วาสโก ดา กามา นักเดินเรือจากยุคทองแห่งการสำรวจ ผู้ค้นพบอินเดีย และเชื่อมโลกตะวันออกกับตะวันตก

วาสโก ดา กามา นักเดินเรือจากยุคทองแห่งการสำรวจ ผู้ค้นพบอินเดีย และเชื่อมโลกตะวันออกกับตะวันตก

วาสโก ดา กามา จากกัปตันเรือสู่แม่ทัพที่เปิดศักราชใหม่ของการเดินทะเล ผู้สร้างประวัติศาสตร์แห่งความมั่งคั่งให้โปรตุเกส

วาสโก ดา กามา คือกัปตันเรือชาวโปรตุเกสที่อยู่ในยุคเดียวกับ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส หากผลงานชิ้นโบว์แดงของ โคลัมบัส เป็นการค้นพบทวีปอเมริกา วาสโก ดา กามา ก็มีผลงานที่ทัดเทียมหรือไม่น้อยหน้ากันกับการค้นพบ อินเดีย

วาสโก ดา กามา และ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ความตั้งใจ กับ ความบังเอิญ

แม้ว่าเกียรติยศและชื่อเสียงของ วาสโก ดา กามา กับ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส จะดูสูสีกัน ในฐานะสองสุดยอดนักเดินเรือของโลก แต่บางคนมองว่า วาสโก ดา กามา เหนือกว่า โคลัมบัส ด้วยซํ้า เนื่องจาก โคลัมบัส พบทวีปใหม่อย่างอเมริกาโดยบังเอิญ ช่วงขึ้นฝั่งเขายังเข้าใจผิดคิดว่า จุดที่เดินทางมาถึงเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศอินเดียหรือจีนอยู่เลย

ทั้งนี้ จุดหมายแรกที่ โคลัมบัส เดินทางออกจากท่าเรือแคว้นกัสติยาของสเปนคือการเดินทางไปดินแดนตะวันออกไกลหรือทวีปเอเชีย ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มั่งคั่งและอุดมสมบูรณ์ แต่ช่วงเวลานั้นยังไม่มีชนชาติไหนสามารถค้นพบเส้นทางเดินเรือจากยุโรปไปถึงเอเชียได้ (การเดินทางจากยุโรปไปเอเชียทางบกไม่เป็นที่นิยม เพราะใช้เวลานานและมีความอันตรายมาก)

ขณะที่ วาสโก ดา กามา ออกเดินเรือด้วยความมุ่งมั่น รวมถึงการวางแผนเป็นอย่างดี จุดหมายของเขาชัดเจนมากคือต้องไปให้ถึง อินเดีย ให้ได้ ซึ่งสิ่งที่เอื้อหรือปัจจัยทางอ้อมที่มีส่วนทำให้ วาสโก ดา กามา ค้นพบประเทศอินเดียเป็นคนแรกก็คือ สนธิสัญญาทอร์เดซิลลาส (ตอร์เดชิยา) ที่เกิดขึ้นในยุคแห่งการสำรวจและค้นพบดินแดนใหม่ในปี ค.ศ.1494 เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามและความขัดแย้ง สเปน กับ โปรตุเกส จึงมีการตกลงแบ่งพื้นที่การเดินเรือทั่วโลกใหม่ โดยสองมหาอำนาจทางการเดินเรือจากยุโรปในยุคนั้นอย่าง ตกลงกันว่า สเปน จะเดินเรือไปทางตะวันตก ส่วน โปรตุเกส ต้องเดินเรือไปทางตะวันออก เพื่อหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ที่ทับซ้อนกันในมหาสมุทร

ดังนั้น สนธิสัญญาที่หลายคนขนานนามว่า สนธิสัญญาแบ่งโลกนี้ ได้นำพาให้ โคลัมบัส ต้องคิดเส้นทางที่ซับซ้อนด้วยการเดินทางอ้อมไปทางทิศตะวันตกเพื่อเดินทางไปเอเชีย ก่อนจะพบโลกใหม่อย่างทวีปอเมริกาแบบไม่คาดคิดมาก่อน ด้าน วาสโก ดา กามา เองที่มีโจทย์ในการพิชิตตะวันออกก็ใช้ความสามารถในการเดินเรือทั้งหมดที่มี ฝ่ามรสุมผ่านแหลมกู๊ดโฮป จนไปเทียบท่าในอินเดียได้สำเร็จ

ผู้บุกเบิกเส้นทางใหม่ที่เชื่อมสองทวีป

วาสโก ดา กามา เกิดในครอบครัวคนฐานะดีในโปรตุเกส ปีเกิดของเขาถูกบันทึกไว้ 2 ปี คือ ค.ศ.1460 กับ ค.ศ.1469 ซึ่งยังหาข้อสรุปในทางประวัติศาสตร์ไม่ได้ แต่ที่ชัดเจนคือ วาสโก ดา กามา เกิดมาในช่วงท้ายรัชสมัยของ พระเจ้าเฮนรี่ ผู้สร้างสถาบันการเดินเรือในโปรตุเกส โดยมุ่งหวังจะเปิดศักราชการล่าอาณานิคมและค้นพบแผ่นดินใหม่ทางตะวันออกที่หลายคนเรียกว่า หมู่เกาะอินดีส

ต่อมาถึงยุคของ พระเจ้ามานูเอล ที่ 1 พระองค์ยังคงต้องการสานต่อความสำเร็จทางการเดินเรือของโปรตุเกส ส่วน วาสโก ดา กามา เติบโตมาเป็นหนุ่มการศึกษาดี มากความสามารถ เขาเริ่มศึกษาเรื่องการเดินเรือ โดยได้แรงบันดาลใจจาก บาโทโลมิว ไดแอส นักเดินเรือชาวโปรตุเกสผู้พิชิต แหลมกู๊ดโฮป ใน ค.ศ.1488 ซึ่งเดิมทีแหลมที่ยื่นออกไปทางด้านมหาสมุทรแอตแลนติกไม่ไกลจากเคปทาวน์ของประเทศแอฟริกาใต้แห่งนี้ เป็นจุดหมายสำคัญในการเดินเรือไปตะวันออกของชาวยุโรป ซึ่งโปรตุเกสเชื่อว่าแหลมแห่งนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่จะพาพวกเขาลงได้ไปแอฟริกา รวมถึงบายหน้าไปทางทิศตะวันออกจนถึงเอชียได้

ก่อนหน้านี้ ไดแอส ตั้งชื่อ แหลมกู๊ดโฮป ว่าแหลมแห่งพายุ เพราะขณะที่ไปถึง เขาต้องเสียเรือไป 1 ลำ กับลูกเรือจำนวนมากในการฝ่าพายุจนมาถึงจุดหมาย แต่ต่อมา พระเจ้าจอห์นที่ 2 กษัตริย์แห่งโปรตุเกสได้เปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็นมงคลยิ่งขึ้นคือ แหลมกู๊ดโฮป ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้โปรตุเกสได้ตั้งสถานีการค้าระหว่างยุโรปกับแอฟริกา และกอบโกยผลประโยชน์จากสินค้าของกาฬทวีปอยู่หลายปี

ทว่า เมื่อทรัพยากรในแอฟริกาตะวันตกเริ่มหมด พระเจ้ามานูเอล ที่ 1 ได้ตัดสินใจแต่งตั้งให้ วาสโก ดา กามา เป็นกัปตันนำกองเรือ 4 ลำ และลูกเรือประมาณ 170 คน (บางรายงานระบุว่ามากถึง 260 คน) ออกเดินทางจากท่าเรือกรุงลิสบอนมุ่งหน้าสู่อินเดียเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 1497

วาสโก ดา กามา ใช้ความสามารถในการเดินเรือทั้งการดูทิศทางลม นํ้าขึ้นนํ้าลง กระแสนํ้าทะเล และ ระยะของเส้นรุ้ง เพื่อพากองเรือของเขาไปให้ถึงจุดหมาย วาสโก ดา กามา เดินทางตามรอย ไดแอส แต่ใช้วิธีให้ด้วยการแล่นเรืออ้อมทวีปแอฟริกา แม้ว่าจะเจอพายุถล่มหนัก แต่การแล่นเรือเป็นฟันปลา การล่องเรือออกทะเลให้ห่างจากชายฝั่งเพื่อเลี่ยงหินโสโครก รวมถึงเพื่อได้รับแรงส่งจากลมทะเลเต็มที่ ก็ทำให้กองเรือของเขามาถึง แหลมกู๊ดโฮป ได้ภายใน 96 วัน

เมื่อเดินทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮปต่อไปจนถึงมหาสมุทรอินเดีย วาสโก ดา กามา แวะพักซ่อมแซมเรือที่ เมืองมาลินดี และได้คนนำทางชาวอาหรับรายหนึ่งแนะนำจนสามารถเดินทางมาถึง ชายฝั่งมาลาบาร์ เมืองคาลิคัต ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย ในสมัยที่อินเดียยังตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโมกุล ในวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1498 ใช้เวลาไป 347 วัน กับการบุกเบิกเส้นทางเดินเรือจากยุโรปมาถึงเอเชีย และเป็นผู้ค้นพบประเทศอินเดียแห่งทวีปเอเชีย

การค้นพบ อินเดีย ของ วาสโก ดา กามา ส่งผลให้เรือจำนวนมากของยุโรปหลั่งไหลจากตะวันออกไปสู่ตะวันตก ทั้งสองทวีปได้แลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมกัน รวมถึงทำให้โปรตุเกสเป็นชนชาติยุโรปชนชาติแรกในการครอบครองและทำการค้าในบริเวณเอเชียตะวันออก และโปรตุเกสก็เป็นชาติแรกที่เดินทางเข้าไปในหลายประเทศฝั่งเอเชีย อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย และ ญี่ปุ่น เป็นต้น

จากกัปตันเรือสู่นายพลกองทัพเรือ

เมื่อเดินทางถึงเมือง เมืองคาลิคัต วาสโก ดา กามา สร้างศิลาเพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าเขาคือชาวยุโรปคนแรกที่ล่องเรือมาถึงอินเดีย หลังจากจัดการเจรจากับเมืองต่างๆในอินเดีย รวมถึงทำข้อตกลงทางการค้ากับเจ้าเมือง ขากลับ วาสโก ดา กามา สั่งให้ลูกเรือขนสินค้าและทรัพย์สมบัติที่ได้ ไม่ว่าจะเป็น พริกไทย ผ้าไหม เครื่องเทศต่างๆ ทองคำ และเงิน ขึ้นบนเรือที่เหลืออยู่ 3 ลำจนเต็มความจุ ก่อนจะเดินทางกลับโปรตุเกส แต่กว่าจะถึงบ้านเกิด คณะของเขาก็ต้องใช้เวลานานเกือบ 1 ปี มีลูกเรือเสียชีวิตไปจำนวนมาก พวกเขาต้องรอนแรมอยู่บนเรือโดยไม่เห็นฝั่งนานกว่า 3 ร้อยวัน สุดท้าย วาสโก ดา กามา ก็พาเรือ 1 ลำกลับมาเทียบท่าที่โปรตุเกสได้สำเร็จ ซึ่งแม้จะเหลือเหลือเพียงลำเกียว แต่สิ่งของและทรัพย์สินที่ วาสโก ดา กามา กับลูกเรือขนมาก็มูลค่ามหาศาล คุ้มกับสิ่งที่ พระเจ้ามานูเอล ที่ 1 ลงทุนไป และเพียงพอที่จะทำให้ วาสโก ดา กามา กลายเป็นมหาเศรษฐี

โปรตุเกส กอบโกยความมั่งคั่งด้วยการตั้งสถานีทางการค้าในอินเดีย ทว่าไม่นานยุคแห่งความรุ่งเรืองก็มีอุปสรรค เมื่อพวกเขาถูกต่อต้านจากชาวอาหรับที่เสียผลประโยชน์ทางการค้า การถูกแย่งชิงเครื่องเทศไป และกลัวเรื่องการเข้ามาเผยแพร่ศาสนา กองกำลังชาวอาหรับจึงดักปล้นเรือของโปรตุเกส รวมถึงสังหารชาวโปรตุเกสไปจำนวนหนึ่ง แม้ว่ากองเรือของโปรตุเกสจะมีปืนใหญ่ที่ได้เปรียบชาวอาหรับและอินเดีย แต่พวกเขาก็ยังไม่สามารถกำราบกองกำลังอาหรับและอินเดียได้เบ็ดเสร็จ

ขณะที่กัปตันเรือชาวโปรตุเกสหลายคนที่ตามหลัง วาสโก ดา กามา เข้าไปในอินเดียก็สร้างปัญหาด้วยการขัดแย้งกับคนท้องถิ่น บางรายเมื่อมีปัญหาก็หนีกลับยุโรป แต่กองกำลังชาวอาหรับตามไปไม่ได้ จึงหันมาโจมตีชาวโปรตุเกสที่ตกค้างอยู่ในอินเดียแทน นำไปสู่เหตุการ์ณการบุกสังหารคนโปรตุเกสกว่า 40 ชีวิตในคราวเดียว ซึ่งทำให้กษัตริย์โปรตุเกสพิโรธ พระองค์จึงทรงมอบหมายให้ วาสโก ดา กามา เป็นนายพลกองทัพเรือ นำเรือ 20 ลำ กลับไปจัดการกับกองกำลังอาหรับและชนพื้นเมืองอินเดียที่ต่อต้านโปรตุเกส

ระหว่างทาง วาสโก ดา กามา สามารถยึดเรือแสวงบุญของชาวอาหรับได้ จึงสั่งจุดไฟเผาพร้อมผู้โดยสารบนเรือกว่า 300 คน เพื่อเป็นการแก้แค้นให้ชาวโปรตุเกสที่ตายในอินเดียจากเหตุสังหารหมู่ จากนั้นเขาได้บุกโจมตี เมืองคาลิคัต ด้วยการให้กองเรือระดมยิงปืนใหญ่ถล่มจนผู้ครองเมืองยอมแพ้ ซึ่งต่อมาโปรตุเกสได้ตั้งกฏว่า เรืออินเดีย กับ เรืออาหรับ จะต้องขออนุญาตจากทางการโปรตุเกสก่อน จึงจะสามารถล่องเรือในบริเวณมหาสมุทรอินเดียได้

เมื่อสถานการณ์สงบ วาสโก ดา กามา กลับไปโปรตุเกสอีกครั้ง ก่อนจะกลับมาอินเดียเป็นครั้งที่สามเพื่อรับตำแหน่งอุปราชแห่งอินเดียในปี 1524 แต่เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม วาสโก ดา กามา ได้ล้มป่วยและเสียชีวิตที่เมืองโคชิอย่างกะทันหัน ศพของเขาถูกนำขึ้นเรือกลับไปโปรตุเกส พร้อมทำพิธีอย่างยิ่งใหญ่ ในฐานะนักเดินเรือผู้ทำให้โปรตุเกสกลายเป็นชาติมหาอำนาจของโลกในยุคหนึ่ง

ส่วนความรู้ของ วาสโก ดา กามา ในการเดินเรือก็ถูกยกย่อยว่ามีคุณค่าไม่แพ้สมบัติหรือสินค้าที่เขานำกลับประเทศ บันทึกการเดินทางของ วาสโก ดา กามา ได้ชื่อว่าเป็นพื้นฐานในการสร้างเส้นทางการค้าในทะเลที่กว้างไกลของทวีปยุโรป และวิธีการเดินเรือของเขาก็นำมาซึ่งวิทยาการใหม่ๆมากมายที่มีประโยชน์กับชาวเรือทั่วโลก จวบจนถึงปัจจุบัน

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ขอบคุณภาพจาก Nationalgeographic.com

ที่มา

https://en.wikipedia.org/wiki/Vasco_da_Gama

https://www.history.com/this-day-in-history/vasco-da-gama-reaches-india

https://www.bbc.co.uk/history/historic_figures/da_gama_vasco.shtml

อ่านเพิ่มเติม คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส จากผู้สร้างข้อพิพาทสนธิสัญญาทอร์เดซิลลาส สู่ฆาตกรและสัญลักษณ์การเหยียดผิว

Recommend