศวินและเกียรติยศอีกด้วย

ในส่วนของฝ่ายสัมพันธมิตร พวกเขาเองก็มีการจัดตั้งหน่วยรบระดับตำนานขึ้นในหมู่ฝูงบินของตนเองขึ้นเพื่อท้าทายฝ่ายเยอรมนีเช่นกัน เครื่องบินปีกสามชั้นรุ่นซ๊อปวิต (Sopwith) ที่รวดเร็วแต่ยังมีจุดอ่อนกลับมีชื่อเสียงขึ้นมาเนื่องเพราะ หมู่บินทมิฬ (Black Flight) แห่งกองบินทัพเรือหลวง (Royal Naval Air Service) หมู่บินซึ่งมีสมาชิกห้าคนนี้ถูกขนานนามด้วยชื่อดังกล่าวเนื่องจากเรย์มอน คอลลิชอว์ ผู้เป็นหัวหน้าหมู่บิน ตัดสินใจทาเครื่องบินทั้งห้าลำ (ซึ่งแต่ละลำมีชื่อเรียกแตกต่างกัน) ของหน่วยด้วยสีดำสนิท

บรรดาสื่อซึ่งจำเป็นต้องหาวีรบุรุษมาเชิดชูเพื่อหันเหผู้อ่านออกจากข่าวของการละเลงเลือดในสนามรบอย่างถึงที่สุด ได้แต่ยินดีไปกับการเล่าเรื่องราววีรกรรมของเหล่าอัศวินแห่งน่านฟ้าและเชิดชูบุรุษเช่นอัลเบิร์ต บอล แห่งสหราชอาณาจักร, บิลลี บิชอป แห่งแคนาดา, René Fonck แห่งฝรั่งเศส, และ — ในเวลาต่อมา — เอ็ดเวิร์ด ริคเคนแบ็คเกอร์ แห่งสหรัฐฯ มีเรื่องเล่ากันว่าเมื่อ Roland Garros นักบินชาวฝรั่งเศส สามารถเก็บแต้มที่สามของเขาได้สำเร็จ สื่อต่างๆ ล้วนแต่เชิดชูเขาให้เขาเป็นเสืออากาศ ต่อมา คำคำนี้จะถูกใช้สำหรับยกย่องนักบินของฝ่ายสัมพันธมิตรที่สามารถจัดการเครื่องบินของฝ่ายศัตรูได้ไม่น้อยกว่าห้าลำ (ก่อนจะกลายเป็นสิบลำในเวลาต่อมา)

แน่นอนว่ามีนักบินเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะได้รับชื่อเสียงเรียงนามเหล่านี้ นักบินส่วนใหญ่ — ซึ่งต้องเสี่ยงชีวิตในทุกๆ วัน — จะเป็นเพียงผู้ไร้ตัวตนในหน้าประวัติศาสตร์ แม้พวกเขาหลายคนจะต้องจบชีวิตลง และถึงแม้ว่านักบินส่วนใหญ่มีชีวิตที่สุขสบายกว่าทหารคนอื่นๆ ในสงครามครั้งนี้ (เช่น ห้องพักสะอาด เตียงนุ่มๆ และอาหารและสุราคุณภาพดีคือเรื่องปกติสำหรับพวกเขา) มันก็ต้องแลกมาด้วยราคาค่างวดแสนแพง คำสั่งขึ้นบินนั้นมาได้ทุกเวลา เมื่อพวกเขาอยู่บนท้องฟ้าเรียบร้อยแล้ว นักบินเหล่านี้ก็มีสิทธิเผชิญความตายมากกว่าทหารที่สู้รบอยู่ในสนามเพลาะเป็นอย่างมาก เมื่อถึงปี 1917 อัตราการสูญเสียของฝูงบินต่างๆ ของสหราชอาณาจักรก็มีอยู่ถึงราว 200 คนต่อเดือน มีคำเล่าขานกันว่านักบินที่เดินทางมาถึงฝรั่งเศสหลังการฝึกพื้นฐานนั้นจะมีอายุขัยเพียงราว 11 วัน

ในปี 1917 สถานการณ์ของฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรก็อยู่ในจุดคับขัน การปฏิวัติโดยประชาชนในรัสเซียทำให้พระเจ้าซาร์ที่สองต้องสละราชบัลลังก์ แต่ในเดือนเมษายนของปีเดียวกัน หลังจากการจมเรือสินค้าของสหรัฐฯ โดยเรือดำน้ำของเยอรมนีก่อให้เกิดความโกรธแค้นในหมู่ประชาชน  ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันก็ได้นำสหรัฐฯ เข้าร่วมสงครามในท้ายที่สุด

ยูจีน บูลลาร์ด ซึ่งบินทำภารกิจในฝรั่งเศสในระหว่างปี 1917-18 คือนักบินรบเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกของโลก ภาพถ่ายโดย COLUMBUS LEDGER/GETTY IMAGES

เมื่อประเทศของพวกเขาเข้าร่วมสงคราม นักบินของสหรัฐฯ หลายคนนั้นก็มีประสบการณ์รบเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากพวกเขาได้เข้าร่วมสงครามในฐานะอาสาสมัครให้กับฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปี 1916 โดยในเดือนเมษายนของปีดังกล่าว ฝรั่งเศสได้ก่อตั้งหน่วยบินซึ่งสมาชิกทั้งหมดเป็นชาวสหรัฐฯ ขึ้นมาหน่วยหนึ่ง ต่อมาในปีเดียวกัน นักบินเหล่านั้นหลายคนก็ได้ก่อตั้งฝูงบิน Lafayette ขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ โดยอาสาสมัครที่ร่วมรบในฝรั่งเศสนี้มียูจีน บูลลาร์ด ผู้เป็นนักบินชาวแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกรวมอยู่ด้วย มีเรื่องเล่ากันว่านักบินผู้บุกเบิกคนนี้ทาสีประโยคว่า “เลือดของทุกคนเป็นสีแดง” บนเครื่องบินของเขา

เมื่อสหรัฐฯ เข้าร่วมสงคราม หน่วยบินของพวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาเดียวกับที่ชาติมหาอำนาจในยุโรปต้องเผชิญเมื่อสงครามเริ่มขึ้นเมื่อสามปีก่อน นั่นคือหน่วยบินซึ่งอยู่ในสภาพร่อยหรอ (พวกเขามีเครื่องบินเพียงหกลำเท่านั้น) ทำให้พวกเขาต้องเฟ้นหานักบินและสั่งซื้อเครื่องบินอย่างเร่งด่วน จนเมื่อเดือนพฤษภาคม 1918 พวกเขาก็ได้จัดตั้งกองบินกองทัพสหรัฐฯ (U.S. Air Service) ขึ้นได้สำเร็จ และภายในเวลาไม่นาน ตำนานแห่งการบินของพวกเขา — ซึ่งรวมถึงนักบินดาวเด่นประจำหน่วยอย่างร้อยเอกเอ็ดเวิร์ด ริคเคนแบคเกอร์ และพลจัตวาวิลเลียม “บิลลี่” มิตเชลล์ ผู้บัญชาการหน่วยสุดห้าวหาญและบิดาแห่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ — ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น กระนั้น การแบ่งแยกผิวสีภายในกองทัพก็ทำให้บูลลาร์ดถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมหน่วย

ในช่วงเดือนท้ายสุดของสงคราม ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ครองอากาศได้โดยเบ็ดเสร็จ พวกเขาสามารถผลิตเครื่องบินได้มากกว่าฝ่ายเยอรมนีในอัตราส่วนถึงราวห้าต่อหนึ่ง โดยเครื่องบินปีกสองชั้นแบบสแป็ดสิบแปด (Spad XIII) ของฝรั่งเศสนั้นได้ถูกผลิตเป็นจำนวนมากและได้รับการพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพที่มีต่อฝ่ายข้าศึก ส่วนฝ่ายสหราชอาณาจักรก็ได้เผยโฉมเครื่องบินลำเด่นของตนเองอย่างซ๊อปวิต แคเมล (Sopwith Camel) ซึ่งเป็นเครื่องบินปีกสองชั้นเช่นกัน แม้เครื่องบินที่เริ่มเข้าสู่สนามรบตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนของปี 1917 เหล่านี้จะควบคุมได้ยากอย่างร้ายกาจ แต่ถ้าพวกมันถูกขับโดยนักบินที่มีประสบการณ์แล้ว มันจะกลายเป็นทัณฑ์ทรมานสำหรับนักบินของเยอรมนี ซึ่งไม่สามารถพลิกกลับมาคุมความได้เปรียบบนท้องฟ้าได้อีกเลย แม้พวกเขาจะมีเครื่องบินชั้นยอดของตนเองอย่างฟอกเกอร์ ดี.เจ็ด (Fokker D.VII) ก็ตาม

เหตุการณ์ครั้งสำคัญมาถึงในเดือนกันยายน 1918 เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเผชิญหน้ากับฝ่ายเยอรมนีที่ยุทธการแซง-มีอีล (Saint-Mihiel) ในการโจมตีซึ่งมีการประสานงานกันเป็นอย่างมากระหว่างกองกำลังภาคพื้นดินและอากาศ เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรกว่า 1,500 ลำภายใต้การบังคับบัญชาของมิตเชลล์ได้ทำการโจมตีทางอากาศต่อฝ่ายเยอรมนีอย่างรุนแรง ยุทธศาสตร์ของการจู่โจมศัตรูด้วยเครื่องบินจำนวนมากมายมหาศาลนี้ส่งผลให้กองกำลังภาคพื้นของฝ่ายตั้งรับต้องเผชิญกับความเสียหายอย่างย่อยยับ และด้วยอำนาจการยิงของกองทัพสหรัฐฯ นี้เองที่จะทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรกลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบในสงคราม ในท้ายที่สุด สงครามครั้งนี้ก็สิ้นสุดลงในเดือนพฤศจิกายนในปีเดียวกันนี้เอง

ความขัดแย้งซึ่งเป็นจุดก่อกำเนิดของการรบทางอากาศในช่วงเดือนแรกๆ ครั้งนี้จบลงด้วยการพัฒนาอากาศยานซึ่งทั้งคล่องตัวและรวดเร็ว คงจะทำให้นักบินสมัครเล่นจากยุคก่อนสงครามต้องตะลึง ระเบียบการเมืองโลกของศตวรรษที่ 19 ถูกฉีกเป็นชิ้นๆ ยุโรปและโลกทั้งใบต้องเปลี่ยนแปลงไป อาณาจักรรัสเซีย, ออสเตรีย-ฮังการี, และออตโตมัน กลับต้องพบจุดจบ และศตวรรษที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นนี้จะกลายเป็นศตวรรษแห่งเครื่องบิน ซึ่งจะมีทั้งความรวดเร็วที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่รู้จบ และอำนาจการยิงที่น่ากลัวอย่างยิ่ง

เรื่อง JUAN VÁZQUEZ GARCÍA

แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน


อ่านเพิ่มเติม ภาพจริงจาก ‘สงครามสนามเพลาะ’ ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อยอดหนัง All Quiet on the Western Front

 

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.