เพชรโฮป Hope Diamond เพชรต้องคำสาป ผู้ครอบครองต้องเจอโชคร้าย

เรื่องราวของ เพชรโฮป หรือ เพชรต้องสาป ‘Hope Diamond’ เพชรในตำนานที่ไม่ว่าใครเป็นผู้ครอบครอง ต่างก็ต้องเจอกับโชคร้าย

ฉายา ‘เพชรต้องสาป’ ของเพชร Hope Diamond นี้เริ่มต้นมาจากไหนกันแน่? เริ่มต้นจากเรื่องราวการเดินทางที่ยาวไกลตั้งแต่ช่วงประมาณปี ค.ศ. 1630 ถึง 1670 พ่อค้าเพชรชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่า จีน เบ๊ปติสท์ ทาเวอร์เนีย (Jean Baptiste Tavernier) ได้พบมันที่ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งค้าเพชรแห่งเดียวในโลกในตอนนั้น
.
เขาเสนอข้อตกลงซื้อขายที่ไม่มีพ่อค้าคนไหนให้ได้เพื่อซื้อเพชร เขาจึงเป็นผู้ครอบครองคนแรก จากนั้นในปี 1668 ทาเวอร์เนีย ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสและขายเพชรหนัก 11 กะรัตนี้ให้กับกษัตริย์พร้อมกับเพชรอื่น ๆ อีกประมาณ 200 เม็ด โดยพระองค์ถูกใจเพชรสีน้ำเงินเม็ดใหญ่นี้อย่างยิ่ง
.
เพื่อให้สวยงามยิ่งขึ้น พระองค์ได้ให้ช่างเจียระไนมันอย่างสวยงามและเปล่งประกายกลายเป็นรูปร่างที่สมมาตร และตั้งชื่อว่า ‘French Blue’ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เพชรเม็ดนี้ถูกส่งต่อมาเรื่อย ๆ ให้กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 และ 16 จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของอัศวิน ซึ่งเรียกว่า Order of the Golden Fleece
ภาพถ่าย Hope Diamond ในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ปี 1950
เรื่องราวต้องสาปเริ่มต้นที่จุดนี้ อย่างที่เราทราบกัน ยุคปฏิวัติฝรั่งเศสเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งมีการประหารด้วยเครื่องกิโยติน และเป็นจุดสิ้นสุดของราชวงค์ฝรั่งเศส ซึ่งพระองค์ก็เป็นผู้ครอบครองเพชรเม็ดนี้ หลังจากการประหาร เพชรถูกขโมยไปในปี 1792 และหายไปประมาณ 20 ปี
.
จนกระทั่งมีเพชรสีน้ำเงินแบบเดียวกับ French Blue แต่เล็กกว่า โดยมีขนาด 45 กะรัตปรากฎขึ้นที่ลอนดอนในปี 1812 โดยอยู่ในการครอบครองของพ่อค้าเพชรชาวอังกฤษที่ชื่อว่า แดเนียล เอลิอาสัน (Daniel Eliason) เขาไม่ได้บอกว่าได้มาอย่างไร (เป็นเพชรเม็ดเดียวกันในสถาบันสมิธโซเนียน)
.
เขาขายเพชรให้กับพระเจ้าจอร์จที่ 4 ของอังกฤษ พระองค์สวมเพชรสีเป็นเครื่องราชตกแต่ง เมื่อได้รับเพชรมาพระองค์ก็ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายจนเกือบทำให้ราชบังลังก์ต้องล้มละลาย หลังจากพระองค์สวรรคต ดยุคแห่งเวลลิงตัน ผู้บริหารของพระองค์ ต้องขายเพชรสีน้ำเงินเพื่อชำระหนี้ ให้กับ เฮนรี ฟิลลิป โฮบ (Henry Philip Hope) นักสะสมเพชร
พระนางมารี อ็องตัวแน็ต พระชายาแห่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส หนึ่งในผู้ครอบครองเพชร Hope Diamond ที่จบชีวิตลงโดยการถูกบั่นพระเศียร
และมันถูกตั้งชื่อเป็น Hope Diamond ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตระกูลโฮปเป็นหนึ่งในตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในอังกฤษ แต่เมื่อได้เพชรมาภายในเวลาไม่กี่ชั่วอายุคน พวกเขาผลาญความมั่งคั่งมหาศาลนั้นไป ตระกูลจึงต้องขายเพชรเม็ดนี้ไปเพื่อใช้หนี้ในปี 1901 โดย โจเซฟ แฟรงเคิล (Joshep Frankel)
.
แฟรงเคิลหวังว่าจะขายมันได้อย่างรวดเร็วเพื่อทำกำไร แต่มันกลับไม่เป็นไปตามที่คาด เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ส่งผลเสียต่อธุรกิจของแฟรงเคิล ทำให้บริษัทของเขาใกล้จะล้มลาย ทาง New York Times กล่าวในปี 1908 ว่าเพชรเม็ดนี้มีส่วนต่อความล้มเหลวของแฟรงเคิล จนมันกลายเป็นกระแสขึ้นมาทันที
.
ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังพูดถึง “อิทธิพลที่น่าสะพรึงกลัว” และ “พลังของรังสีลึกลับ” ที่เล็ดลอดออกมาใต้พื้นผิวที่ระยิบระยับของเพชรที่ปลดปล่อยความชั่วร้ายมาสู่ผู้ที่ครอบครองมัน เป็นสาเหตุของการประหารชีวิตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารี อ็องตัวแน็ต การล้มละลายและการหย่าร้างของโฮป และการล่มสลายของแฟรงเคิล
พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน สถานที่เก็บรักษาเพชร Hope Diamond ในปัจจุบัน
แต่เรื่องราวต้องสาปยังดำเนินต่อไป เพชรถูกขายให้กับ ปิแอร์ คาร์เทียร์ (Pierre Cartier) ผู้หลงใหลในเรื่องลี้ลับต้องสาป เขาแต่งเติมความเป็นมาของเพชรเม็ดนี้เล็กน้อยและหลอกล่อขายมันให้กับ เอวาลีนและเน็ด แมคลีน (Evalyn and Ned McLean) หนึ่งในตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในอเมริกา แต่แล้ว ในปี 1919 ลูกชายวัย 10 ขวบของพวกเขาถูกรถชนเสียชีวิต
.
หนังสือพิมพ์ลงข่าวทันทีว่า ‘Hope Diamond’ อาจถูกต้องสาปจริง ๆ ไม่เพียงเท่านั้น เน็ด ผู้เป็นสามี ยังเป็นบ้า ครอบครัวล้มละลาย และลูกสาวของครอบครัวก็ฆ่าตัวตายในปี 1946 เอวาลีนเสียชีวิตในปี 1947 ต่อมา ท้ายที่สุด เพชรก็เข้ามาอยู่ในสถาบันสมิธโซเนียน พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา
.
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทีมงานได้วิจัยเพชรเม็ดนี้มาตลอด พวกเขาระบุว่าเพชรก่อตัวใต้พื้นโลกลึกลงไปประมาณ 145 กิโลเมตรเมื่อพันล้านปีก่อน จากนั้นลอยขึ้นสู่พื้นโลกผ่านปล่องภูเขาไฟบนที่ราบสูงเดคคานของอินเดีย ถูกพัดพาไปตามแม่น้ำและลำธาร ไปยังทุ่งลุ่มน้ำที่ซึ่งมันถูกขุด
.
ท้ายที่สุด ดูเหมือนว่าเพชรต้องสาปนี้จะพอใจกับบ้านใหม่ของมัน เพราะ เจฟ โพสต์ (Jeff Post) ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ กล่าวว่า “สำหรับสถาบันสมิธโซเนียน โฮปไดมอนด์เป็นแหล่งแห่งความโชคดีอย่างเห็นได้ชัด” เพราะมันทำให้ผู้คนสนใจและบริจาคเพื่อการกุศลแก่พิพิธภัณฑ์มากขึ้น
.
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.thoughtco.com/the-curse-of-the-hope-diamond-1779329
https://www.iflscience.com/hope-diamond-legend-of-a-curse-follows-this-precious-jewel-69020
https://www.wondriumdaily.com/curse-hope-diamond
https://www.capetowndiamondmuseum.org/blog/2019/09/5988
https://www.pbs.org/treasuresoftheworld/hope/hcurse.html

อ่านเพิ่มเติม ตำนาน คำสาปฟาโรห์ มีอยู่จริงหรือไม่

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.