107 ปี ชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ รวมประวัติและผลงาน บุคคลสำคัญของโลกที่ยูเนสโกยกย่อง

107 ปี ชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ รวมประวัติและผลงาน บุคคลสำคัญของโลกที่ยูเนสโกยกย่อง

107 ปี ชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สมาชิกเสรีไทย อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของรางวัลแมกไซไซ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่อายุน้อยที่สุด

9 มีนาคม เป็นวันเกิดของศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งในปี 2566 นี้ถือเป็นช่วงเวลาครบ 107 ปีชาตกาลของ ดร.ป๋วย ผู้ถูกยกย่องว่าคือ บุคคลสำคัญของโลก โดยองค์กรยูเนสโก เมื่อปี พ.ศ. 2558 ด้วยคุณูปการที่ท่านเคยสร้างไว้ต่อทั้งประเทศไทยและโลกใบนี้

ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งคณะเสรีไทยขึ้นในประเทศอังกฤษ ท่านเสี่ยงชีวิตลอบกระโดดร่มเข้าไทย ณ บ้านวังน้ำขาว จังหวัดชัยนาท จนได้ชื่อว่าเป็น วีรบุรุษวังน้ำขาว เมื่อสงครามยุติลง ประเทศไทยจึงไม่ถือเป็นผู้แพ้สงคราม และ ดร. ป๋วย ยังเป็นหนึ่งในเพื่อนสนิทของ ปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งช่วงเวลาหนึ่งท่านทั้งสองมีบทบาทอย่างมากในแวดวงการเมืองไทย รวมถึงมีอิทธิพลต่อการก่อร่างประชาธิปไตยในประเทศ

ประวัติ ป๋วย อึ๊งภากรณ์

ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2459 เติบโตมาในครอบครัวเชื้อสายจีน ณ บ้านตรอกโรงสูบน้ำ ตลาดน้อย เป็นบุตรของซา แซ่อึ้ง กับเซาะเซ็ง อึ๊งภากรณ์ (สกุลเดิม แซ่เตียว ต่อมาได้เปลี่ยนนามสกุลเป็นภาษาไทยว่า ประสาทเสรี) แม่ของ ดร. ป๋วย เป็นบุตรสาวคนแรกของเจ้าของร้านขายผ้าที่สำเพ็ง อยู่ใกล้ตรอกโรงโคม ส่วนบิดาเป็นคนจีน ทำงานช่วยพี่ชายที่แพปลา แถวปากคลองวัดปทุมคงคา ทั้งสองไม่ค่อยมีรายได้มากนัก แต่ก็ตั้งใจส่งลูกชายเข้าเรียนที่แผนกภาษาฝรั่งเศส โรงเรียนอัสสัมชัญ ในปี พ.ศ. 2467 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีค่าเล่าเรียนแพง คือปีละ 70 บาทในสมัยนั้น

เมื่อ ดร. ป๋วย อายุ 9 ปี บิดาก็เสียชีวิต โดยไม่มีทรัพย์สินเงินทองทิ้งไว้ให้ ลุงเป็นคนที่ช่วยรับอุปการะส่งเสียเงินให้เป็นรายเดือน แม้ว่าจะมีปัญหาด้านการเงิน มารดาของ ดร. ป๋วย ก็สนับสนุนให้ลูกเรียนหนังสือที่เดิม จนสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมแล้วเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย ดร. ป๋วย ได้ทุนศึกษาต่อปริญญาตรี ที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน มหาวิทยาลัยลอนดอน ต่อมาได้รับทุนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน

ปี พ.ศ. 2492 ดร. ป๋วย เรียนจบ ปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ที่ London School of Economics แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน จนต่อมาในปี พ.ศ. 2496 ดร. ป๋วย ได้เข้ารับตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และมีส่วนในการกู้เสถียรภาพให้แก่เศรษฐกิจไทยอย่างมาก แม้รับตำแหน่งอยู่ได้ไม่นาน แต่ก็แสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมให้ปรากฏอย่างน่านับถือ จนทำให้ต้องออกไปรับราชการอยู่ต่างประเทศอยู่ถึง 3 ปี กระทั่งในปี พ.ศ.2502 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร. ป๋วย มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการธนาคารไทย การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และผลักดันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จนกลายเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศมาจนทุกวันนี้

ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2507 ดร. ป๋วย จะเข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมุ่งพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาจนคณะเติบโตขึ้นอย่างยิ่ง ท่านได้รับการเสนอให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเสมอ แต่ก็ปฏิเสธเรื่อยมาเพราะไม่ใช่ความตั้งใจหลักในชีวิต ในปี พ.ศ. 2508 ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาการทำงานในภาครัฐ พร้อมคำประกาศเกียรติคุณว่า “เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางที่มีความสามารถดีเด่นคนหนึ่งของโลก… การกระทำของนายป๋วยยังเป็นแรงบันดาลใจ สำหรับข้าราชการผู้ขยันขันแข็ง ดร. ป๋วย ผู้ถือได้ว่า ความเรียบง่าย คือความงาม และความชื่อสัตย์สุจริต คือคุณความดีสูงสุดของชีวิตข้าราชการ”

ขณะเดียวกัน ดร. ป๋วย ยังสนใจงานพัฒนาชนบท เช่น ร่วมก่อตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในปี 2510 และก่อตั้งโครงการบัณฑิตอาสาสมัครในปี 2512 ซึ่งยกระดับเป็นวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในปัจจุบัน

แต่ในปี พ.ศ. 2519 ความขัดแย้งทางการเมืองการปกครองในประเทศไทยรุนแรงขึ้น ดร. ป๋วย จำเป็นต้องเดินทางออกจากประเทศไทยเนื่องจากคนบางกลุ่มกำลังไล่ล่า แต่ถึงกระนั้นยามอยู่ที่อื่น ดร. ป๋วย ก็ยังพยายามทำทุกวิถีทาง และยืนหยัด ด้วยความหวังจะให้ประเทศไทยได้เกิดประชาธิปไตย โดยสันติวิธี ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 ดร.ป๋วย ล้มป่วยลงด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก ทำให้พูดไม่ได้ และใช้มือขวาไม่ได้อีก ต้องอยู่ในความเงียบถึง 22 ปี

วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถึงแก่อนิจกรรมที่บ้าน ณ ชานกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เนื่องจากเส้นโลหิตใหญ่ในช่องท้องโป่งแตก สิริรวมอายุได้ 83 ปี

บทบาททางการเมืองของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์

นอกจากการรับราชการในกองทัพแห่งสหราชอาณาจักร เพื่อทำงานให้ขบวนการเสรีไทยแล้ว ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง นายปรีดี ส่ง ดร.ป๋วย กลับไปอังกฤษเพื่อไปเจรจาให้รัฐบาลอังกฤษ ยอมรับว่าขบวนการเสรีไทย เป็นรัฐบาลอันชอบธรรมของไทย ทำนองเดียวกับที่สหรัฐได้รับรองมาก่อนแล้ว และเจรจาให้อังกฤษ ยอมปล่อยเงินตราสำรอง ที่รัฐบาลไทยฝากไว้ที่ธนาคารกลางอังกฤษ เมื่อสงครามโลกยุติ

ดร.ป๋วย ได้รับยศพันตรีแห่งกองทัพบกอังกฤษ คือหนึ่งในผู้แทนไทยที่เดินทางไปเจรจาทางการทหาร และการเมืองกับฝ่ายอังกฤษ ในนครแคนดี ประเทศศรีลังกา จากนั้น ดร. ป๋วย ได้คืนยศทหารแก่กองทัพอังกฤษ แล้วกลับไปแต่งงานกับ มาร์กาเร็ต สมิท ในปี พ.ศ. 2489 และเรียนต่อระดับปริญญาเอก ที่ มหาวิทยาลัยลอนดอน

อย่างไรก็ตาม ดร. ป๋วย ได้แสดงความกล้าหาญทางการเมืองหลายครั้ง โดยเฉพาะการส่งจดหมายในนาม นายเข้ม เย็นยิ่ง ถึงจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับสังคม จุดประกายให้กับขบวนการ 14 ตุลาคม 2516 ด้วยความที่เขาได้รับการชื่นชมมากมายจากสังคม

ส่วนในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ดร. ป๋วย ถูกทั้งฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ออกมากล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนในที่สุด ดร. ป๋วย ต้องออกเดินทางลี้ภัยไปต่างประเทศ
ซึ่งเมื่อ ดร. ป๋วย อยู่นอกประเทศ ได้เดินทางไปพบคนไทยในต่างแดนและบุคคลสำคัญในประเทศต่างๆ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย เพื่อให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ เหตุการณ์บ้านเมืองในประเทศไทยเวลานั้น และเพื่อเรียกร้องให้เกิดประชาธิปไตย ในเมืองไทยอย่างสันติวิธี ปี พ.ศ. 2520 อาจารย์ป๋วยเดินทางไปให้การต่อ คณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์ สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา โดยสืบพยานเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ 6 ตุลา

ต่อมาในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2530 ดร. ป๋วย เดินทางกลับมาเมืองไทย หลังจากต้องออกจากบ้านเกิดไปนาน พร้อมด้วยภรรยา ลูกชาย ลูกสะใภ้ และหลานอีกสองคน มีบรรดาเพื่อนๆ ลูกศิษย์ และคนรู้จักมากมายมาพบปะเยี่ยมเยือนที่บ้านเก่าซอยอารีย์ โดยในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2530 ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย พนักงานประมาณ 2,000 คน มายืนต้อนรับการกลับมาของอาจารย์ป๋วย คนธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นแบบอย่างดีที่สุดของข้าราชการเมืองไทย

วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2530 ดร. ป๋วย ได้มาร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ และเดินไปบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดทางมีนักศึกษายืนต้อนรับ มีนักศึกษายืนถือป้ายข้อความว่า ” ปลื้มใจนักเตี่ยกลับบ้าน ” “ลูกโดมมิลืมอาจารย์ป๋วย” “ยังข้นและยังเข้ม ดุจเกลือเค็มในแผ่นดิน ดีกว่าน้ำปลาริน อันปรุงรสละลายหอม

วันที่ 20 เมษายน ดร. ป๋วย เดินทางเยี่ยมมูลนิธิโกมลคีมทอง วันที่ 21 เมษายน เดินทางไปเยี่ยมคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเยี่ยมโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม (คอส.) และ วันที่ 25 เมษายน ดร. ป๋วย ก็เดินทางออกจากเมืองไทย จากนั้นก็ได้กลับมาประเทศไทยอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2536 พ.ศ. 2538 และครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2540

ชีวิตส่วนตัวของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์

แม้ว่า ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะมีตำแหน่งที่สูง แต่กลับใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ท่านชอบนุ่งกางเกงเวสต์ปอยต์มาทำงาน ไม่มีชุดดินเนอร์แจ็กเกตเป็นของตนเอง ชอบกิน ก๋วยเตี๋ยว ข้าวต้มกุ๊ย และเต้าฮวย

สำหรับชื่อ ป๋วย นั้น บิดาของป๋วยตั้งให้เป็นชื่อตัว ส่วนชื่อสกุลของป๋วย คือ อึ้ง ชื่อรุ่นคือ เคียม อ่านทั้งสามตัวตามลำดับประเพณีจีน สำเนียงแต้จิ๋วจะเป็น อึ้ง ป้วย เคียม แต่ถ้าอ่านโดด ๆ วรรณยุกต์จะเปลี่ยนไป ชื่อสกุลเป็น อึ๊ง และชื่อตัวเป็น ป๋วย คำว่า ป๋วย แปลตรงตัวได้ว่า “พูนดินที่โคนต้นไม้” เนื่องจากตัวประกอบในอักษรระบุไว้เช่นนั้น แต่มีความหมายกว้างออกไปอีกคือ บำรุง หล่อเลี้ยง เพาะเลี้ยง และ เสริมกำลัง

ในวัยเด็กหลังจากพ่อเสียชีวิต ความเป็นอยู่ของ ดร. ป๋วย ก็ค่อนข้างลำบาก ดังนั้น เมื่ออายุได้ 18 ปี ดร. ป๋วย จึงต้องเริ่มทำงาน โดยอาชีพแรกคือการเป็นครู (หรือที่นักเรียนอัสสัมชัญเรียกว่า มาสเตอร์ ) สอนวิชาคำนวณและภาษาฝรั่งเศส ที่โรงเรียนเก่าขอท่าน ในปี พ.ศ. 2476 เพื่อหารายได้ส่งตัวเองเรียนหาวิทยาลัย มีรายได้เดือนละ 40 บาท แบ่งให้แม่ 30 บาท เก็บไว้ใช้จ่าย 10 บาท จึงต้องกินอยู่อย่างประหยัดมากๆ

กระทั่ง ดร.ป๋วย สำเร็จการศึกษาในฐานะนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในปี พ.ศ. 2480 จึงย้ายทำงานเป็นล่ามภาษาฝรั่งเศส ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มีเรื่องเล่าว่า ในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.ป๋วย ขับรถส่วนตัวคันเก่าเดินทางมาทำงานด้วยตัวเอง สร้างความงุนงงให้บรรดาบุคคลสำคัญและเจ้าหน้าที่ของธนาคารที่มารอต้อนรับอย่างมากว่า ทำไมไม่นั่งรถประจำตำแหน่งที่ทางธนาคารจัดเตรียมไว้ให้ ดร.ป๋วย ชี้แจงว่า รถประจำตำแหน่งใช้เฉพาะในเวลาราชการและเฉพาะกิจในธนาคารเท่านั้น ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะใช้รถประจำตำแหน่งในเรื่องส่วนตัว จึงกำหนดไว้ตายตัวว่า ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนี้จะขับรถมาทำงานเอง เมื่อเลิกงานก็จะขับรถส่วนตัวกลับบ้านเอง หรือกรณีที่มีผู้แวะเวียนนำของกำนัลไปมอบให้ ดร.ป๋วย ที่บ้านพักในซอยอารีย์อยู่เนืองๆ ปรากฏว่าผู้นำไปฝากถูกปฏิเสธจากครอบครัว ดร.ป๋วย จนบางคนถึงกับโมโหก็มี แต่จุดนี้ได้สะท้อนถึงความซื่อสัตย์อย่างมากของท่าน

ด้านชีวิตสมรสหลัง ดร. ป๋วย แต่งงานกับ มาร์เกรท สมิท ทั้งสองมีทายาท 3 คนคือ จอน อึ๊งภากรณ์ , ไมตรี อึ๊งภากรณ์ และ ใจ อึ๊งภากรณ์ ซึ่งหลังการเสียชีวิตของ ดร. ป๋วย จากข้อความ ตายแล้ว เผาผมเถิด อย่าฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและทำกิน และอย่าทำพิธีรีตองในงานศพให้วุ่นวายไป ในหนังสือ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ของท่าน ครอบครัวจึงจัดพิธีอย่างเรียบง่าย โดยวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2542 ครอบครัวได้ทำการเผาศพ ดร. ป๋วย และบรรจุอัฐินำกลับมาเมืองไทย วันที่ 16 สิงหาคม และ วันที่ 28 สิงหาคม บริเวณท่าเรือสัตหีบ เรือหลวงกระบุรี แห่งราชนาวีไทย ได้นำครอบครัวอึ้งภากรณ์ และแขกประมาณ 200 คน มุ่งหน้าสู่เกาะครามนำอังคารของอาจารย์ป๋วยไปลอยทะเล ส่วนอัฐินำไปบรรจุที่วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ที่มา

https://th.wikipedia.org/wiki/ป๋วย_อึ๊งภากรณ์

ภาพจาก http://puey-ungpakorn.org/index.php

๑๐๐ ปี ชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์

 

Recommend