หนึ่งเดือนหลังเกิดการปฏิวัติครั้งแรกขึ้นในรัสเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1917 พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 (Nicholas II of Russia) หรือจักรพรรดิผู้มีอำนาจสูงสุดเหนือประชาชนชาวรัสเซียทั้งปวงทรงสละราชบัลลังก์และใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชนทั่วไปในฐานะนายนิโคลัส โรมานอฟ กระแสการปฏิวัติในประเทศและการพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ ราชวงศ์โรมานอฟ ที่เพิ่งเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 300 ปีในการปกครองจักรวรรดิรัสเซียต้องพบกับจุดจบในเวลาไม่นาน เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวโรมานอฟถูกพรรคบอลเชวิก (Bolshevik) คุมตัวในฐานะนักโทษ และถูกย้ายสถานที่คุมขังไปตามที่ต่าง ๆ จนถึงคืนนองเลือดคืนหนึ่งในเดือนกรกฎาคมปี 1918 ในคืนนั้นซาร์นิโคลัสและสมาชิกทุกคนในครอบครัวตกเป็นเหยื่อในชะตากรรมที่พวกเขาไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้น
การสละราชสมบัติอาจเพิ่มความสบายใจให้แก่พระเจ้าซาร์นิโคลัสผู้ขึ้นครองราชย์ในปี 1894 หลังพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 (Alexander III of Russia) ผู้เป็นบิดาสวรรคต ในขณะที่ซาร์นิโคลัสดำรงพระยศเป็นซาเรวิช (Tsarevitch) หรือมกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์โรมานอฟ พระองค์ถูกมองว่าเป็นผู้ที่ความคิดไม่ก้าวไกลและมีความสามารถไม่มากพอทั้งทางความสามารถและทางพื้นฐานทางอารมณ์ จึงไม่เหมาะที่จะขึ้นเป็นผู้ปกครองประเทศในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์วุ่นวายหลายประการ นอกจากนี้ ด้วยลักษณะนิสัยที่ไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด ทำให้ซาร์นิโคลัสทรงผลัดการออกคำสั่งใด ๆ ไปจนนาทีสุดท้าย แล้วเลือกที่จะสั่งการตามคำแนะนำล่าสุดที่พระองค์ได้รับมาแทน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดมุกตลกที่ผู้คนในเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก (St. Petersburg) มักจะพูดเล่นว่า คนที่มีอำนาจสูงที่สุดในรัสเซียคือพระเจ้าซาร์และใครก็ตามที่เป็นคนสุดท้ายที่พระองค์สนทนาด้วย
ในฐานะผู้นำ พระเจ้าซาร์นิโคลัสแทบจะไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องใดเลย ในปี 1904 พระเจ้าซาร์ล้มเหลวในการคุมทัพและทำให้รัสเซียเป็นฝ่ายแพ้ในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War) ซึ่งมีส่วนทำให้ในปี 1905 ซาร์นิโคลัสต้องเผชิญการปฏิวัติเพื่อต่อต้านการปกครองบ้านเมืองด้วยระบอบอัตตาธิปไตย (Autocracy) หรือการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จากประชาชนในประเทศ ด้วยเหตุนี้ในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน พระเจ้าซาร์จึงออกคำประกาศ (October Manifesto) ซึ่งมีสาระสำคัญคือการจัดตั้งสภาดูมา (Duma) สภานิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งขึ้นเพื่อเป็นปากเสียงของประชาชน ทว่า ก่อนจะจัดการประชุมขึ้นเป็นครั้งแรกซาร์นิโคลัสกลับจำกัดอำนาจนิติบัญญัติของสภาโดยมีจุดประสงค์ในการพยายามคงอำนาจการปกครองส่วนพระองค์ไว้ ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มต้นขึ้นในปี 1914 พระเจ้าซาร์นิโคลัสทรงนำประเทศไปสู่การสู้รบที่ทำให้รัสเซียสูญเสียทรัพยากรไปมากมายและสูญเสียประชากรไปหลายล้านคน
แม้จะผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมาแต่พระเจ้าซาร์นิโคลัสกลับทรงเพิกเฉยต่อกระแสความไม่นิยมของประชาชนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเชื่อว่าชาวรัสเซียยังรักและเทิดทูนพระองค์เช่นเดิม อย่างไรก็ดี ประชาชนชาวรัสเซียกลับมีความเห็นตรงข้ามกับพระเจ้าซาร์และเรียกเขาว่านิโคลัสผู้นองเลือด (Nicholas the Bloody)
อย่างไรก็ตาม ซาร์นิโคลัสทรงรักครอบครัวซึ่งประกอบไปด้วย ซารีนาอเล็กซานดรา (Alexandra Feodorovna) ผู้เป็นภริยา พระธิดา 4 พระองค์ ได้แก่ แกรนด์ดัชเชสโอลกา (Grand Duchess Olga) แกรนด์ดัชเชสตาตยานา (Grand Duchess Tatiana) แกรนด์ดัชเชสมารีเยีย (Grand Duchess Maria) แกรนด์ดัชเชสอนาสตาเซีย (Grand Duchess Anastasia) และอเล็กเซย์ (Tsesarevich Alexei) พระโอรสองค์สุดท้องซึ่งเป็นรัชทายาทที่ซาร์และซารีนาเฝ้าคอยมานาน เมื่อกล่าวถึงสมาชิกของครอบครัวของโรมานอฟแล้ว ซารีนาอเล็กซานดรานั้นเป็นผู้ที่มีบุคลิกที่ดูทรงพลังและสง่างามกว่าสามีของพระองค์ สิ่งที่ซารีนาแตกต่างจากซาร์นิโคลัสคือพระองค์ทรงตระหนักถึงความไม่เป็นที่นิยมของตนเอง ด้วยเหตุนี้ซารีนาอเล็กซานดราจึงมีอารมณ์อ่อนที่ไหวง่าย ชอบการบงการ และทรงคิดมากจนเกิดอาการหวาดระแวง
ทุกคนในครอบครัว โดยเฉพาะซารีนาอเล็กซานดราทรงทุ่มเทเพื่ออเล็กเซย์ ซาเรวิชแห่งราชวงศ์โรมานอฟผู้เกิดมาพร้อมกับโรคฮีโมฟีเลีย (hemophilia) หรือโรคเลือดไหลไม่หยุด ปัญหาสุขภาพขององค์รัชทายาทได้กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนในครอบครัวให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ นอกจากนี้ปัญหาจากสุขภาพขององค์ชายอเล็กเซย์ยังเป็นสิ่งที่ทำให้ราชวงศ์โรมานอฟเปราะบาง ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีผู้ที่จ้องจะใช้จุดอ่อนนี้ในการหาประโยชน์ส่วนตน ทุกคนในราชวงศ์จึงหลงเชื่ออย่างสนิทใจ
ผู้ที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากปัญหาสุขภาพขององค์ชายอเล็กเซย์คือ กรีกอรี รัสปูติน (Grigory Rasputin) ผู้อ้างว่าตนเองเป็นผู้วิเศษ ชายคนนี้มีชื่อเสียในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมทางเพศที่ขัดต่อศีลธรรม พลังในการรักษา หรือพลังในการหยั่งรู้อนาคต ไม่ว่าสิ่งที่รัสปูตินแอบอ้างจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ สมาชิกของครอบครัวโรมานอฟต่างก็เชื่อในตัวเขาจนทำให้รัสปูตินมีอำนาจเหนือสมาชิกในราชวงศ์ โดยเฉพาะกับซารีนาอเล็กซานดรา
รัสปูตินเข้าพบราชวงศ์โรมานอฟเป็นครั้งแรกในปี 1905 ซึ่งเป็นช่วงที่ซารีนาทรงสิ้นหวัง เหตุเพราะการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในปีนั้นเกือบทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกล้มล้าง ซาเรวิชอเล็กเซย์ผู้ประสูติเมื่อปีที่แล้วทำให้พระองค์มีรัชยาทายาทตามที่หวัง ทว่าอาการเจ็บป่วยจากโรคฮีโมฟีเลียไม่ได้เป็นเพียงเรื่องร้ายแรงต่อตัวบุตรชายของพระองค์เท่านั้น แต่ยังเป็นภัยคุกคามต่อราชวงศ์โรมานอฟอีกด้วย วิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้น และความทุกข์ระทมของผู้เป็นมารดา เอื้อให้รัสปูตินสามารถแทรกซึมเข้าสู่ราชวงศ์ได้ ในปี 1908 ชายผู้วิเศษคนนี้สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยขององค์ชายอเล็กเซย์ที่เผชิญกับอาการเลือดออกอย่างรุนแรงได้ เขาได้เตือนซาร์นิโคลัสและซารีนาอเล็กซานดราว่าสุขภาพขององค์รัชทายาทมีผลโดยตรงต่อความแข็งแกร่งของราชวงศ์ ด้วยเหตุนี้เองความสามารถในการรักษาอาการและสุขภาพขององค์ชายอเล็กเซย์จึงทำให้รัสปูตินรักษาตำแหน่งภายในพระราชวังและอำนาจในการชักจูงพระเจ้าซาร์ไว้ได้
แม้ว่าความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัสปูตินกับราชวงศ์อาจช่วยให้อาการของซาเรวิชดีขึ้นได้ มันกลับส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของซารีนาอเล็กซานดรา และยิ่งทำให้พระองค์ห่างไกลจากประชาชนรัสเซียมากขึ้น มีข่าวลือแพร่ไปทั่วว่าหนึ่งในพฤติกรรมอันเสื่อมทรามทางศีลธรรมของรัสปูตินคือการล่อลวงซารีนา ถึงรัสปูตินจะไม่ใช่คนรักของซารีนา แต่ชายผู้นี้ขึ้นชื่อในเรื่องการลอบเป็นชู้กับผู้หญิงจำนวนนับไม่ถ้วนในราชสำนักโรมานอฟ พระเจ้าซาร์ทรงเพิกเฉยต่อคำเรียกร้องให้ปลดรัสปูตินออกจากราชสำนัก และทรงเลือกที่จำไม่กำจัดภัยคุกคามนี้ออกจากราชวงศ์ แม้ว่าการตัดสินใจเช่นนี้จะเพิ่มความไม่พอใจให้แก่ประชาชนชาวรัสเซียมากเพียงใด สิ่งที่ซาร์นิโคลัสทรงให้ความสำคัญมีเพียงการทำให้ภริยาและบุตรทั้งห้าของพระองค์มีความสุขเท่านั้น
เดือนกันยายน ปี 1915 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 กำลังดำเนินไป ในขณะที่ซาร์นิโคลัสเสด็จไปแนวหน้าเพื่อควบคุมกองกำลังของรัสเซียด้วยพระองค์เองอยู่นั้นซารีนาในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีหน้าที่ดูแลกิจการต่าง ๆ ภายในประเทศ อำนาจในการชักจูงของรัสปูตินที่ส่งผลต่ออเล็กซานดรานั้นปรากฏผ่านการเลือกรัฐมนตรีที่ไร้ความสามารถมาปฏิบัติหน้าที่ ความพ่ายแพ้จากสงครามและผลพวงจากอิทธิพลของรัสปูตินทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านซาร์นิโคลัสและราชวงศ์
กล่าวคือช่วงเวลานั้นเป็นเวลาที่ชาวรัสเซียพร้อมสำหรับการปฏิวัติแล้ว
ภายหลังพรรคบอลเชวิกเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลสาธารณรัฐรัสเซียสำเร็จในเดือนพฤศจิกายน ปี 1917 สมาชิกราชวงศ์โรมานอฟได้ตกเป็นทั้งตัวประกันและตัวปัญหาสำหรับพวกเขา ในขณะนั้น รัสเซียจำเป็นต้องเจรจาเพื่อหาทางถอนตัวออกจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และในขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันไม่ให้ชาติอื่นเข้ามารุกรานตนเอง เนื่องจากบรรดาประเทศฝ่ายตรงข้ามต่างก็จับตามองว่าเกิดอะไรขึ้นกับอดีตผู้ปกครองบ้าง หากซาร์นิโคลัสสิ้นพระชนม์ ชาติยุโรปอื่น ๆ อาจพิจารณาขึ้นเป็นผู้ปกครองโดยชอบธรรมของรัสเซียได้ แต่หากปล่อยให้ราชวงศ์โรมานอฟมีชีวิตอยู่ก็จะกลายเป็นสัญลักษณ์ซึ่งใช้เพื่อระดมการสนับสนุนอุดมการณ์ของพรรคฝ่ายตรงข้ามและขบวนการเคลื่อนไหวของผู้ที่นิยมระบอบราชาธิปไตยได้ นอกจากนี้ประชาชนยังมีความคิดเกี่ยวกับราชวงศ์ที่แตกต่างกันไป บ้างอยากให้ราชวงศ์โรมานอฟถูกเนรเทศ บ้างอยากให้นำตัวพวกเขามาพิจารณาคดีที่ก่อไว้ บ้างต้องการให้พวกเขาหายไปอย่างถาวร
ในช่วงแรก ครอบครัวโรมานอฟถูกส่งตัวไปคุมขังที่พระราชวังในเมืองซาร์สโคเย เซโล (Tsarskoye Selo) ต่อมาเหล่าเชื้อพระวงศ์ถูกย้ายไปคุมขังที่เมืองตาบอลสก์ (Tobol’sk) ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของเทือกเขายูรัล (Ural Mountains) เนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัย สมาชิกครอบครัวโรมานอฟนั้นได้รับการดูแลที่ดี และอดีตซาร์นิโคลัสก็ดูจะทรงเพลิดเพลินกับที่พักแห่งใหม่แห่งนี้ พระองค์ทรงมีความสุขกับชีวิตในชนบทและไม่อยากกลับไปเครียดจากการทำหน้าที่เป็นซาร์แล้ว ครอบครัวโรมานอฟจ้างคนรับใช้ถึง 39 คนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ตนเอง นอกจากนี้เชื้อพระวงศ์เหล่านี้ยังเก็บทรัพย์สมบัติส่วนตัวไว้จำนวนไม่น้อย หนึ่งในนั้นคืออัลบั้มรูปครอบครัวอันเป็นที่รักของพวกเขา ในช่วงแรกของการถูกคุมขังครอบครัวโรมานอฟยังฝันถึงทางออกที่สวยงามอยู่ ทุกคนในครอบครัวอาจจะเดินทางไปอังกฤษเพื่อพบพระเจ้าจอร์จที่ 5 (George V of the United Kingdom) ญาติฝั่งอังกฤษของซาร์นิโคลัสและอาศัยอยู่ที่นั่นในฐานะผู้ลี้ภัย หรือบางทีสมาชิกชองราชวงศ์อาจจะได้รับการอนุญาตให้เกษียณจากตำแหน่งและย้ายไปประทับที่คฤหาสน์ของครอบครัวซึ่งตั้งอยู่เมืองไครเมีย (Crimea)
ในตอนนั้นอดีตซาร์นิโคลัสและครอบครัวทรงไม่เข้าพระทัยว่า ยิ่งเวลาผ่านไปเท่าไร เส้นทางหนีแต่ละทางจะค่อย ๆ ปิดลง จนสุดท้ายแล้วเหลือเส้นทางที่แย่ที่สุดเพียงทางเดียว คือการไปเมืองเยคาเตรินเบิร์ก (Yekaterinburg) เมืองซึ่งเต็มไปด้วยผู้ฝักใฝ่ในคอมมิวนิสต์อย่างแรงกล้าและต่อต้านการมีอยู่ของซาร์อย่างรุนแรง ครอบครัวโรมานอฟถูกย้ายมาคุมขังต่อที่บ้านอิปาเตียฟ (Ipatiev House) ซึ่งถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ทางพรรคบอลเชวิกได้มอบหมายให้ ยาคอฟ ยูรอฟสกี (Yakov Yurovsky) ชายผู้มีหน้าที่วางแผนและเตรียมการสังหารครอบครัวโรมานอฟเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลขณะอดีตซาร์และครอบครัวแทนผู้ดูแลคนเก่าที่ครอบครัวโรมานอฟสนิทสนม ความสัมพันธ์ระหว่างยูรอฟสกีและอดีตซาร์กับซารีนานั้นถือว่าห่างเหินแต่ยังคงความมืออาชีพไว้ แม้กระทั่งตอนที่ยูรอฟสกีวางแผนสังหารเชื้อพระวงศ์เหล่านี้อยู่นั้นเขาก็ทำหน้าที่ดูแลครอบครัวโรมานอฟได้อย่างคล่องแคล่ว
ผู้ที่พบเห็นครอบครัวโรมานอฟในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นกลุ่มสุดท้ายคือสาวใช้ 4 คนที่ถูกพามาทำความสะอาดบ้านอิปาเตียฟ ทั้งสี่คนนั้นประกอบไปด้วย มารียา สตราดูโมวา (Mariya Starodumova) อีฟโดคียา เซเมโนวา (Evdokiya Semenova) วาร์วารา ไดรอาไจนา (Varvara Dryagina) และสาวใช้คนสุดท้ายที่ไม่ปรากฏนาม พวกเธอช่วยให้ครอบครัวโรมานอฟได้คลายความเบื่อจากการถูกคุมขังและทำให้พวกเขาได้ติดต่อกับคนที่มาจากนอกบ้านเป็นครั้งสุดท้าย
คำให้การของสาวใช้เหล่านี้ให้ภาพของครอบครัวโรมานอฟที่ชัดเจนและมีมนุษยธรรมที่สุด แม้พวกเธอจะถูกสั่งห้ามไม่ให้สนทนากับสมาชิกของครอบครัวนี้แต่ก็มีโอกาสได้สังเกตพวกเขาใกล้ ๆ ในตอนแรก พวกเธอประหลาดใจกับความแตกต่างระหว่างความหยิ่งยโสของครอบครัวโรมานอฟที่ได้ยินข่าวมาจากกลุ่มต่อต้านพระเจ้าซาร์และครอบครัวอันแสนจะถ่อมตัวที่พวกเธอได้พบที่บ้าน เหล่าแกรนด์ดัชเชสหรือบุตรสาวของอดีตซาร์เป็นเพียงเด็กผู้หญิงธรรมดา ส่วนอเล็กเซย์ผู้ทนทุกข์กับอาการเจ็บป่วยที่มองไปทางเซเมโนวานั้นดูเหมือนกับตัวอย่างของความเจ็บปวดอันอ่อนโยน เธอรู้สึกประหลาดใจเมื่อได้เห็นดวงตาที่ทั้งอ่อนโยนและไร้เดียงสาของอเล็กเซย์ แต่สำหรับเซเมโนวาแล้วสิ่งที่เธอสัมผัสได้จากดวงตาคู่นั้นกลับเต็มไปด้วยความเศร้า
การไปทำงานที่บ้านอิปาเตียฟสร้างความประทับให้เหล่าสาวใช้อย่างมาก อย่างไรก็ดี ครอบครัวโรมานอฟจะต้องถูกปลิดชีพเนื่องจากพวกเขาเป็นสัญลักษณ์สูงสุดของระบอบอัตตาธิปไตย ทว่า สิ่งที่ย้อนแย้งคือการใช้ชีวิตในเมืองเยคาเตรินเบิร์กภายใต้การคุมขังพรรคบอลเชวิกกลับทำให้ครอบครัวโรมานอฟแทบไม่เหลือเค้าโครงของความเป็นชนชั้นสูงอยู่เลย อีฟโดคียา เซเมโนวาได้ให้การว่า “พวกเขาไม่ใช่เทพพระเจ้า จริง ๆ แล้วพวกเขาก็เป็นคนธรรมดาเหมือนกับพวกเรา เป็นมนุษย์ทั่วไป”
ในคืนวันที่ 16 กรกฎาคม มีการส่งโทรเลขไปยังมอสโกเพื่อแจ้งเรื่องการตัดสินใจเริ่มดำเนินแผนการฆาตกรรมครอบครัวโรมานอฟให้วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin) ผู้นำพรรคบอลเชวิกทราบ ในคืนนั้นยูรอฟสกีปลุกสมาชิกทุกคนในครอบครัวรวมไปถึงคนรับใช้ทั้งสี่คนขึ้นในเวลา 01:30 นาฬิกาและแจ้งทุกคนว่าเกิดการปะทะกันระหว่างกองทัพแดงของบอลเชวิกและกองทัพขาวซึงเป็นกองกำลังต่อต้านคอมมิวนิสต์ขึ้นจึงทำให้เมืองนี้ตกอยู่ในอันตราย ทุกคนจำเป็นต้องลงไปห้องใต้ดินเพื่อหลบภัย
นอกจากการทำตามสิ่งที่ยูรอฟสกีบอกแล้ว ไม่มีหลักฐานใดที่สามารถระบุได้ว่าในขณะนั้นราชวงศ์โรมานอฟมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร อดีตซาร์นิโคลัสที่อุ้มซาเรวิชไว้ในอ้อมแขนทรงนำสมาชิกทุกคนในครอบครัวและคนรับใช้ทั้งสี่คน ได้แก่ แพทย์ประจำครอบครัวยูจีน บอตคิน (Eugene Botkin) คนรับใช้หญิงอันนา ดีมีโดวาฟ (Anna Demidova) พ่อครัวไอวาน คาริตโตนอฟ (Ivan Kharitonov) และคนรับใช้ชายอเล็กซีย์ ตรัปป์ (Alexei Trupp) ลงไปยังห้องใต้ดินของคฤหาสน์ แม้จะลงมารวมกันในห้องเปล่าเล็ก ๆ แล้วก็ยังไม่มีใครทราบว่าอีกไม่นานพวกเขาทั้งหมดจะต้องเผชิญกับชะตากรรมที่ไม่คาดคิด
ยูรอฟสกีเข้ามาหาพวกเขาโดยมีเพชรฆาตยืนอยู่ข้างหลังเพื่อขวางประตูไว้ จากนั้นผู้ดูแลครอบครัวโรมานอฟก็เริ่มต้นอ่านคำแถลงการที่เตรียมมาให้เหล่านักโทษที่งุนงงฟัง เนื้อหาของแถลงการว่าไว้ว่า “สภาโซเวียตสูงสุดมีคำสั่งยิงอดีตซาร์ นิโคลัส โรมานอฟ ผู้กระทำความความผิดฐานก่ออาชญากรรมนองเลือดต่อประชาชนนับครั้งไม่ถ้วนตามเจตจำนงของการปฏิวัติ ” เมื่อกล่าวจบพวกเขาก็เริ่มกระหน่ำยิงครอบครัวอดีตผู้ปกครองประเทศและคนใกล้ชิด แม้คำให้การต่าง ๆ จะมีข้อขัดแย้งกันแต่ส่วนใหญ่แล้วรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์การสังหารราชวงศ์โรมานอฟไว้ว่าอดีตพระเจ้าซาร์ผู้เป็นเป้าหมายหลักถูกยิงหลายนัดจนเสียชีวิต และอดีตซารีนาเสียชีวิตจากการถูกยิงที่ศีรษะ
เมื่อห้องใต้ดินเต็มไปด้วยควันปืน สติของเหล่านักฆ่าก็พลันหายไป แกรนด์ดัชเชสทั้งสี่แทบจะไม่ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากกระสุนปืนเด้งออกจากตัวพวกเธอ ภายหลังพบว่าสาเหตุที่พวกเธอรอดจากกระสุนเหล่านั้นได้เพราะเครื่องประดับเพชรที่เย็บเข้ากับชุดของพวกเธอทำหน้าที่เหมือนเกราะสะท้อนกระสุน ระหว่างทำภารกิจสังหารหมู่ครอบครัวโรมานอฟอยู่นั้น เอร์มาคอฟ หนึ่งในมือเพชฌฆาตควบคุมตัวเองไม่ได้และเริ่มใช้ดาบปลายปืนกระหน่ำแทงบรรดาเชื้อพระวงศ์ในห้อง ท้ายที่สุดสมาชิกในครอบครัวทุกคน รวมไปถึงคนรับใช้ทั้งสี่ก็เสียชีวิตลงจากการถูกยิง แทง และทุบตีหลังยูรอฟสกีใช้เวลาในการปฏิบัติภารกิจไป 20 นาที
ศพทั้ง 11 ร่างถูกลากออกจากบ้านและนำขึ้นรถบรรทุก การทำลายศพทั้งหมดเป็นไปอย่างวุ่นวาย นักวิชาการหลายคนเชื่อว่าศพจำนวนหนึ่งถูกนำไปทิ้งในเหมืองกานินา ยามา (Ganina Yama) ซึ่งพรรคบอลเชวิกพยายามจะถล่มมันลงด้วยระเบิดมือ อย่างไรก็ตามแรงจากระเบิดไม่สามารถปิดปล่องเหมืองได้ศพทั้งหมดจึงถูกย้ายออกจากสถานที่ฝังแรกอย่างเร่งรีบ ระหว่างทางไปสถานที่ฝังศพแห่งใหม่ล้อรถบรรทุกเกิดติดหล่มโคลน ผู้ทำหน้าที่กำจัดศพจึงนำศพ 2 ร่างซึ่งเชื่อว่าเป็นร่างของมารีเยียและอเล็กเซย์ออกไปทิ้งในป่า ส่วนศพ 9 ร่างที่เหลือถูกทำลายด้วยการเผา ราดด้วยกรด และนำไปฝังแยกกันในสุสานใกล้ ๆ
หลังเกิดเหตุลอบสังหารอดีตซาร์ เจ้าหน้าที่ของโซเวียตรายงานข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้โดยพยายามปกปิดความจริงบางส่วนไว้ แม้ทางพรรคบอลเชวิกจะแถลงข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของอดีตซาร์นิโคลัสออกไปได้ไม่นานก็มีการกล่าวอ้างว่าอดีตซารีนาอเล็กซานดราและซาเรวิชอเล็กเซย์ยังมีชีวิตอยู่ การเสียชีวิตของครอบครัวโรมานอฟไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจนถึงปี ค.ศ. 1926 ทว่าเมื่อความจริงถูกเปิดเผยรัฐบาลโซเวียกลับปฏิเสธที่จะรับผิดชอบการสังหารราชวงศ์โรมานอฟอันโหดเหี้ยมที่เกิดขึ้น
โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) นายกรัฐมนตรีสหภาพโซเวียตในขณะนั้นได้ยุติการอภิปรายเกี่ยวกับการลอบสังหารราชวงศ์โรมานอฟลงในปี 1938 และสั่งทำลายบ้านอิปาเตียฟในปี 1977 โดยให้เหตุผลว่าเป็นสถานที่ “ที่ไม่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์” แม้การสั่งไม่ให้พูดถึงเรื่องราวการล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟจะทำให้ไม่สามารถนำประเด็นนี้มาถกเถียงกันได้แต่ในอีกทางหนึ่งการทำเช่นนี้กลับกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นที่ไม่มีที่สิ้นสุดของผู้คน หลายสิบปีต่อมาพบว่ามีผู้ที่แอบอ้างว่าเป็นหนึ่งในครอบครัวโรมานอฟเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนมากมักจะอ้างว่าตนเป็นหนึ่งในบุตรทั้งห้าของพระเจ้าซาร์นิโคลัส และในแต่ละครั้งที่มีผู้อ้างสิทธิ์รายใหม่ปรากฏตัวขึ้น เรื่องราวการสังหารหมู่ราชวงศ์โรมานอฟจะถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ปริศนาการสังหารอดีตซาร์นิโคลัสและครอบครัวจะเลือนหายไปตามกาลเวลาตามที่รัฐบาลโซเวียตต้องการ ในปี 1979 นักสืบมือสมัครเล่น 2 คนค้นพบสถานที่ฝังศพขนาดใหญ่ใกล้กับเมืองเยคาเตรินเบิร์กแต่การค้นพบนี้ถูกเก็บเป็นความลับไว้จนกระทั่งสหภาพโซเวียตล่มสลาย
เมื่อเกิดการปฏิวัติครั้งใหม่ขึ้นในรัสเซีย บรรดานักวิทยาศาสตร์ก็ได้กลับไปยังเยคาเตรินเบิร์กในปี 1991 เพื่อรื้อเรื่องราวที่ถูกปิดบังให้กลับคืนสู่หน้าประวัติศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ได้ขุดซากศพจำนวน 9 ศพขึ้นมาและนำไปผ่านกระบวนพิสูจน์บุคคลโดยตรวจหาจากดีเอ็นเอ ผลของการตรวจสอบพบว่าศพทั้ง 9 ร่างที่พบประกอบไปด้วยพระเจ้าซาร์นิโคลัส ซารีนาอเล็กซานดรา แกรนด์ดัชเชสโอลกา แกรนด์ดัชเชสตาตยานา แกรนด์ดัชเชสอนาสตาเซีย และคนรับใช้ทั้งสี่ของครอบครัวโรมานอฟ การค้นพบกระดูกของสมาชิกราชวงศ์โรมานอฟถือเป็นการเริ่มฟื้นฟูประวัติศาสตร์ที่จะทำให้ผู้คนได้รับรู้ถึงการเสียชีวิตอย่างน่าสยดสยองและสถานที่ต่าง ๆ ที่ครอบครัวโรมานอฟเคยถูกคุมขังไว้
ในปี 1998 ซากศพของสมาชิกราชวงศ์โรมานอฟและผู้เกี่ยวข้องที่ถูกขุดขึ้นมาถูกนำไปฝังไว้ที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์และพอล (Sts. Peter and Paul Cathedral) ในเมืองเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก สถานที่ฝังพระศพของซาร์ตามธรรมเนียม ในปี 2000 คริสตจักรรัสเซียออร์ทอดอกซ์ (Russian Orthodox Church) ได้สถาปนาให้นิโคลัส อเล็กซานดรา และบุตรทั้งห้าคนเป็นนักบุญในฐานะ “ผู้แบกรับพระมหาทรมาน” (Passion-bearer) นอกจากนี้ทางศาสนจักรรัสเซียออร์โธด็อกซ์ยังสร้างโบสถ์ขึ้นบริเวณหมืองกานินา ยามา สถานที่แรกที่บอลเชวิกนำพระศพของสมาชิกราชวงศ์โรมานอฟไปทิ้งและพยายามจะทำลายหลักฐาน ในส่วนของสถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งของบ้านอิปาเตียฟนั้นได้มีการสร้างโบสถ์แห่งหยดเลือด (Church on the Blood) ขึ้นในปี 2003 เพื่ออุทิศให้กับพระเจ้าซาร์ที่ 2 และครอบครัว และในปี 2007 ซากศพของแกรนด์ดัชเชสมารีเยีย และซาเรวิชอเล็กเซย์ได้ถูกค้นพบและนำไปพิสูจน์ดีเอ็นเอเพื่อตรวจพิสูจน์บุคคล
ว่ากันว่าครอบครัวที่มีความผูกพันและใกล้ชิดกันอาจจะตัดขาดจากโลกภายนอกหรือคนอื่น ๆ ในสังคมได้ ครอบครัวโรมานอฟเป็นเช่นนั้น แม้การนึกถึงแต่ตนเองจะทำให้พวกเขาตระหนักถึงอันตรายที่คืบคลานเข้ามาได้ช้า แต่ความรักที่มีให้กันก็ทำให้พวกเขาเข้มแข็งและสามารถทนอยู่ภายใต้การคุมขังได้ พระเมตตาอันยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าประทานให้แก่ครอบครัวนี้คืออย่างน้อยที่สุดในช่วงเดือนท้าย ๆ ของชีวิตครอบครัวโรมานอฟก็ได้อยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาถึงแม้ว่าท้ายที่สุดแล้วพวกเขาจะต้องเผชิญกับจุดจบอันเลวร้าย
เรื่อง โทบี ซอล (Toby Saul)
แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ