สมรภูมิ วอเตอร์ลู – เมื่อคราต้นศตวรรษที่ 1800 จักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต แห่งจักรวรรดิฝรั่งเศส ได้ทรงนำมหากองทัพ (The Grand Army) ของพระองค์ยาตราไปทั่วทั้งยุโรป ยังผลให้ดินแดนมากมายบนทวีปแห่งนี้ต้องตกอยู่ใต้อาณัติ ทั้งยังทำให้การครองอำนาจทางทะเลของสหราชอาณาจักรต้องถูกท้าทาย ในช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษ ตั้งแต่ปี 1804 ถึง 1814 ที่พระองค์ทรงครองอำนาจ ทั้งสหราชอาณาจักร, ปรัสเซีย, ออสเตรีย, และรัสเซีย ต่างก็เข้าทำสงครามกับฝรั่งเศสเพื่อหยุดยั้งองค์จักรพรรดิผู้ดุดัน และในท้ายที่สุด ดูเหมือนว่าสงครามนโปเลียน (the Napoleonic Wars) นี้จะจบลงด้วยชัยชนะของพวกเขา เมื่อกองทัพสหพันธมิตรที่หก (The Sixth Coalition) สามารถเข้ายึดกรุงปารีสได้สำเร็จ อันนำมาซึ่งการคืนสู่อำนาจของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบแปด (Louis XVIII) แห่งราชวงศ์บูร์บง (Bourbon) และการสละอำนาจและการขับไล่ไปยังเกาะเอลบา (Elba) โดยจำใจของนโปเลียนในเดือนเมษายน 1814
กระนั้น ในเวลาเพียงชั่วครู่หลังชัยชนะอันต้องแลกมาด้วยศึกสงครามอันยาวนานและแสนนองเลือด ยุโรปก็กลับต้องถูกปกคลุมใต้ความตื่นตระหนกและความหวาดหวั่นขวัญผวาอีกครั้ง เมื่อในเดือนกุมภาพันธ์ 1815 หรือเพียงสิบเดือนให้หลัง นโปเลียนผู้ฮึกเหิมและกล้าบ้าบิ่นก็กลับล่องเรือหนีกลับมายังฝรั่งเศส และทรงขึ้นครองอำนาจอีกครั้ง อันเป็นการกลับมาที่ทำให้ผู้คนมากมายต้องเกรงกลัวถึงการเริ่มต้นการแผ่สยายอำนาจของฝรั่งเศสและสงครามครั้งใหม่
เพราะสาเหตุดังกล่าวและการเริ่มระดมพลของนโปเลียนในอีกไม่กี่เดือนให้หลังนี้เอง ที่ทำให้สหราชอาณาจักร, ปรัสเซีย, ออสเตรีย, และรัสเซีย ต้องเร่งรีบรวมกำลังกันใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเผชิญหน้าครั้งสุดท้ายที่จะกำหนดจะตาของยุโรปซึ่งกำลังจะมาถึง โดยผู้นำของกองทัพพันธมิตรทั้งสี่ชาติในครานี้ก็มิใช่ใครอื่น นอกจาก จอมพลอาเธอร์ เวลสลีย์ ดยุคแห่งเวลลิงตัน (Arthur Wellesley, 1st Duke of Wellington) แม่ทัพยอดฝีมือแห่งสหราชอาณาจักร หนึ่งในคู่ปรับที่เก่งกาจที่สุดขององค์จักรพรรดิ ผู้เคยกำชัยชนะครั้งสำคัญเหนือพระองค์มาแล้ว
นโปเลียน โบนาปาร์ต ผู้ถือกำเนิดบนเกาะคอร์สิกาในปี 1769 มีทั้งสติปัญญาอันร้ายกาจและความทะเยอทะยานอันลุกโชน อันเป็นคุณสมบัติที่ทำให้ทหารหนุ่มผู้สนับสนุนอุดมคติหัวรุนแรงของการปฏิวัติฝรั่งเศสผู้นี้ก้าวหน้าในยศตำแหน่งอย่างรวดเร็ว และการเสนอยุทธศาสตร์อันดุดันโดยการโจมตีอาณาเขตของสหราชอาณาจักรตามเส้นทางสู่อินเดีย ก็ทำให้นโปเลียนก็ได้รับหน้าที่นำกองทัพฝรั่งเศสเข้ารุกรานอียิปต์ในปี 1798
แต่แล้ว หลังเขาเดินทางกลับถึงฝรั่งเศส นายทหารยอดอัจฉริยะผู้นี้ก็กลับเข้าร่วมการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลเก่าและได้ดำรงตำแหน่งกงศุลที่หนึ่ง (first consul)— อันเป็นตำแหน่งสูงสุดในรัฐบาลของสาธารณรัฐฝรั่งเศส— ในเดือนกุมภาพันธ์ 1800 ก่อนจะนำกองทัพฝรั่งเศสเข้ากุมชัยชนะเหนือออสเตรียในปีเดียวกัน แต่แล้ว ในปี 1804 นายทหารจอมทะเยอทะยานผู้นี้ ก็กลับละทิ้งอุดมคติที่ตนเองเคยโอบรับครั้งยังเป็นทหารหนุ่ม และเถลิงอำนาจสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส
แม้ความปราชัยในยุทธนาวีที่ทราฟัลการ์ (Battle of Trafalgar) ในปี 1805 จะทำให้ความหวังครั้งใหม่ต่อการทำลายอำนาจทางทะเลของสหราชอาณาจักรและการรุกรานประเทศแห่งนี้ของนโปเลียนต้องดับลง แต่พระองค์ก็กลับทรงประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลในการแผ่ขยายอำนาจบนแผ่นดินใหญ่ของยุโรป ด้วยการยาตรามหากองทัพ (Grand Army) แห่งจักรวรรดิเข้ายึดครองดินแดนซึ่งประกอบเป็นเยอรมนีและโปแลนด์ในปัจจุบัน ส่วนในยุโรปตะวันตก องค์จักรพรรดิก็ทรงปิดกั้นการค้าของสหราชอาณาจักร โดยการนำทัพเข้ารุกรานและยึดครองโปรดุเกสซึ่งเป็นพันธมิตรทางการค้า และการรุกรานครั้งนี้ก็ยังส่งผลให้ฝรั่งเศสสามารถยึดครองดินแดนส่วนมากของสเปนมาเป็นของตน
และเป็นคาบสมุทรไอบีเรียแห่งนี้เช่นกันที่ อาร์เธอร์ เวลสลีย์ (Arthur Wellesley) — ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์เป็นดยุคแห่งเวลลิงตัน (Duke of Wellington) ในกาลต่อมา — จะได้กำชัยเหนือนโปเลียนเป็นครั้งแรก หลังจากนายพลผู้สร้างผลงานมากมายในอินเดียผู้นี้ (ในขณะนั้น เวลสลีย์ยังคงมียศเป็นนายพล) ถูกส่งมาประจำการที่โปรตุเกสในปี 1809 เพื่อช่วยเหลือนักรบกองโจรในการทำสงครามต่อต้านกองทัพฝรั่งเศส แม้เขาจะต้องพบกับความล้มเหลวในช่วงแรก แต่ความอดทนและฝืมือของเขาก็ทำให้เวลส์ลีย์ได้ชัยในท้ายที่สุด ยังผลให้นโปเลียนต้องถอนกำลังจากประเทศแห่งนี้ในปี 1811 และในปี 1813 ดยุกเหล็กผู้นี้ก็สามารถกุมชัยชนะขั้นเด็ดขาดในสเปนได้อีกมากมายหลายครั้ง อันเป็นการสร้างความเสียหายรุนแรงต่อแผนการครองอำนาจเหนือยุโรปโดยเบ็ดเสร็จขององค์จักรพรรดิฝรั่งเศส
ความปราชัยในคาบสมุทรไอบีเรียในครั้งนี้ ยิ่งเป็นการซ้ำเติมจักรวรรดิฝรั่งเศสซึ่งกำลังอ่อนแอลงและต้องกลับกลายมาเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เนื่องเพราะความพยายามรุกรานรัสเซียในปี 1812 นั้นกลับต้องต้องจบลงด้วยความล้มเหลวอย่างพินาศสาหัสและการสูญเสียไพร่พลเป็นมหาศาล ยังผลให้บรรดาทัพของชาติต่างๆ ในสหพันธมิตรที่หก (the Sixth Coalition) ประสบโอกาสเปิดฉากรุกรานฝรั่งเศสจากทุกทิศทาง และสามารถบุกเข้าสู่ปารีสได้โดยสำเร็จเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 1814 ความปราชัยย่อยยับในครั้งนี้ ทำให้นโปเลียนทรงต้องจำยอมสละอำนาจและยอมถูกเนรเทศไปยังเกาะเอลบาในเดือนต่อมา
กระนั้น อดีตจักรพรรดิผู้นี้ก็มิได้มีสถานะดังเช่นผู้ถูกจองจำสักเท่าใดนัก กลับกัน นอกเหนือไปจากการคุ้มครองจากองครักษ์ติดอาวุธนายหนึ่งแล้ว นโปเลียนก็กลับยังได้ครอบครองสิทธิอธิปไตยเหนือเกาะแห่งนี้อีกด้วย กระนั้น ความทะเยอทะยานอันลุกโชนและไม่เคยมอดดับของแม่ทัพยอดอัจฉริยะผู้นี้ ก็ย่อมทำให้เขาไม่ยอมละทิ้งความทะยานอยากต่ออำนาจ และในที่สุด ข่าวกรองจากแผ่นดินใหญ่ ซึ่งอดีตจักรพรรดิผู้ถูกอัปเปหิได้รับอย่างไม่ขาดสาย ก็ช่วยให้เขาสามารถวางแผนหลบหนีและหวนคืนสู่ฝรั่งเศสได้ภายในเวลาเพียงเกือบหนึ่งปีเท่านั้น
เมื่อนโปเลียนเดินทางมาถึงปารีสเมื่อวันที่ 20 มีนาคม อดีตจักรพรรดิผู้นี้ก็ได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลามจากหมู่มวลชน แต่เเม้ว่าพระองค์จะป่าวประกาศว่าตัวพระองค์นั้นต้องการสันติภาพ สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, ปรัสเซีย, และรัสเซีย ซึ่งคลางแคลงใจถึงจุดประสงค์ของนโปเลียน ก็กลับร่วมลงนามประกาศสงครามต่อพระองค์
เหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งดำเนินไปอย่างรวดเร็วนั้นยังผลให้นโปเลียนทรงมีเวลาเตรียมพร้อมเพียงน้อยนิด โดยในยามที่บรรดากองทัพของฝ่ายสหสัมพันธมิตรได้เริ่มการชุมนุมกำลังพลจำนวนมหาศาลตามแนวชายแดนภาคเหนือของฝรั่งเศส พระประสงค์ในการจัดตั้งกองกำลังอาสาเพื่อเสริมกำลังให้กองทัพประจำการ ก็กลับไม่ประสบผลสำเร็จ แต่อย่างไรเสีย แม้แต่ในยามที่มหากองทัพต้องตกอยู่ในสภาวะเลวร้ายเช่นนี้ เหล่านักรบผู้มากทั้งประสบการณ์และสัตยาบันต่อแม่ทัพของพวกเขา ก็ทำให้กองทัพซึ่งครั้งหนึ่งยาตราพิชิตยุโรปนี้ยังคงเป็นศัตรูอันน่าเกรงขาม
สำหรับการศึกที่กำลังมาถึงนี้ ฝ่ายสหพันธมิตรที่เจ็ด (Seventh Coalition) ได้จัดแบ่งกำลังพลของกองทัพทั้งห้า —ได้แก่สหราชอาณาจักร, เยอรมัน, เบลเยี่ยม, ดัตช์, และปรัสเซีย — ออกเป็นส่วนแยกต่างๆ (detachments) และวางตำแหน่งส่วนแยกเหล่านั้นไปตามแนวชายแดนระหว่างฝรั่งเศสและอาณาเขตของเยอรมนีในปัจจุบัน อันเป็นการจัดทัพตามแผนของเวลลิงตัน ผู้ตัดสินใจอดทนรอคอยให้ฝ่ายตรงข้ามเข้าโจมตีด้วยตนเองแทนการบังคับให้พวกเขาต้องตัดสินใจ
สำหรับนโปเลียน ความมั่นพระทัยที่พระองค์ทรงมีอย่างเปี่ยมล้น ก็ได้ทำให้พระองค์ทรงวางแผนถึงการกุมชัยชนะขั้นเด็ดขาดในสมรภูมิครานี้ แต่กระนั้นเอง จักรพรรดิผู้ไม่เคยละทิ้งความทะเยอทะยานองค์นี้ ก็กลับเพิกเฉยต่อคำแนะนำว่าพระองค์ควรทรงเลื่อนห้วงยามสำหรับการจับศึกครั้งนี้ออกไปก่อน และยาตราเสด็จออกจากปารีสไปเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน เพื่อไปรวมกำลังกับกองทัพฝรั่งเศสในเบลเยียม แต่นอกจากกองทัพฝรั่งเศสแล้ว ไพร่พลของเวลลิงตันและกองทัพปรัสเซียของจอมพลเกบฮาร์ด ฟอน บลือเชอร์ (Gebhard von Blücher) ก็ประจำตำแหน่งรอนโปเลียนอยู่ ณ ที่นี้เช่นกัน
ต่อมา ในวันที่ 14 มิถุนายน องค์จักรพรรดิแห่งฝรั่งเศสก็ทรงลงนามพระปรมาภิไธยในประกาศราชโองการใจความว่า “เกียรติยศและความชื่นมื่นของดินแดนของพวกเรากำลังตกอยู่ในภยันตราย และตัวข้าพเจ้านั้นก็จะกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า เหล่าปวงชนชาวฝรั่งเศสทั้งหลายเอ๋ย ในเวลาคราอันซึ่งกำลังมาถึงนี้ ทางเลือกของพวกเราทุกคนนั้น มีเพียงการพิชิตชัยหรือความตาย!”
และแล้ว ในเวลาสองวันหลังการประกาศพระราชโองการของนโปเลียน การโรมรันสองครั้งแรกในมหายุทธภูมิซึ่งจะปิดฉากความฝันและความทะเยอทะยานของพระองค์ ก็ได้เปิดฉากขึ้นในเวลาเดียวกัน แต่แม้ว่าการต่อสู้ทั้งสองครั้งที่ ณ หมู่บ้าน การ์ต-บรา (Quatre-Bras) และ ลิญยี (Ligny) เมื่อวันที่ 16 นี้จะจบลงด้วยชัยชนะของฝรั่งเศส พวกเขาก็กลับไม่สามารถปิดฉากฝ่ายศัตรูได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยหนึ่งในศัตรูเหล่านั้นก็ได้แก่กำลังส่วนแยกขนาดใหญ่ของทัพปรัสเซีย ซึ่งสามารถล่าถอยออกไปรวมกำลังกันใหม่ได้สำเร็จ ซ้ำร้าย ฝนซึ่งเทห่าลงในวันต่อมาก็ทำให้ทั้งเหล่าทหารฝรั่งเศสและพื้นดินของสนามรบแห่งนี้ต้องเปียกชุ่มโชก ยังผลให้สนามรบอันเปียกแฉะและถนนโคลนดินทั้งหลายในบริเวณนั้นกลับกลายสภาพเป็นหนองตมอันเละเทะ
เมื่อรุ่งสางของวันที่ 18 มาถึง ทั้งนโปเลียนและเวลลิงตันนั้นต่างก็จัดทัพของตนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเวลลิงตัน ผู้มีกำลังพลใต้บังคับบัญชาจำนวน 68,000 นาย (หรือน้อยกว่านโปเลียนราว 4,000 นาย) ได้ตั้งศูนย์บัญชาการของตนที่หมู่บ้าน Mont-Saint-Jean บนถนนซึ่งทอดจากบรัสเซลส์มาสู่วอเตอร์ลู ไม่ไกลจากยุทธภูมิแห่งนี้มากนัก และเลือกวางตำแหน่งกำลังพลเกือบทั้งหมดของตนไปประจำตามแนวสันเขาความยาวสี่กิโลเมตร ซึ่งมีฟาร์มสามแห่ง ได้แก่ Papelotte, La Haye Saint, และ Hougoumont ตั้งอยู่ด้านข้าง เพื่อดำเนินยุทธวิธีตั้งรับต่อไป เนื่องจากจอมพลผู้นี้ทราบดีว่าตนเองจำต้องประวิงเวลารอคอยจนกว่ากองกำลังส่วนแยกของปรัสเซีย — อันมีจำนวนทั้งหมดราว 50,000 นาย— ซึ่งล่าถอยออกจากเมืองวอเตอร์ลูออกไปไม่กี่กิโลเมตรหลังการปะทะที่ลิญยี จะเดินทัพมากลับมาถึงยุทธภูมิแห่งนี้อีกครั้ง และทำการรวมกำลังกันใหม่เพื่อชิงความได้เปรียบด้านจำนวนของฝ่ายตนเองอีกครั้ง
เพราะเหตุนี้เองที่ทำให้นโปเลียน — ซึ่งทรงมีกำลังพลใต้บังคับบัญชาทั้งหมดเพียงราว 72,000 นาย — ทรงหวังที่จะใช้ข้อได้เปรียบชั่วคราวนี้รีบทำลายกองทัพของเวลลิงตันโดยเร็วที่สุด และก็เป็นเช่นที่ผ่านมา พระจักรพรรดิองค์นี้ทรงเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ว่าชัยชนะนั้นอยู่เพียงเอื้อม และยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังทรงถึงกับเชื่อว่าตนเองจะสามารถกำชัยได้โดยง่ายดาย อันเป็นความเชื่อซึ่งมีที่มาจากการดูแคลนอย่างร้ายกาจต่อทั้งศัตรูผู้เคยทำลายแผนการยึดครองยุโรปของพระองค์และทหารในบังคับบัญชาของเขา “ข้าพเจ้าเพียงต้องการกล่าวแก่พวกท่านว่า เวลลิงตันนั้นเป็นนายทัพฝีมือแย่” จอมทัพแห่งฝรั่งเศสทรงตรัส “ส่วนทหารสหราชอาณาจักรก็เป็นเช่นเดียวกัน และเช่นนี้ เรื่องราวปัญหาในครานี้ก็จะไม่เป็นกระใดที่ยากลำบากกว่าการรับประทานอาหารเช้าเท่านั้น”
กระนั้นเอง หมอกยามเช้าและยุทธบริเวณที่กลายสภาพเป็นแอ่งโคลนตมเนื่องจากห่าฝนกรรโชกเมื่อวันก่อนหน้าก็กลับทำให้แผนการซึ่งพระองค์ทรงวางไว้แต่เดิมต้องผิดพลาดไป และบังคับให้กองทัพฝรั่งเศสซึ่งตั้งค่ายแรมที่หมู่บ้าน Maison du Roi จำต้องเริ่มการบุกโจมตีในยามเช้าแก่ๆ แทนยามเช้าตรู่ตามกำหนดการเดิม ปัจจัยดังกล่าวนี้เอง ที่นักประวัติศาสตร์บางรายเชื่อว่าเป็นสาเหตุอันนำไปสู่แห่งความปราชัยของฝรั่งเศสในการยุทธครั้งประวัติศาสตร์นี้ เนื่องเพราะหากฝนมิได้ตกกระหน่ำลงเมื่อคืนก่อนการศู้ศึกแล้วนั้น นโปเลียนก็คงสามารถทำลายกองกำลังผสมสหราชอาณาจักร-พันธมิตรลงได้โดยสำเร็จในเพียงไม่กี่ชั่วยาม นานก่อนที่กองทัพปรัสเซียของบลือเชอร์จะเดินทัพมาถึง
ในท้ายที่สุด การเข้าประหัตประหารครั้งสุดท้ายในพระชนม์ชีพของนโปเลียนก็ได้เปิดฉากขึ้นหลังเวลาสิบเอ็ดนาฬิกา โดยในยุทธการครั้งนี้ พระองค์ทรงส่งกำลังพลส่วนใหญ่มุ่งเข้าโจมตีตำบลภารกิจที่ฟาร์ม Hougoumont และ La Haye Sainte อันเป็นตำแหน่งกุญแจสำคัญสองแห่งบนแนวรบซึ่งเวลลิงตันได้ทำการดัดแปลงเป็นที่มั่นแข็งแรง และมันก็เป็นด้วยประการเช่นนี้เอง ที่ทำให้การโรมรันและหลั่งเลือดเพื่อยื้อแย่งตำแหน่งทั้งคู่ต้องดำเนินยืดเยื้อไปตลอดทั้งวัน ยังผลให้ฝ่ายผู้เข้าโจมตีนั้นต้องเผชิญความสูญเสียขั้นอักโข โดยในช่วงแรกของการรบนั้น ทหารฝรั่งเศสราวสี่สิบนายสามารถทะลวงฝ่าแนวตั้งรับที่ฟาร์ม Hougoumont ได้สำเร็จ แต่พวกเขาก็กลับต้องถูกล้อมโดยทหารพันธมิตรและถูกสังหารหมู่
กระนั้น กองทัพขององค์จักรพรรดิ — ซึ่งตั้งหลักนิยมทางการทหารที่ให้ความสำคัญกับการเป็นฝ่ายรุกและโจมตีเป็นทุนเดิม — ก็ยังคงสามารถโหมจู่โจมทหารราบผู้ป้องกันด้วยความดุดันรุนแรงอย่างต่อเนื่องชนิด โดยการพุ่งเข้าใส่อย่างรวดเร็วโดยทหารม้า (cavalry charge) ของพวกเขานั้น ทำให้ให้พลแม่นปืนประจำตำแหน่งแถวหน้าของฝ่ายสัมพันธมิตรต้องพรั่นพรึง ในขณะที่ปืนใหญ่อันเหนือกว่าของฝ่ายมหากองทัพ — ซึ่งเป็นเหล่าที่ยอดเยี่ยมและสำคัญที่สุดของนโปเลียน — ก็ได้ทำการระดมระดมยิงถล่มกระบวนทัพต่างๆ ของกำลังร่วมสหราชอาณาจักร-ดัตช์ไปตลอดทั้งวัน และทหารราบซึ่งเข้าโจมตีแนวทัพต่างๆ ของฝ่ายพันธมิตรโดยเป็นระเบียบหลายครั้งก็สามารถสร้างรูโหว่ในแนวเหล่านั้นมากขึ้้นเรื่อยๆ จนเมื่อถึงยามบ่าย ความสูญเสียเหล่านี้และกระสุนที่ร่อยหลอลงเรื่อยๆ ก็ส่งผลให้นายทหารของเวลลิงตันบางคนต้องเกรงว่าฝ่ายตนเองนั้นต้องปราชัยเสียแล้ว
อย่างไรก็ตาม การทุ่มจู่โจมอันดุดันรุนแรงด้วยกองกำลังซึ่งมีความได้เปรียบด้านจำนวนอย่างท่วมท้นเหล่านี้ (ตั้งแต่เวลา 11-16 นาฬิกา กำลังพลของเวลลิงตันราว 2,000 นายซึ่งตั้งมั่นที่ฟาร์ม Hougoumont และบริเวณโดยรอบ ต้องยืนหยัดต่อต้านการโจมตีโดยทหารฝรั่งเศสจำนวนราว 10,000 นายของ Jerome ผู้เป็นพระอนุชาของนโปเลียนถึงสามครั้งสามครา) ก็กลับไม่สามารถบรรลุภารกิจในการเจาะทะลวงแนวรบของฝ่ายพันธมิตรได้โดยสำเร็จ เนื่องเพราะจิตใจรุกรบของทหารราบฝ่ายป้องกัน ผู้กัดฟันตรึงกำลังยืนหยัดต่อต้านการถล่มระลอกแล้วระลอกเล่าอย่างไม่ยอมแพ้ โดยเฉพาะสำหรับกองทัพสหราชอาณาจักร ซึ่งต้องเผชิญกับความสูญเสียอย่างไม่เคยประสบมาก่อนในบางหน่วย เช่นกรม Inniskilling ซึ่งสูญเสียกำลังพลไปถึงกว่าร้อยละ 75 ในเวลาเพียง 45 นาที
แต่ไม่ว่าทหารเหล่านี้จะต่อสู้ด้วยความเข้มแข็งเพียงใด สถานการณ์ของฝ่ายสหพันธมิตรก็กลับต้องเลวร้ายสิ้นหวังลงเรื่อยๆ จนเวลลิงตันต้องเกรงว่าสหพันธมิตรจะต้องพ่ายแพ้ และรอคอยข่าวการมาถึงของบลือเชอร์อย่างใจจดใจจ่อและสิ้นหวัง “มีเพียงการมาถึงของพวกปรัสเซียเท่านั้นที่จะช่วยชีวิตพวกเรา” เขากล่าว
และแล้ว เมื่อเวลาราว 16 นาฬิกา การช่วยชีวิตที่ที่เขารอคอยก็มาถึงเสียที เมื่อกองกำลังปรัสเซียเริ่มเข้าโจมตีปีกของกองทัพฝรั่งเศสที่หมู่บ้าน Plancenoit และ Papelotte แต่ถึงจะเป็นเช่นนี้ ภยันตรายของฝ่ายตั้งรับก็ยังมิได้จบลงในทันที เนื่องเพราะเมื่อราว 18 นาฬิกา กองพลน้อยของฝรั่งเศส ซึ่งจอมพล Michael Ney ทำการบังคับบัญชาด้วยตนเอง ก็สามารถทะลวงด่านการป้องกันขั้นสุดท้ายที่ฟาร์ม La Haye Sainte ได้โดยสำเร็จ ยังผลให้ฟาร์มแห่งนี้ต้องตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือของฝ่ายผู้โจมตีในท้ายที่สุด
และในหนึ่งชั่วโมงต่อมา กองกำลังสหสัมพันธมิตรก็ต้องเผชิญกับการเข้าชาร์จอันน่าสะพรึงโดยทหารรักษาพระองค์ของนโปเลียน (Imperial Guard) อันเป็นหน่วยรบชั้นหัวกะทิซึ่งจะถูกส่งเข้าพันตูกับข้าศึกในยามที่การรบดำเนินมาถึงจุดตัดสินผลแพ้ชนะเท่านั้น และมันก็เป็นเช่นเดียวกับสมรภูมิมากมายในคราก่อนหน้า พระองค์ทรงคาดคิดว่าพวกเขาจะสามารถบดขยี้ฝ่ายตรงข้ามจนแตกพ่ายได้สำเร็จ
ทว่า การคำนวนขององค์ยอดจอมทัพในครานี้ก็กลับผิดพลาดไป เนื่องเพราะก่อนหน้าการโจมตีครั้งนี้ นโปเลียนก็ทรงส่งกำลังรบดังกล่าวเป็นจำนวนหลายกรมเข้ารับมือกับกองทัพปรัสเซียไปเสียแล้ว และเหล่าทหารซึ่งกำลังเข้าปะทะขั้นแตกหักกับไพร่พลของเวลลิงตันนั้นก็ได้แต่เพียงรอคอยให้สหายเหล่านั้นมาช่วยเสริมกำลังอย่างโหยหา แต่อนิจจา ความช่วยเหลือดังนี้ก็มิเคยมาถึง และเมื่อราชองครักษ์เหล่านี้พยายามพุ่งชาร์จฝ่ายตั้งรับ พวกเขาก็กลับต้องถูกฉีกทึ้งจนยับเยินด้วยพายุกระสุนที่โหมเข้าใส่ ความสูญเสียมากมายเช่นนี้ก็ทำให้แม้แต่สุดยอดนักรบเหล่านี้ต้องชะงักลง ก่อนที่พวกเขาจะไม่สามารถดำเนินการรบต่อไปได้ในท้ายที่สุด
ด้วยเหตุนี้ เหล่าไพร่พลฝรั่งเศสจึงจำต้องแตกฮือถอยทัพโดยโกลาหล ดั่งเช่นที่ร้อยเอก Jean-Roch Coignet ย้อนความในบันทึกของเขาว่า “มันไม่มีสิ่งใดทั้งสิ้นที่สามารถช่วยให้ [เหล่าทหาร] สงบขวัญของตนเองได้ เนื่องเพราะความหวาดกลัวนั้นได้กลับเข้าควบคุมพวกเขาไปเสียแล้ว” และในเวลา 20 นาฬิกา 15 นาที นโปเลียนก็ทรงออกคำสั่งถอยทัพในท้ายที่สุด และจักรพรรดิผู้ทรงระลึกดีว่าตนเองไม่มีทางฟื้นคืนจากความปราชัยอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ในครานี้ ก็ทรงเสด็จกลับสู่ปารีสและสละอำนาจให้แก่พระราชโอรสเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน
ในมหาการยุทธครานี้ ทั้งฝ่ายผู้ได้กำชัยเป็นครั้งสุดท้ายและผู้ที่ต้องหมดสิ้นอำนาจและอิสรภาพทั้งมวลไปตลอดการ ต่างก็ต้องจ่ายราคาค่างวดอันแสนสาหัสด้วยเลือดอันหลั่งชโลม ชีวิตที่ต้องดับสูญ และร่างกายที่ไม่มีวันครบสมบูรณ์ไปอีกตลอดกาล โดยแม้ว่าจำนวนความสูญเสียจากการประมานต่างๆ จะแตกต่างกันออกไป การวิเคราะห์ประเมินโดยนักประวัติศาสตร์รายต่างๆ นั้นบ่งชี้ว่าในการโรมรันหลั่งเลือดครั้งมโหฬารที่วอเตอร์ลูในครั้งนี้ ยังผลให้ไพร่พลใต้บังคับบัญชาของเวลลิงตันต้องบาดเจ็บล้มตายลงราว 15,000 นาย ในขณะที่ความสูญเสียของกองทัพปรัสเซียภายใต้การนำของบลือเชอร์นั้นอยู่ที่ราว 8,000 นาย และสำหรับนโปเลียนผู้ปราชัย มหากองทัพซึ่งเคยยิ่งใหญ่ของพระองค์ก็ต้องมีผู้บาดเจ็บล้มตายถึงราว 25,000 นาย ทั้งยังมีทหารผู้ต้องตกเป็นเชลยศึกอีกกว่า 9,000 นาย และมันก็เป็นเช่นเดียวกับทั้งสงครามที่ผ่านมาและสงครามที่ผ่านไปในทุกยุคสมัย แม้แต่สำหรับผู้กำชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่นี้ ความทุกข์ทนทรมานของพวกเขาก็มิได้จบสิ้นลงพร้อมกับการจบสิ้นของการประหัตประหารแต่อย่างใด
โดยข้อมูลจากการศึกษาโดยไมเคิล ครัมพลิน (Michael Crumplin) ศัลยแพทย์และนักประวัติศาสตร์ผู้แต่งหนังสือสนามโชกเลือดแห่งวอเตอร์ลู (The Bloody Fields of Waterloo) ระบุว่า จากจำนวนผู้บาดเจ็บทั้งหมดของฝ่ายพันธมิตรนั้นร้อยละ 75 ได้รับบาดเจ็บที่แขนและขา (extremities) และด้วยปัจจัยทางการแพทย์ซึ่งยังมีไม่เพียงพอในสมัยนั้นและความความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้อตายเน่า (gangrene) ผู้บาดเจ็บกว่า 2,000 นายจึงต้องถูกตัดอวัยวะโดยไม่มียาสลบหลังการรบสิ้นสุดลง การสูญเสียชีวิตอันโหดร้ายและมากมายเหนือคณานับเช่นนี้ยังความเจ็บปวดแสนสาหัสต่อเวลลิงตัน ผู้เขียนถึงกลับกล่าวว่า “ข้าพเจ้าหวังต่อพระผู้เป็นเจ้าว่าการศึกในครานี้จะเป็นการศึกครั้งสุดท้ายในชีวิตของข้าพเจ้า”
หลังการยุทธที่วอเตอร์ลูสิ้นสุดลงเป็นเวลาหนึ่งเดือน นโปเลียนผู้ปราชัยก็ได้ยอมจำนนต่อฝ่ายสหราชอาณาจักร ซึ่งเนรเทศอดีตจักรพรรดิผู้นี้ไปยังเกาะเซ็นต์เฮเลนา (St. Helena) กลางมหาสมุทรแอตแลนติกอย่างถาวร อันนำมาซึ่งการจบลงของยุคนโปเลียนในท้ายที่สุด
แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน