เจาะเบื้องลึก-เปิดแผนลับ ‘ วันดีเดย์ ‘ แห่ง สงครามโลกครั้งที่สอง

สงครามโลกครั้งที่สอง รุ่งอรุณของวันที่ 6 มิถุนายน 1944 ที่ภาคเหนือของฝรั่งเศส กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรได้เริ่มการรุกรานซึ่งวางแผนมานานหลายปี วันดีเดย์ (D-DAY) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ดนี้ ทำให้สัมพันธมิตรกลับมาได้เปรียบเหนือนาซีเยอรมนี

วันดีเดย์ – การรุกรานฝรั่งเศสซึ่งอยู่ภายใต้การยึดครองของเยอรมนีโดยฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 6 มิถุนายน 1944 นั้นวางแผนมาอย่างยาวนาน การที่ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถชิงความเหนือกว่าอย่างเบ็ดเสร็จในมหาสมุทรแอตแลนติกสำเร็จในปี 1943 ได้ปูทางสำหรับการรวมพลครั้งใหญ่ของทหารและยุทธภัณฑ์ของฝ่ายสหรัฐอเมริกา ในสหราชอาณาจักรได้ ระหว่างเดือนมกราคมและมิถุนายน 1944 เสบียงกว่าเก้าล้านตันและทหารอีก 800,000 คนได้ถูกขนส่งข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมาจากสหรัฐฯ เพื่อเสริมกำลังสำหรับการรุกรานครั้งนี้ ซึ่งมีรหัสเรียกขานว่าปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด (Operation Overlord)

ในขณะเดียวกัน เหล่านักบินของฝ่ายสัมพันธมิตรก็ใช้ประโยชน์จากความเหนือกว่าทางอากาศซึ่งพวกเขาชิงมาจากกองทัพอากาศเยอรมัน ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในสภาพอ่อนแรง ด้วยการถล่มเส้นทางรถไฟและสะพานต่างๆ เพื่อไม่ให้ฝ่ายศัตรูเร่งนำกำลังสำรองไปที่นอร์มังดีได้เมื่อการยกพลขึ้นบกเริ่มขึ้น เหล่าผู้บัญชาการของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรซึ่งผ่านการทดสอบจากสนามรบที่แอฟริกาเหนือและอิตาลี ซึ่งรวมไปถึงดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) แห่งสหรัฐฯ และเบอร์นาร์ด มอนต์โกเมอรี (Bernard Montgomery) แห่งสหราชอาณาจักร เตรียมพร้อมนำไพร่พลของตนเข้าสู้กับศัตรูเก่าอย่างนายพลเอร์วิน รอมเมล (Erwin Rommel) แห่งเยอรมนี ผู้มีหน้าที่เสริมความแข็งแกร่งของแนวตั้งรับต่างๆ บนชายฝั่งฝรั่งเศส ในยามที่ส่วนใหญ่ของกองทัพเยอรมันกำลังดิ้นรนต้านทานฝ่ายโซเวียตซึ่งฟื้นกำลังขึ้นใหม่ในแนวรบตะวันออก

แฟ้มลับที่ใช้สำหรับการวางแผนปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ดของฝ่ายสัมพันธมิตร ภาพถ่ายโดย KENNETH W. RENDELL, INTERNATIONAL MUSEUM OF WORLD WAR II

กำแพงตั้งรับแห่งเยอรมัน

การวางแผนปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ดเริ่มขึ้นในลอนดอนหนึ่งปีก่อนการจู่โจมจะเริ่มขึ้น เหล่านายทหารเสนาธิการของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งนำโดยพลโทเฟรเดอริค มอร์แกน หารือกันว่าพวกเขาควรเจาะทะลวงส่วนใดของแนวกำแพงแอตแลนติก อันเป็นแนวป้อมปราการป้องกันชายฝั่งของฝ่ายเยอรมนีซึ่งทอดยาวจากนอร์เวย์ไปจนถึงชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส เส้นทางไปสู่เยอรมนีที่สั้นที่สุดนั้นทอดข้ามช่องแคบโดเวอร์ (Pas-de-Calais) แต่การยกพลขึ้นบกในบริเวณรอบ Calais นั้นย่อมหมายถึงการโจมตีส่วนที่แข็งแกร่งที่สุดของกำแพงแอตแลนติก

ด้วยเหตุนี้ มอร์แกนและคณะเสนาธิการจึงตัดสินใจโจมตีชายฝั่งของนอร์มังดี ซึ่งตั้งอยู่ไกลจากเยอรมนีมากกว่าแต่ก็มีการป้องกันที่ไม่หนาแน่นเท่าแทน ในแผนการแรกสุด ซึ่งถูกวางไว้เป็นความลับอย่างยิ่ง พวกเขาต้องการให้กำลังพลจำนวนสามกองพลยกพลขึ้นบกบนแนวหน้าแคบๆ ใน วันดีเดย์ แต่เมื่อไอเซนฮาวร์และมอนต์โกเมอรีมาถึงลอนดอนเมื่อต้นปี 1944 เพื่อรับตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดและผู้บัญชาการภาคสนามของกองกำลังโพ้นทะเลแห่งสัมพันธมิตร (Allied Expeditionary Force) ซึ่งมีจุดหมายอยู่ที่นอร์มังดี ทั้งคู่ได้ทำการปรับเปลี่ยนแผนการรุกรานครั้งนี้ด้วยบทเรียนที่ได้จากปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกครั้งต่างๆ ในอิตาลี

แนวกำแพงป้องกันชายฝั่งของเยอรมนีที่เห็นในภาพนี้ ซึ่งรู้จักกันในนามแนวกำแพงแอตแลนติก มีสองบริเวณซึ่งมีลักษณะเหมาะสมสำหรับการรุกรานครั้งมโหฬารโดยฝ่ายสัมพันธมิตร โดยหนึ่งในนั้นได้แก่หาดรอบ Calais ซึ่งอยู่ห่างจากท่าเรือที่โดเวอร์เพียง 48.3 กิโลเมตร แต่มีการป้องกันอย่างแน่นหนาเนื่องเพราะตำแหน่งที่อยู่ใกล้กับเยอรมนี ทำให้ต้องเลือกเป้าหมายที่เหมาะสมต่อการยกพลขึ้นบกอีกแห่งหนึ่งแทน และเป้าหมายดังกล่าวก็คือ ‘นอร์มังดี’ นั่นเอง ภาพถ่ายโดย MAP BY NG MAPS

ในวันดี-เดย์ กองกำลังจำนวนห้ากองพล —ซึ่งสนับสนุนด้วยกองพลส่งทางอากาศสามกองพล — จะยกพลขึ้นบกบนแนวหน้าที่กว้างกว่าในแผนเดิม ก่อนที่กำลังพลและเสบียงจำนวนมหาศาลจะถูกส่งตามมาในภายหลัง การที่ปฏิบัติการที่นอร์มังดีครั้งนี้ต้องใช้เรือลำเลียงพลและทรัพยากรอื่นๆ มากมายมหาศาล หมายความว่าการรุกรานฝรั่งเศสจากฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน ซึ่งแต่เดิมกำหนดให้ดำเนินไปพร้อมกับปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ดเพื่อป้องกันไม่ให้กองกำลังเยอรมันในภาคใต้เคลื่อนพลมาเสริมกำลังที่นอร์มังดีได้ ต้องถูกเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิมสักพัก

การป้องกันของเยอรมนี

เหล่าผู้บัญชาการของเยอรมนีมิได้เพิกเฉยต่อภัยคุกคามที่นอร์มังดีอาจต้องเผชิญ ทั่วทั้งหน้าหาด รอมเมล — ซึ่งบังคับบัญชากลุ่มกองทัพ B ภายใต้จอมพลแกร์ด ฟอน รุนด์ชเตดท์ (Gerd von Rundstedt) ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพเยอรมนีในแนวรบตะวันออก — ได้วางทั้งกับดักระเบิดและสิ่งกีดขวางที่จะบังคับให้เรือยกพลขึ้นบกปล่อยตัวทหารในบริเวณคลื่นต่ำ ซึ่งจะทำให้พวกเขาตกเป็นเป้าหมายของการยิงโจมตีโดยฝ่ายตั้งรับได้ง่ายขึ้น และเขายังต้องการให้กองพลยานเกราะพานเซอร์เข้าประจำตำแหน่งในบริเวณต่างๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นจุดยกพลขึ้นบก เพื่อต้านทานฝ่ายรุกก่อนที่พวกเขาจะสามารถจัดตั้งหัวหาดและเสริมกำลังได้ รอมเมลยืนกรานว่า “เราต้องใช้ทุกสิ่งที่มีเพื่อป้องกันชายหาด”

รอมเมล (แถวหน้าสุด คนที่สามจากซ้ายมือ ตรวจตราชายหาดแห่งหนึ่งใกล้กับ Calais ในเดือนเมษายน 1944 เขาทำให้แน่ใจว่าสิ่งกีดขวางแบบเดียวกับที่ติดตั้งอยู่บนหาดแห่งนี้ (เช่นที่เห็นในภาพ) จะถูกติดตั้งที่นอร์มังดีด้วย ภาพถ่ายโดย PRISMA BY DUKAS PRESSEAGENTUR GMBH/ALAMY STOCK PHOTO

แต่รุนด์ชเตดท์ไม่เห็นด้วย และฮิตเลอร์ก็ตัดสินใจให้เขาวางกองกำลังยานเกราะส่วนใหญ่เป็นหน่วยสำรองภายใต้การบัญชาการของตนเองจนกว่าการรุกรานจะเริ่มขึ้น ทำให้แนวตั้งรับที่นอร์มังดีมีกองพลยานเกราะประจำตำแหน่งอยู่เพียงกองพลเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ ปฏิบัติการข่าวลวงอันแยบยลของฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งมีชื่อรหัสว่าปฏิบัติการบอดี้การ์ด (Operation Bodyguard) — ซึ่งมีทั้งการตั้งกองพลซึ่งไม่มีตัวตนอยู่จริงและรายงานข่าวกรองเท็จซึ่งเหล่าสายลับซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของสหราชอาณาจักรส่งให้เบอร์ลิน — ทำให้ฮิตเลอร์เชื่อว่าการยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดีคือปฏิบัติการเข้าตีลวงก่อนการจู่โจมทะลวงข้ามช่องแคบโดเวอร์ครั้งใหญ่ที่จะตามมา

รุ่งอรุณแห่งดี-เดย์

การรุกรานนอร์มังดีถูกเปิดทางด้วยการสอดแนมทางชายฝั่งและอากาศอย่างกล้าหาญ ซึ่งช่วยให้กองกำลังสัมพันธมิตรสามารถสร้างแผนที่ของหน้าหาดสำหรับการยกพลขึ้นบกทั้งห้า อันได้แก่โกล์ด, จูโน, ซอร์ด, ยูทาห์, และโอมาฮ่าได้โดยละเอียด

โอมาฮ่า (Omaha Beach) ซึ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาหาดทั้งหมด ถูกแบ่งออกเป็นพื้นที่ย่อยๆ นามเรียกขานว่าชาร์ลี, ด็อก (ซึ่งแบ่งออกเป็นเขตกรีน, ไวท์, และเรด), อีซี่ (แบ่งออกเป็นเขตกรีนและเรด), และฟ๊อกซ์ (แบ่งออกเป็นเขตกรีนและฟ๊อกซ์)

เรือตรีโจเซฟ วาจี ผู้คุมหาด (beachmaster) ประจำหาดโอมาฮา พกแผนที่ลับที่เห็นในภาพนี้ติดตัวเพื่อแสดงให้เห็นว่าทหารและอุปกรณ์ต่างๆ จะถูกวางที่ตำแหน่งใดบ้างบนชายหาด ภาพถ่ายโดย COLLECTION OF JOE VAGHI

สภาพอากาศเลวร้ายทำให้ไอเซนฮาวร์เลื่อนกำหนดการปฏิบัติการออกไปจนถึงวันที่ 6 มิถุนายน — หรือสองสัปดาห์หลังกำหนดการเดิม — อันเป็นวันที่แสงจันทร์และคลื่นทะเลจะกลับมาเป็นใจสำหรับปฏิบัติการส่งทางอากาศในเขตแผ่นดินหลังแนวชายหาดก่อนรุ่งสาง และปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกบนชายหาดในตอนเช้าอีกครั้ง

การตัดสินใจดำเนินการบุกในวันดังกล่าว ซึ่งเป็นวันที่พยากรณ์ว่าพายุจะเบาแรงลง ทำให้เหล่าผู้บังคับบัญชาของฝ่ายเยอรมนีไม่ทันได้ตั้งตัว แต่คลื่นใต้น้ำทำให้เรือลำเลียงพลและรถถังสะเทินน้ำสะเทินบกของฝ่ายสัมพันธมิตรบางลำต้องจมลง และทหารที่ไม่จมน้ำต้องเมาคลื่น อาการคลื่นไส้ผสมรวมตัวเข้ากับความหวาดกลัวขณะพวกเขาขึ้นฝั่งภายใต้ห่ากระสุน “[ทหาร]หลายคนถูกยิงขณะอยู่ในน้ำและจมน้ำครับ” สิบเอกบ๊อบ สลอชเทอร์ แห่งกรมทหารราบที่ 29 กองทัพบกสหรัฐฯ เล่าย้อนความ “มันมีคนตายอยู่ใต้น้ำ แล้วก็คนเป็นที่แกล้งตายเพื่อปล่อยให้น้ำพัดตัวเองขึ้นไปบนหาด”

โรเบิร์ต คาปา นักข่าวสงครามผู้มุ่งหน้าขึ้นสู่ชายหาดพร้อมทหารในการจู่โจมระลอกแรกขณะที่พวกเขากำลังเผชิญกับห่ากระสุนของข้าศึก ถ่ายภาพวันดี-เดย์ที่ชวนบาดลึก ภาพถ่ายโดย ROBERT CAPA INTERNATIONAL CENTER OF PHOTOGRAPHY, MAGNUM PHOTOS, CONTACTO

ทหารสัมพันธมิตรเกือบ 4,500 นายต้องล้มตายลงในปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด โดยความสูญเสียส่วนใหญ่เกิดขึ้นในชั่วโมงแรกๆ ของการรบ อย่างไรก็ตาม เมื่อการยิงถล่มจากเหล่าเรือรบของฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มทำให้ปืนใหญ่ของฝ่ายเยอรมนีบนหน้าผาหลังชายหาดต่างๆ เงียบเสียงลง ทหารบนหาดก็เริ่มตั้งตัวและผลักทะลวงเข้าสู่แผ่นดินเพื่อมุ่งหน้าไปที่ Colleville-sur-Mer ผ่านหุบเหวต่างๆ ทหารสหรัฐฯ ซึ่งจู่โจมหาดยูทาห์ (Utah Beach) ต้องพบการต่อต้านเพียงเล็กน้อย ส่วนกองกำลังของแคนาดาและสหราชอาณาจักรก็รุกคืบจากหน้าหาดได้เป็นระยะทางหลายกิโลเมตร และต้านทานการโจมตีโต้ตอบโดยกองพลยานเกราะที่ 21 เมื่อตอนบ่ายและเย็นของวันได้โดยสำเร็จ

แผนที่ของหาดยูทาห์ ซึ่งอิงมาจากภาพถ่ายทางอากาศ ถูกใช้ในการวางแผนการยกพลขึ้นบกที่หาดแห่งนี้ ภาพถ่ายโดย MAP BY LIBRARY OF CONGRESS, CT002437A

เมื่อรอมเมลกลับมาที่นอร์มังดีในคืนวันนั้น — หลังการฉลองวันเกิดของภรรยาระหว่างช่วงพายุกระหน่ำที่เขาคิดว่าจะขัดขวางการรุกรานครั้งนี้ — สิ่งที่เขากลัวที่สุดก็กลายเป็นความจริง รอมเมลเตือนนายทหารคนอื่นๆ ว่าโอกาสเดียวที่พวกเขาจะหยุดการโจมตีครั้งนี้ได้ก็คือเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังเดินทางข้ามทะเล แต่ ณ บัดนี้ ทหารกว่าเกือบ 160,000 นายก็ได้ขึ้นฝั่งสำเร็จไปเสียแล้ว

ขยายหัวหาด

หลังวันดี-เดย์ ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องขนส่งทหารและเสบียงจำนวนมากมายโดยปราศจากท่าเรือน้ำลึก การที่ฝ่ายเยอรมนีคาดเดาว่าศัตรูของตนต้องการเข้าถึงท่าเรือเช่นที่กล่าวมา ทำให้แผนการลวงของสัมพันธมิตร ซึ่งทำให้การรุกรานนอร์มังดีดูเป็นเหมือนการโจมตีลวงก่อนการรุกรานท่าเรือน้ำลึกเช่น Calais ดูมีความน่าเชื่อถือ

ในขณะที่กองทัพที่ 15 ของเยอรมนีวางกำลังรอบ Calais เพื่อป้องกันการบุกทะลวงที่คาดว่าจะมีขึ้นนั้น ฝ่ายสัมพันธมิตรก็เสริมกำลังของหัวหาดนอร์มังดีด้วยการสร้างอ่าวเทียมเรียกว่ามัลเบอร์รี่ โดยการใช้ส่วนประกอบสำเร็จรูปที่ผลิตขึ้นในท่าเรือในสหราชอาณาจักรและถูกลากจูงข้ามช่องแคบอังกฤษ

มัลเบอร์รี่ เอ (Mulberry A) ซึ่งสร้างแล้วเสร็จที่นอกหาดโอมาฮ่าเมื่อกลางเดือนมิถุนายนและเชื่อมต่อกับชายฝั่งด้วยสะพานลอยน้ำ กลับต้องพังพินาศลงในอีกไม่กี่วันให้หลัง เนื่องเพราะหนึ่งในพายุลูกรุนแรงที่สุดลูกหนึ่งที่ถล่มชายฝั่งแห่งนี้ในฤดูนั้น ส่วนมัลเบอร์รี่ บี (Mulberry B) นอกหาดโกล์ด ใกล้กับ Arromanches รอดจากพายุลูกเดียวกันมาได้และเมื่อถึงต้นเดือนกรกฎาคม อ่าวเทียมแห่งนี้ก็ช่วยเพิ่มพูนกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตรในนอร์มังดีให้มีมากถึงหนึ่งล้านคน

เรือยกพลขึ้นบกปล่อยตัวรถถังและรถบรรทุกที่หาดโอมาฮ่าเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 1944 ภาพถ่ายโดย U.S. NATIONAL ARCHIVES

กำลังเสริมสำหรับทหารที่ยกพลขึ้นบกในวันดี-เดย์นั้นสำคัญยิ่ง เนื่องเพราะการขยายหัวหาดกลับกลายเป็นสิ่งที่ยากเย็นยิ่งกว่าการจัดตั้งมันในวันที่ 6 มิถุนายน เนื่องจากภูมิประเทศแบบโบกาจ (bocage – ภูมิประเทศของป่าเบญจพรรณและทุ่งหญ้าที่มีลักษณะเฉพาะทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ) ในแผ่นดินหลังชายหาด ภูมิประเทศซึ่งประกอบไปด้วยทุ่งต่ำที่ล้อมรอบไปด้วยรั้วพุ่มไม้หนานี้ช่วยเป็นที่กำบังให้กับพลซุ่มยิง ปืนกล และหน่วยต่อต้านรถถังฝ่ายเยอรมนี นอกจากนี้แล้ว ฝ่ายสหรัฐฯ จะไม่สามารถยึดท่าเรือน้ำลึกที่แชร์บูร์กได้จนกว่าจะถึงวันที่ 27 มิถุนายน เมื่อถึงตอนนั้น หน่วยก่อวินาศกรรมของเยอรมนีก็ได้ทำให้ท่าเรือแห่งนี้ใช้การไม่ได้ไปจนถึงปลายปี

เมือง Caen เป้าหมายสำคัญอีกแห่งหนึ่งซึ่งได้รับการคุ้มกันอย่างหนาแน่น ก็ไม่ถูกยึดในวันดี-เดย์ตามแผนการของมอนต์โกเมอรีเช่นกัน และฝ่ายเยอรมันก็สามารถต้านทานการเข้าตีเมืองแห่งนี้หลายต่อหลายครั้งได้ ในวันที่ 13 มิถุนายน กองพลยานเกราะที่เจ็ดของฝ่ายสหราชอาณาจักรพยายามตีโอบเมือง แต่ต้องถูกผลักให้ถอยกลับที่ Villers-Bocage โดยหน่วยจากกองพลยานเกราะเอสเอสที่หนึ่งและสอง

เครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรโหมถล่ม Caen ในวันที่ 6 กรกฎาคม ทำให้พลเรือนฝรั่งเศสต้องเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก แต่สร้างความเสียหายได้เพียงเล็กน้อยต่อฝ่ายเยอรมัน ซึ่งถอยไปทางใต้ของเมืองและทำการต่อต้านอย่างดุดันเมื่อมอนต์โกเมอรีพยายามเจาะทะลวงฝ่าการป้องกันของพวกเขา กระนั้น แม้กองกำลังของมอนต์โกเมอรีจะไม่สามารถรุกต่อไปได้ แต่พวกก็ช่วยดึงกองพลยานเกราะของเยอรมนีหลายกองพลให้อยู่กับที่ ในขณะที่กองทัพสหรัฐฯ เตรียมตัวเริ่มดำเนินปฏิบัติการคอบร้า (Operation Cobra) จาก Saint-Lô ทางตะวันตกของ Caen และตีฝ่าออกมาจากหัวหาด

จุดเริ่มต้นของจุดจบ

แม้การยกพลขึ้นบกในวันดี-เดย์จะมีค่างวดน้อยกว่าที่เหล่าผู้นำของฝ่ายสัมพันธมิตรเกรงไว้ แต่กองกำลังสหรัฐฯ ที่โจมตีอ่าวโอมาฮ่าก็ต้องจ่ายราคาโหดร้ายก่อนที่พวกเขาจะยึดเป้าหมายของตนได้สำเร็จ และเมื่อกองกำลังสัมพันธมิตรบุกคืบลึกเข้าไปในแผ่นดินและพบการต้านทานอย่างดุดัน พวกเขาก็ต้องเผชิญความสูญเสียที่มากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่จะสามารถรุกฝ่าออกมาได้สำเร็จในท้ายที่สุดในปลายเดือนกรกฎาคม ด้วยความช่วยเหลือจากการโจมตีทิ้งระเบิดอย่างทำลายล้าง ซึ่งเจาะรูในแนวตั้งรับของฝ่ายเยอรมันและเปิดช่องว่างสำหรับการรุกด้วยกองกำลังยานเกราะ — ซึ่งรวมถึงรถถังของกองทัพที่สามแห่งสหรัฐฯ อันเป็นหน่วยใต้บังคับบัญชาของพลเอกจอร์จ เอส. แพตตัน ในวันที่ 15 สิงหาคม การรุกรานครั้งที่สองภายใต้ชื่อรหัสว่าปฏิบัติการดรากูน (Operation Dragoon) ก็ได้ดำเนินไปที่ชายฝั่งด้านทะเลเมดิเตอเรเนียนของฝรั่งเศส กลุ่มต่อต้านต่างๆ จับอาวุธลุกขึ้นสู้และเริ่มปลดปล่อยปารีสก่อนที่กองทัพสัมพันธมิตรจะยาตราเข้าสู่เมืองในปลายเดือนเดียวกัน

ปฏิบัติการรุกในฝรั่งเศสและประเทศแผ่นดินพื้นที่ต่ำเกิดขึ้นในเวลาเดียวกับการจู่โจมถล่มครั้งมโหฬารโดยกองทัพแดง ซึ่งรุกเข้าไปในโปแลนด์ซึ่งอยู่ภายใต้การยึดครองของเยอรมนี ก่อนจะบุกเข้าสู่อาณาเขตของผู้นำประเทศกลุ่มอักษะแห่งนี้ด้วยการยาตราเข้าไปในปรัสเซียตะวันออก แต่ในปลายปี ฮิตเลอร์ผู้ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ได้สั่งให้กองทัพของตนทำการโจมตีโต้กลับอย่างสิ้นหวังต่อกองกำลังสัมพันธมิตรด้านตะวันตก ที่การบุกกำลังชะงักลงเนื่องจากเสบียงที่ร่อยหรอและการตั้งรับอย่างแข็งแกร่งของแนวกำแพงตะวันตก (West Wall) หรือแนวซีกฟรีด (Siegfried Line) ซึ่งทอดไปตามชายแดนเยอรมนี

ยุทธการบัลจ์ (Battle of the Bulge) ที่จะตามมาและจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรในเดือนมกราคม 1945 ครั้งนี้ ทำให้การบุกข้ามแม่น้ำไรน์ต้องถูกเลื่อนออกไปจนถึงเดือนมีนาคม ในขณะที่ฝ่ายโซเวียตผู้คลั่งแค้นขยับเข้าใกล้เบอร์ลิน “เราอาจต้องพินาศ” ฮิตเลอร์กล่าวก่อนหน้านี้ “แต่ถ้ามันเป็นเช่นนั้น เราจะนำโลกใบนี้ไปกับเราด้วย” ในวันที่ 30 เมษายน ในเบอร์ลินที่กำลังลุกไหม้และกำลังตกลงในเงื้อมมือของโซเวียต เขาก็ปลิดชีพตนเองลง และในอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา เยอรมนีก็ยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข

เรื่อง NEIL KAGAN, STEPHEN HYSLOP

แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน


อ่านเพิ่มเติม ชัยชนะของโซเวียตในสมรภูมิเบอร์ลิน – จุดจบของ นาซีเยอรมนี ในสงครามโลก

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.