ตำนาน “ทหารหยุดรบ” เตะบอลกับศัตรู “วันคริสต์มาส” ในสงครามโลกครั้งที่ 1

ไขข้อข้องใจ เกิดอะไรขึ้นในระหว่างการพักรบคริสต์มาส

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1914 สถานการณ์ของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ณ แนวรบด้านตะวันตกของยุโรปสงบลงชั่วคราว เบื้องหลังของสันติภาพที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสของทหารฝ่ายพันธมิตรและฝ่ายมหาอำนาจกลาง เหล่าทหารที่ประจำการอยู่ในแนวหน้าต่างก็ออกมาตกแต่งสนามเพลาะ แลกเปลี่ยนของขวัญ และยิ่งไปกว่านั้น ทั้งสองฝ่ายได้จับกลุ่มเล่นฟุตบอลด้วยกัน

เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มปะทุขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1914 ชาวยุโรปต่างก็คิดว่าการสู้รบจะยุติลงภายในวันคริสต์มาส ทว่าสิ่งที่พวกเขาหวังกลับไม่เป็นจริง เพราะในเกือบหกเดือนต่อมา ทหารหลายแสนนายที่ประจำการอยู่ตามแนวรบด้านตะวันตกต้องฉลองวันหยุดประจำเดือนธันวาคมเท่าที่พอจะทำได้ ท่ามกลางอากาศอันหนาวเหน็บในแนวสนามเพลาะ

ในช่วงเดือนแรก ๆ ของสงครามโลกครั้งที่ 1 ทหารเยอรมันได้นำต้นสนออกมาตกแต่งตามสนามเพลาะของพวกเขา ภาพจาก PICTORIAL PRESS LTD/ALAMY

การเฉลิมฉลองช่วงวันคริสต์มาส

ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ทั่วยุโรปมีการเชิญชวนให้ผู้คนรวบรวมของขวัญต่าง ๆ เพื่อส่งไปให้ทหารที่ประจำการอยู่แนวหน้า ทหารอังกฤษได้รับกล่องทองเหลืองสลักรูปเจ้าหญิงแมรีซึ่งภายในมีช็อกโกแลต ยาสูบ และข้อความจากพระเจ้าจอร์จที่ 5 และพระราชินีแมรีที่เขียนว่า “ขอให้พระเจ้าคุ้มครองคุณและพาคุณกลับบ้านอย่างปลอดภัย” ส่วนกองกำลังเยอรมันได้รับของขวัญจากพระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 เป็นไปบ์และบุหรี่

นอกจากนี้ ไม่กี่วันก่อนคริสต์มาสมาถึง แรมง ปวงกาเร (Raymond Poincaré) นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสได้เข้าเยี่ยมชมคลังเก็บสินค้าในปารีส ซึ่งเป็นที่เก็บรวบรวมของขวัญที่จะถูกส่งไปให้ทหารฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1914 Le Temps หนังสือพิมพ์รายวันของฝรั่งเศสได้รายงานว่า “พัสดุจำนวนมากพร้อมไวน์ 1,200 ขวดที่ผู้ผลิตไวน์มอบให้ พร้อมจะส่งไปยังด่านหน้าแล้ว”

แรมง ปวงกาเร (Raymond Poincaré) นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสเข้าเยี่ยมชมคลังเก็บสินค้าในปารีส ภาพจาก ROGER VIOLLET /AURIMAGES

สุขสันต์วันคริสต์มาสเล็ก ๆ

บุคลากรในโรงพยาบาลเองก็ไม่ลืมจะจัดงานฉลองเล็ก ๆ ให้ผู้บาดเจ็บในวันคริสต์มาส แมรี เด็กซ์เตอร์ (Mary Dexter) อาสาสมัครชาวอเมริกันที่ทำงานกับสภากาชาดอังกฤษ ได้เขียนจดหมายที่บรรยายถึงรายละเอียดในการเตรียมงานฉลองดังกล่าวไว้ว่า “วันมะรืนนี้คือวันคริสต์มาส ในเวลาว่างที่พอจะมี พวกเรายุ่งไปกับการเตรียมถุงเท้าที่ทำจากผ้าก๊อซให้คนไข้ชาย 200 คนของเรา แต่ละถุงจะใส่ผลไม้ แยม และยาสูบไว้” ด้านโรงพยาบาลในกรุงเบอร์ลิน พยาบาลได้ทำการตกแต่งสถานที่ทำงานด้วยต้นคริสต์มาสเล็ก ๆ และเดินแจกจ่ายขนมให้กับคนไข้

ลูอี จอห์นสัน (Louie Johnson) พยาบาลชาวอังกฤษ จำได้ว่าในช่วงนั้นมีคนส่งของขวัญง่าย ๆ อย่างเช่น บุหรี่ หรือผ้าพันคอมาให้เธอ เพื่อให้นำไปแจกจ่ายต่อให้กับเหล่าทหาร ส่วนอันนา ฟอน มิลเดนบวร์ก (Anna von Mildenburg) พยาบาลชาวเยอรมันกล่าวถึงวันคริสต์มาสใน ค.ศ. 1914 ไว้ว่า “ภาพลักษณ์นี้จะติดตัวพวกเราตลอดไป ภาพที่เรายืนอยู่รอบ ๆ เหล่าทหารและกุมมือไว้ด้วยความมุ่งมัน พวกเราค่อย ๆ ขับขานบทเพลงประจำเทศกาลท่ามกลางเปลวเทียนริบหรี่บนต้นคริสต์มาส ของตกแต่งบนต้นที่ส่องประกายระยิบระยับและกลิ่นของต้นสน แทนการอธิษฐานอย่างแรงกล้า แทนคำวิงวอนจากใจจริง เพื่อขอให้สันติสุขจงมีแก่มวลมนุษย์บนโลก”

พยาบาลแจกจ่ายขนมให้กับคนไข้ และตกแต่งต้นคริสมาสเล็ก ๆ ภายในโรงพยาบาลเบอร์ลิน ภาพจาก ALAMY/CORDON PRESS

สันติในวันคริสต์มาส

การพักรบชั่วคราวที่แนวรบด้านตะวันตก โดยเฉพาะการพักรบระหว่างกองกำลังเยอรมันและอังกฤษ ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่โด่งดังที่สุดที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม ปี 1914 ในวันคริสต์มาสอีฟ ทหารเยอรมันที่ประจำการอยู่ในบางพื้นที่ได้นำต้นสนมาตกแต่งตามสนามเพลาะและร้องเพลงเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลนี้ เมื่อเสียงเพลงลอยตามลมที่พัดผ่านบริเวณพื้นที่ไร้การครอบครอง (No man’s land) ระหว่างแนวรบไป เสียงร้องเพลงวันคริสต์มาสของทหารอังกฤษก็เริ่มดังขึ้นจนทหารฝ่ายเยอรมันได้ยินเช่นกัน เช้าวันต่อมา ทหารทั้งสองฝ่ายจึงได้ใช้เวลาในวันหยุดร่วมกันนอกสนามเพลาะ ได้พูดคุยทักทาย ตลอดจนนำเหล้ารัมและบุหรี่มามอบให้กันเป็นของขวัญ

ทหารในกองพลน้อยอาวุธเบาลอนดอน (London Rifle Brigade) สูบบุหรี่ในขณะที่พบกับทหารแซกซอน ภาพจาก POPPERFOTO/GETTY
นายทหารชั้นประทวนชาวอังกฤษโชว์หมวกเหล็กที่ได้รับมาจากทหารชาวเยอรมันให้กล้องเห็น ภาพจาก MARY EVANS/AGE FOTOSTOCK

การสร้างความรื่นเริงในวันคริสต์มาส

บางครั้ง เรื่องราวในระหว่างการพักรบที่ชุบชูจิตใจได้มากที่สุดอย่างการเล่นฟุตบอลในวันคริสต์มาสของทหารทั้งสองฝ่ายก็อาจจะเป็นเรื่องราวที่บันทึกไว้ได้ยากที่สุด ข้อมูลส่วนใหญ่เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้มาจากหลักฐานชั้นรอง เช่น หนังสือพิมพ์ และจดหมายที่ถูกเขียนขึ้นในยุคนั้น แต่กลับแทบจะไม่มีข้อมูลที่เป็นหลักฐานชั้นต้นจากผู้ที่รับชมหรือผู้ที่ลงเล่นฟุตบอลในช่วงนั้นอยู่เลย

การเล่นฟุตบอลร่วมกันของทหารทั้งสองฝ่ายครั้งที่พิสูจน์ได้ว่าเกิดขึ้นจริงนั้น ถูกวิเคราะห์โดยใช้จดหมายลายมือของสิบโทอัลเบิร์ต ไวแอตต์ (Albert Wyatt) และจ่าสิบเอกแฟรงก์ นาเดน (Frank Naden) ที่เขียนบอกเล่าถึงการเล่นฟุตบอลในเมืองวูลเวอเกม (Wulverghem) ประเทศเบลเยียมเป็นสิ่งยืนยัน นอกจากนี้ หลักฐานจากสิบโทไวแอตต์ยังถูกนำไปตีพิมพ์ในบทความของหนังสือพิมพ์ Thetford Times ซึ่งบรรยายเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ไว้ว่า มีการเตะฟุตบอลในบริเวณพื้นที่ไร้การครอบครองระหว่างสนามเพลาะของทั้งสองฝ่าย

ภาพจาก TAFF GILLINGHAM

เมื่อนำหลักฐานอื่น ๆ ที่พบมาวิเคราะห์โดยใช้กระบวนการเดียวกัน นักวิชาการก็พบว่าเหตุการณ์อีกหนึ่งครั้งที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์คือ การเล่นฟุตบอลที่ชุมชนเฟรอแล็งเกียง (Frélinghien) ประเทศฝรั่งเศส แม้ว่าการเล่นกีฬาคลายเครียดในช่วงพักรบชั่วคราวจะเป็นเพียงเกมเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นจริงน้อยกว่าที่ผู้คนเชื่อ แต่เหตุการณ์ที่น่าจดจำนี้ก็ยังได้รับการรำลึกถึงในวันครบรอบ 100 ปีของการพักรบคริสต์มาสเมื่อ ค.ศ. 2014 ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการสร้างอนุสาวรีย์รูปปั้นทหารจับมือก่อนเล่นฟุตบอลที่มีชื่อว่า All Together Now ไว้ที่เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ และมีการสร้างอนุสาวรีย์รูปลูกฟุตบอลบนซากกระบอกปืนใหญ่ไว้ที่เมืองแซ็งอีวง (Saint Yvon) ประเทศเบลเยียมเพื่อเป็นเกียรติแก่การเล่นฟุตบอลกระชับมิตรที่เกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1

ภาพประกอบของการเล่นฟุตบอลของทหารในวันคริสต์มาสเมื่อปี 1914 ภาพจาก BRIDGEMAN/ACI

วันคริสต์มาสที่ยังมาไม่ถึง

การพักรบคริสต์มาสในปี 1914 เกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ เพราะต่อมาไม่นานนัก การปะทะกันระหว่างสองขั้วมหาอำนาจก็เริ่มปะทุขึ้นตามแนวรบด้านตะวันตก แม้ว่าการรายงานข่าวเกี่ยวกับการพักรบในช่วงวันหยุดเทศกาลบนหน้าหนังสือพิมพ์จะดึงดูดใจประชาชนที่ไม่ได้ไปร่วมรบในสนาม แต่ในอีกด้านหนึ่ง ข่าวนี้กลับทำให้บรรดาผู้บัญชาการทหารรู้สึกหวาดกลัวและกังวลใจ ในวันคริสต์มาสสามครั้งต่อจากปีนั้น ผู้บัญชาการได้ออกคำสั่งป้องกันไม่ให้ทหารฝ่ายของตนสร้างปฏิสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง หรือผูกมิตรกับกองกำลังของฝ่ายตรงข้ามอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากความป่าเถื่อนและความโหดร้ายของสงครามที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว คำสั่งเช่นนี้อาจกลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับเหล่าทหาร เดือนธันวาคม ค.ศ. 1914 เป็นช่วงที่สงครามเพิ่งจะเริ่ม แต่เมื่อการสู้รบยืดเยื้อต่อไปเรื่อย ๆ ทหารที่ได้รับบาดแผลจากการต่อสู้มาหลายต่อหลายปีในสนามเพลาะที่น่าหวาดกลัวก็จะแข็งแกร่งขึ้นและมีทัศนคติต่อการ “แลกของขวัญ” ที่แตกต่างไปจากเดิม

ทหารปืนใหญ่ของแคนาดาบรรจุกระสุนปืนที่มีข้อความว่า “คริสต์มาสนี้มีระเบิด (A busting time this Christmas) 1916” ภาพจาก HERITAGE/ALBUM

เรื่อง กองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก
แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม ภาพจริงจาก ‘สงครามสนามเพลาะ’ ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อยอดหนัง All Quiet on the Western Front

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.