ซุนดาแลนด์ ภูมิภาคในอดีตที่อาเซียนเคยเชื่อมโยงเป็นผืนแผ่นดินเดียว

ซุนดาแลนด์ เป็นคำเฉพาะหมายถึงภูมิภาคทางชีวภูมิศาสตร์ที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลเป็นส่วนใหญ่ ในช่วงที่มีระดับน้ำทะเลต่ำกว่าประวัติศาสตร์โลกของภูมิภาคอาเซียนเมื่อประมาณ 220 ล้านปีก่อน

ทั้งนี้ ซุนดาแลนด์ เกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกกลางมหาสมุทรแปซิฟิก โดยอนุทวีปฉานไทยได้เลื่อนมาชนกับอนุทวีปอินโดจีนจนกลายเป็นคาบสมุทรมลายูในปัจจุบัน และมีส่วนที่ทำให้อ่าวไทยมีทะเลความไม่ลึกมาก เนื่องจากเคยเป็นแผ่นดินที่เชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าหากัน

กล่าวโดยสรุปคือในช่วงเวลายุคน้ำแข็ง อ่าวไทยเคยเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินที่มีเส้นทางบกติดต่อกันในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเรียกกันว่า แผ่นดินซุนดา หรือ ซุนดาแลนด์ (Sundaland) หรือ ภูมิภาคซุนไดอิก

อาเซียนรวมเป็นหนึ่ง

แผ่นดินในภูมิภาคอาเซียนเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 2.6 ล้านปีที่แล้ว โดยจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุด (18,000–25,000 ปีก่อน) ยืนยันว่าหากน้ำทะเลลดลง โดยน้ำไปกองกันเป็นน้ำแข็งอยู่แถบขั้วโลกหรือพื้นที่ละติจูดสูง เช่น แคนาดา เกาะแก่งต่างๆ ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันจะมีเส้นทางเชื่อมโยงกันจนเป็นผืนดินเดียวกันทั้งหมด

ส่วนพื้นที่อ่าวไทยในตอนนั้นก็เป็นพื้นที่ราบเหมือนกับภาคกลางของไทยในตอนนี้ กลางอ่าวไทยก็เคยมีทะเลสาบเหมือนกับ โตนเลสาบ ของประเทศกัมพูชา แม่น้ำเจ้าพระยาไหลลงสู่ทะเลสาบนี้ และมีแม่น้ำไหลออกจากทะเลสาบไหลไปทางทิศตะวันออกลงสู่ทะเลจีนใต้ บางคนเรียกว่า แม่น้ำสยาม ทั้งหมดหายไป เนื่องจากปัจจุบันน้ำแข็งที่เคยกองอยู่แถบขั้วโลกบางส่วนละลายลงมหาสมุทรแล้วทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

ขอบเขตของ ซุนดาแลนด์

ซุนดาแลนด์ คือพื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สอดคล้องกับผืนดินขนาดใหญ่ในช่วงที่ระดับน้ำทะเลลดต่ำลงจะรวมตั้งแต่ ไทย บนแผ่นดินใหญ่ในเอเชียกินพื้นที่ไปจนถึง ฟิลิปปินส์

ส่วนขยายที่มีเสถียรภาพทางเปลือกโลกของไหล่ทวีปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กินพื้นที่ตั้งแต่คาบสมุทรมลายู หมู่เกาะบอร์เนียว ชวา สุมาตรา อ่าวไทยและบางส่วนของทะเลจีนใต้ รวมพื้นที่ประมาณ 1,800,000 กิโลเมตร หรือเชื่อม พม่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา ไทย มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ เป็นก้อนเดียวกัน ทว่าพื้นที่โล่งในซุนดาแลนด์ก็มีความผันผวนอย่างมากในช่วง 2 ล้านปีที่ผ่านมา จากการปรับขึ้นลงของนํ้าทะเลที่ไม่คงที่

แผ่นดินโบราณของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ซุนดาแลนด์ ได้ชื่อว่าเป็นแผ่นดินโบราณของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชีย โดยนักประวัติศาสตร์เชื่อว่ามีมนุษย์ที่มีอารยธรรมอาศัยอยู่ในพื้นที่อันกว้างขวางระดับทวีปยาวนาน ก่อนที่มนุษย์ในยุคนั้นจะกระจายตัวหนีน้ำทะเลขึ้นไปอยู่ในที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อน้ำแข็งละลายและระดับน้ำทะเลสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลาถึงหกพันปี

ในช่วงที่ระดับน้ำทะเลลดลง สะพานบกจะก่อตัวขึ้นระหว่างเกาะเหล่านี้ ช่วยให้พืชและสัตว์อพยพและกระจายตัวได้ ด้วยเหตุนี้ ระบบนิเวศและสายพันธุ์ที่พบในซุนดาแลนด์จึงมีความคล้ายคลึงกันอย่างชัดเจนเนื่องจากมีประวัติศาสตร์ร่วมกันและความเชื่อมโยงถึงกัน ปัจจุบันพื้นที่เหล่านี้เรียกว่า Sunda Shelf ซึ่งเป็นชื่อเรียกพื้นที่ทะเลน้ำตื้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ช่วงปลายของยุคน้ำแข็ง เฉลี่ยแล้วนํ้าทะเลในพื้นที่ ซุนดาแลนด์ เพิ่มขึ้นปีละ 1.66 เซนติเมตร ซึ่งนักโบราณคดีอาจค้นพบเมืองโบราณในบริเวณอ่าวไทยไปจนถึงทะเลชวาได้ เพราะในพื้นที่ทะเลญี่ปุ่นเองก็มีการค้นพบเมืองโบราณใต้ทะเลเช่นกัน ด้วยความที่พื้นที่ค่อนข้างใหญ่เมื่อรวมกันทำให้ ซุนดาแลนด์ สามารถเป็นทวีปเล็กๆ ในโลกได้เลย แต่จะต่างกับ ทวีปมู หรือ ทวีปแอตแลนติส ที่สาบสูญไปจากแนวคิดที่ว่า พื้นที่จอมอยู่ใต้มหาสมุทร

ทวีปที่ดูจะใกล้เคียงกับภูมิภาคซุนดาแลนด์น่าจะเป็น ทวีปไอซ์แลนเดีย ซึ่งมีแนวคิดว่า ประเทศไอซ์แลนด์ อาจเป็นยอดบนสุดของทวีปที่ยังคงโผล่พ้นน้ำ หลังเคยมีผืนแผ่นดินกว้างใหญ่กว่า 600,000 ตารางกิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างเกาะกรีนแลนด์และภูมิภาคสแกนดิเนเวีย ซึ่งได้จมลงใต้มหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือไปเมื่อ 10 ล้านปีก่อน

สำหรับอิทธิพลที่ส่งผลจากภูมิภาคซุนเดอร์แลนด์ที่เด่นชัดที่สุดคือการที่คนในภูมิภาคอาเซียนมีรูปร่าง ลักษณะ หน้าตา ที่คล้ายกันมายาวนานหลายร้อยปี โดยเฉพาะชาวไทย ชาวมาเลเซีย ชาวอินโดนีเซีย และ ชาวฟิลิปปินส์ แม้ว่าบางประเทศจะไม่ได้มีแผ่นดินเชื่อมต่อกัน เช่นเดียวกับ พืชพรรณ สัตว์ และสภาพแวดล้อม

อนึ่ง ซุนเดอร์แลนด์ เป็นแนวคิดที่ใช้ในการอภิปรายทางธรณีวิทยาและชีวภูมิศาสตร์ที่ค่อนข้างจำเพาะพอสมควร โดยพื้นที่คล้ายคลึงกันในทวีปอื่นๆ อาจไม่ได้ใช้คำนี้เรียกพื้นที่เหล่านั้นก็ได้

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ขอบคุณภาพจาก Southeast Asia Classic Map by www.natgeomaps.com

อ้างอิง

https://th.wikipedia.org/wiki/ซุนเดอร์แลนด์

https://www.gotoknow.org/posts/407555

อ่านเพิ่มเติม แอนโทรโพซีน การก้าวเข้าสู่ยุคที่กิจกรรมของมนุษย์ส่งผลต่อโลก

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.