เอกสาร 4,500 ปี ไขชีวิตคนงาน สวัสดิการ เบื้องหลัง “พีระมิดอียิปต์”

มหาพีระมิดแห่งกีซา คือสถาปัตยกรรมหนึ่งใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณซึ่งซุกซ่อนปริศนาลับเกี่ยวกับการก่อสร้างเอาไว้นานหลายพันปี จนกระทั่ง “ม้วนหนังสือทะเลแดง” หรือ The Red Sea Scrolls บันทึกโบราณซึ่งทำหน้าที่เป็นกุญแจดอกสำคัญที่เข้ามาไขข้อสงสัยและเผยวิธีสร้างพีระมิดของชาวอียิปต์โบราณถูกค้นพบในปี 2013

วาดี อัล-จาร์ฟ (Wadi al-Jarf) คือเมืองท่าริมชายฝั่งทะเลแดงของอียิปต์ที่ไม่ค่อยได้รับสนใจมากนักในปัจจุบัน พื้นที่บริเวณนี้เป็นทะเลทรายอันแห้งแล้งซึ่งอยู่ติดกับผืนน้ำทะเลสีฟ้าครามอันนิ่งสงบที่ยาวสุดลูกหูลูกตา และเมื่อมองข้ามผืนทะเลแดงไปจะเห็นคาบสมุทรไซนายอยู่ลิบ ๆ ทว่า แท้จริงแล้ว เมืองที่ดูเงียบสงบแห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางสุดพลุกพล่านของอาณาจักรอียิปต์โบราณเมื่อกว่า 4,000 ปีก่อน ในปี 2013 วาดี อัล-จาร์ฟได้กลายเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีการค้นพบเอกสารปาปิรุส ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารที่เก่าแก่ที่สุดในโลกจำนวน 30 ม้วน ภายในถ้ำหินปูนที่ถูกสร้างขึ้นในบริเวณนั้น

หนึ่งในม้วนเอกสารที่ค้นพบอย่าง ม้วนหนังสือทะเลแดง (The Red Sea Scrolls) มีชื่อเสียงในด้านความเก่าแก่และข้อมูลที่ไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน นอกจากแผ่นกระดาษเหล่านั้นจะเล่าถึงความคับคั่งในอดีตของเมืองท่าแห่งนี้แล้ว ยังพบว่าเนื้อหาส่วนหนึ่งของเอกสารเป็นบันทึกที่ “เมเรอร์” (Merer) ชายผู้มีส่วนในการสร้างพีระมิดกีซา บอกเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างพีระมิดอันยิ่งใหญ่ของฟาโรห์คูฟู (Pharaoh Khufu) เอาไว้

ความแห้งแล้งในพื้นที่วาดี อัล-จาร์ฟในอียิปต์คือ สิ่งที่ช่วยรักษาสภาพม้วนบันทึกของเมเรอร์เอาไว้ เอกสารปาปิรุสเหล่านี้ถูกค้นพบโดยทีมนักโบราณคดีซึ่งนำโดยนักอียิปต์วิทยาชาวฝรั่งเศส WITH THANKS TO PIERRE TALLET/ARCHAEOLOGICAL MISSION TO WADI AL-JARF

วาดี อัล-จาร์ฟ ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1823 โดยจอห์น การ์ดเนอร์ วิลกินสัน (John Gardner Wilkinson) นักเดินทางและนักโบราณวัตถุชาวอังกฤษ ผู้เชื่อว่าซากปรักหักพังที่พบในบริเวณดังกล่าวคือ ซากของสุสานยุคกรีก-โรมัน ต่อมาฟร็องซัว บีเซย์ (François Bissey) และเรอเน ชาโบต์ มอริโซ (René Chabot-Morisseau) นักบินชาวฝรั่งเศส 2 คนที่มีใจรักในโบราณคดีก็ได้พบอดีตเมืองท่าแห่งนี้อีกครั้งในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 โดยพวกเขาสันนิษฐานว่า พื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นศูนย์กลางการผลิตโลหะมาก่อน อย่างไรก็ดี การสำรวจพื้นที่เพิ่มเติมนั้นได้ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากวิกฤตการณ์สุเอซที่เกิดขึ้นในปี 1956

วาดี อัล-จาร์ฟถูกสำรวจอีกครั้งเมื่อ ค.ศ. 2008 โดยมีปิแยร์ ตอลเลต์ (Pierre Tallet) นักอียิปต์วิทยาชาวฝรั่งเศสเป็นผู้นำในการขุดค้นที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ในที่สุดตอลเลต์ก็สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่า วาดี อัล-จาร์ฟเป็นเมืองท่าสำคัญในช่วงรัชสมัยของฟาโรห์คูฟูและช่วงที่มีการก่อสร้างพีระมิดกีซาขึ้นเมื่อราว ๆ 4,500 ที่แล้ว ทีมนักโบราณคดีของตอลเลต์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสำรวจไว้ว่า เมืองนี้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่คึกคัก เพราะเป็นศูนย์กลางของการค้าวัสดุในการสร้างพีระมิด ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปประมาณ 241 กิโลเมตร โดยสิ่งที่ทำให้ข้อมูลนี้มีน้ำหนักและน่าเชื่อถือคือ สถานที่สำคัญที่ปรากฏอยู่ในบันทึกของเมเรอร์

ภาพถ่ายดาวเทียมมุ่งจับภาพไปที่ทะเลแดง ซึ่งเป็นเส้นทางที่พ่อค้าชาวอียิปต์ต้องแล่นเรือข้ามไปเพื่อนำทองแดงจากคาบสมุทรไซนายกลับมาใช้เป็นวัสดุในการสร้างพีระมิด Photograph by GRANGER/ALBUM

ท่าเรือขนส่งวัสดุในการสร้างพีระมิด

วาดี อัล-จาร์ฟซึ่งตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำไนล์และทะเลแดงนั้นประกอบไปด้วยพื้นที่หลายส่วน โดยแต่ละส่วนจะอยู่ห่างกันออกไปหลายกิโลเมตร พื้นที่ส่วนแรกของเมืองท่าแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณที่ราบปากแม่น้ำไนล์ทางตอนล่างของอียิปต์ ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งของทะเลแดงประมาณ 4 กิโลเมตร พื้นที่นี้เป็นบริเวณที่ทีมสำรวจพบถ้ำหินปูนกว่า 30 แห่ง ซึ่งเคยเป็นห้องเก็บของในยุคอียิปต์โบราณและได้ค้นพบเอกสารปาปิรุสภายในถ้ำเหล่านั้น

ทีมนักสำรวจพบว่า บริเวณถัดจากถ้ำหินปูนออกไปทางทะเลแดงอีกประมาณ 457 เมตรเป็นที่ตั้งของค่ายพักแรมต่าง ๆ และบริเวณถัดจากค่ายออกไปเป็นที่ตั้งของอาคารหินขนาดใหญ่ที่ถูกแบ่งออกเป็น 13 ส่วนขนานกัน นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า อาคารหลังนี้อาจถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับพักอาศัย พื้นที่ส่วนสุดท้ายของวาดี อัล-จาร์ฟคือ บริเวณริมทะเลแดงซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือประจำเมือง แหล่งที่อยู่อาศัย และพื้นที่สำหรับเก็บของ

ทีมนักโบราณคดีสามารถระบุได้ว่า เมืองท่าแห่งนี้มีมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์ที่ 4 ของอียิปต์โบราณ หรือราว 4,500 ก่อน ได้จากเครื่องปั้นดินเผาและจารึกที่พบตามพื้นที่ต่าง ๆ พวกเขาเชื่อกันว่าท่าเรือวาดี อัล-จาร์ฟเริ่มเปิดใช้งานในช่วงรัชสมัยของฟาโรห์สเนฟรู (Pharaoh Sneferu) ผู้เป็นบิดาและถูกปล่อยทิ้งร้างในช่วงปลายรัชสมัยของฟาโรห์คูฟูผู้เป็นบุตร อย่างไรก็ดี ท่าเรือนี้ถูกใช้งานเพียงระยะสั้น ๆ โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่ออำนวยความสะดวกให้การก่อสร้างสุสานอาเคตคูฟู (Akhet-Khufu) ซึ่งมีความหมายว่า “ขอบฟ้าของฟาโรห์คูฟู”

รูปแกะสลักจากงาช้างชิ้นนี้คือ ภาพเหมือนของฟาโรห์คูฟูเพียงชิ้นเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ หลังสิ้นรัชสมัยของพระองค์ไปแล้วประมาณ 4,500 ปี Photograph By AKG/ALBUM

นอกจากกระดาษปาปิรุสแล้ว ยังมีการค้นพบทางโบราณคดีอื่น ๆ อีกหลายครั้งที่เผยให้เห็นถึงความสำคัญของท่าเรือนี้ อาทิ โครงสร้างขนาดใหญ่อย่าง ท่าเทียบเรือหินที่ยาวกว่า 182 เมตรแสดงให้เห็นถึงการลงทุนด้านวัสดุอย่างจริงจังในพื้นที่นี้ และสมอเรือกว่า 130 ตัวที่ทีมสำรวจนำโดยตอลเลต์พบแสดงให้เห็นว่าในอดีตท่าเรือแห่งนี้มีความพลุกพล่านมาก

ภาพวาดสีน้ำโดยเจซี โกลวิน (J.C. Golvin) ชิ้นนี้แสดงให้เห็นท่าเรือในนครกีซา ซึ่งเป็นสถานที่ที่คนงานขนก้อนหินลงจากเรือ และลำเลียงไปใช้สร้างมหาพีระมิดกีซา Photograph by MUSÉE DÉPARTEMENTAL ARLES ANTIQUE © J.C. GOLVIN/ÉDITIONS ERRANCE

เรือของฟาโรห์จะแล่นออกจากท่าเรือที่ชาวอียิปต์โบราณเรียกว่า “เดอะ บูช” (The Bush) เพื่อข้ามทะเลแดงไปยังคาบสมุทรไซนายที่อุดมไปด้วยทองแดง ทองแดงเป็นโลหะที่แข็งที่สุดที่สามารถจะหาได้ในยุคนั้น และชาวอียิปต์ก็จำจะต้องใช้มันในการตัดหินสำหรับสร้างพีระมิดขนาดมหึมาให้แก่ฟาโรห์ของพวกเขา เรือของชาวอียิปต์จะกลับเข้าเทียบท่าที่วาดี อัล-จาร์ฟอีกครั้งพร้อมทองแดงเต็มลำ และเมื่อการเดินทางสิ้นสุดลง เรือเหล่านั้นจะถูกนำไปเก็บไว้ในถ้ำหินปูนที่สร้างเอาไว้

มหาพีระมิดแห่งกีซาคือ สิ่งมหัศจรรย์ทางวิศวกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ หลุมฝังพระศพของฟาโรห์คาเฟร (Pharaoh Khafre) ซึ่งตั้งอยู่กลางพีระมิดทั้ง 3 ยังคงถูกรักษาเอาไว้ด้วยชั้นหินปูนที่ถูกนำมาหุ้มพีระมิดเมื่อหลายพันปีก่อน Photograph By RENÉ MATTES/GTRES
ครั้งหนึ่ง ชั้นก้อนหินปูนที่ห่อหุ้มพีระมิดกีซาที่ค่อย ๆ หายไปตามกาลเวลานั้น เคยถูกขนส่งออกจากเหมืองโดยแรงงานหลายกลุ่มซึ่งมีหน้าที่เหมือนกับกลุ่มแรงงานที่เมเรอร์ดูแล ปัจจุบันนี้ชั้นหินรอบนอกของพีระมิดกีซาเหลือเพียงหินก้อนหยาบซึ่งถูกใช้สำหรับสร้างโครงสร้างภายใน Photograph By RENÉ MATTES/GTRES

สมบัติล้ำค่าที่ซ่อนอยู่ในถ้ำ

บันทึกที่นักโบราณคดีพบได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคนั้นไว้ว่า หลังท่าเรือวาดี อัล-จาร์ฟปิดตัวลงในช่วงที่ฟาโรห์คูฟูสิ้นพระชนม์ แรงงานกลุ่มที่ถูกส่งมาจากนครกีซาได้ทำการปิดผนึกถ้ำหินปูนแห่งต่าง ๆ ซึ่งทำหน้าที่เป็นห้องเก็บของของท่าเรือแห่งนี้ แรงงานเหล่านั้นเป็นที่รู้จักในชื่อ กลุ่มผู้คุ้มกันแห่งเรือยูเรอุสของพระเจ้าคูฟู (Uraeus of Khufu) อาจกล่าวได้ว่า กลุ่มผู้คุ้มกันนี้อาจจะเดินทางไปยังเมืองวาดี อัล-จาร์ฟด้วยเรือที่มียูเรียสหรืองูเห่า ที่ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่าเป็นสิ่งป้องกันภัยประดับไว้บนหัวเรือ โดยนักโบราณคดีได้สันนิษฐานไว้ว่า เอกสารปาปิรุสอันเก่าแก่ของเมเรอร์นั้นอาจจะหลุดไปติดอยู่ตามก้อนหินในระหว่างขั้นตอนการปิดปากถ้ำ

เอกสารเหล่านั้นถูกฝังไว้ใต้ทะเลทรายนานกว่า 4,500 ปี จนกระทั่งตอลเลต์และทีมสำรวจขุดพบม้วนกระดาษโบราณที่ยังหลงเหลืออยู่ในปี 2013 ม้วนหนังสือทะเลแดงม้วนแรกถูกพบใกล้กับทางเข้าพื้นที่สำหรับเก็บของรหัส G2 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ในปีเดียวกัน ในอีก 10 วันต่อมา ตอลเลต์และทีมก็ได้ขุดพบม้วนหนังสือทะเลแดงเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งในครั้งนี้พวกเขาพบว่ามีเอกสารจำนวนมากติดอยู่ระหว่างก้อนอิฐในพื้นที่สำหรับเก็บของรหัส G1

บันทึกของเมเรอร์ นักโบราณคดีพบเศษกระดาษปาปิรุสหลายร้อยชิ้นในถ้ำเก็บของที่เมืองวาดี อัล-จาร์ฟ เศษกระดาษที่ถูกเขียนด้วยหมึกสีดำแดงใบนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับฟาโรห์คูฟู นักโบราณคดีได้นำชิ้นส่วนของกระดาษเหล่านี้กลับไปปะติดปะต่อกันจนได้เป็นแผ่นเอกสาร ซึ่งบางชิ้นมีความยาวถึง 2 ฟุตชิ้น ส่วนบันทึกของเมเรอร์ในภาพนั้นมีที่มามาจากแผ่นกระดาษที่มีชื่อว่า “บันทึกฉบับ B” WITH THANKS TO PIERRE TALLET/ARCHAEOLOGICAL MISSION TO WADI AL-JARF

เอกสารภายในม้วนหนังสือทะเลแดงมีอยู่หลายประเภท ทว่า บันทึกของเมเรอร์กลับเป็นงานเขียนที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่วงการประวัติศาสตร์ได้มากที่สุด เนื่องจากเมเรอร์ผู้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าแรงงานได้บอกเล่าเหตุการณ์ที่เขาและแรงงานคนอื่น ๆ ประสบพบเจอไว้ในบันทึกม้วนนั้น รวมไปถึงเรื่องราวประจำวันที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 3 เดือนของการก่อสร้างมหาพีระมิด

กลุ่มแรงงานซึ่งนำโดยเมเรอร์ประกอบไปด้วยคนงานราว 200 คนที่เดินทางข้ามอียิปต์มาเพื่อรับผิดชอบงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพีระมิดกีซา สิ่งที่น่าสนใจที่สุดซึ่งปรากฏอยู่ในม้วนหนังสือคือ ก้อนหินปูนที่ถูกนำไปใช้ห่อหุ้มพีระมิด เพราะเมเรอร์ได้จดบันทึกวิธีที่คนงานใช้ลำเลียงหินปูนออกจากเหมืองในเมืองจากทูราและขนพวกมันขึ้นเรือส่งต่อไปยังจุดก่อสร้างพีระมิดในเมืองกีซาไว้อย่างละเอียด

ภาพร่างของความเชื่อในช่วงศตวรรษที่ 15 ก่อนคริสตกาลซึ่งปรากฏอยู่ ณ วิหารฟาโรห์ฮัตเชปซุต (Temple of Queen Hatshepsut) ในสุสานดีร์ เอล บาฮารี (Dayr al-Bahri) แสดงให้เห็นภาพของคนงานที่กำลังขนข้าวของต่าง ๆ ลงเรือลำที่จะเดินทางไปยังดินแดนแห่งพุนต์ (Land of Punt) Photograph by ALAMY/ACI

คนงานของเมเรอร์จะนำหินปูนซึ่งเป็นวัสดุในการก่อสร้างขึ้นไปบนเรือ จากนั้นจึงขนส่งก้อนหินเหล่านั้นไปทางแม่น้ำไนล์ และคอยตรวจสอบจำนวนของก้อนหินที่ถูกตรวจนับในเขตพื้นที่ปกครอง ก่อนจะลำเลียงหินเหล่านั้นจะเข้าไปในเมืองกีซา ตัวอย่างเนื้อหาบางส่วนของบันทึกการเดินทาง 3 วันจากเหมืองหินปูนไปยังเขตก่อสร้างพีระมิด เช่น

วันที่ 25: ผู้ตรวจการณ์เมเรอร์และคนงานของเขาใช้เวลาทั้งวันไปกับการขนก้อนหินออกจากเมืองทูราตอนใต้ พวกเขาหยุดพักค้างคืนที่เมืองนั้น

วันที่ 26: ผู้ตรวจการณ์เมเรอร์และคนงานออกเดินทางจากเมืองซึ่งเต็มไปด้วยแร่หินอย่างจากทูราตอนใต้ ไปยังสุสานอาเคตคูฟูหรือมหาพีระมิดแห่งกีซา พวกเขาพักค้างแรมในชีคูฟู (She-Khufu) เขตพื้นที่ปกครองซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมืองกีซา ที่มีพื้นที่จัดเก็บก้อนหินสำหรับการก่อสร้าง

วันที่ 27: ลงเรือ ณ ชีคูฟู ล่องเรือไปยังสุสานอาเคตคูฟูพร้อมก้อนหิน ค้างคืนที่สุสานอาเคตคูฟู

วันถัดมา เมเรอร์และคนงานกลับไปยังเหมืองหินเพื่อมานำหินชุดใหม่ไปส่ง

วันที่ 28: ออกเดินทางจากสุสานอาเคตคูฟูในตอนเช้า เดินทางขึ้นไปตามแม่น้ำเพื่อไปยังเมืองทูราตอนใต้

วันที่ 29: ผู้ตรวจการณ์เมเรอร์และคนงานของเขาใช้เวลาทั้งวันไปกับการขนก้อนหินออกจากเมืองทูราตอนใต้ พวกเขาหยุดพักค้างคืนที่เมืองนั้น

วันที่ 30: ผู้ตรวจการณ์เมเรอร์และคนงานของเขาใช้เวลาทั้งวันไปกับการขนก้อนหินออกจากเมืองทูราตอนใต้ พวกเขาหยุดพักค้างคืนที่เมืองนั้น

นอกจากนั้นแล้ว เนื้อหาบางส่วนของบันทึกยังเผยให้นักโบราณคดีทราบถึงหนึ่งในสถาปนิกผู้ออกแบบพีระมิดขนาดมหึมาแห่งนี้ องค์ชายอังค์ฮาฟ พระเชษฐาต่างมารดาของฟาโรห์คูฟูทรงทำหน้าที่เป็น “หัวหน้าผู้ควบคุมงานให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของฟาโรห์” หนึ่งในเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในม้วนเอกสารปาปิรุสระบุไว้ว่า “วันที่ 24: ผู้ตรวจการณ์เมเรอร์และคนงานของเขาใช้เวลาทั้งวันไปกับการขนย้าย (ข้อความขาดหาย) ร่วมกับกลุ่มผู้ที่มีตำแหน่งชั้นสูงและองค์ชายอังค์ฮาฟผู้ดูแลชีคูฟู”

การล่องเรือไปเมืองกีซา

โมเดล 3 มิติชิ้นนี้ถูกสร้างขึ้นโดยรีเบคาห์ มิราเคิล (Rebekah Miracle) โดยอิงข้อมูลมาจากแผนผังทางกายภาพและลักษณะเฉพาะของภูมิประเทศของอาณาจักรอียิปต์โบราณ ซึ่งมาร์ค เลห์เนอร์ (Mark Lehner) เป็นผู้สร้างขึ้นใหม่

วัสดุที่ใช้ในการสร้างมหาพีระมิดแห่งกีซาถูกส่งมาจากทั่วผืนดินอียิปต์ ไม่ว่าจะเป็นหินปูนจากเหมืองแร่หินในเมืองทูราซึ่งอยู่ใกล้กับกรุงไคโร, หินบะซอลต์จากเมืองไฟยูม, หินแกรนิตจากเมืองอัสวาน หรือทองแดงจากคาบสมุทรไซนาย ในช่วงการก่อสร้างพีระมิด มีการสร้างทางน้ำเทียมขึ้นในเมืองกีซา เพื่อให้วัสดุเหล่านี้ถูกขนส่งมาทางเรือได้ในจำนวนมาก รวดเร็ว และราบรื่นเท่าที่จะสามารถทำได้

นอกจากนั้น ทางน้ำเหล่านั้นยังถูกออกแบบขึ้นเพื่อทำให้เกิดน้ำท่วมในช่วงฤดูร้อน เพราะจะทำให้เรือสัญจรทางน้ำและขนส่งสินค้าไปยังสถานที่สร้างพีระมิดได้ง่ายขึ้น โดยบริเวณแรกที่น้ำจะท่วมคือ “ปากทะเลสาบแห่งคูฟู” (The Mouth of the Lake of Khufu) ซึ่งเป็นทางน้ำที่ทำหน้าที่เป็นประตูสู่ทะเลสาบภายในอีก 2 แห่ง ที่ตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่ก่อสร้าง บริเวณต่อมาคือ “ทะเลสาบแห่งคูฟู” (Lake of Khufu) ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามสถานที่ก่อสร้าง และบริเวณสุดท้ายที่น้ำจะท่วมคือ “ทะเลสาบขอบฟ้าแห่งคูฟู” (The Lake of the Horizon of Khufu) ซึ่งเป็นทางน้ำเทียมขนาดเล็กลงมาซึ่งอาจจะมีไว้เพื่อรองรับเรือขนาดเล็ก ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการสร้างเหมืองสำหรับผลิตก้อนหินที่ใช้ในการสร้างพีระมิดไว้ใกล้กับที่ตั้งของพีระมิดกีซา เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับคนงานและเพิ่มประสิทธิภาพของการก่อสร้าง

ฟันเฟืองในการสร้างพีระมิด

เมเรอร์ติดตามการจ่ายค่าแรงให้กับคนงานใต้การปกครองของเขาอย่างระมัดระวัง ในยุคอียิปต์โบราณยังไม่มีระบบเงินตราอย่างในปัจจุบัน ค่าแรงส่วนใหญ่ที่คนงานจะได้รับจึงเป็นธัญพืช โดยนายจ้างจะใช้ “การปันส่วน” เป็นวิธีพื้นฐานในการแจกจ่ายค่าแรง ดังนั้น ธัญพืชที่คนงานได้รับจึงมีปริมาณมากน้อยแตกต่างกันตามลักษณะงานและขั้นตำแหน่งของแต่ละบุคคล ในบันทึกของเมเรอร์ยังมีการเขียนถึงสวัสดิการด้านอาหารของแรงงานเอาไว้ ปกติแล้วเสบียงอาหารที่ถูกลำเลียงเข้ามาในเขตก่อสร้างจะมีขนมปังหมัก ขนมปังแผ่นแบน เนื้อสัตว์นานาชนิด ผลอินทผลัม น้ำผึ้ง ถั่วชนิดต่าง ๆ และเบียร์

นักวิชาการเห็นพ้องต้องกันมานานแล้วว่า มหาพีระมิดแห่งกีซาถูกสร้างขึ้นโดยแรงงานจำนวนมหาศาล ทว่า ในหมู่นักประวัติศาสตร์กลับมีการถกเถียงถึงสถานะของคนงานเหล่านั้นมาอย่างยาวนาน เนื่องจากมีนักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่า คนงานถูกใช้เป็นแรงงานทาส อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่พบในม้วนหนังสือทะเลแดงกลับขัดกับข้อสันนิษฐานนี้ เนื่องจากบันทึกการจ่ายค่าแรงอย่างละเอียดของเมเรอร์แสดงให้เห็นว่า คนงานที่มีส่วนในการสร้างพีระมิดของฟาโรห์คูฟูนั้น เป็นแรงงานคุณภาพที่ได้รับค่าตอบแทนจากความสามารถที่แต่ละคนมี

(ภาพบนและล่าง) ความสามารถในการทำหลายสิ่งพร้อมกันของชาวอียิปต์โบราณ การจดบันทึกลักษณะงานซ้ำ ๆ เดิม ๆ ของกลุ่มแรงงานที่เมเรอร์ดูแลลงในกระดาษปาปิรุสทำให้นักประวัติศาสตร์ได้ศึกษาข้อมูลเชิงลึกอันมีค่าเกี่ยวกับวิธีการก่อสร้างมหาพีระมิด ทว่า แทนที่ทีมสำรวจจะพบบันทึกที่รวบรวมเรื่องราวของเมเรอร์ไว้ในเอกสารเพียงม้วนเดียว พวกเขากลับพบบันทึกของเมเรอร์หลายฉบับในระหว่างที่ขุดค้นพื้นที่บริเวณวาดี อัล-จาร์ฟ บันทึกฉบับ A และ B เล่าถึงวิธีการจัดการกับการขนส่งก้อนหินไปยังเมืองกีซา ตามภาพที่ปรากฏบนงานประติมากรรมแบบนูนต่ำในรูป, บันทึกฉบับ C กล่าวถึงการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการเดินเรือ, บันทึกฉบับ D ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเฝ้าสังเกตการณ์ในพื้นที่รอบพีระมิดซึ่งเป็นที่ฝังพระศพของฟาโรห์คูฟู, บันทึกฉบับ E บรรยายถึงระเวลา 6 เดือนที่เมเรอร์และกลุ่มคนงานของเขาเดินทางข้ามทะเลแดงเพื่อทำหน้าที่ขนส่งแรงงาน อาหาร และทองแดงจากชายฝั่งหนึ่งไปยังอีกชายฝั่งหนึ่ง และบันทึกฉบับ H อธิบายถึงรายละเอียดที่สำคัญที่สุดอย่าง การจ่ายค่าแรงโดยใช้การปันส่วน เช่นการแจกจ่ายมะเดื่อจากตะกร้าในภาพตามลักษณะงานและขั้นตำแหน่งของแต่ละบุคคล สาเหตุที่บันทึกของเมเรอร์เผยให้เราทราบถึงความซับซ้อนในการสร้างพีระมิดได้ก็เป็นเพราะว่า กลุ่มแรงงานของเขามีบทบาทสำคัญในแผนการก่อสร้างหลายแผน

นอกจากการค้นพบกระดาษปาปิรุสอันแสนเปราะบางจะเผยข้อมูลเกี่ยวกับการขนส่งวัสดุในการสร้างพีระมิดและการจัดการแรงงานแล้ว แผ่นกระดาษอายุหลายพันปีเหล่านี้ยังมีข้อมูลที่สำคัญยิ่งกว่านั้น เพราะนอกจากเนื้อหาบันทึกของเมเรอร์จะถูกถ่ายทอดออกมาจากประสบการณ์ของผู้ที่ได้สัมผัสการสร้างพีระมิดโดยตรงแล้ว รายละเอียดต่าง ๆ ยังถูกเขียนขึ้นโดยหัวหน้าของหนึ่งในแรงงานกลุ่มหลักที่รับผิดชอบงานสำคัญซึ่งมีส่วนทำให้พีระมิดแห่งนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์ การค้นพบบันทึกโบราณเหล่านี้ทำให้นักอียิปต์วิทยาได้รับข้อมูลเชิงลึกอันมีค่าเกี่ยวกับวิธีการก่อสร้างมหาพีระมิด และได้ไขปริศนาของมหาพีระมิดแห่งกีซาผ่านการเรียนรู้รายละเอียดที่ค่อนข้างจะชัดเจนเกี่ยวกับขั้นตอนสุดท้ายที่ทำให้พีระมิดแห่งนี้เสร็จสมบูรณ์

เรื่อง โฮเซ มิเกล ปารา

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม ไขหนึ่งในปริศนาการสร้าง พีระมิด ! – เป็นเรื่องลึกลับและถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน

พีระมิด
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.