คืนวันศุกร์ที่ 3 เดือนธันวาคม ค.ศ. 1926 เวลา 21:45 น. อกาธา คริสตี (Agatha Christie) ดาวรุ่งดวงใหม่แห่งวงการนวนิยายสืบสวนสอบสวนเก็บของใส่กระเป๋าเดินทางขนาดเล็ก หยิบใบขับขี่ ภาพถ่ายของลูกสาว และเงินสดจำนวนมาก ก่อนจะตรงดิ่งไปยังรถยนต์ของเธอและออกเดินทางท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บยามค่ำคืนในบาร์กเชอร์ (Berkshire) ประเทศอังกฤษ
เช้าวันรุ่งขึ้น รถยนต์ของคริสตีถูกพบจอดทิ้งไว้ในเหมืองชอล์ก โดยกระเป๋าเดินทางและเสื้อโค้ทขนสัตว์ของเธอยังอยู่ภายในรถ พร้อมกับไฟหน้ารถที่ถูกเปิดทิ้งไว้ แต่กลับไร้ร่องรอยของนักเขียนวัย 36 ปีคนนี้
การตามหา อกาธา คริสตี กินเวลาถึง 11 วัน จนกลายเป็นเหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจจากสื่อทั่วโลก พร้อมกับมีข่าวพาดหัวอื้อฉาวไม่เว้นวัน นอกจากนี้นักสืบพลเมืองกว่า 15,000 คนยังร่วมออกตามหานักเขียนชื่อดังคนนี้ทั่วชนบทของอังกฤษอีกด้วย
ทฤษฎีว่าด้วยการหายตัวไปอย่างลึกลับของ อกาธา คริสตี มีตั้งแต่การฆ่าตัวตาย การฆาตกรรม การตกอยู่ในภาวะสติแตก ไปจนถึงการหลอกลวงสายตาประชาชนเพื่อสร้างกระแส ในตอนนั้นคริสตีเผยแพร่งานเขียนออกมาแล้วเป็นจำนวน 6 เล่มในระยะเวลา 6 ปี และได้รับความสำเร็จในระดับหนึ่งแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง หนังสือพิมพ์ Daily Mail พาดหัวข่าวการหายตัวไปของเธอว่า “ปริศนานักเขียนสาวผู้หายตัวไป” (“Mystery of woman novelist’s disappearance”)
ในวันที่ 15 ธันวาคม คริสตีถูกพบที่โรงแรมชื่อ Swan Hydropathic Hotel ในเมืองฮาร์โรเกต (Harrogate) ซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 220 ไมล์ เธอเช็คอินเข้าพักโรงแรมภายใต้นามแฝง และดูเหมือนจะมีอาการสูญเสียความทรงจำ ขณะกำลังนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ที่พาดหัวข่าวการหายตัวไปของเธอ เมื่อสามีของคริสตีเดินทางไปถึงโรงแรมกลับพบว่าคริสตีจำเขาไม่ได้ เธอเพียงรู้สึกคุ้นหน้าเท่านั้น ทั้งคู่จึงนั่งรับประทานมื้อเย็นด้วยกันท่ามกลางบรรยากาศกระอักกระอ่วน ในระหว่างที่นักข่าวนั่งจดบันทึกเพื่อเตรียมพาดหัวข่าวในวันถัดไป
“ปริศนานักเขียนผู้หายตัวไปคลี่คลายแล้ว” (“The Missing Novelist Mystery Solved”) คือข้อความที่พาดหัวข่าวหนึ่งระบุไว้ แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ เพราะใครจะไปนึกว่าอีกหนึ่งศตวรรษถัดมา นักเขียนชีวประวัติและนักสืบหลายคนจะยังคงพยายามไขปริศนาที่มีอายุกว่าร้อยปีนี้ว่า เหตุใดนักเขียนชื่อดังของโลกจึงหายตัวไปนานถึง 11 วัน ในปี ค.ศ. 1926 กันแน่?
อกาธาแต่งงานกับอาชิบัลด์ คริสตี (Archibald Christie) อดีตนักบินในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งผู้หล่อเหลามาเป็นเวลานานถึง 12 ปี ทั้งคู่มีลูกสาววัย 7 ขวบ ชื่อ โรซาลินด์ (Rosalind) หาก แอร์กูล ปัวโรต์ (Hercule Poirot) ตัวละครนักสืบผู้เฉลียวฉลาดที่คริสตีสร้างขึ้นมา ได้เข้ามาสืบคดีนี้ เขาจะตั้งข้อสงสัยในตัวสามีของคริสตีอย่างแน่นอน
เพราะแม้อาชิบัลด์จะยืนยันว่าทั้งคู่มีความสุขดีกับชีวิตแต่งงาน แต่สิ่งที่ทำให้นักสืบเริ่มตั้งข้อสงสัยในตัวเขา จากที่เคยมองว่าเขาเป็นทั้งสุภาพบุรุษและเป็นวีรบุรุษสงคราม ก็คือคำให้การของอาชิบัลด์ที่เผยว่าคริสตีได้เขียนจดหมายทิ้งไว้ แต่เขาทำลายจดหมายนั้นไปเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม อาชิบัลด์มีพยานยืนยันว่าในช่วงสุดสัปดาห์นั้นเขาอยู่ที่บ้านเพื่อน แต่เขาไม่ได้แจ้งตำรวจว่าการไปเยี่ยมเพื่อนครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อร่วมงานปาร์ตี้ฉลองการหมั้นหมายของเขากับ แนนซี นีล (Nancy Neele) ว่าที่เจ้าสาวคนใหม่ที่ทั้งสาวและสวยกว่าคริสตี
ปรากฏว่าอกาธาทราบเรื่องที่สามีนอกใจอยู่แล้ว แถมทั้งคู่ยังมีปากเสียงกันในวันเดียวกับที่เธอหายตัวไปอีกด้วย ในหนังสือชีวประวัติของอกาธาที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1977 เธอได้อ้างคำพูดของอาชิบัลด์ว่า “ผมตกหลุมรักแนนซี และผมอยากให้คุณหย่ากับผมโดยเร็วที่สุด” แต่แน่นอนว่าสามีของอกาธาไม่ได้เล่าเรื่องนี้ให้ตำรวจฟัง
นักเขียนชีวประวัติหลายคนตั้งคำถามเดียวกันว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่คริสตีอาจจะโกรธแค้นเรื่องชู้รักของสามีและอับอายเรื่องปาร์ตี้เฉลิมฉลองการหมั้นหมายนี้ เธอจึงเธอวางแผนขัดขวางเส้นทางรักของทั้งสองโดยจัดฉากให้สามีถูกมองว่าเป็นฆาตกร การหายตัวไปของเธอที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะเจาะบีบบังคับให้อาร์ชิบัลด์ต้องยกเลิกการเฉลิมฉลองและเร่งรีบเดินทางกลับ ก่อนจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องแสร้งทำเป็นว่าชีวิตแต่งงานของเขามีความสุขดีเหมือนอย่างที่อกาธาต้องการมาโดยตลอด
แผนการอันซับซ้อนจากทฤษฎีที่หนึ่งต้องอาศัยความเฉียบขาดและความแน่วแน่สูง ซึ่งเมื่อคำนึงถึงสภาพจิตใจของคริสตีในช่วงเกิดเหตุก็อาจกล่าวได้ว่ามีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจากปี ค.ศ. 1926 เป็นปีที่ไม่ใจดีกับอกาธานัก แม่ของเธอเสียชีวิต ชาร์ล็อตต์ผู้เป็นเพื่อนสนิทของเธอย้ายไปอยู่ที่อื่น หนำซ้ำผู้เป็นสามีก็กลับใช้เวลาอยู่ต่างประเทศแทนที่จะคอยอยู่ข้าง ๆ เพื่อช่วยเธอก้าวข้ามความสูญเสีย
“เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ฉันป่วยหนักขนาดนั้น” คริสตีเขียนในหนังสือชีวประวัติของเธอ โดยเธออ้างว่าช่วงก่อนเกิดเหตุเธอเอาแต่ร้องห่มร้องไห้ มีอาการหลงลืมและนอนไม่หลับ ซึ่งเป็นสัญญาณเริ่มต้นของภาวะสติแตก (nervous breakdown) ในคืนที่เธอหายตัวไป คริสตีเขียนจดหมายถึงชาร์ล็อตต์ว่า เธอ “ต้องออกไปจากที่นี่” เพราะ “มันไม่ยุติธรรมเลย”
หนังสือชีวประวัติที่คริสตีเขียนไม่มีการเล่าถึงการหายตัวไปของเธอโดยตรง ตัวคริสตีเองก็เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ต่อสาธารณชนเพียงครั้งเดียวเพื่อปกป้องสิทธิ์ของตัวเอง ซึ่งก็คือในช่วงการหย่าร้างที่ยุ่งเหยิงของเธอกับสามี โดยเธอเผยในสัมภาษณ์กับ The Daily Mail ว่า “ฉันรู้สึกว่าฉันไม่สามารถอยู่อย่างนั้นต่อไปได้อีกแล้ว คืนเกิดเหตุฉันออกจากบ้านด้วยความเครียดอย่างหนัก พร้อมทั้งตั้งใจจะทำบางสิ่งบางอย่างที่สิ้นหวัง”
แม้ว่า “สิ่งที่สิ้นหวัง” อาจสื่อเป็นนัยถึงการพยายามฆ่าตัวตาย แต่คริสตีก็ยืนยันหนักแน่นว่าไม่ใช่ เพราะในยุคนั้น การพยายามฆ่าตัวตายเป็นทั้งการทำบาปและการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลให้เธอต้องสูญเสียสิทธิในการเลี้ยงดูลูกสาวไป นักเขียนชื่อดังเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “รถฉันชนกับอะไรบางสิ่งแล้วก็หยุดกะทันหัน ฉันถูกเหวี่ยงไปกระแทกพวงมาลัยและศีรษะของฉันก็ชนกับอะไรสักอย่าง จนถึงตอนนั้น ฉันยังคงเป็นนางคริสตีอยู่” แต่หลังจากนั้นน่ะเหรอ? คริสตีอ้างว่าแรงกระแทกทำให้เธอสูญเสียความทรงจำชั่วคราว
เมื่อ ลอรา ทอมป์สัน (Laura Thompson) นักเขียนชีวประวัติชาวอังกฤษ ได้เดินทางไปยังสถานที่ที่คริสตีจอดรถทิ้งไว้ เธอก็เกิดความเชื่อมั่นในระดับหนึ่งว่านักเขียนชื่อดังคนนี้พยายามฆ่าตัวตาย “มันเป็นสถานที่ที่ค่อนข้างน่ากลัวและชวนให้รู้สึกหลอน มีน้ำล้อมรอบทุกด้าน แถมยังตั้งอยู่กลางที่ที่ห่างไกลจากผู้คนด้วยค่ะ” ทอมป์สันกล่าว ส่วนรถของอกาธาได้รับความเสียหายแต่ยังใช้งานได้ และยังมีน้ำมันอยู่เต็มถัง
ถ้าคริสตีสูญเสียความทรงจำไปหลังจากเหตุการณ์นั้น ใครกันล่ะที่เป็นคนเดินไปสถานีรถไฟ ซื้อตั๋วไปยังเมืองฮาร์โรเกต (Harrogate) และเช็คอินเข้า Swan Hydropathic Hotel?
คริสตีอ้างว่าเธอเป็นนักเดินทางลึกลับจากเคปทาวน์ (Cape Town) ประเทศแอฟริกาใต้ และเช็คอินเข้าพักที่โรงแรมในชื่อ “นางเทเรซา นีล” (Mrs. Teresa Neele) ทั้งที่สามารถเลือกนามแฝงใดก็ได้ แต่คริสตีกลับเลือกนามสกุลเดียวกับหญิงสาวที่เป็นชู้รักของสามีเธอ พร้อมกับลงชื่อในลายมืออันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง การกระทำนี้อาจเป็นการจงใจให้เบาะแส ความผิดพลาดแสนโง่เขลา หรือการกระทำไร้เหตุผลซึ่งยืนยันถึง “ความสับสน” และ “การสูญเสียความทรงจำ” ของคริสตี
ในจดหมายที่คริสตีเขียนถึงชาร์ล็อตต์ เธอกล่าวถึงอาการที่น่ากังวลซึ่งอาจชี้ให้เห็นถึงอาการทางจิตเวชที่พบได้ยาก โดยเธอเขียนไว้ว่า “เหมือนหัวฉันจะระเบิดเลย”
อาการปวดหัวรุนแรงเป็นอาการที่พบได้บ่อยใน 85 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งที่เรียกว่า โรคดิสโซสิเอทีฟ (dissociative disorders) โดยภายใต้กลุ่มโรคดังกล่าวมีภาวะที่ยังไม่ค่อยเป็นที่เข้าใจนัก นั่นคือ “dissociative fugue” ซึ่งเกิดจากบาดแผลทางจิตใจและนำไปสู่การสูญเสียความทรงจำชั่วคราว ผู้ที่อยู่ในภาวะนี้มักจะออกเดินทางหรือหลบหนีไปโดยไม่รู้ตัว แต่ในสายตาผู้คนภายนอกก็จะยังดูเหมือนใช้ชีวิตตามปกติ ทฤษฎีนี้ตรงกันข้ามกับทฤษฎีที่สองที่สันนิษฐานว่าคริสตีอยู่ในอาการสิ้นหวัง เพราะในช่วง 11 วันนั้น “นางนีล” คนนี้กลับใช้เวลาไปกับการพูดคุยกับผู้คนในโรมแรม ร้องเล่นเต้นรำ นอนหลับสบาย และเพลิดเพลินกับอาหารเช้าที่เสิร์ฟถึงเตียง
“ถึงจะดูเหมือนคริสตีมีช่วงเวลาที่สนุกสนาน แต่ก็ปฏิเสธความจริงที่ว่าก่อนหน้านั้นเธอประสบกับ ‘การล้มเจ็บอย่างเฉียบพลัน’ อันเนื่องมาจาก ‘ความเครียดอย่างรุนแรง’ ไม่ได้” ธอมป์สันกล่าว แม้นักเขียนชีวประวัติหลายคนจะเชื่อว่าทฤษฎีนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุด แต่ธอมป์สันโต้ว่าเธอไม่เชื่อในเรื่องความจำเสื่อมเลยแม้แต่น้อย “ไม่เลย ฉันคิดว่าเรื่องนี้เป็นข้ออ้างที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปกปิดความจริง” หากคริสตีไม่อยากอธิบายเรื่องที่เกิดขึ้น การอ้างว่าสูญเสียความทรงจำก็ถือเป็นข้ออ้างที่สมบูรณ์แบบ
ในช่วง 11 วันที่คริสตีหายตัวไป อาชิบัลด์ได้ให้สัมภาษณ์กับ The Daily Mail และระบุข้อสันนิษฐานว่า “ภรรยาของผมเคยพูดถึงความคิดที่จะหายตัวไปเมื่อใดก็ตามที่เธอต้องการ… เธอวางแผนเรื่องนี้ในหัวมาสักพักแล้ว อาจเป็นไปได้ว่าทำเช่นนี้เพื่อจุดประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับงานของเธอ”
ในเวลานั้น คริสตีถือเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จแต่ยังไม่โด่งดังในวงกว้าง เธอเพิ่งตีพิมพ์ The Murder of Roger Ackroyd นวนิยายเล่มที่หกของเธอที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากจุดหักมุมที่เผยว่า ผู้บรรยายเรื่องเป็นฆาตกร
ปัจจุบัน การเล่าเรื่องโดยใช้ unreliable narrator หรือ “ผู้บรรยายเรื่องที่เชื่อถือไม่ได้” อาจไม่ชวนให้รู้สึกตื่นตาตื่นใจนักเพราะเป็นลูกเล่นที่พบเห็นได้บ่อย เช่นในภาพยนตร์เรื่อง Fight Club และ Gone Girl แต่ในปี 1926 การเล่าเรื่องลักษณะนี้ยังถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ ทำให้ผู้อ่านรู้สึกโดนหลอก คริสตีจึงมี “ชื่อเสียงที่เติบโตขึ้นจากการใช้กลอุบาย” ตามที่นักเขียนชีวประวัติชื่อ ลูซี เวอร์สลีย์ (Lucy Worsley) ได้กล่าวไว้ใน Agatha Christie: A Very Elusive Woman หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของราชินีแห่งนวนิยายสืบสวนสอบสวนผู้นี้
ทฤษฎีที่ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดอาจเป็นเพียงการจัดฉากเพื่อสร้างกระแส ยังคงเป็นทฤษฎียอดนิยมจนถึงทุกวันนี้ และหากเป็นความจริงก็นับว่าได้ผลอย่างน่าทึ่ง เพราะเมื่อมีการวางขายนวนิยายของคริสตีข้างหนังสือพิมพ์ที่พาดหัวข่าวการหายตัวไปของเธอ ยอดขายหนังสือก็เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในทันที นอกจากนี้ ในปี 1930 คริสตียังได้เซ็นสัญญาเขียนหนังสือจำนวนหกเล่มซึ่งมีมูลค่ามหาศาลอีกด้วย
ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนหรือไม่ การหายตัวไปครั้งนี้ก็ทำให้คริสตี้กลายเป็นตัวอย่างแรก ๆ ของสิ่งที่เวอร์สลีย์เรียกว่า “นักเขียนผู้มีชื่อเสียงในฐานะคนดัง” ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก คริสตีกลายเป็นคนร่ำรวยและกลายเป็นนักเขียนผู้สร้างสรรค์ผลงานที่มียอดขายสูงสุดเป็นอันดับสามของโลกรองจากเชคสเปียร์และคัมภีร์ไบเบิล แต่เธอต้องทนอยู่กับความจริงที่ว่าความสำเร็จของเธอเกิดขึ้นได้เพราะเรื่องราวอัปยศครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเธอ “มันเกิดขึ้นโดยบังเอิญและเป็นประสบการณ์ที่เลวร้าย แต่กลับกลายเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จในฐานะนักเขียนของคริสตี” เวอร์สลีย์กล่าว
เรื่องราวนี้ไม่ได้จบลงด้วยการคลี่คลายปริศนาอย่างเฉียบคมของ แอร์กูล ปัวโรต์ ว่าเกิดอะไรขึ้น เกิดขึ้นได้อย่างไร และเหตุใดจึงเกิดขึ้น เหมือนอย่างในนวนิยายที่เธอเขียน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หลายคนยังคงขุดคุ้ยประวัติศาสตร์เพื่อหาคำตอบ ท่ามกลางตัวละครที่ซับซ้อน จุดหักมุม แรงจูงใจแอบแฝง และเบาะแสลวงมากมาย ราชินีแห่งนวนิยายสืบสวนสอบสวนผู้นี้กลับเลือกที่จะทิ้งปริศนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเธอไว้ โดยปล่อยให้มันเป็นเพียงปริศนาที่ไร้คำตอบ… ตลอดกาล
เรื่อง Rosemary Counter
แปลและเรียบเรียง
พิมพ์มาดา ทองสุข
โครงการสหกิจศึกษา กองบรรณาธิการ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย