ภาพโมนาลิซา ของ เลโอนาร์โด ดาวินชี มีกี่ภาพ อันไหนคือของจริง และแฝงรหัสลับหรือไม่

ภาพโมนาลิซา ของ เลโอนาร์โด ดาวินชี ถือเป็นหนึ่งในภาพวาดที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในโลก รวมถึงยังเต็มไปด้วยปริศนามากมาย

เลโอนาร์โด ดาวินชี จิตรกรสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา เจ้าของภาพวาดโมนาลิซา เป็นหนึ่งในอัจฉริยะของโลก เพราะนอกจากจะมีความสามารถด้านศิลปะแล้ว เขายังเป็นทั้ง นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร สถาปนิก และ ประติมากร อีกด้วย

แต่สิ่งที่ผู้คนทั่วโลกจดจำ เลโอนาร์โด ได้ก็คือ 1 ในผลงานชิ้นเอกของเขาอย่าง ภาพโมนาลิซา (คาดว่าวาดขึ้นช่วงปี ค.ศ. 1503-1516) ที่เมื่อปี 2015 มีการประเมินมูลค่าว่ามีราคาสูงถึง 782 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 27,000 ล้านบาท เพราะเป็นภาพที่โดดเด่น โดยเฉพาะรอยยิ้มของหญิงสาวในรูป ใบหน้างดงามสมมาตร สีสันที่เป็นเอกลักษณ์ และดาวตาพิศวงที่ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนก็คล้ายกับว่ากำลังโดนเธอจ้องมองกลับมาอยู่

ภาพนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพวาดบุคคล (ภาพ Portrait) ที่ดีที่สุดภาพหนึ่งของโลก ทุกปีจึงมีนักท่องเที่ยวหลายล้านคนมาเบียดเสียดกันเพื่อชมภาพนี้ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ในกรุงปารีส ว่าแต่ โมนาลิซา คือใคร ทำไม เลโอนาร์โด ดาวินชี ถึงวาดภาพเธอ?

เจ้าของรอยยิ้มปริศนาบนภาพวาด

เจ้าของรอยยิ้มปริศนา โมนาลิซา เคยถูกตั้งข้อสงสัยมากมายทั้ง การเป็นคนรักของเลโอนาร์โด โสเภณี เป็นผู้ชาย หรือกระทั่งไม่มีตัวตนเป็นเพียงจินตนาการ แต่นักประวัติศาสตร์สืบหาข้อมูลพบว่า ลิซา มีตัวตนจริง โดยมีหลักฐานเป็นสมุดบันทึกเกี่ยวกับพิธีศพของเธอในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เมืองเดียวกันกับที่ เลโอนาร์โด ดาวินชี ใช้ชีวิตอยู่อย่างอยู่ยาวนานในช่วงที่เป็นวัยหนุ่มจนถึงตอนเป็นศิลปิน (เลโอนาร์โด เกิดที่เมือง วินชี แคว้นทัสคานี) ซึ่งมีอีกเมืองที่เขาไปอาศัยอยู่ในบางช่วงคือ มิลาน

ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Secrets of the Mona Lisa พบว่า ลีซา เกราร์ดีนี เป็นภรรยาของ ฟรันเชสโก เดล โจกอนโด พ่อค้าผ้าไหมชาวฟลอเรนซ์ผู้รํ่ารวย บ้านของเธออยู่ไม่ไกลจากบ้านของ เลโอนาร์โด เมื่อ ฟรันเชสโก เดล โจกอนโด รู้ว่า เลโอนาร์โด เป็นจิตรกร เขาจึงขอให้เลโอนาร์โดวาดภาพภรรยาตัวเองเพื่อเป็นของขวัญ

อย่างไรก็ตาม ต่อมากลับมีภาพโมนาลิซาอื่นๆปรากฏขึ้นและถูกพบตามที่ต่างๆ เช่น ภาพร่างของโมนาลิซา ที่เขียนโดย ราฟาเอล จิตรกรชื่อดังยุคเรอเนสซองส์ รุ่นน้องของ เลโอนาร์โด , ภาพโมนาลิซาที่สิงคโปร์ และ ภาพโมนาลิซาที่รัสเซีย ทำให้หลายคนเชื่อว่า เลโอนาร์โด อาจไม่ได้วาดภาพนี้เพียงภาพเดียว

โด่งดังจากข่าวโจรกรรมครั้งใหญ่

เช้าวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ.1911 ภาพโมนาลิซาที่แขวนอยู่บนกำแพงห้องจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ถูกโจรอย่าง วินเชนโซ เปรูจา ชายชาวอิตาลีที่ทำงานเป็นช่างติดกระจกนิรภัยแอบนำออกจากพิพิธภัณฑ์ เขาซ่อนภาพนี้ไว้ในห้องพักนานกว่า 2 ปี 4 เดือน ก่อนจะนำออกมาขายที่เมืองฟลอเรนซ์ แต่ผู้สนใจซื้อไม่เชื่อว่านี่คือภาพจริง พวกเขาจำต้องขอให้ผู้จัดการหอศิลป์แห่งหนึ่งมาช่วยตรวจสอบ กินระยะเวลานาน ต่อมาข่าวลือเรื่องภาพโมนาลิซามาอยู่ในอิตาลีได้แพร่กระจายออกไป ไม่นาน วินเชนโซ ก็ถูกตำรวจตามจับถึงบ้าน และต้องโทษจำคุกนาน 8 เดือน

วินเชนโซ อ้างเหตุผลที่ต้องทำการโจรกรรมภาพวาดว่า อยากจะนำ โมนาลิซา คืนสู่อิตาลีบ้านเกิด เขาทำไปเพราะรักชาติและบอกว่าศิลปะชิ้นนี้ถูกนโปเลียนขโมยไป ซึ่งแท้ที่จริงแล้วภาพนี้ไปอยู่ที่ฝรั่งเศส จากการที่ เลโอนาร์โด ดาวินชี นำติดตัวไปทำงานยังปราสาทอองบวส ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงท้ายของชีวิต หลังได้รับข้อเสนอให้มาช่วยทำงานให้กับพระเจ้าฟรานซิสที่ 1 เมื่อ เลโอนาร์โด เสียชีวิตที่นั่น ภาพโมนาลิซาและผลงานที่เขานำติดตัวไปจึงอยู่ในฝรั่งเศส

ต่อมาเมื่อ ภาพโมนาลิซา ถูกส่งกลับคืนสู่พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ จึงเกิดกระแสให้ผู้คนทั่วโลกพากันแห่เดินทางมาชมภาพวาดที่ถูกขโมยไป ซึ่งก็ถูกรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนามากขึ้น โดยในช่วงหลังมีการนำกระจกหนามาคุ้มกันงานจิตรกรรมชิ้นนี้ และมีกฏห้ามไม่ให้ผู้ชมเข้าใกล้ภาพ

อย่างไรก็ตาม ข่าวการโจรกรรมดังกล่าวทำให้มีทฤษฎีสมคบคิดออกมาสามประเด็นใหญ่ๆคือ 1. ภาพโมนาลิซา ที่โชว์ในพิพิธภัณฑ์เป็นของเลียนแบบ ส่วนภาพของจริงถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีในห้องนิรภัย เพื่อป้องกันการถูกโจรกรรม 2. ภาพโมนาลิซาของจริงไม่ได้อยู่ในฝรั่งเศสแล้ว ภาพในพิพิธภัณฑ์คือของปลอมที่ถูกนำมาทดแทนภาพของจริงที่หายไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1911 และ 3. ภาพโมนาลิซา ไม่ได้หายไปไหนตั้งแต่แรก ทุกอย่างเป็นการจัดฉากของเจ้าหน้าที่เพื่อสร้างเรื่องราวให้เป็นข่าวใหญ่โต โดยหวังว่าจะดึงดูดความสนใจผู้คนให้มาที่พิพิธภัณฑ์มากๆ

ภาพโมนาลิซา มีกี่ภาพกันแน่

ภาพโมนาลิซา ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ในปัจจุบันถูกดูแลรักษาอย่างดี เมื่อได้ภาพกลับมาจากอิตาลีก็มีการตรวจสอบผืนผ้าใบกับสีแล้วยืนยันว่าเป็นผลงานของ เลโอนาร์โด ดาวินชี จริงๆ แต่ก็ยังมีภาพโมนาลิซาอื่นๆ อีกเช่น ภาพโมนาลิซา ที่ชื่อ Isleworth Mona Lisa ซึ่งอยู่ในห้องนิรภัยของกลุ่มทุนในประเทศสิงคโปร์ ผลงานชุดนี้มีฉากหลังที่แตกต่างจากภาพในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ รวมถึงการลงสีก็ไม่เหมือน ดูสว่างสดใสกว่า ทว่าที่โดดเด่นที่สุดก็คือ รอยยิ้มของ ลิซา ซึ่งชัดเจนกว่าภาพต้นฉบับมากๆ

ในหนังสารคดี Secrets of the Mona Lisa พิสูจน์ด้วยหลักทางนิติวิทยาศาสตร์พบว่า ภาพ Isleworth Mona Lisa มีอายุของผืนผ้าใบกับสีที่ตรงกับช่วงเวลาที่ เลโอนาร์โด มีชีวิตอยู่ โดยมีความเป็นไปได้ว่าภาพนี้จะเป็นภาพที่ เลโอนาร์โด วาดให้กับ จูเอียราโน่ เศรษฐีที่เคยอุปถัมภ์ผลงานของเขา แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนที่ชัดเจนว่า ภาพนี้ถูกวาดโดย เลโอนาร์โด ดาวินชี และทำไมเขาต้องวาดภาพนี้ขึ้นมา หลังจากวาดภาพโมนาลิซาภาพแรก

ส่วนอีกภาพที่ถูกพูดถึงคือ ภาพโมนาลิซา ที่อยู่ในอดีตอาคารที่ทำการเก่าของ KGB (หน่วยสืบราชการลับรัสเซีย) ในประเทศรัสเซีย ภาพนี้ต่างออกไปจากต้นฉบับมากทั้งขนาด และฉากหลังที่มีเสาคล้ายกับภาพร่างลิซาของ ราฟาเอล แต่สุดท้ายแล้ว เมื่อทำการพิสูจน์ด้วยหลักนิติวิทยาศาสตร์ พบว่าภาพดังกล่าวใช้ผืนผ้าใบกับสีที่เกิดขึ้นทีหลังจาก ช่วงปี ค.ศ. 1503-1516 รวมถึงอาจไม่ได้วาดในอิตาลีแต่เป็นฝรั่งเศส จึงเชื่อกันว่าภาพนี้เป็นของปลอมที่ถูกวาดเลียนแบบโดยศิลปินมีฝีมือ

ภาพวาดซ้อนภาพวาด

ภาพโมนาลิซา ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมีอยู่ภาพเดียวบนโลก ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุว่า ตอนที่ เลโอนาร์โด เสียชีวิตในวัย 67 ปี เมื่อ ค.ศ. 1519 เขายกภาพนี้ให้ ฟรานเซสโก เมลซิ ผู้ติดตาม โดยเมื่อ ฟรานเซสโก เมลซิ ตายก็ไม่ได้ยกมรดกให้ใคร ผลงานของ เลโอนาร์โด เริ่มกระจัดกระจายไปอยู่ในหลายแห่งทั่วฝรั่งเศส ต่อมามีการนำภาพนี้ไปเก็บไว้ที่ พระราชวังฟงเตนโบล แล้วย้ายมาที่พระราชวังแวร์ซาย จนสิ้นสุดการปฏิวัติฝรั่งเศสก็ถูกนำไปเก็บไว้ที่ พระราชวังตุยเลอรี และสุดท้ายภาพนี้ก็ถูกนำมาเก็บไว้ที่ พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ในกรุงปารีส

ทั้งนี้ ในปี 2015 พาสคาล คอตต์ นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ที่ได้รับอนุญาตจากพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ให้สำรวจภาพวาดโมนาลิซาตั้งแต่ปี 2004 เปิดเผยว่า เขาใช้เทคโนโลยีที่ชื่อ Layer Amplification Method ฉายแสงไปยังภาพวาด ก่อนที่กล้องถ่ายภาพจะวัดปริมาณการสะท้อนของแสง และนำมาการสร้างภาพจำลองของสิ่งที่พบระหว่างชั้นสีของภาพวาด ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเปิดเผยให้เห็น ภาพหญิงสาวอีกคนที่อยู่ในท่าที่คล้ายกับโมนาลิซ่า แต่ใบหน้าของเธอจับจ้องไปยังทิวทัศน์รอบข้าง โดยในภาพคือผู้หญิงคนอื่น ไม่ใช่ลิซา เนื่องจากภาพของนางแบบที่เชื่อว่าเป็นโมนาลิซ่าตัวจริงถูกวาดลงบนผืนผ้าใบเดียวกัน ก่อนจะถูกวาดทับด้วยภาพเหมือนของผู้หญิงอีกคนในภายหลัง

พาสคาล คอตต์ อ้างว่า ภาพหญิงสาวที่ซ้อนอยู่ใน ภาพโมนาลิซา คือ ลีซา เกอราร์ดีนี ที่ เลโอนาร์โด ดาวินชี จ้างให้มาเป็นแบบ เพื่อวาดภาพเหมือน ดังนั้นภาพวาดรอยยิ้มที่ชาวโลกคุ้นเคย อาจเป็นภาพของผู้หญิงคนอื่นที่ไม่ใช่ ลิซา ก็ได้ แต่แนวคิดของเขาก็ไม่ได้รับการยอมรับจากทั้ง พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ และ นักวิชาการในแวดวงศิลปะ

รหัสลับในภาพโมนาลิซา

ในนิยายเรื่อง The Da Vinci Code ของ แดน บราวน์ ที่ต่อมาถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ พูดถึงผลงานเอกอีกชิ้นของ เลโอนาร์โด ดาวินชี อย่างภาพ The Last Supper (คาดว่าวาดขึ้นช่วงปี ค.ศ. 1495-1498) และอ้างว่า เลโอนาร์โด อยู่ในกลุ่ม เดอะไพรเออรี่ออฟไซออน สมาคมลับที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ที่มีบุคคลชื่อดังแห่งยุคเป็นสมาชิกสืบเนื่องมาตลอด อาทิ เซอร์ไอแซก นิวตัน, โรเบิร์ต บอยล์ , ซานโดร บอตติเชลลี และ วิกเตอร์ อูโก เป็นต้น

ดังนั้นหลายคนจึงสงสัยว่าในภาพวาดชื่อดังอย่าง โมนาลิซา มรดกของ เลโอนาร์โด น่าจะซ่อนรหัสลับบางอย่างเอาไว้ โดยเฉพาะรอยยิ้มที่มีเสน่ห์อย่างน่าประหลาด แต่ก็เป็นข้อถกเถียงว่าใช้รอยยิ้้มหรือไม่ ซึ่งมีบันทึกบอกว่าขณะวาดภาพ เลโอนาร์โด ได้จ้างนักดนตรีมาบรรเลงเพลงไปด้วย รวมถึงการวิเคราะห์จากคอมพิวเตอร์ในปี 2005 ก็ออกมาว่า หญิงสาวในภาพอยู่ในอารมณ์มีความสุขถึง 83% จึงมีโอกาสเป็นไปได้มากว่าเธอกำลังยิ้ม และไม่ได้มีการแฝงนัยอะไรไว้ในปากของเธอ

นอกจากนั้น ยังมีการพบ หัวม้า ซ่อนอยู่ในด้านซ้ายของภาพ แต่ต้องมองในมุมตะแคง ซึ่งน่าแปลกว่าภาพสัตว์ต่างๆถูกซ่อนอยู่ในภาพอื่นๆของพิพิธภัณฑ์ลูฟร์หลายภาพ แม้ว่าจะไม่ใช้ภาพของ เลโอนาร์โด ก็ตาม ขณะเดียวกันยังมีการตรวจพบด้วยแว่นขยายว่า ด้านตาขวาของ ลิซ่า มีอักษร LV ที่อาจจะหมายถึงชื่อย่อของ เลโอนาร์โด ซึ่งอาจจะเป็นการลง​ลายเซ็นต์ของเขาลงในผลงานแบบลับๆ ก็ได้

ส่วนสัญลักษณ์ด้านขวาของตา ลิซ่า มองได้เป็นตัวอักษร CE หรือ B และบริเวณฉากพื้นหลังพบตัวอักษรที่อาจจะเป็นตัวเลข 72 หรือตัว L สองตัว หรือ L2 แฝงอยู่ โดยเชื่อว่าไม่ใช่ความผิดพลาด แต่เป็นความตั้งใจของผู้วาดภาพ แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครตีความหรือถอดรหัสของตัวอักษรที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าบนภาพภาพโมนาลิซาได้

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ภาพปกจาก The Secrets of the Mona Lisa – Documentary 2015

ที่มา

นิตยสาร National Geographic Thailand ฉบับที่ 214 เลโอนาร์โด 500 ปีมรณกาล

https://www.livescience.com/32890-the-eyes-have-it-are-there-secret-codes-in-the-mona-lisa.html

https://whatculture.com/offbeat/8-hidden-secrets-in-the-mona-lisa-3

https://www.sarakadeelite.com/arts_and_culture/ mona-lisa-stolen-1911/

https://www.silpa-mag.com/culture/article_36554

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

อ่านเพิ่มเติม เลโอนาร์โด ดาวินชี รับรู้ถึง แรงโน้มถ่วง ก่อน นิวตัน กว่าหนึ่งศตวรรษ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.