กรณี โฮโมเซเปียนส์ นักโบราณคดีพบชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะและกระดูกหน้าแข้งของมนุษย์โบราณในถ้ำที่ชื่อว่า ถ้ำผาลิง ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศลาว โดยก่อนหน้านี้ก็เคยพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ที่มีอายุ 70,000 ปีเช่นกัน แต่จากการตรวจสอบอายุ ฟอสซิลชิ้นใหม่นี้มีความเก่าแก่กว่า
ด้วยเทคนิดการวัดอายุจากรังสีที่สลายตัว ทีมวิจัยประเมินว่ากะโหลกศีรษะมีอายุมากถึง 73,000 ปี และกระดูกหน้าแข้งมีอายุย้อนกลับไปมากถึง 86,000 ปี กระดูกเหล่านี้คาดว่าน่าจะถูกน้ำพัดเข้าไปในถ้ำผาลิงช่วงฤดูมรสุม แม้ว่าจะทำให้กระดูกแตกหักและไม่สมบูรณ์ แต่นักวิจัยก็ยังใช้เปรียบเทียบได้
เมื่อเทียบขนาดและรูปร่างของกระดูกกับชิ้นอื่น ๆ จากมนุษย์ยุคโบราณ นักวิทยาศาสตร์พบว่า ชิ้นใหม่ที่พบนี้มีความใกล้เคียงกับ ‘โฮโมเซเปียนส์’ มากที่สุด มากกว่ามนุษย์โบราณอื่น ๆ เช่น โฮโมอีเรคตัส (Homo erectus) นีแอนเดอร์ทัล (Neanderthals) หรือเดนิโซแวน (Denisovans) กลายเป็นกระดูกของโฮโมเซเปียนส์ หรือมนุษย์ปัจจุบันที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“การวิจัยทางมานุษยวิทยาแทบไม่มีเลยในลาวนับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง” ฟาบริซ เดเมเทอร์ (Farbrice Demeter) นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนกล่าว เขาอธิบายเสริมว่า การตั้งรกรากของมนุษย์สมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเป็นที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน
เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า พื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสถานที่ที่มนุษย์ใช้เดินทางอพยพไปยังออสเตรเลีย การพบร่องรอยหลักฐานเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนแนวคิดนี้ได้เป็นอย่างดี ทั้งหมดนี้ทำให้เรารู้ว่ามนุษย์ปัจจุบันอยู่ในลาวเมื่อ 77,000 ปี บวกหรือลบ 9,000 ปี เป็นไปได้ว่ากลุ่มมนุษย์เหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับชาวสุมาตราเมื่อประมาณ 68,000 ปีก่อน
“ในที่สุดเราก็มีหลักฐานมากพอที่จะพูดได้อย่างมั่นใจว่า โฮโมเซเปียนส์ มาถึงบริเวณนี้ครั้งแรกเมื่อใด พวกเขาอยู่ที่นั่นนานแค่ไหน และเส้นทางใดที่พวกเขาอาจไป” ดร. คิระ เวสต์อเวย์ (Kira Westaway) จากมหาวิทยาลัยแมคควารี ในออสเตรเลียกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่ามนุษย์สมัยใหม่กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ ‘ล้มเหลว’ เนื่องจากหลักฐานทางพันธุศาสตร์ของเราและเครื่องมือหินต่าง ๆ ที่รวบรวมมาจนถึงปัจจุบัน บ่งบอกว่ามาจากการอพยพออกจากแอฟริกาครั้งเดียวคือเมื่อ 60,000 ปีที่แล้ว
“บางทีนี่อาจเป็นกลุ่มที่แยกย้ายกันไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้ตายไปก่อนที่พวกเขาจะสามารถสร้างยีนให้กับมนุษย์ในปัจจุบัน” ไมเคิล บี.ซี. ริเวรา (Micheal B.C. Rivera) นักมานุษยวิทยาชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกงซึ่งไม่ได้อยู่ในทีมวิจัย กล่าว
เหตุใดผู้มาถึงกลุ่มแรกเหล่านี้จึงล้มหายตายจากไป หรืออย่างน้อยก็ล้มเหลวในการสร้างประชากรให้เติบโตท่ามกลางอาณาเขตที่กว้างใหญ่นี้ยังคงเป็นปริศนาต่อไป และไม่มีการพบเครื่องมือหินหรือร่องรอยอื่น ๆ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของมนุษย์โบราณกลุ่มนี้
“แม้เราจะคิดว่าตัวเอง (โฮโมเซเปียนส์) เป็นสายพันธุ์ที่ประสบความสำเร็จ แต่อาจมีการทดลองที่ล้มเหลวมากมายในการย้ายถิ่นฐานของเราทั่วโลก” ศาสตราจารย์ ไมเคิล เปตราเกลีย (Michael Petraglia) ผู้เชี่ยวชาญด้านเวลาการแพร่กระจายของมนุษย์ออกจากแอฟริกา กล่าว
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
Photograph by wikipedia: Tam Pa Ling Cave
ที่มา
https://www.nature.com/articles/s41467-023-38715-y
https://www.livescience.com/archaeology/86000-year-old-human-bone-found-in-laos-cave-hints-at-failed-population-from-prehistory
https://www.iflscience.com/cave-contains-earliest-clear-evidence-of-modern-humans-in-south-east-asia-69371
https://www.abc.net.au/news/science/2023-06-14/oldest-evidence-for-modern-humans-in-mainland-south-east-asia/102471990