นักโบราณคดีพบซาก มัมมี่จระเข้ 10 ตัวในสุสานโบราณของอียิปต์ คาดถูกฝังเมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว

มัมมี่จระเข้ มีการพบร่างเหล่านี้ที่ด้านล่างของสุสานหินในพื้นที่ชื่อว่า Qubbat al-Hawā อยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ ประเทศอียิปต์ อย่างไรก็ตาม การพบมัมมี่สัตว์ในสถานที่ต่าง ๆ ของอียิปต์โบราณไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เนื่องจากพวกเขามีการทำมัมมี่สัตว์มากมายหลายชนิด เช่น แมว นกช้อนหอยดำเหลือบ (ibises) นกนักล่าต่าง ๆ ลิงบาบูน สุนัข หรือแม้แต่จระเข้

“มัมมี่สัตว์ถูกใช้เป็นเครื่องบูชาต่อเทพเจ้า หรือถูกมองว่าเป็นร่างทรงของเทพเจ้า” เบ เดอ คูเปเร (Bea De Cupere) ผู้เขียนรายงานวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งเบลเยียม (Royal Belgian Institute of Natural Sciences) กล่าว

เขาระบุว่าจระเข้นี้อาจถูกสังเวยเพื่อทำหน้าเป็นตัวกลางระหว่างมนุษย์และเทพเจ้าโซเบก (Sobek) ของอียิปต์โบราณ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ และมักมีรูปร่างเป็นมนุษย์ที่มีหัวเป็นจระเข้ และในการค้นพบก่อนหน้านี้ก็พบมัมมี่จระเข้มากมาย โดยถูกเก็บรักษาไว้ตามพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ หลายร้อยตัว ยังไงก็ตามมีเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้นที่ถูกศึกษาอย่างจริงจัง

เนื่องจากความร่างของพวกมันถูกทาด้วยเรซิน หรือสอดด้วยน้ำมันดิน ทำให้การสแกนภายในร่างกายเป็นไปได้ยาก กระนั้น ดูเหมือนว่าซากที่พบครั้งล่าสุดนี้มีความแตกต่างออกไป จระเข้เหล่านี้ไม่มีเรซินหรือน้ำมันดินอยู่ อีกทั้งยังไม่ได้ถูกพันด้วยผ้าลินินหรือใบปาล์มตามปกติ ทำให้นักวิจัยสามารถศึกษาได้อย่างละเอียด

“สุสานที่ไม่ถูกรบกวนของ Qubbat al-Hawā จึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีคอลเล็กชั่นของมัมมี่จระเข้ที่สามารถศึกษาได้ง่าย” คูเปเรกล่าว พร้อมเสริมว่า “ในกรณีของจระเข้ของ Qubbat al-Hawah การไม่มีผ้าพันแผลลินินและเรซิ่นช่วยให้เราทำการศึกษารายละเอียดโดยตรงเกี่ยวกับเนื้อเยื่อและกระดูกที่เก็บรักษาไว้ในตัวจระเข้”

ทีมงานเชื่อว่าจระเข้ถูกวางไว้ในกลางทรายซึ่งทำให้ร่างกายแห้งตามธรรมชาติ และนั่นทำให้สภาพของพวกมันบางตัวดูค่อนข้างแย่ “ระหว่างขั้นตอนการทำมัมมี่ จระเข้บางตัวได้รับความเสียหาย ในขณะที่ตัวอื่น ๆ ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี มีกะโหลกที่แยกได้ 5 หัว โดยหัวจะถูกเอาออกเมื่อจระเข้ถูกทำให้แห้ง แล้ว” รายงานระบุ

จระเข้มีขนาดตั้งแต่ 1.5 เมตร ถึง 3.5 เมตร การศึกษารายละเอียดชี้ให้เห็นว่าซากศพเหล่านี้มาจากจระเข้ 2 สายพันธุ์ที่แตกต่างกันคือ จระเข้แม่น้ำไนล์ (C. niloticus) และจระเข้แอฟริกาตะวันตก (C. suchus) ทีมงานยังไม่สามารถบอกได้ว่าชาวอียิปต์โบราณจับพวกมันมาได้อย่างไร เนื่องจากไม่ร่องรอยของการบาดเจ็บทางร่างกาย

จระเข้อาจตายจากการจมน้ำ (จระเข้ยังคงต้องการอากาศหายใจ) หรืออาจถูกความร้อนจัดจากแสงแดดของอียิปต์ อีกทั้งยังไม่มีแม้แต่ร่องรอยของการถูกล่ามโซ่หรือเชือก ไม่ว่ายังไงก็ตาม ดูเหมือนว่าชาวอียิปต์โบราณจะชื่นชอบการสังเวยจระเข้ซึ่งปรากฎในสุสานมากมาย

การค้นพบนี้เผยแพร่ทางวารสารออนไลน์ PLOS ONE

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
Photograph by Patri Mora Riudavets, member of the Qubbat al-Hawa team

ที่มา

https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0279137

https://www.iflscience.com/ferociously-big-crocodile-mummies-found-in-an-undisturbed-egyptian-tomb-67150

https://www.eurekalert.org/news-releases/976290

https://www.jpost.com/archaeology/article-728450

https://www.newsweek.com/decapitated-mummified-crocodiles-discovered-undisturbed-ancient-tomb-1774744

อ่านเพิ่มเติม มหาพีระมิดกีซา -นักวิทยาศาสตร์ได้มองเห็น ‘ทางเดินลับ’ ที่ซ่อนอยู่เป็นครั้งแรก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.