แอนโทรโพซีน การก้าวเข้าสู่ยุคที่กิจกรรมของมนุษย์ส่งผลต่อโลก

แอนโทรโพซีน การก้าวเข้าสู่ยุคที่กิจกรรมของมนุษย์ส่งผลต่อโลก

แอนโทรโพซีน (Anthropocene) คือคำเรียกอย่างไม่เป็นทางการของการแบ่งช่วงเวลาตามหลักธรณีกาล (Goelogic time) ที่มนุษย์ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นจนสร้างอิทธิพล และผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อโลกใบนี้

ตามการแบ่งช่วงเวลาของประวัติศาสตร์โลก นักธรณีวิทยาถือว่า ปัจจุบันนี้เป็นสมัยโฮโลซีน (Holocence) ของยุคควอเทอร์นารี (Quaternary) ซึ่งเป็นช่วงประมาณ 12,000 ปีหลังยุคน้ำแข็ง โดยอารยะธรรมมนุษย์ได้เติบโตและพัฒนาขึ้นในช่วงเวลานี้ แต่ปัจจุบันมนุษย์ได้สร้างผลกระทบกับโลกอย่างเห็นได้ชัด จึงมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มได้นำเสนอว่า สมัยโฮโลซีนได้สิ้นสุดลงแล้ว และควรประกาศให้เป็นสมัย แอนโทรโพซีน

คำว่า “ธรณีกาล” ตามความหมายทางธรณีวิทยา แบ่งออกเป็น บรมยุค (Eon) มหายุค (Era) ยุค (Period) และสมัย (Epoch) ตามลำดับ โดยในแต่ละยุคสมัยทางธรณีวิทยานั้นจะแตกต่างกัน เช่น สิ่งมีชีวิตที่โดดเด่นในช่วงนั้น หรือสภาพภูมิอากาศ โดยส่วนใหญ่นักวิจัยจะใช้วิธีการวิเคราะห์ชั้นหิน เพื่อระบุช่วงเวลาทางธรณีกาล

แอนโทรโปซีน, แอนโธรพอซีน, ธรณีกาล, สมัยแอนโทรโพซีน, ธรณีวิทยา, ประวัติศาสตร์โลก,
                                                                            ภาพถ่าย Joseph Chan

แอนโทรโพซีนหมายความว่าอย่างไร

สมัยแอนโทรโพซีน ถือเป็นคำศัพท์ใหม่ที่ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการ โดยคำว่า anthropo- แปลว่ามนุษย์ และ –cence แปลว่าใหม่

สถาบันมานุษยวิทยาสิรินธรได้อธิบายถึงคำนี้ไว้ว่า แอนโทรโพซีนเป็นศัพท์ทางวิชาการที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในงานด้านวิทยาศาสตร์และมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ เป็นศัพท์ทางวิชาการที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในงานด้านวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์

โดยผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ได้ทิ้งร่องรอยไว้ในอากาศ น้ำ และตะกอนดินที่ทับถมกัน ซึ่งสามารถตรวจวัดได้ด้วยวิธีการทางธรณีวิทยา และวิทยาศาสตร์แขนงอื่น

ดังนั้น ในมุมของ “แอนโธรพอซีน” มนุษย์จึงมีบทบาทเป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา และนิเวศวิทยา ที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นจนเกินกว่าระบบของโลก (Earth System) จะรักษาสมดุลไว้ได้ และผันผวนไปจากเดิมเพื่อหาสมดุลใหม่ตามระบบของโลกเอง

โดยกลายเป็นผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ดังนั้น หากแปลตามนัยยะที่แฝงอยู่ “Anthropocene epoch” จึงแปลได้ว่า “สมัยมนุษย์ผันผวนโลก”

แอนโทรโปซีน, แอนโธรพอซีน, ธรณีกาล, สมัยแอนโทรโพซีน, ธรณีวิทยา, ประวัติศาสตร์โลก,
                                                             ภาพถ่าย  Antoine GIRET

กิจกรรมของมนุษย์ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกจนเลยจุดที่จะหวนกลับ

นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของโลก ได้นำเสนอหลักฐานเชิงประจักษ์หลายประการ ที่มนุษยชาติได้ทิ้งร่องรอยไว้ในระบบนิเวศต่างๆ บนโลก เช่น การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ การเกิดมลพิษทางทะเลจากอนุภาคพลาสติก การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลในชั้นบรรยากาศ และการรบกวนวัฏจักรไนโตรเจนด้วยการใช้ปุ๋ยในกิจกรรมทางการเกษตร

โดยนักวิชาการที่นำเสนอประเด็นดังกล่าวไม่สามารถระบุเวลาที่ชัดเจนของการเริ่มต้นสมัยแอนโทรโพซีนได้ ส่วนมากให้ความเห็นตรงกันว่า อาจเริ่มต้นในช่วงปี 1800 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์เข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมของทวีปยุโรป

แอนโธรพอซีน, ธรณีกาล, สมัยแอนโทรโพซีน, ธรณีวิทยา, ประวัติศาสตร์โลก
ภาพถ่าย  Robin Sommer 

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางกลุ่มก็มีความเห็นแย้งว่า โลกของเราเข้าสู่สมัยแอนโทรโพซีนในช่วงเวลาอื่นๆ เช่น ช่วงต้นของการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ ช่วงปฏิวัติสีเขียว นอกจากนี้ยังมีนักเคมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องชั้นบรรยากาศ และเจ้าของรางวัลโนเบล พอล ครุตเซน ได้กล่าวถึงช่วงปลายปี 1950 ว่า ช่วงนี้เป็น “การเร่งครั้งใหญ่”

เขาได้นำเสนอข้อมูลทางสถิติหลายชุดที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลานั้น เช่น จำนวนประชากรของมนุษย์ และการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน เป็นต้น โดยเขานำหลักฐานสภาวะชั้นบรรยากาศมาเปรียบเทียบ และได้กล่าวว่า โลกของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบทางเคมีของชั้นบรรยากาศขั้นรุนแรงจนถือได้ว่าเข้าสู่สมัยแอนโทรโพซีน

นับตั้งแต่ปี 2000 คำว่าแอนโทรโพซีนตามนิยามของพอล ครุตเซน จึงได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่นักวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งปี 2009 ได้เกิดการก่อตั้งกลุ่ม Anthropocene Working Group เพื่อวิจัยและค้นหาหลักฐานที่เป็นตัวชี้วัดการเกิดสมัยใหม่ และได้นำเสนอแนวคิดดังกล่าวให้กับคณะกรรมการลำดับชั้นหิน (Commission on Stratigraphy) เพื่อพิจารณาการประกาศให้โลกปัจจุบันก้าวเข้าสู่สมัยแอนโทรโพซีนอย่างเป็นทางการ

แอนโทรโพซีน, แอนโทรโปซีน, แอนโธรพอซีน, ธรณีกาล, สมัยแอนโทรโพซีน, ธรณีวิทยา, ประวัติศาสตร์โลก

ภาพถ่าย Dave Herring

แต่ด้วยหลักการทางธรณีวิทยา หลักฐานที่เป็นตัวบ่งชี้อย่างชัดเจนยังคงต้องพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม อย่างหลักฐานของชั้นดินที่เห็นการเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากการกระทำของมนุษย์ได้อย่างแน่ชัด ในขณะที่ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์พบเพียงหลักฐานที่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น เช่น ชั้นดิน และชั้นตะกอนใต้ทะเล จึงทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มยังไม่เก็นด้วยกับการประกาศเข้าสู่สมัยใหม่

ปัจจุบัน คำว่าแอนโทรโพซีนถูกยกระดับขึ้นไปอยู่เหนือประเด็นว่า โลกของเราจะเข้าสู่สมัยแอนโทรโพซีน หรือไม่ แต่กลายเป็น “กรอบแนวคิดแอนโทรโพ” (Anthropocene concept) นั่นคือ จาก “สมัยทางธรณีวิทยา” (geologic epoch) ให้กลายเป็น “กรอบแนวคิดประยุกต์” (applied concept) สำหรับทุกศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของโลก ด้วยการประยุกต์ใช้เชิงระบบและติดตามตรวจสอบเชิงบูรณาการข้ามศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีผลต่อระบบนิเวศทั้งระบบ

นับตั้งแต่เผ่าพันธุ์มนุษย์ได้วิวัฒน์ผ่านกาลเวลาบนโลกใบนี้มาจนถึงปัจจุบัน ระบบนิเวศของโลกไม่เคยตกอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในสมัยนี้ ที่ผ่านมา มนุษย์ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำความเข้าใจผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมของพวกเรา ในขณะที่ปัจจุบัน สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิต และสภาพแวดล้อมบนโลก กำลังชี้ให้เราเห็นว่า มนุษย์ได้ทำอะไรกับโลกไปแล้วบ้าง

สืบค้นและเรียบเรียง ณภัทรดนัย

ภาพถ่าย Joseph Chan

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.nsm.or.th/nsm/th/node/5875
https://www.nhm.ac.uk/discover/what-is-the-anthropocene.html
https://education.nationalgeographic.org/resource/anthropocene/
https://www.smithsonianmag.com/science-nature/what-is-the-anthropocene-and-are-we-in-it-164801414/

อ่านเพิ่มเติม กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม กำลังอ่อนกำลังลง

Recommend