ศาสตราจารย์ ปรีดี พนมยงค์ เป็นอีกหนึ่งรัฐบุรุษและบุคคลสำคัญของประเทศไทยที่มีบทบาทในหลายมิติ ไม่ว่าจะในแวดวงการเมืองการปกครอง กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การศึกษา การธนาคาร ตลอดจนเรื่องของสังคมและวัฒนธรรม
ปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 ที่เรือนแพหน้าวัดพนมยงค์ อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในครอบครัวชาวนา เขาเป็นบุตรของนายเสียงและนางลูกจันทร์ โดยเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัตินามสกุล พ.ศ. 2456 ได้ใช้นามสกุลว่าพนมยงค์
ปรีดี ได้รับการส่งเสียให้รับการศึกษาที่ดี เริ่มการศึกษาในระดับประถมที่โรงเรียนวัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า ก่อนจะย้ายมากรุงเทพฯโดยเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร และมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ตามลำดับ เมื่อเรียนจบเขากลับบ้านเกิดมาช่วยพ่อทำนา 1 ปี ก่อนจะเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม เมื่อ พ.ศ. 2460 พร้อมกับศึกษาภาษาฝรั่งเศสที่เนติบัณฑิตยสภากับอาจารย์เลเดเกร์
นายปรีดี ใช้เวลาเรียนเพียงหนึ่งปีครึ่งก็สอบไล่ผ่านวิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิต เมื่อพ.ศ. 2462 ขณะมีอายุเพียง 19 ปี เขาต้องรอถึงอายุ 20 ปีจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาตามระเบียบข้อบังคับในยุคนั้น แต่ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับการแต่งตั้ง นายปรีดี ได้รับเป็นทนายความแก้ต่างให้กับฝ่ายจำเลยโดยได้รับการอนุญาตเป็นพิเศษจากผู้พิพากษาเจ้าของคดี และสามารถชนะคดีได้ด้วย
ต่อมา นายปรีดี ได้เป็นนักเรียนทุนศึกษาไปต่อด้านกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส จนสามารถสำเร็จการศึกษาขั้นดุษฎีบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยปารีส ในปี 2469 ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งคณะราษฎรในประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อประกอบอาชีพเป็นผู้พิพากษา
การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 หรือ การอภิวัฒน์สยาม เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีผลทำให้ราชอาณาจักรสยามเปลี่ยนรูปแบบประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยเกิดขึ้นจากคณะนายทหารและพลเรือนที่รวมตัวดันเรียกตนเองว่า คณะราษฎร ซึ่งเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์โลก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองภายในประเทศ การปฏิวัติดังกล่าวทำให้ประเทศสยามมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก
การปฏิวัติสยาม ที่เกิดขึ้นในช่วงเช้ามืดของวันที่ 24 มิถุนายน นำโดย พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนากับพันเอกพระยาทรงสุรเดช ที่นำทหารออกมายึดสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ และช่วงเย็นของวันที่ 24 มิถุนายน มีการเรียกประชุมรัฐมนตรีอาวุโส โดย นายปรีดี พยายามเกลี้ยกล่อมให้ข้าราชการพลเรือนอาวุโสสนับสนุนคณะราษฎร มิฉะนั้นแล้วการแสดงออกอันความสับสนอาจนำไปสู่การแทรกแซงจากต่างชาติได้ รวมถึงขอให้กระทรวงการต่างประเทศส่งข่าวไปยังคณะทูตต่างประเทศทั้งหมด พร้อมคณะราษฎรให้คำมั่นว่าจะคุ้มครองชีวิตและธุรกิจของชาวต่างชาติและบรรลุพันธกรณีตามสนธิสัญญาของสยาม
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติธรรมนูญชั่วคราวที่ร่างขึ้นโดย นายปรีดี เขียน มีการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้โดย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม ซึ่งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการราษฎรเป็นฝ่ายบริหารและสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกสภาที่ได้มาจากการแต่งตั้ง 70 คน
สมัยประชุมแรกของรัฐสภาผู้แทนราษฎรประชุมกันในพระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แต่เมื่อถึงปลายปีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรและมีความเป็นสายกลางมากขึ้นก็ได้มีผลใช้บังคับแทนเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 โดยสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 156 คน เลือกตั้ง 76 คน และอีก 76 คนได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งการจำกัดประชาธิปไตยถูกยกเลิกและรัฐบาลมีกำหนดจะจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476
ด้าน พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้รับเลือกจากสมาชิกคณะราษฎรให้เป็น นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นการประนอมอำนาจกับอำนาจเก่า แต่ก็ดำรงตำแหน่งได้เพียง 192 วัน สุดท้ายพระยามโนปกรณ์นิติธาดาถูกขับออกจากตำแหน่งจากการทำรัฐประหารในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 โดย พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา
ส่วนบทบาทของการเป็นผู้นำเสรีไทยช่วงสงครามโลกของ นายปรีดี เริ่มต้นหลังจากที่รัฐบาลไทยตัดสินใจในเช้าวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ยินยอมให้กำลังทหารญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยแล้วได้มีองค์การหรือขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นเกิดขึ้นทั้งในไทยและกลุ่มคนไทยในอังกฤษกับสหรัฐอเมริกา หรือเรียกกันต่อมาว่า ขบวนการเสรีไทย ซึ่งในประเทศไทยก่อตั้งโดย นาย ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ส่วนแรงขับดังกล่าวเกิดจากการที่ นาย ปรีดี พนมยงค์ ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในตอนนั้น ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จน นายปรีดี ต้องออกจากคณะรัฐบาลในเวลาต่อมา
ช่วงวันที่ 10 ธันวาคม เมื่อ นายปรีดี ทราบเรื่องการจัดตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นของคนไทยขึ้นในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษแล้ว จึงได้ส่งตัวแทนเสรีไทยในประเทศไปจีน และบางคณะไปถึงอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ขณะที่เสรีไทยในต่างประเทศก็เริ่มเข้ามาปฏิบัติการในไทยด้วยการโดดร่มมาลงในภูมิภาคต่างๆ เพื่อต่อต้านทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาประจำการในไทย
สำหรับการปะทะกันระหว่างขบวนการเสรีไทยกับกองทัพญี่ปุ่นไม่ได้เกิดขึ้นแบบเต็มรูปแบบ เนื่องจากญี่ปุ่นประกาศยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หลังจากสหรัฐทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมะและนางาซากิเมื่อวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ซึ่งการมีอยู่ของ เสรีไทย ทำให้ไทยรดพ้นจากการเป็นชาติแพ้สงคราม แม้จะเคยร่วมกับญี่ปุ่นในการประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ความร่วมมือลับ ๆ ของไทยกับฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้ ไทยมีอำนาจต่อรองในการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรหลังสงครามยุติ สหรัฐฯถือว่าไทยไม่เคยประกาศสงครามต่อประเทศของตน หลังสงครามยุติพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่อง นายปรีดี ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส
นาย ปรีดี พนมยงค์ ถูกผู้ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 7 ของประเทศไทย ในวันที่ 24 มีนาคม 2489 แต่เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489 ประกาศใช้ นายปรีดีได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 7 มิ.ย. พ.ศ. 2489 และได้รับโปรดเกล้าฯเป็นนายกรัฐมนตรีในวันรุ่งขึ้น แต่ยังไม่ทันได้ตั้งคณะรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสด็จสวรรคตในวันที่ 9 มิ.ย. พ.ศ. 2489 นายปรีดี ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวันที่ 11 มิ.ย. ก่อนจะถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2489 และมีการสนับสนุนให้ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ดำรงตำแหน่งแทน
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารนำโดย พลโทผิน ชุณหะวัณ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครอง พร้อมสั่งการให้จับตัว ปรีดี พนมยงค์ แต่ นายปรีดี ได้รับการคุ้มครองจากฝ่ายทหารเรือและได้รับการช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษและสหรัฐอมริกาในไทยให้หนีไปสิงคโปร์ จากสิงคโปร์ นายปรีดี เดินทางไปฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ โดยมีความพยายามที่จะกลับประเทศไทยผ่านการติดต่อกับฝ่ายทหารบกเพื่อที่จะกลับมาต่อสู้ทางการเมืองโดยสันติวิธี แต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกปฏิเสธจากคณะรัฐประหาร
นายปรีดี ตัดสินใจจะใช้กำลังเข้ายึดอำนาจโดยติดต่อกับฝ่ายทหารเรือ โดยมีพลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ผู้บัญชาการมณฑลทหารเรือที่ 2 และรักษาการผู้บังคับกองพลนาวิกโยธินสนับสนุน เมื่อ 26 ก.พ. พ.ศ. 2492 ซึ่งมีการเข้ายึดพระบรมมหาราชวังเป็นกองบัญชาการ แต่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ล่วงรู้ถึงแผนการยึดอำนาจ ประกอบกับทหารเรือบางฝ่ายไม่เข้าร่วม ทำให้การยึดอำนาจไม่ประสบผลสำเร็จ จนมีการเจรจาหยุดยิงในวันที่ 27 ก.พ. จากนั้นบทบาทการเมืองในประเทศของ นายปรีดี ก็สิ้นสุดลง
นายปรีดี ลี้ภัยในต่างแดนเป็นระยะเวลายาวนานหลายสิบปี เขาพำนักอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเวลา 21 ปี และใน พ.ศ. 2513 นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลของจีนช่วยเหลือให้นายปรีดีเดินทางจากจีนไปยังกรุงปารีส ซึ่งต่อมาได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดี ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ของฝรั่งเศส ให้พำนักอยู่ที่นั่นได้
นายปรีดี ตระหนักว่า ราษฎรไทยส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย อันเป็นปัญหาสำคัญในการเสริมสร้างระบอบการปกครองดังกล่าวให้มั่นคง ท่านจึงคิดที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อเปิดสอนวิชากฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ และวิชาอื่นแก่ราษฎรทุกหมู่เหล่า แต่ท่านก็ไม่มีโอกาสทำตามตั้งใจได้ เพราะได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้ท่านต้องเดินทางออกนอกประเทศไปพำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลาหลายเดือน
ดังนั้น นายปรีดี จึงได้ผลักดันพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อวันที่ 17 มี.ค. พ.ศ.2476 จนสามารถก่อตั้ง มหาวิทยาลัยตลาดวิชา แห่งแรกของสยาม คือ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก. ซึ่งมีลักษณะ พิเศษ เกี่ยวพัน กับการเมืองและความเป็นไปของชาติตลอดจนเรื่องของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย และทำพิธีเปิดมหาวิทยาลัยในวันที่ 27 มิ.ย. พ.ศ.2477 ซึ่งนายปรีดีได้กล่าวรายงานว่า “ในสมัยที่ประเทศของเราดำเนินการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว ก็จำเป็นจะต้องมีมหาวิทยาลัยสำหรับประศาสน์ความรู้ในวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแก่พลเมืองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” โดย นายปรีดี ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้ผลิตบัณฑิตและผู้ได้รับประกาศนียบัตรสาขาต่างๆ คือสาขาธรรมศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ และสาขาการบัญชี ออกไปปฏิบัติงานในภาครัฐบาลและภาคเอกชน ในปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ได้รับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต ซึ่งมีความรู้ทั้งด้านกฎหมาย การเมือง (รัฐศาสตร์) และเศรษฐศาสตร์ ได้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยแก่ราษฎรไทย ซึ่งการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นการเสริมสร้างสติปัญญาของคนไทย โดยเป็นพื้นฐานของการพัฒนาทางสังคม การก่อตั้งมหาวิทยาลัยนี้ จึงถือได้ว่าเป็นการวางรากฐานทางสังคมของประเทศไทย
ปรีดี พนมยงค์ คือผู้วางรากฐานธนาคารชาติ โดยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้มอบหมายให้ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ร่าง เค้าโครงการเศรษฐกิจขึ้นเพื่อใช้เป็นแผนบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ หนึ่งในข้อเสนอคือการจัดตั้งธนาคารชาติ เพื่อทำหน้าที่สำคัญคือการเป็นนายธนาคารของรัฐบาล ทั้งในด้านการจัดหาทุนและให้เงินรัฐบาลกู้เพื่อทำนุบำรุงเศรษฐกิจ
สำนักงานธนาคารชาติไทย ที่ ปรีดี พนมยงค์ ผลักดันจนออกเป็นพระราชบัญญัติให้มีการจัดตั้งขึ้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2485 โดยหลังจากสิ้นสุดกระบวนการตามวิธีพิจารณาแล้ว รัฐบาลก็ได้นำ พระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย พุทธศักราช 2482 ตราไว้ ณ วันที่ 17 ตุลาคม 2482 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 26 ตุลาคม 2482
ที่ทำการของสำนักงานธนาคารชาติไทย ตั้งอยู่ที่กรมบัญชีกลาง ตึกซ้ายมือประตูวิเศษชัยศรี ในพระบรมมหาราชวัง มีพนักงานเริ่มแรกทั้งหมด 18 คน โดยถือกำเนิดมาตามแรงผลักดันทางการเมืองผสมกับความต้องการองค์กรที่จะช่วยจัดการด้านการเงินให้รัฐบาล ทว่าเมื่อเปิดทำการเพียงเพียงสองปีครึ่ง ก็ถูกยุติลงด้วยแรงกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศจากญี่ปุ่น ซึ่งไทยร่วมเป็นพันธมิตรด้วยในสงครามมหาเอเชียบูรพา ก่อนจะเกิดธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นในภายหลัง
นาย ปรีดี พนมยงค์ แต่งงานกับ คุณหญิง พูนศุข ณ ป้อมเพชร์ เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2471 และมีชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตลอด 55 ปี มีบุตรธิดา 6 คนคือ ลลิตา ปาล สุดา ศุขปรีดา ดุษฎี และ วาณี
นอกจากเป็นนักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์ ปรีดี ยังเป็นนักเขียนฝีมือดี โดยเขียนจดหมายไว้เป็นจำนวนมาก ส่วนหนังสือเล่มที่มีชื่อเสียงของท่าน ได้แก่ บันทึกข้อเสนอเรื่อง ขุดคอคอดกระ, กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 , ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน , ความเป็นมาของชื่อ ประเทศสยาม กับ ประเทศไทย , จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม และ ประชาธิปไตย เบื้องต้นสำหรับสามัญชน เป็นต้น
ช่วงก่อนเที่ยง ของวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นาย ปรีดี พนมยงค์ ถึงแก่อสัญกรรมในวัย 82 ปี ด้วยอาการหัวใจวายขณะกำลังเขียนหนังสืออยู่ที่โต๊ะทำงาน
14 ปีหลังนายปรีดีถึงแก่อสัญกรรม คณะรัฐมนตรีไทยมีมติเมื่อวันที่ 13 พ.ค. พ.ศ.2540 เสนอชื่อ นายปรีดี พนมยงค์ ไปยังองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติเพื่อขอให้ยูเนสโกบรรจุชื่อเขาไว้ในปฏิทินการเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีแห่งชาตกาล
กระทั่งในปี พ.ศ. 2543 นาย ปรีดี พนมยงค์ จึงได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็น 1 ใน บุคคลสำคัญของโลก ในวาระ 100 ปีชาตกาล
ขอบคุณภาพจาก สถาบัน ปรีดี พนมยงค์
ที่มา
https://th.wikipedia.org/wiki/ปรีดี_พนมยงค์
https://pridi.or.th/th/content
https://www.bbc.com/thai/thailand-52598950