วันที่ 31 สิงหาคมเป็นวันครบรอบ 135 ปีที่ แจ๊ค เดอะ ริปเปอร์ (Jack the Ripper) ฆาตกรต่อเนื่องที่ผู้คนคาดเดาไปต่าง ๆ นา ๆ ว่าเป็นศัลยแพทย์ คนเสียสติที่คุ้มคลั่ง คนขายเนื้อ เจ้าชาย ศิลปิน หรือแม้แต่ปีศาจร้าย เริ่มลงมือฆาตกรรมเหยื่อรายแรกในลอนดอน ในศตวรรษต่อ ๆ มาคดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่ฆาตกรผู้นี้ก่อได้กลายเป็นเรื่องราวที่ถูกนำไปศึกษาตีความในแง่มุมที่หลากหลาย และกลายเป็นเงามืดที่ยึดโยงความหวาดกลัวและพฤติกรรมอันเลวร้ายของมนุษย์เข้าด้วยกัน
แต่สำหรับผู้หญิงเคราะห์ร้ายทั้ง 5 คนที่ตกเป็นเหยื่อ แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ไม่ใช่ปีศาจในเรื่องเล่าอันโด่งดังหรือตัวละครจากนวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน เขาคือคนที่พรากชีวิตไปจากพวกเธออย่างเหี้ยมโหด ฮอลลีย์ รูเบนโฮลด์ (Hallie Rubenhold) นักประวัติศาสตร์ผู้เขียนหนังสือ เดอะไฟฟ์ (The Five) ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของเหยื่อทุกคนในเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องได้กล่าวย้ำว่า “แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ มีตัวตนจริงและเขาฆ่าคนจริง ๆ เขาไม่ใช่ผู้สร้างตำนาน”
หญิงอาภัพทั้งห้ามีชื่อว่า แมรี แอนน์ “พอลลี” นิโคลส์ (Mary Ann “Polly” Nichols) แอนนี แชปแมน (Annie Chapman) เอลิซาเบธ สไตรด์ (Elizabeth Stride) แคทเธอรีน เอ็ดโดส์ Catherine Eddowes และแมรี เจน เคลลี (Mary Jane Kelly) พวกเธอต่างก็มีความหวัง ความรัก มีเพื่อนฝูง และบางรายมีลูก ชีวิตที่แตกต่างกันของพวกเธอบอกเล่าเรื่องราวในศตวรรษที่ 19 ที่เกิดขึ้น ณ กรุงลอนดอน เมืองที่ผู้คนผลักให้พวกเธอกลายเป็นคนชายขอบและให้ความสนใจกับพวกเธอตอนที่จากโลกนี้ไปแล้วมากกว่าตอนที่ยังมีชีวิตอยู่
แม้เรื่องราวชีวิตของเหยื่อทั้งห้าจะไม่ได้เริ่มขึ้นในลอนดอน แต่จุดจบของพวกเธอทุกคนเกิดขึ้นในเขตไวต์แชปเปิล พื้นที่ชุมชนแออัดในแถบอีสต์เอนด์ (East End) หรือฝั่งตะวันออกของเมืองลอนดอน วอลเทอร์ เบแซนท์ (Walter Besant) ได้เขียนบรรยายเขตนี้ในหนังสือนิยายเรื่อง ออลซอตส์แอนด์คอนดิชันออฟเมน (All Sorts and Conditions of Men) ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อปี 1882 ว่า “คงไม่มีที่ใดในโลกที่ถูกหลงลืมและถูกปล่อยปะละเลยได้เท่ากับย่านที่ใหญ่ที่สุดในแถบตะวันออกของกรุงลอนดอน ยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่นี้ยังถูกละเลยโดยพลเมืองผู้อยู่อาศัยซึ่งยังไม่ทราบว่าสถานะของพวกเขาคือกลุ่มคนที่รัฐทอดทิ้ง”
พลเมืองที่ถูกทอดทิ้งในเขตไวต์แชปเปิลประกอบไปด้วยกลุ่มผู้อยู่อาศัยที่ยากจนที่สุดในย่าน ไม่ว่าจะเป็นบรรดาผู้อพยพ แรงงานหาเช้ากินค่ำ ครอบครัวต่าง ๆ ผู้หญิงตัวคนเดียว และเหล่าโจร ผู้อยู่อาศัยทั้งหมดที่กล่าวมานั้นต้องอาศัยร่วมกันอย่างแออัดในตึกแถว ชุมชน สถานสงเคราะห์อาชีพและที่พักพิงสำหรับผู้ยากไร้ ตามที่จูดิธ วาลโควิทซ์ (Judith Walkowitz) นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ของประเทศอังกฤษกล่าวไว้ “ในช่วงทศวรรษที่ 1880 ไวต์แชปเปิลคือเขตตัวอย่างที่ชัดเจนของปัญหาสังคมที่เกิดใน ‘เมืองชายขอบของลอนดอน’ หรือสถานที่ที่ความเลวร้ายของสังคมและความยากจนผสานเข้ากับแนวคิดของผู้คนในยุควิกตอเรีย
เขตไวต์แชปเปิลได้แปรเปลี่ยนเป็นสถานที่เกิดเหตุของฆาตกรรมสุดสยอง เมื่อร่างไร้วิญญาณที่เต็มไปด้วยแผลฉกรรจ์ของพอลลี นิโคลส์ถูกพบบนถนนมืดสลัวในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 31 สิงหาคม ปี 1888 เธอกลายเป็นเหยื่อรายแรกจากเหยื่อทั้งห้าที่ถูกฆ่าโดยแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ (The Canonical Five) หรือผู้หญิงกลุ่มสำคัญซึ่งถูกฆาตกรรมโดยมีความเกี่ยวข้องและเกิดขึ้นภายในเวลาไล่เลี่ยกัน
ในเดือนต่อมา ศพของผู้หญิงที่ถูกฆาตกรรมอีกสามร่างก็ถูกพบตามถนนต่าง ๆ ในแถบอีสต์เอนด์ โดยแต่ละศพถูกฆ่าในลักษณะที่คล้ายคลึงกันคือทุกร่างถูกเชือดคอ เกือบทุกร่างถูกผ่าท้องเพื่อเอาเครื่องในออกมาไว้นอกร่างกาย และบางร่างถูกตัดอวัยวะบางส่วนไป การฆาตกรรมครั้งที่ห้าเกิดในวันที่ 9 พฤศจิกายน เมื่อแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ลงมือฆ่าและชำแหละแมรี เจน เคลลีอย่างป่าเถื่อนจนสภาพศพของเธอเละเทะและแทบจะระบุตัวตนไม่ได้ว่าเป็นใคร
“เหตุฆาตกรรมในฤดูใบไม้ร่วง” หรือเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนในเขตไวต์แชปเปิลและผู้คนทั่วลอนดอนตื่นกลัว ยิ่งไปกว่านั้นการที่ตัวตนของฆาตกรต่อเนื่องยังเป็นปริศนาอยู่ยิ่งทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น
“เหตุฆาตกรรมในฤดูใบไม้ร่วง” หรือเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนในเขตไวต์แชปเปิลและผู้คนทั่วลอนดอนตื่นกลัว ยิ่งไปกว่านั้นการที่ตัวตนของฆาตกรต่อเนื่องยังเป็นปริศนาอยู่ยิ่งทำให้สถานการณ์ตึงเครียด ในส่วนของสื่อมวลชน ทุกสำนักพิมพ์ล้วนโหมกระพือข่าวเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมที่น่าสยดสยองที่สุดเท่าที่เคยพบ และมุ่งนำเสนอชีวิตของหญิงเคราะห์ร้ายทั้งห้าให้สาธารณชนได้รับรู้
แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่าผู้หญิงทั้งห้าคนที่ถูกฆ่าโดยแจ็ค เดอะ ริปเปอร์เกี่ยวข้องกันผ่านสาเหตุการตาย แต่ชีวิตของพวกเธอยังมีบางสิ่งที่คล้ายกัน ประการแรกคือพวกเธอทุกคนเป็นหนึ่งในประชากรกลุ่มเปราะบางของลอนดอนที่อาศัยอยู่ในชุมชนชายขอบของสังคมวิคตอเรีย และประการที่สองคือพวกเธอต่างก็ประทังชีวิตในแถบอีสต์เอนด์ด้วยการเข้า ๆ ออก ๆ งานที่สถานสงเคราะห์ ค่อย ๆ เก็บเงินค่าจ้างจากงานรายชั่วโมง และนำของส่วนตัวที่มีอยู่น้อยนิดไปจำนำเพื่อหาเงินมาเช่าเตียงในบ้านพักคืนต่อคืน หากมีวันไหนที่ไม่สามารถรวมเงินจากการทำงานต่าง ๆ ให้มากพอที่จะจ่ายค่าเช่าเตียงได้ คืนนั้นพวกเธอต้องนอนตามริมถนน
รูเบนโฮลด์กล่าวว่า “ไม่มีใครสนใจว่าผู้หญิงเหล่านี้เป็นใครด้วยซ้ำ ชีวิตของพวกเธอไม่มีทั้งความมั่นคงและความแน่นอน”
พอลลี นิโคลส์คุ้นเคยกับความไม่แน่นอนในชีวิตเป็นอย่างดี เธอเกิดในปี 1845 และเธอดำเนินชีวิตตามอุดมคติของหญิงสาวในยุควิคตอเรียโดยการแต่งงานตั้งแต่อายุ 18 ปี อย่างไรก็ดี หลังจากที่มีลูกมาแล้วห้าคน นิโคลส์กลับแยกทางกับสามีเพราะสงสัยว่าเขานอกใจเธอ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาสุราก็กลายเป็นสิ่งที่ทั้งพยุงและฉุดรั้งให้ชีวิตขอนิโคลส์ตกต่ำลงในช่วงปีท้าย ๆ ของเธอ
สุราก็เป็นสิ่งที่ผลักแอนนี แชปแมนให้ไกลจากชีวิตที่น่านับถือของเธอเช่นกัน แชปแมนเกิดในปี 1840 และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในลอนดอนและบาร์กเชอร์ เธอวางตำแหน่งแรงงานชนชั้นสูงให้ตนเองหลังแต่งงานกับจอห์น แชปแมนผู้ประกอบอาชีพคนขับรถม้าในปี 1869 ทว่าความชื่นชอบในการดื่มสุราและการสูญเสียลูกทำให้ชีวิตคู่ของเธอพังทลายลง ท้ายที่สุดแล้วชีวิตของเธอก็ลงเอยในอีสท์เอนด์
เอลิซาเบธ สไตรด์ เป็นผู้อพยพชาวสวีเดนเช่นเดียวกับพลเมืองอีกหลายพันคนที่อาศัยอยู่ในแถบอีสท์เอนด์ เธอเกิดในปี 1843 และเดินทางมาลอนดอนเมื่ออายุ 22 ปี หลังจากที่ย้ายมาอาศัยในเขตไวต์แชปเปิล เธอพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าไม่ว่าจะโดยการแต่งงานหรือการเป็นเจ้าของร้านกาแฟ
แคทเธอรีน เอ็ดโดส์ เกิดที่เมืองวุลเวอร์แฮมป์ตันในปี 1842 ก่อนจะย้ายไปอาศัยที่ลอนดอนตั้งแต่เด็กและสูญเสียผู้ปกครองทั้งสองเมื่ออายุ 15 ปี เธอใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับชายคนหนึ่งซึ่งเป็นพ่อของลูกของเธอ ก่อนจะถูกฆ่า เอ็ดโดส์เพิ่งจะกลับมาลอนดอนหลังเข้าร่วมการจับตั๊กแตนในเคนต์ พิธีกรรมที่ชนชั้นแรงงานในลอนดอนมักจะจัดขึ้นในช่วงฤดูร้อน
แมรี เจน เคลลี ผู้เสียชีวิตในวัย 25 ปีถือเป็นเหยื่อของแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ที่มีอายุน้อยที่สุดและมีเบื้องหลังชีวิตลึกลับที่สุด จากรายงานพบว่าเคลลีอ้างว่าก่อนที่จะปักหลักในลอนดอน เธอเคยอาศัยอยู่ที่ไอร์แลนด์และเวลส์มาก่อน เคลลี่เป็นหญิงสาวได้สัมผัสความหรูหราเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เหยื่อคนอื่นเอื้อมไม่ถึง นั่นคือเธอมีเงินมากพอที่จะเช่าห้องพร้อมกับเตียงได้ และต่อมาห้องของเคลลีก็ได้กลายเป็นสถานที่ที่ตัวเธอถูกฆาตกรรม
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อที่ส่งต่อกันมาอย่างยาวนานว่าเหยื่อทั้งห้าคนเป็นหญิงขายบริการนั้นยังคงเป็นเรื่องคลุมเครือดังที่รูเบนโฮลด์อธิบายไว้ในเดอะไฟฟ์ มีผู้หญิงเพียงสองคนคือสไตรด์และเคลลีที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับการขายบริการทางเพศ ข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเธอทั้งห้าถูกตราหน้าว่าเป็นโสเภณีนั้นเน้นย้ำถึงทัศนคติที่ผู้คนในสมัยนั้นมีต่อผู้หญิงไร้บ้านที่มีฐานะยากจน รูเบนโฮลด์กล่าวว่า “พวกเธอถูกบรรทัดฐานทางสังคมผลักให้กลายเป็นอื่น แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตเช่นเดียวกับพวกเธอก็ตาม”
ผู้หญิงเหล่านี้ถือเป็นมนุษย์ที่มีความเป็นบุคคลสูง ตามที่โรเบิร์ต ฮูม (Robert Hume) นักเขียนชีวประวัติเขียนไว้ในหนังสือของเขา บรรดาเพื่อนและเพื่อนบ้านของเหยื่อทั้งห้าได้บรรยายลักษณะของพวกเธอไว้ว่า “ขยันขันแข็ง ร่าเริง และเป็นคนดี” พวกเธอมีชีวิตเป็นของตัวเอง มีความสัมพันธ์ที่ดี และมีชีวิตอยู่จนกระทั่งค่ำคืนแสนโหดร้ายคืนในปี 1888 พรากทุกอย่างไปจากพวกเธอ
การค้นพบร่างของแอนนี แชปแมนในวันที่ 8 กันยายนสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนในลอนดอน เนื่องจากบาดแผลตามร่างกายของเธอสะท้อนให้เห็นความรุนแรงและโหดร้ายของฆาตกรที่ฆ่าพอลลี นิโคลส์เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ร่างของแชปแมนเป็นสิ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่สืบสวนตระหนักได้ว่ามีโอกาสที่ฆาตกรคนเดียวกันจะเป็นผู้ก่อเหตุฆาตกรรมที่เกิดขึ้นทั้งสองครั้ง และในขณะนั้นฆาตกรตัวจริงยังลอยนวลอยู่
ในช่วงท้ายเดือนกันยายน สำนักข่าวเซ็นทรัลนิวส์ในลอนดอนได้รับจดหมายที่เขียนด้วยหมึกสีแดงซึ่งอ้างว่าผู้เขียนคือฆาตกรที่ทุกคนตามหา และจดหมายฉบับนั้นลงชื่อไว้ว่า แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ หลังจากนั้นสำนักข่าวทุกแห่งในเมืองก็นำชื่อแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ไปเขียนข่าวและเริ่มใช้ชื่อดังกล่าวเรียกแทนตัวฆาตกรปริศนา รายงานเรื่องฆาตกรแห่งไวต์แชปเปิลของสื่อต่าง ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นจนกลายเป็นข่าวที่ทุกคนต่างจับตามมอง ข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ ถูกเขียนจากทั้งเรื่องจริงและเรื่องที่แต่งขึ้น บรรยายทุกรายละเอียดอันน่าสยดสยองของเหตุฆาตกรรม และกระตือรือร้นในการคาดเดารูปพรรณสัณฐานที่แท้จริงของแจ็ค เดอะ ริปเปอร์
แรงจูงใจในการหาตัวฆาตกรที่แท้จริงยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ เหล่านักสืบออนไลน์และเจ้าหน้าที่สืบสวนมืออาชีพต่างก็เสนอรายชื่อผู้ต้องสงสัยเป็นจำนวนมากซึ่งหนึ่งในนั้นประกอบไปด้วยศิลปินอย่างวอลเตอร์ ซิกเคิร์ต (Walter Sickert) นักเขียนอย่างลูอิส แคร์รอล (Lewis Carroll) นักเดินเรืออย่างคาร์ล ฟายเกินบอม (Carl Feigenbaum) และช่างตัดผมในอีสต์เอนด์อย่างอารอน โคสมินสกี (Aaron Kosminski)
รูเบนโฮลด์กล่าวว่า “ความหลงใหลในการเปิดโปงฆาตกรที่มีมาอย่างช้านานนั้นทำให้ความคิดที่ว่า ‘แจ็ค เดอะ ริปเปอร์เป็นเกม’ ไม่จางหายไป” เธอพบความคล้ายคลึงระหว่างการเล่นเกมของฆาตกรแห่งไวต์แชปเปิลและความหลงใหลในเหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจริงของผู้คนในยุคปัจจุบัน โดยเธออธิบายเสริมว่า “เมื่อเราทำความรู้จักกับเรื่องราวของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจริง เราจะมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเรื่องที่แต่งถูกขึ้นมา เหมือนกับว่าเหตุการณ์นั้น ๆ ไม่เคยเกิดขึ้นจริงกับผู้คน”
“คดีฆาตกรรมเช่นนี้ยังคงเกิดขึ้นจนถึงปัจจุปัน และเราก็ยังไม่สนใจเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเช่นเคย” รูเบนโฮลด์กล่าวอย่างเศร้าใจ
เหตุฆาตกรรมต่อเนื่องในเขตไวต์แชปเปิลยังคงเป็นคดีปริศนาหลังเวลาผ่านไปถึง 135 ปี และรูเบนโฮลด์ก็เชื่อว่ามันจะไม่มีวันถูกคลี่คลาย “เราจะไม่พบอะไรก็ตามที่สามารถระบุตัวตนของแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ได้อย่างแน่ชัด ในอีกทางหนึ่งสิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากเหตุการณ์นี้คือคุณค่าของสังคมในศตวรรษที่ 19 และ 21 ที่แตกต่างกัน”
แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ