‘ขั้วโลกเหนือ’ ดินแดนที่ไร้แผนที่ ไร้เส้นทาง และไร้คำบอกเล่าจากผู้ใด ที่นั่น ความตายรอคอยในทุกย่างก้าว พายุหิมะที่บดบังทุกการมองเห็น หรือรอยแยกในแผ่นน้ำแข็งที่พร้อมจะกลืนกินทุกชีวิตลงสู่ห้วงมหาสมุทรอันเยือกเย็น
แต่มีชายคนหนึ่งที่มองเห็นความงามในความโหดร้ายนี้ โรเบิร์ต เพียร์รี (Robert Peary) ใช้เวลา 23 ปี ไล่ตามความฝันที่คนอื่นมองว่าเป็นเรื่องบ้าคลั่ง เขาไม่เพียงแค่ต้องการจะไปให้ถึงขั้วโลกเหนือ แต่ต้องการจะพิชิตมัน ท้าทายมัน และพิสูจน์ว่ามนุษย์สามารถยืนหยัดได้แม้ในดินแดนที่พระเจ้าเองก็ดูเหมือนจะทอดทิ้ง
เรื่องราวชีวิตของโรเบิร์ต เพียร์รี่
โรเบิร์ต เอ็ดวิน เพียร์รี เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 1856 ที่เมืองเล็ก ๆ ในรัฐเพนซิลเวเนีย ในครอบครัวธรรมดาที่ไม่ได้โดดเด่นอะไร เขาโตมาในครอบครัวที่มีแต่แม่เป็นผู้เลี้ยงดู หลังจากชาร์ล เพียร์รี่ ( Charles Peary) ผู้เป็นพ่อเสียชีวิตตั้งแต่เขาอายุเพียง 3 ขวบ
ชีวิตของเพียร์รี่เปลี่ยนไปเมื่อแม่ของเขา แมรี เพียร์รี่ (Mary Peary) ตัดสินใจย้ายครอบครัวไปอยู่ที่รัฐเมน ที่นี่เองที่เพียร์รี่ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติทั้งป่าเขาและทะเล เขาใช้เวลาว่างในการสำรวจชายฝั่งอันขรุขระของนิวอิงแลนด์ ปืนต้นไม้และเดินป่า กิจกรรมเหล่านี้หล่อหลอมให้เขาเป็นเด็กที่แข็งแรง อดทน และรักการผจญภัย
ความฉลาดและมุ่งมั่นของเพียร์รี่ปรากฏชัดตั้งแต่วัยเรียนเมื่อเขาได้เข้าศึกษาที่ Bowdoin College ในสาขาวิศวกรรมโยธา และสำเร็จการศึกษาในปี 1877 ด้วยคะแนนลำดับต้น ๆ ของชั้น
หลังจบการศึกษา เพียร์รี่สอบเข้ารับราชการในตำแหน่งวิศวกรโยธาแห่งกองทัพเรือสหรัฐ งานแรกของเขาคือการสำรวจเส้นทางสำหรับการขุดคลองนิการากัว ประสบการณ์นี้ฝึกฝนให้เขาคุ้นเคยกับการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย และเพิ่มพูนทักษะการสำรวจของเขา จนได้รับการยอมรับจากผู้บังคับบัญชา ว่าผู้นำที่มีทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่โดดเด่นกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน
จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเพียร์รี่ เริ่มต้นในปี 1886 เมื่อเขาได้อ่านบทความเกี่ยวกับกรีนแลนด์ บทความนั้นจุดประกายความสนใจในดินแดนน้ำแข็งเป็นอย่างมาก จนเขาตัดสินใจลาพักร้อน ใช้เงินเก็บจัดทริปการสำรวจกรีนแลนด์ครั้งแรกกับเพื่อนจากเดนมาร์ก ซึ่งพวกเขาใช้เวลาสามสัปดาห์ สามารถเดินเท้าเข้าไปในดินแดนน้ำแข็งได้ไกลถึง 100 ไมล์
ผลจากการเดินทางในครั้งนั้นได้สร้างแรงบันดาลใจและความฝันที่จะเป็นนักสำรวจขั้วโลกเหนือของเพียร์รี่ เขาออกเดินทางอีกหลายครั้ง หนึ่งในการสำรวจที่สร้างชื่อให้เขา คือการสำรวจกรีนแลนด์ระหว่างปี 1891 -1892 เพียร์รี่ได้นำทีมสำรวจเดินทางจากจุดเริ่มต้น ที่ตอนใต้ของเกาะ ไปยังจุดหมายที่ตอนเหนือกรีนแลนด์ การเดินทางนี้มีระยะทางไปกลับรวม 1,300 ไมล์ และเขาก็สามารถพิสูจน์ได้ว่ากรีนแลนด์เป็นเกาะ ไม่ได้เป็นแผ่นดินที่เชื่อมกับขั้วโลกเหนืออย่างที่หลายคนคิด
แมทธิว เฮนสัน ผู้ช่วยที่ไม่อาจมองข้าม
การสำรวจในครั้งนั้นประสบความสำเร็จและสร้างชื่อให้กับเพียร์รี่เป็นอย่างมาก ในฐานะนักสำรวจมืออาชีพ ความสำเร็จส่วนหนึ่งของเพียร์รี่ มาจากการทำงานร่วมกับแมทธิว เฮนสัน (Matthew Henson) ผู้ช่วยคนสนิท ชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ซึ่งต่อมาเฮนสันจะได้รับการบันทึกชื่อในฐานะชายผิวดำคนแรกที่สามารถพิชิตขั้วโลกเหนือ
เฮนสันได้กลายเป็นส่วนสำคัญของทีมสำรวจ ด้วยความสามารถในการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมอย่างรวดเร็วและคล่องแคล่ว สามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชาวอินูอิต จนได้รับการยอมรับและความไว้วางใจ ซึ่งอาจมากกว่าตัวของเพียร์รี่เองเสียด้วยซ้ำ นอกจากนั้นเฮนสันยังมีความสามารถในการประกอบและซ่อมแซมเลื่อนหิมะ รวมไปถึงทักษะในการควบคุมและดูแลสุนัขลากเลื่อน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการเดินทาง
ตลอด 23 ปีของการสำรวจอาร์กติก เฮนสัน เดินทางร่วมกับเพียร์รี่ทุกครั้ง เผชิญกับอันตรายและความยากลำบากเคียงบ่าเคียงไหล่กัน ในการเดินทางพิชิตขั้วโลกเหนือครั้งสุดท้าย เฮนสัน ก็เป็นหนึ่งใน 6 คน ที่ไปถึงจุดสุดท้าย และด้วยความที่เขาเชี่ยวชาญที่สุดในกลุ่ม เขามักจะเดินนำขบวน ซึ่งอาจทำให้เขาเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้ยืนอยู่ ณ จุดขั้วโลกเหนือ
เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
ในการเดินทางสำรวจขั้วโลกในปี 1898 หลังจากที่เรือของคณะสำรวจออกจากท่าเรือนิวยอร์ก เรือสำรวจของเพียร์รี่ก็ชนเข้ากับแผ่นน้ำแข็งขณะแล่นผ่านช่องแคบสมิธ ด้วยความที่ไม่ใช่เรือใหญ่และมีเครื่องยนต์ที่แข็งแรงพอ ทำให้พวกเขาต้องอยู่ติดอยู่บนเรือ ท่ามกลางอากาศติดลบและมีหิมะตกหนักอยู่นานหลายสัปดาห์
เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เพียร์รี่โดนหิมะกัดอย่างรุนแรงจนต้องสูญเสียนิ้วเท้าไป 8 นิ้ว การฟื้นตัวจากการบาดเจ็บนี้ใช้เวลานานหลายเดือน เขาต้องทำกายภาพบำบัดและหัดเดินใหม่ แต่เหตุการณ์นี้ไม่ได้ทำให้เขาล้มเลิกความฝัน กลับกันมันทำให้เขาเข้าใจความสำคัญของการเตรียมตัวและการป้องกันตัวจากสภาพอากาศที่โหดร้ายมากขึ้น
การสำรวจขั้วโลกเหนือของเขายังคงดำเนินต่อไปอีกหลายครั้ง จนมาถึงความพยายามครั้งสุดท้ายในปี 1908 ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เพียร์รี่รู้แล้วว่าเขาควรจะเตรียมตัวและรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร ด้วยการสนับสนุนจากธีโอดอร์ โรสเวลต์ ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ครั้งนี้เพียร์รี่ได้รับวันลาพักร้อนยาว 3 ปี พร้อมกับเรือ SS Roosevelt เรือกลไฟลำใหม่ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับการเล่นในทะเลน้ำแข็ง เพื่อใช้ในภารกิจนี้โดยเฉพาะ
ในเดือนกรกฎาคม 1908 โรเบิร์ต เพียร์รี่ เดินทางจากท่าเรือนิวยอร์ก พร้อมด้วยทีมงานชาวอเมริกันและชาวอินุอิตที่ชำนาญเส้นทาง ไปถึงแกรนต์ แลนด์ (Grant Land) แคนาดา โดยใช้วิธีการแบ่งคนออกเป็นกลุ่ม ๆ ไว้คอยส่งเสบียงไปยังจุดต่าง ๆ เพื่อให้กลุ่มหลักที่นำโดยเพียร์รี่ สามารถเดินทางได้อย่างต่อเนื่องและเร็วที่สุด ด้วยวิธีการนี้ทำให้กลุ่มหลักสามารถเดินทางไปถึงละติจูด 87°6′ เหนือ ห่างจากขั้วโลก 176 ไมล์ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไกลที่สุดที่ใครนักสำรวจในยุคนั้นเคยไปถึง
จนมาถึงวันที่ 1 มีนาคม 1909 คณะเดินทางชุดสุดท้ายที่ประกอบไปทีมงาน 25 คนและสุนัข 133 ตัว เดินทางออกจากแหลมโคลัมเบีย (Cape Columbia) ไปถึงละติจูด 88° เหนือ ที่นั่นเอง คณะสนับสนุนชุดสุดท้ายได้หันหลังกลับ ปล่อยให้เพียร์รี่ เฮนสัน ชาวอินุอิต 4 คน และสุนัข 40 ตัว มุ่งหน้าไปยังขั้วโลกเหนือ ด้วยอุณหภูมิที่ติดลบกว่า 50 องศา ผ่านแผ่นน้ำแข็งที่แตกร้าวตลอดเส้นทาง จนกระทั่งวันที่ 6 เมษายน 1009 พวกเขาก็เดินทางมาถึงละติจูด 90° เหนือ หรือขั้วโลกเหนือเป็นที่สำเร็จ ซึ่งถือเป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่เดินทางไปถึงขั้วโลกเหนือ
อย่างไรก็ตามความสำเร็จของเพียร์รี่ก็กลายเป็นประเด็นถกเถียงในเวลาต่อมา เมื่อนักวิชาการหลายคนตั้งข้อสงสัยว่าเกี่ยวกับความแม่นยำในการคำนวนพิกัด และความเร็วในการเดินทาง ที่เขาอ้างว่าทำได้ถึงวันละ 25 ไมล์ในช่วงสุดท้าย ซึ่งเร็วผิดปกติสำหรับการเดินทางในสภาพอากาศเช่นนั้น แม้จะมีข้อถกเถียง แต่ในปี 1911 รัฐสภาสหรัฐก็ได้รับรองความสำเร็จของเขาอย่างเป็นทางการ และเลื่อนยศให้โรเบิร์ต เพียร์รี่เป็นนายพลแห่งกองทัพเรือสหรัฐ ในวัย 55 ปี
ผลงานของเพียร์รี่ได้สร้างคุณูปการสำคัญต่อวงการการสำรวจ ทั้งในแง่ของการทำแผนที่เขตอาร์กติก การบันทึกข้อมูลสถาพภูมิประเทศ และการพัฒนาเทคนิคการเดินทางที่ได้กลายเป็นต้นแบบให้กับนักรวจรุ่นต่อมา นับเป็นการวางรากฐานสำคัญสำหรับการศึกษาและการสำรวจขั้วโลกเหนือในปัจจุบัน
สืบค้นและเรียบเรียง
อรณิชา เปลี่ยนภักดี
ที่มา
https://www.smithsonianmag.com