สามสัปดาห์หลังการลอบสังหารศาสนาจารย์ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ เมื่อปี 1968 สภาเมืองไมนซ์ในเยอรมนีตั้งชื่อถนนสายหนึ่งตามผู้นำการเรียกร้องสิทธิของพลเมืองที่ถูกสังหาร ซึ่งเป็นการทำสิ่งที่เมืองแอตแลนตา บ้านเกิดของคิงใช้เวลาแปดปีได้ภายในไม่กี่วัน เมืองเมมฟิสในรัฐเทนเนสซี เมืองที่คิงถูกลอบสังหาร ก็ตั้งชื่อถนนสายหนึ่งตามชื่อของเขาเช่นกัน แต่ต้องรอนานกว่า 40 ปีหลังมรณกรรมของเขา
ชื่อใหม่อาจสื่อถึงอนาคตที่สว่างไสว ชื่อสถานที่ที่เปลี่ยนไปยังสื่อถึงอำนาจและอิทธิพลด้วย โดยสะท้อนว่าใครคือผู้รับผิดชอบและใครคือผู้ฝากรอยจารึกทางวัฒนธรรม ดังนั้น ที่เมืองชเวรินของเยอรมนี ถนนดอกเตอร์มาร์ตินลูเทอร์คิง ชตรัสเซอจึงอยู่คู่กับอันเนอฟรังค์ชตรัสเซอ [ตั้งชื่อตามเด็กหญิงอันเนอ ฟรังค์ หรือแอนน์ แฟรงก์] ที่เมืองแซง-มาร์แตง-แดร์ของฝรั่งเศส ถนนรูมาร์ตินลูเทอร์คิงจึงอยู่ติดกับถนนรูโรซาลีพาร์กส์ ซึ่งตั้งเป็นเกียรติแด่สตรีผู้จุดประกายการคว่ำบาตรรถเมล์ที่แบ่งแยกโซนที่นั่งตามสีผิวในเมืองมอนต์กอเมอรี รัฐแอละแบมา เมื่อปี 1955 ในกรุงปอร์โตแปรงซ์เมืองหลวงของเฮติ ถนนซึ่งตั้งชื่อตามนักปฏิวัติสมัยศตวรรษที่สิบแปด ตูสแซง ลูแวร์ตูร์ ทอดเข้าสู่ถนนที่ตั้งชื่อตามคิง
สองปีก่อนเสียชีวิต คิงได้รับคะแนนนิยมในสหรัฐฯเพียงร้อยละ 33 ซึ่งน่าจะเป็นผลจากแนวคิดเหยียดผิวและความไม่สบายใจของชาวอเมริกันผิวขาวจำนวนมากที่มีต่อการเรียกร้องความยุติธรรมทางเศรษฐกิจอย่างสุดขั้วของเขาทว่าในแต่ละทศวรรษที่ผ่านไป คะแนนนิยมของเขากลับเพิ่มขึ้น ขณะที่ข้อเรียกร้องของเขาดูจะเลือนรางไปทุกที ทุกวันนี้ ห้าสิบปีหลังการเสียชีวิตของเขา ชาวอเมริกันราวร้อยละ 90 มีทัศนคติในทางชื่นชมคิง
ถนนอย่างน้อย 955 สายในสหรัฐฯได้ชื่อตามคิง หลายสายทอดผ่านย่านรายได้น้อย แต่การเหมารวมว่าทุกสายล้วนเป็นถนนที่หดหู่สิ้นหวังในย่านเสื่อมโทรมของเมืองเป็นเรื่องเกินจริง ผลการศึกษาถนนหลายร้อยสายเหล่านั้นพบว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมบนถนนเหล่านั้นมีความแตกต่างจากถนนสายหลักอื่นๆในประเทศน้อยมาก
ทั่วโลกมีถนนมาร์ตินลูเทอร์คิงนับได้กว่าหนึ่งพันสาย รวมถึงถนนหลายสายในเยอรมนี ประเทศซึ่งเป็นต้นกำเนิดชื่อของเขา
คิงกับบิดามีชื่อเดิมว่าไมเคิล แต่บิดาของเขา ซึ่งเป็นนักเทศน์ในคริสตจักรแบปทิสต์เช่นเดียวกัน นับถือมาร์ติน ลูเทอร์ นักปฏิรูปคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ จากการไปเยือนกรุงเบอร์ลินเมื่อปี 1934 มากจนกลับมาเปลี่ยนชื่อตัวเองและชื่อบุตรคนโตซึ่งตอนนั้นอายุห้าขวบ
ชัยชนะต่างๆของขบวนการเรียกร้องสิทธิของพลเมืองทำให้ความฝันของมาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ที่จะยุติการแบ่งแยกตามคำสั่งรัฐ มีความคืบหน้า สำหรับชาวอเมริกันผิวดำ ในช่วงหลายทศวรรษหลังการเสียชีวิตของคิงความยากจนลดลงและอัตราการเรียนจบมัธยมปลายและการเป็นเจ้าของบ้านเพิ่มขึ้น แต่การมีถนนมาร์ตินลูเทอร์คิงจำนวนมากไม่ใช่พันธกิจกำจัดความยากจนระดับโลก
ในเมืองเมมฟิสที่คิงถูกลอบสังหาร อัตราความยากจนสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ ความพยายามเปลี่ยนชื่อถนนตามคิงเมื่อปี 1971 ไม่เป็นผล แต่แผนการที่สมาชิกสภาเมือง เบอร์ลิน บอยด์ รื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งเมื่อปี 2012 ผ่านความเห็นชอบในที่สุด4
“นี่คือเมืองที่เลือดของเขากรีดร้องจากถนนครับ” บอยด์บอก ถนนดอกเตอร์ เอ็ม. แอล. คิงจูเนียร์อเวนิว ซึ่งมีระยะทางราวสามกิโลเมตร คือหนึ่งในถนนสายสุดท้ายที่คิงเดินผ่าน ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ปี 1968 คิงนำกลุ่มผู้ประท้วงหลายพันคนเดินตามถนนซึ่งตอนนั้นชื่อลินเดนอเวนิวไปยังศาลาว่าการเมืองเพื่อพบนายกเทศมนตรีเฮนรี โลบ ผู้ฝักใฝ่การแบ่งแยกและต่อต้านสหภาพแรงงาน ซึ่งไม่ยอมเจรจาใดๆกับพนักงานเก็บขยะผิวดำที่นัดหยุดงาน การเดิน ขบวนกลายเป็นความรุนแรง คิงกลับมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 เมษายน เพื่อพิสูจน์ว่าเขาสามารถนำการประท้วงที่สงบได้
คืนนั้นเขากล่าวสุนทรพจน์ที่มีชื่อว่า “ผมได้ไปถึงยอดเขา” (“I’ve Been to the Mountaintop”) วันรุ่งขึ้นเขาถูกยิงบนระเบียงห้องพัก ทุกวันนี้ เมืองเมมฟิสกำลังพยายามเชิดชูการเสียสละของคิง เมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว สภาเมืองอนุมัติการจ่ายเงินชดเชยให้พนักงานเก็บขยะผู้ประท้วงที่ยังมีชีวิตอยู่ 29 คน เพื่อเยียวยาสถานการณ์ต่างๆที่ทำให้เงินเกษียณอายุของพวกเขาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น หลังหักภาษี คนกลุ่มนี้จะได้เงินราวปีละหนึ่งพันดอลลาร์สหรัฐนับตั้งแต่ปีที่คิงเสียชีวิตเรื่อยมา แต่สำหรับบางคนที่ยังต้องทำงานเก็บขยะ เงินนี้ไม่พอสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ
ผู้คนมักจดจำคิงจากการพูดถึงเป้าหมายที่เรียบง่าย เช่น เด็กผิวขาวกับเด็กผิวดำจับมือกัน ดุจพี่น้อง
แต่คิงที่ผู้คนมักลืมเลือนต้องการมากกว่านั้นมาก เขาเรียกร้องให้มี “การกระจายอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างพลิกฝ่ามือ”
คิงกล่าวไว้เมื่อหนึ่งปีก่อนถูกลอบสังหารว่า “ทั่วโลก ผู้คนกำลังต่อต้านระบบเก่าที่แสวงประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมและกดขี่ และจากบาดแผลของโลกอันเปราะบางนี้ ระบบใหม่ที่ยุติธรรมและเสมอภาคกำลังอุบัติขึ้น”
เรื่อง เวนดี ซี. ทอมัส
อ่านเพิ่มเติม