เหล่า นักรบ ผู้แข็งแกร่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงโลกในยุคสมัยของตนด้วยโล่ห์ฮอปลอน ม้า และปืนคาบศิลา
ตลอดทุกช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ เหล่า นักรบ ทั้งหลายนั้นต่างถูกเพรียกหาให้ทำหน้าที่ต่อสู้เพื่อถิ่นที่อยู่อาศัย ประเทศ กษัตริย์ และจักรพรรดิของตน
และตลอดทั้งประวัติศาสตร์ นักรบเหล่านี้ก็ได้รับทั้งการฝึกฝน และยุทโธปกรณ์ชั้นดีเพื่อรับมือกับความท้าทายและเทคโนโลยีทางทหารต่างๆ ในยุคของตน
ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นทหารราบในยุคกรีกโบราณซึ่งต่อสู้เพื่อนครรัฐของตน, พลธนูบนหลังม้าผู้พิชิตชัยไปทั่วทั้งทวีปเอเชีย, หรือทหารอาสาพลเมือง (citizen soldiers) ชาวอเมริกัน ซึ่งจับอาวุธขึ้นสู้กับสหราชอาณาจักรเพื่ออิสรภาพของสหรัฐฯ ที่ในขณะนั้นเพิ่งกำลังก่อตั้งประเทศ นี่คือเรื่องของประวัติโดยย่อของห้ากองกำลังซึ่งมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ รวมไปถึงอิทธิพลที่พวกเขามี
นักรบ ฮอปไลต์แห่งยุคกรีกโบราณ
ฮอปไลต์ ทหารราบจากยุคกรีกโบราณผู้ติดอาวุธครบมือคือกำลังพลสำคัญในบรรดากองทัพของนครรัฐต่างๆ ชื่อของนักรบเหล่านี้มาจากโล่ห์ฮอปลอน (hoplon) หรือโล่ห์ทรงกลมความกว้าง 91 เซนติเมตรซึ่งทำจากไม้และหุ้มด้วยทองแดงที่พวกเขาใช้
ทหารเหล่านี้ถูกคัดเลือกมาจากชนชั้นร่ำรวย เนื่องจากพวกเขาจำเป็นต้องมีทุนทรัพย์เพียงพอสำหรับการซื้อยุทโธปกรณ์พิเศษซึ่งมีราคาสูง ทั้งนี้ ฮอปไลต์ในเอเธนส์และสปาร์ตานั้นแตกต่างกันในด้านความพร้อมรบ กล่าวคือ ในเอเธนส์ พวกเขาจะถูกเรียกระดมพลเมื่อจำเป็นเท่านั้น ต่างจากในสปาร์ตา ที่นักรบฝีมือฉกาจเหล่านี้จะได้รับการฝึกฝนอย่างเข้มงวดทั้งแต่อายุเพียงเจ็ดปี
อาวุธเต็มรูปแบบของทหารแต่ละนายประกอบไปด้วยโล่ห์ฮอปลอนบนแขนซ้าย และหอกปลายทองแดงยาวราว 2.1 เมตร ซึ่งถือด้วยมือขวา พร้อมด้วยดาบสั้นตีจากเหล็กสำหรับใช้เป็นอาวุธสำรอง ส่วนอุปกรณ์ป้องกันเต็มรูปแบบของพวกเขานั้นประกอบไปด้วยหมวก เกราะป้องกันลำตัว และสนับแข้ง อุปกรณ์ป้องกันอาวุธซึ่งล้วนทำจากทองแดงเหล่านี้ อาจมีน้ำหนักได้ถึง 27.2 กิโลกรัม เมื่อเข้าสู่สนามรบ ฮอปไลต์จะจัดขบวนรบแบบฟาลังซ์ (phalanx) โดยในขบวนรบดังกล่าว พวกเขาแต่ละคนจะยืนชิดติดกันชนิดใหล่ชนใหล่ในแถวหน้ากระดาน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีความลึกแปดแถว
เหล่าฮอปไลต์ได้แสดงความเก่งกาจของตนในการยุทธและสงครามครั้งสำคัญหลายครั้ง เช่นสมรภูมิทุ่งมาราธอน, เทอร์โมพิลี, และสงครามเพโลพอนนีเซียน แต่ในยามที่การสงครามพัฒนารุดหน้าไป และกองทัพอาชีพมีจำนวนมากขึ้น ความเหนือชั้นที่ยุทธวิธีดั้งเดิมต่างๆ ของหน่วยรบดังกล่าวนี้มีในการรบก็ลดน้อยลงไปอย่างช้าๆ
นักรบ ลีเจียนแนร์แห่งโรมัน
กองกำลังลีเจียนทั้งหลาย (ซึ่งมีขนาดเทียบได้กับหน่วยระดับกองพลในยุคต่อๆ มา) คือกระดูกสันหลังของกองทัพโรมัน ทั้งเมื่อครั้งสาธารณรัฐและจักรวรรดิแห่งนี้กำลังเฟื่องฟูถึงขีดสุด (เมื่อราวศตวรรษที่ 3 ก่อนค.ศ. ถึงค.ศ.ที่ 5) การเป็นสมาชิกของหน่วยรบอาชีพทำให้ลีเจียนแนร์ได้รับค่าตอบแทนประจำ พร้อมทั้งการฝึกฝนและยุทโธปกรณ์ชั้นดี
ทหารเหล่านี้ติดอาวุธอย่างหนักด้วยหอกซัด (javelin) ยาว 2.1 เมตรและดาบหนัก พร้อมด้วยหมวก, เกราะป้องกันลำตัว, และโล่ห์ เพื่อป้องกันตนเองจากคมศาตราวุธของศัตรู ในยามที่ลีเจียนแนร์เป็นฝ่ายโจมตี พวกเขาจะจัดขบวนรบเป็นแนวขวางตอนลึกซ้อนกันหลายแนว เพื่อให้ขบวนรบแต่ละแนวสามารถสลับกันเข้าโจมตีข้าศึกได้ โดยนักรบเหล่านี้จะเปิดฉากการบุกจู่โจมด้วยการซัดหอก ก่อนที่จะเดินเท้าเข้าหาศัตรูและเริ่มละเลงเลือดด้วยดาบในระยะประชิด
เหล่าลีเจียนแนร์มีชื่อเสียงโด่งดังระดับตำนานสำหรับความโหดเหี้ยมดุร้ายที่พวกเขามีต่อทั้งศัตรูของตน และความโหดเหี้ยมดุร้ายในระดับที่เกือบเท่าเทียมกันต่อพรรคพวกที่แสดงความอ่อนแอ ตัวอย่างเช่นการลงทัณฑ์ด้วย “การประหารหนึ่งจากสิบคน (Decimation)” อันเป็นการแบ่งทหารจากโคฮอร์ต (cohort คือหน่วยย่อยของลีเจียน มีขนาดราวกองพันในกองทัพสมัยใหม่) ซึ่งกระทำการผิดวินัยเป็นกลุ่มละสิบคน ก่อนจะทำการจับฉลากเพื่อสุ่มเลือกผู้ที่จะถูกประหาร
นอกจากความสามารถในการจับศึกแล้ว นักรบเหล่านี้ยังมีทั้งความขยันขันแข็งและความคิดที่ปฏิบัติได้จริง โดยพวกเขาจะมีทหารช่างติดสอยห้อยตามไปด้วย เพื่อร่วมแรงลงมือสร้างถนน, ป้อมปราการ, และสะพานต่างๆ เป็นระยะทางหลายต่อหลายกิโลเมตร และจนถึงทุกวันนี้ สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ก็ยังคงเป็นมรดกจากครั้งอดีตกาลที่ยังคงมีอยู่ให้เห็นอยู่สืบไป
พลธนูบนหลังม้าแห่งมองโกเลีย
พลธนูบนหลังม้าถือเป็นยอดนักรบชื่อเสียงโด่งดังผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อชัยชนะในศึกสงครามครั้งต่างๆ ของจักรวรรดิมองโกล ยังผลให้ชนเผ่าซึ่งแต่เดิมนั้นมีถิ่นฐานอยู่ในบริเวณมองโกเลียในปัจจุบันนี้ สามารถแผ่สยายอาณาเขตของตนและกลายมาเป็นอาณาจักรทางบกอันแสนกว้างใหญ่ใพศาลในศตวรรษที่ 13 และ 14 ด้วยการใช้เวลาไปกับการพิชิตจีน, เอเชียกลาง, ตะวันออกกลาง, และบางส่วนของยุโรปตะวันออก โดยบรรดานักประวัติศาสตร์ชาวจีนนั้นบ่งบอกไว้ว่า “โดยธรรมชาติแล้ว [ชาวมองโกล] นั้นเก่งกาจทั้งในด้านการควบม้าและการยิงธนู และเพราะความได้เปรียบจากม้าและธนูนี้เอง ที่ทำให้คนเหล่านี้สามารถครอบครองโลกได้สำเร็จ”
เรื่องที่ว่าเหล่านักรบชาวมองโกล — รวมถึงเจงกิสข่าน และผู้สืบทอดของพระองค์ — ได้รับการบ่มเพาะปลูกฝังฝีมือในการควบม้านั้นคือความจริง ส่วนพาหนะศึก ซึ่งแม้จะตัวเล็กแต่ก็มีทั้งความแข็งแรงและปราดเปรียวของนักรบเหล่านี้ก็ถูกเพาะพันธุ์มาให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตในภูมิประเทศแบบทุ่งหญ้าสเตปป์ และโดยทั่วไปแล้ว ทหารมองโกลแต่ละคนมักมีม้าในครอบครองหลายตัว เพื่อให้ตนเองสามารถสลับไปควบม้าตัวใหม่ซึ่งยังไม่ถูกใช้งาน [ในการศึกครั้งนั้นๆ] เมื่อม้าตัวเดิมอ่อนล้า/หมดแรงลง อันเป็นสิ่งที่ช่วยให้กองทัพมองโกลดำเนินการรุกจู่โจมอย่างรวดเร็วปานสายฟ้าแลบได้โดยต่อเนื่อง ซึ่งมันเป็นยุทธศาสตร์นี้เองที่ทำให้ชนเผ่าดังกล่าวนี้พิชิตดินแดนขนาดกว้างใหญ่ไพศาลได้โดยเบ็ดเสร็จ
ทั้งเด็กชายและหญิงชาวมองโกลนั้น ต่างก็เริ่มฝึกหัดทั้งการควบขี่ม้าและมวยปล้ำบนหลังม้าตั้งแต่วัยเด็กตอนต้น และในทันทีที่ร่างกายของเด็กเหล่านี้เติบใหญ่ขึ้นจนสามารถเหยียบโกลนม้าได้ พวกเขาและเธอก็จะได้เริ่มฝึกฝนการใช้ธนูปีกโค้งกลับ (recurve bow) แบบมองโกล ซึ่งทำมาจากเขาสัตว์, ไม้, และเส้นเอ็น และฝีมือในการใช้โกลนม้าเป็นหลักวางเท้าสำหรับการยืนบนม้านั้น ทำให้พลธนูมองโกลสามารถควบพาหนะของตนไปด้านหน้าและหันไปยิงธนูใส่เป้าหมายซึ่งอยู่ด้านหลังในเวลาเดียวกันได้
ลูกธนูของนักรบเหล่านี้สามารถพุ่งไปได้ไกลกว่า 320 เมตร และยังมีพลังงานมากพอสำหรับการเจาะทะลวงแผ่นเกราะหากเหยื่ออยู่ในระยะไกล้ นอกจากนี้ การฝึกฝนที่อิสตรีทั้งหลายได้รับตั้งแต่วัยเยาว์นั้น ยังช่วยให้ผู้ที่มีฝีมือในหมู่พวกเธอสามารถปกป้องชนเผ่าของตนได้ในยามที่เหล่าชายชาตรีไม่อยู่ในบริเวณที่มั่นของตน หรือแม้แต่เข้าร่วมโรมรันพันตูในการศึกที่แนวหน้าร่วมกับเหล่าชายชาตรีในบางครั้งบางครา
อย่างไรก็ตาม เวลาที่ผ่านไปเรื่อยๆ ก็ทำให้ศิลปะแห่งการใช้ธนูกลายเป็นสิ่งล้าสมัยในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และอาณาเขตของจักรวรรดิมองโกลซึ่งเคยแข็งแกร่งก็กลับต้องแตกสลายลง อันเป็นความเปลี่ยนแปลงซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งรัฐสืบทอด (successor states) มากมายขึ้นมาแทนที่ และแล้ว สถานะแห่งความเป็นผู้พิชิตของชนเผ่าจากทุ่งหญ้าสเตปป์นี้ ก็ต้องจางหายไปในท้ายที่สุด
กองกิสตาดอร์ (Conquistadors) แห่งสเปน
คำว่า “กองกิสตาดอร์ (conquistador)” นั้นมีรากศัพท์จากคำว่า conquistar ในภาษาสเปน ซึ่งมีความหมายว่า “การพิชิต” และสิ่งนี้เองที่พวกเขาได้ลงมือทำเพื่อการบรรลุเป้าหมายในการขยายดินแดนและอิทธิพลของสเปนและโปรตุเกส
เหล่าผู้นำกองทัพ, นักสำรวจ, และนักผจญภัยมากประสบการณ์ — ซึ่งรวมไปถึง Hernán Cortés, Fransisco Pizarro, และ Juan Ponce de León — ได้นำทหารของตนเข้าครอบครองโลกใหม่ (New World) ในศตวรรษที่ 16 เพื่อไขว่คว้าหาความมั่งคั่งและเผยแผ่คริสตศาสนา —พร้อมกับการล้างบางวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆ ด้วยปืนและโรคระบาด
ยุทโธปกรณ์ของกองกิสตาดอร์นั้นผสมไปด้วยอาวุธและชุดเกราะแบบดั้งเดิมของยุโรป โดยปืนใหญ่และปืนประจำกายต่างๆ คืออาวุธซึ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และทหารเหล่านี้ยังพก harquebus (หรือสะกดว่า arquebus ในบางครั้ง) อันเป็นปืนคาบชุด (matchlock) ลำกล้องยาว ซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นในทศวรรษที่ 1400 แต่หากเทียบกับมาตรฐานในปัจจุบันแล้ว ปืนยาวประเภทดังกล่าวนี้ทั้งใช้งานได้เชื่องช้าและลำบากเทอะทะ
กระนั้น เมื่อเวลาแต่ละทศวรรษดำเนินไป เหล่ากองกิสตาดอร์ก็เริ่มแทนที่ปืนล้าสมัยนี้ด้วยปืนคาบชุดแบบอื่น ก่อนที่จะเปลี่ยนมาติดอาวุธด้วยปืนคาบศิลา (flintlock) ในภายหลัง อุปกรณ์ป้องกันคมอาวุธของพวกเขาประกอบไปด้วยเกราะป้องกันลำตัว, หมวก, และโล่ห์ แต่อย่างไรเสีย ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถจัดหาอุปกรณ์เหล่านี้ให้ทหารในกองฯ ได้ครบทุกนาย
แต่ในที่สุดแล้ว เมื่อมหาอำนาจทางอาณานิคมทั้งสองที่พวกเขารับใช้กลับต้องเสื่อมอำนาจลง ยุคสมัยของกองกิสตาดอร์ก็ต้องดำเนินมาถึงจุดจบไปพร้อมกัน
กองกำลังอาสาสมัครชาวอาณานิคมอเมริกัน
เนื่องจากบรรดาอาณานิคมอเมริกันไม่มีกองทัพประจำการ เขตแดนเหล่านี้จึงจำเป็นต้องจัดตั้งกรมทหารอาสาประจำท้องถิ่นต่างๆ เพื่อป้องกันตนเอง โดยชายชาตรีที่มีอายุระหว่าง 16 ถึง 60 ปี ซึ่งมีสุขภาพสมบูรณ์พร้อมทุกนาย จำเป็นต้องอาสาเข้ารับการฝึกฝนซึ่งใช้เวลาทั้งวันเป็นครั้งคราว และต้องใช้ปืนเล็กยาวคาบศิลา (musket), กระสุน, และดินปืนของตนเองสำหรับการฝึก
ส่วนเหล่าทหารซึ่งเข้าพันตูกับกองทัพอังกฤษที่สมรภูมิเล็กซิงตันและคอนคอร์ดเมื่อรุ่งเช้าของวันที่ 19 เมษายน 1775 อันเป็นการรบซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามปฏิวัติอเมริกัน คือทหารอาสาที่ผ่านการฝึกฝนมาเป็นพิเศษและได้รับค่าตอบแทน ทั้งยังทำการซ้อมรบมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงหลายเดือนหลังเหตุการณ์งานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน (the Boston Tea Party)
อย่างไรก็ตาม ทหารอาสาส่วนใหญ่นั้นไม่มีความสามารถหรือการอุทิศตนในระดับเดียวกับทหารอาสาซึ่งรบในยุทธภูมิที่กล่าวไปเมื่อข้างต้น และโดยปกติแล้ว พวกเขายังขาดระเบียบวินัย ทำตัวเสเพล และไม่มีความกระตือรือร้น ในปี 1776 จอร์จ วอชิงตันได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงจอห์น แฮนค็อก ซึ่งมีเนื้อหาติเตียนว่า ทหารอาสาเหล่านี้มองนายทหารของตน “[เป็นเพียง] ไม่มากไปกว่าไม้กวาด” และยังอธิบายต่อว่า “หากข้าพเจ้าถูกร้องขอให้ป่าวประกาศว่า….ทหารอาสาเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างถึงที่สุด หรือเป็นภยันตรายต่อผู้อื่นทั้งมวล คำตอบของข้าพเจ้าคืออย่างหลัง”
แต่กระนั้น ทหารประชาชนเหล่านี้ก็กลายมาเป็นทั้งผู้เฟ้นหาทหารหน้าใหม่สำหรับกองทัพภาคพื้นทวีป (Continental Army) ที่มีประสิทธิภาพ และหน่วยสนับสนุนที่มีประโยชน์บนสนามรบต่างๆ ในสงครามปฏิวัติฯ ครั้งนี้
แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน