ทำไม อาณาจักรมายา ถึงล่มสลาย? การเมือง เศรษฐกิจ หรือเพราะตัวเอง

การแย่งชิงอำนาจ ภัยแล้ง หรือประชากรล้นเมือง ไขปริศนาร่องรอยการหายไปของ อารยธรรมมายา

อารยธรรมมายา ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งของเมืองที่เจริญรุ่งเรืองและเต็มไปด้วยผู้คนนับพันมีอิทธิพลกว้างขวางในเมโสอเมริกาครอบคลุมพื้นที่บริเวณเม็กซิโกตอนใต้ และอเมริกากลางในปัจจุบัน แต่ผ่านไปสองศตวรรษ เมืองอันรุ่งเรืองเหล่านี้กลับถูกทิ้งร้าง เหลือไว้เพียงวิหารขนาดใหญ่และงานจิตรกรรมที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์

เช่นเดียวกับสาเหตุของการล่มสลายต้นกำเนิดอารยธรรมมายาที่ยังคงคลุมเครือและยากจะหาคำตอบให้แน่ชัด นักวิชาการเชื่อว่าอารยธรรมมายาเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงระหว่าง 7,000 – 2,000 ปีก่อนคริสตกาลหลังจากชนเผ่านักล่า (hunter-gatherers) จากอเมริกาใต้เข้ามาตั้งรกรากในภูมิภาคเมโสอเมริกา นอกจากนี้ การทำไร่ข้าวโพดในช่วง 4,000 ปีก่อนคริสตกาลส่งผลให้อารยธรรมมายาเจริญรุ่งเรืองและขยายตัวมากขึ้นง

นักวิชาการยังเชื่ออีกว่า การมีปฏิสัมพันธ์กับชนเผ่าใกล้เคียงอย่าง โอลเม็ก (Olmec) ส่งผลต่อความก้าวหน้าทางสถาปัตยกรรมมายา ทำให้เกิดสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกอบพิธีกรรมขนาดใหญ่กลางเมืองต่างๆ โดยศูนย์กลางเมืองที่สำคัญ ได้แก่ อุชมัล (Uxmal) ปาเลงเก (Palenque) ชิตเชนอิตซา (Chichén Itzá) ติกัล (Tikal) โกปัน (Copán) และกาลักมุล (Calakmul) โดยในยุคคลาสสิคช่วงราวคริสตศักราช 200-900 ได้มีการก่อสร้างพีระมิด และสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระราชวังโดยมีการประดับตกแต่งด้วยศิลปะอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อถวายแด่เทพเจ้า

แผนที่อาณาจักรมายา – อาณาจักรชาวมายาเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในช่วงปลายยุคคลาสสิก (ค.ศ. 600-900) ประกอบด้วยอาณาจักรและเมืองต่างๆ มากมายที่ทอดยาวข้ามคาบสมุทรยูคาตันและอเมริกากลาง ราว 320,000 ตารางกิโลเมตร นักวิชาการคาดว่ามีเมืองของชาวมายามากถึง 40 เมืองที่ควบคุมโดยผู้ปกครองท้องถิ่นที่ทรงอำนาจ โดยเมืองที่ใหญ่ที่สุด เช่น ทีกัล มีประชากรมากถึง 50,000 คน ในขณะที่เมืองที่เล็กกว่ามีประชากรประมาณ 5,000 คน

อาณาจักรมายา – การแก่งแย่งชิงอำนาจ

นักวิชาการลงความเห็นว่า ชนเผ่ามายาไม่ได้ปกครองแบบอาณาจักรเดี่ยว หากแต่ปกครองแบบสังคมร่วม จึงเกิดการแย่งชิงอำนาจกับอาณาจักรใกล้เคียงหรือระหว่างชนชั้นปกครอง กังกุนหรือแคนคูน (Cancuén) ซึ่งตั้งอยู่ในเม็กซิโกปัจจุบันเป็นหนึ่งในดินแดนที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าที่สำคัญของภูมิภาคและยังมีความเกี่ยวพันทางการเมืองกับนครกาลักมุลที่เรืองอำนาจของอาณาจักรมายา มีการพบจารึกจำนวนมากในโบราณสถาน แต่ไม่มีจารึกใดเลยที่ถูกสลักขึ้นหลังจากปี ค.ศ. 800

แผ่นแกะสลักภาพผู้นำ นักบวช และขุนนางแห่งเมืองกังกุน (Cancuén) ภาพถ่าย ALAMY/ACI

หลักฐานทางโบราณคดีชี้ให้เห็นว่าในปีดังกล่าว กังกุนถูกโจมตีอย่างรุนแรง สมาชิกราชวงศ์และเหล่าชนชั้นสูงถูกสังหาร ศพพร้อมกับตราเกียรติยศและเครื่องประดับของพวกเขาถูกแบ่งฝังในพื้นที่ฝังศพสามแห่ง นักโบราณคดีขุดพบกว่า 38 ศพ พร้อมร่องรอยบาดแผลฉกรรจ์ในพื้นที่ฝังศพที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องแปลกในภูมิภาคนี้ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการล่มสลายที่กำลังคืบคลานเข้ามาสู่อาณาจักรมายา ในช่วงแรกของศตวรรษที่ 9 วิกฤตการณ์ทางการเมืองและสังคมส่งผลกระทบเกือบทั่วทุกเมืองในอาณาจักรมายา ในช่วงท้ายของยุคคลาสสิค หลายสิ่งในอาณาจักรต้องหยุดชะงัก ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรม การจดบันทึก หรือแม้กระทั่งการก่อสร้างพระราชวังและวิหาร เมืองต่างๆ ถูกทิ้งร้าง เรียกได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของอาณาจักรมายา

ช่วงเวลาของการล่มสลายและการเสื่อมถอยทางอำนาจจากหลายเมืองสู่อีกหลายๆ เมือง กินเวลานานกว่าร้อยปี โดยหายนะดังกล่าวเริ่มขึ้นในแถบทะเลสาบเปเท็กซ์บาตุน (Petexbatún) ลามไปจนถึงแถบแม่น้ำอุสุมาชินตา (Usumacinta)

เมื่อเมืองต่างๆ เริ่มถูกทิ้งร้างและล่มสลาย ธรรมชาติก็ได้เริ่มทวงคืนดินแดนจากอาณาจักรมายา รากไม้และกิ่งก้านเถาวัลย์ได้กลืนกินวิหาร พระราชวังรวมถึงสิ่งปลูกสร้างที่เคยหรูหราโอ่อ่าของอารยธรรมมายาจนเกือบหมดสิ้น

ซากพีระมิดอันยิ่งใหญ่แห่งกาลักมุลตั้งโดดเด่นท่ามกลางพรรณไม้เขียวชอุ่มในรัฐกัมเปเชของเม็กซิโก ภาพถ่าย ALFREDO MATUS/ALAMY/ACI

สืบหาร่องรอย อารยธรรมมายา

สถาปัตยกรรมมายาที่หลงเหลืออยู่ให้ข้อมูลเชิงลึกของช่วงเวลาการล่มสลายของอารยธรรมมายา หนึ่งในสิ่งปลูกสร้างสุดท้ายในโบนัมปัก (Bonampak) ปรากฎภาพจิตรกรรมฝาผนังที่แสดงให้เห็นถึงชัยชนะในการต่อสู้ของเหล่ากษัตริย์ หรืออะฮอว์ (ajaw) ในปี 791 รวมถึงภาพพระราชพิธีต่างๆ อย่างไรก็ตาม ภาพจิตรกรรมฝาผนังดังกล่าวกลับเป็นเพียงภาพร่างที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ราวกลับว่าจิตรกรเกิดทิ้งงานไปกลางคันอย่างไม่ทราบสาเหตุ

มีการพบอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจในเมืองใกล้เคียง คือ ยักซิลัน (Yaxchilán) ในปี 800 ได้มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ ประดับประดาด้วยประติมากรรมหรูหรา พร้อมกับสลักภาพราชวงศ์และข้อความอย่างประณีต แต่ผ่านไปเพียง 8 ปี สถาปัตยกรรมนี้กลับถูกทิ้งร้างพร้อมกับข้อความสุดท้ายที่ถูกจารึกไว้ในปี ค.ศ. 808

ภาพจำลองการประหารชีวิตผู้แพ้สงครามในจัตุรัสเมืองโบนัมปัก ปรากฏภาพกษัตริย์ ขุนนางและทหารพร้อมเครื่องแต่งกายและหอกหุ้มด้วยหนังเสือจากัวร์ ร่วมกับเชลยศึกที่ถูกถอดเล็บและเฉือนปลายนิ้วออกก่อนที่จะถูกประหารชีวิต ภาพถ่าย BRIDGEMAN

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 9 มีการก่อสร้างวิหารในอควอตีกา (Aguateca) หรือในกัวเตมาลาปัจจุบัน แต่การก่อสร้างกลับหยุดชะงัก เหลือทิ้งไว้เพียงวิหารที่สร้างเสร็จเพียงครึ่งเดียว ทั้งยังมีหลักฐานการสร้างรั้ว และป้อมปราการซึ่งบ่งชี้ว่าชาวเมืองอควอตีการับรู้ถึงภัยคุกคามจากภายนอก แต่ไม่กี่ปีต่อมาเมืองอควอตีกาก็ถูกทิ้งร้าง แสดงให้เห็นว่าเมืองอควอตีกาถูกบุกโจมตีอย่างรวดเร็วจากภัยคุกคามลึกลับ

นักวิชาการจำนวนมากได้เสนอทฤษฎีมากมายเพื่อไขปริศนาการล่มสลายของชนเผ่ามายา และต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การล่มสลายของชนเผ่ามายาไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดเพียงสาเหตุหนึ่ง หากแต่ว่ามีหลายปัจจัยที่ซับซ้อนร่วมกันจนนำไปสู่การล่มสลายของอารยธรรมมายาต่างหาก

ภาวะขัดสนและปัจจัยภายในอาณาจักร

การล่มสลายของชนเผ่ามายาสันนิษฐานว่าเกิดจากปัจจัยร่วมหลายประการ หนึ่งคือ จำนวนประชากรที่มากเกินไปในอาณาจักรมายาส่งผลให้เกิดการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นจำนวนมาก ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 9 จำนวนประชากรของชาวมายามีจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ติกัล หรือปัจจุบันคือกัวเตมาลา มีจำนวนของประชากรมากที่สุดถึง 50,000 คน นักวิชาการบางคนเชื่อว่าถึงแม้จะเพิ่มกำลังการผลิตและเกษตรกรรมแต่ก็ไม่สามารถรองรับการเติบโตของจำนวนประชากรได้ทั้งหมด

ในช่วงเวลาเดียวกันยังมีภัยแล้ง และการขาดแคลนน้ำเป็นระยะเวลานานในพื้นที่ราบลุ่มของอาณาจักรมายาจึงส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารและพืชผลทางการเกษตร จนอาจทำให้ประชากรบางส่วนต้องย้ายถิ่นฐานไปยังพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์กว่า หรือก่อกบฏภายในเพื่อต่อต้านชนชั้นปกครอง

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คือ การต่อสู้แย่งชิงอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อการแย่งชิงอำนาจซึ่งทำให้ถนนและเส้นทางการค้าถูกปิดกั้น ส่งผลให้การเคลื่อนย้ายทรัพยากรล่าช้าจนนำไปสู่การถดถอยทางเศรษฐกิจและการอพยพของประชากรจำนวนมาก ในศตวรรษที่ 9 มีหลักฐานจารึกสลักจำนวนมากที่แสดงถึงภาพผู้นำชนเผ่าที่มีการจับตัวเชลยศึกสงคราม โดยชื่อของผู้แพ้จะถูกสลักไว้ที่ต้นขาและเสื้อคลุมของเชลยดังกล่าว

แผ่นจารึกหินสลักภาพชะตากรรมของผู้แพ้สงคราม แสดงให้เห็นถึงภาพผู้นำเมือง Piedras Negras และเชลยสงครามจากเมือง Pomoná ในปี 792 ขุนนางหรือผู้ปกครองเมืองที่แพ้คุกเข่าอยู่เบื้องล่างผู้นำของเมืองที่ชนะ ร่วมกับเชลยศึกคนอื่นๆ ถูกสลักชื่อที่ต้นขาหรือแผ่นหลัง สันนิษฐานว่าประติมากรเป็นหนึ่งในเชลยศึกและถูกบังคับให้สลักภาพขึ้นเนื่องจากลักษณะของหินสลักมีความคล้ายคลึงกับรูปแบบของศิลปะเมือง Pomoná ภาพถ่าย ARCHIVO DIGITAL MUNAE. MINISTERIO DE CULTURA Y DEPORTES DE GUATEMALA (UPPER) AND LINDA SCHELE/CORTESIA ANCIENT AMERICAS AT LACMA (LOWER)

ความไม่สงบทางการเมือง

อีกราว 150 ปี ต่อมา อาณาจักรมายาทางเหนือของคาบสมุทรยูคาทานเป็นที่แรกที่จะประสบกับภาวะล่มสลาย โดยในช่วงศตวรรษที่ 10 เมืองอุซมัล (Uxmal) เป็นศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรมายา มีพระราชวังโอ่อ่า ลานแข่งเกมบอล และอารามนางชี นันเนอรี่ ควอแดรงเกิล (Nunnery Quandrangle) รวมถึงภาพแกะสลัก ภาพวาด และจารึกที่แสดงถึงภาพสงคราม นักรบ และนักโทษที่ถูกจับบูชายัญ แต่เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 11 เมืองอุซมัลกลับพบกับภาวะเสื่อมถอยเนื่องจากการการขยายอำนาจของเมืองข้างเคียงอย่างชิตเชนอิตซา (Chichen Itza) และในขณะเดียวกันจำนวนประชากรในฝั่งตะวันออกก็ลดลงจนถูกทิ้งร้างโดยสิ้นเชิง

ซากพระราชวังหลวง ณ เมืองอุกซ์มัลสร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 10 เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของสถาปัตยกรรมมายาโบราณ ภาพถ่ายโดย LEONID ANDRONOV/GETTY IMAGES

นักวิจัยจำนวนมากได้พยายามหาคำอธิบายที่ซับซ้อนมากขึ้นเพื่ออธิบายการล่มสลายของอาณาจักรมายา โดยมองข้ามปัจจัยทางภัยพิบัติต่างๆ สรุปได้ว่าการล่มสลายดังกล่าวหมายถึงการเสื่อมถอยของระบบการเมืองและเศรษฐกิจ รวมถึงการละทิ้งเมืองต่างๆ ทั่วพื้นที่ราบลุ่มทางตอนใต้ อีกทั้งหลายๆ เมืองในที่ราบลุ่มทางตอนเหลือก็ถูกทิ้งร้างในอีก 150 ปีต่อมาเช่นเดียวกัน

และแล้วอาณาจักรมายาก็ไม่อาจกลับมาเรืองอำนาจอย่างที่เคยเป็นได้อีก อย่างไรก็ตาม ลูกหลานของเหล่าชนชั้นสูง นักบวช นักรบ และเกษตรกรชาวมายายังคงอาศัยอยู่บนดินแดนเดิมของบรรพบุรุษและยังคงสืบสานวัฒนธรรมและดำรงชีวิตเช่นเดิม ทั้งการใช้ภาษาพื้นเมือง ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา การทำเกษตรกรรม การแต่งกายและเครื่องประดับแบบดั้งเดิมยังคงอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน การล่มสลายของอาณาจักรมายามิใช่จุดจบของอารยธรรมมายา แต่อารยธรรมมายาจะยังคงอยู่และเจริญรุ่งเรืองสืบไปพร้อมกับเหล่าลูกหลานของพวกเขานั่นเอง

โดย อาน่า การ์เซีย แบร์ริออส

แปล ภาวิดา จงจอหอ

โครงการสหกิจศึกษา กองบรรณาธิการนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม ชาวมายา ชนเผ่ามายา คือใคร? และเรื่องราวต้นกำเนิดของ อาณาจักรมายา

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.