ไททานิก โศกนาฏกรรมโลกไม่ลืม

106 ปี ไททานิก โศกนาฏกรรมโลกไม่ลืม

ซากเรือนอนสงบนิ่งในความมืดมิด เศษโลหะผุกร่อนกระจัดกระจายกินอาณาบริเวณสี่ตารางกิโลเมตรของก้นมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ รอเวลาให้เชื้อรากัดกิน สรรพชีวิตไร้สีสันเร้นกายอยู่ตามผนังและขอบหยักแหลม นับตั้งแต่การค้นพบซากเรือเมื่อปี 1985 โดยโรเบิร์ต บัลลาร์ด นักสำรวจประจำสมาคมเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก และชอง-หลุย มีเชล นาน ๆ ทีจะมีหุ่นยนต์หรือยานดำน้ำที่มีมนุษย์ควบคุมลงไปโฉบเหนือพื้นผิวดำทะมึนของ ไททานิก บางครั้งก็มีการปล่อยคลื่นเสียงหรือโซนาร์ในทิศทางของซากเรือ เก็บภาพแล้วกลับขึ้นมา

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ นักสำรวจอย่างเจมส์ แคเมรอนและปอล-อองรี นาชีโอเล ได้นำภาพถ่ายซากเรือที่ละเอียดชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ กลับขึ้นมา แต่โดยรวมแล้วเรายังเห็นรายละเอียดของจุดอับปางได้ไม่ชัดนัก ทัศนวิสัยของเราจำกัดจากปฏิกูลแขวนลอยและตะกอนในน้ำ คงเห็นแต่เพียงบริเวณที่แสงไฟจากยานใต้น้ำส่องถึงเท่านั้น เรายังไม่สามารถปะติดปะต่อได้ว่าชิ้นส่วนที่แตกต่างกันเหล่านั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร และเราก็ยังไม่เคยเห็นภาพรวมของพื้นที่ที่เรืออับปางอย่างสมบูรณ์เลย

กระทั่งบัดนี้ ในรถเทรลเลอร์ที่เพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์ไฮเทคจอดอยู่หลังสถาบันสมุทรศาสตร์วูดส์โฮล (Woods Hole Oceanographic Institution: WHOI)  วิลเลียม แลงก์ ยืนอยู่เหนือแผนที่สำรวจด้วยระบบโซนาร์ของจุดที่ ไททานิก อับปาง ซึ่งเป็นภาพโมเสกที่ประกอบขึ้นจากภาพขนาดเล็กจำนวนมากและใช้เวลาทำนานหลายเดือน เมื่อมองแวบแรก ภาพนี้ดูคล้ายพื้นผิวดวงจันทร์ทั้งริ้วลายบนพื้นทะเลและแอ่งน้อยใหญ่

ครั้นพินิจพิจารณาใกล้ ๆ เราจึงเห็นว่าจุดอับปางนั้นระเกะระกะไปด้วยเศษซากวัสดุที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ แลงก์ชี้ไปที่ส่วนหนึ่งของแผนที่ เขาขยายภาพให้ใหญ่ขึ้น ตอนนี้เราเห็นส่วนหัวของเรือ ไททานิก ชัดจนพอดูออกบ้างแล้วเห็นช่องโหว่สีดำตรงที่ครั้งหนึ่งเคยมีปล่องควันด้านหน้าตั้งอยู่ ฝาปิดระวางบานหนึ่งที่หลุดกระเด็นออกมาจมอยู่ในโคลนห่างออกไปทางเหนือหลายร้อยเมตร เพียงลากเมาส์คอมพิวเตอร์ เราก็เห็นซากเรือไททานิกทั้งลำ ไม่ว่าจะเป็นพุกผูกเรือ (bollard) เสาเดวิต (davit) หรือหม้อไอน้ำ (boiler) กองเศษซากซึ่งครั้งหนึ่งเคยแยกแยะไม่ออกกลายเป็นภาพถ่ายความละเอียดสูงของจุดเกิดเหตุ ”ตอนนี้เรารู้แล้วว่าอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง หนึ่งร้อยปีผ่านไปในที่สุดไฟก็สว่างครับ” แลงก์บอก

ลึกลงไปใต้ผิวน้ำราวสี่กิโลเมตร หัวเรือของไททานิกปรากฏขึ้นท่ามกลางความมืดมิดระหว่างการดำสำรวจ เมื่อปี 2001 โดยเจมส์ แคเมรอน นักสำรวจและนักสร้างภาพยนตร์ ไททานิก รอดจากการพุ่งชนภูเขาน้ำแข็งแบบประสานงาก็จริง แต่การชนด้านข้างทางกราบขวาก็ทำให้ห้องผนึกน้ำใต้ท้องเรือแตกรั่วหลายห้องเกินไป

บิล แลงก์ เป็นผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการทางการประมวลผลภาพและการสร้างภาพขั้นสูงของสถาบันสมุทรศาสตร์วูดส์โฮล ที่นี่เป็นห้องทึบคล้ายถ้ำ ภายในบุด้วยวัสดุเก็บเสียงและแน่นขนัดไปด้วยจอภาพโทรทัศน์ความละเอียดสูง และเครื่องคอมพิวเตอร์ส่งเสียงครางหึ่ง ๆ แลงก์เป็นส่วนหนึ่งในทีมสำรวจชุดแรกของบัลลาร์ดที่ค้นพบซากเรือ และยังคงถ่ายภาพบริเวณอับปางด้วยกล้องที่มีศักยภาพสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่นั้นมา

ภาพโมเสกขนาดใหญ่ของซากเรือซึ่งเป็นผลจากการสำรวจมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ปี 2010 ถ่ายภาพโดยหุ่นยนต์หรือยานล้ำยุคสามลำซึ่ง ”บิน” อยู่เหนือพื้นก้นสมุทร ณ ระดับความสูงแตกต่างกัน ยานที่เพียบพร้อมไปด้วยเครื่องโซนาร์แบบสแกนข้างชนิดหลายลำคลื่น และกล้องบันทึกภาพความละเอียดสูงที่ถ่ายภาพได้หลายร้อยภาพต่อวินาที ปฏิบัติงานโดยวิธี ”ไถสนาม” ซึ่งเป็นศัพท์เรียกเทคนิคดังกล่าว ยานทั้งสามวิ่งกลับไปกลับมาตัดบริเวณก้นสมุทร เป้าหมายเป็นพื้นที่ห้าคูณแปดกิโลเมตร แล้วจึงนำข้อมูลแต่ละแถบมาเชื่อมต่อกันด้วยระบบดิจิทัล เพื่อประกอบเป็นภาพความละเอียดสูงขนาดมหึมาหนึ่งภาพ ซึ่งทุกส่วนมีการทำแผนที่อย่างละเอียดและถูกต้องตามตำแหน่งอ้างอิงทางภูมิศาสตร์

”นี่เป็นการพลิกโฉมสถานการณ์เลยนะครับ” เจมส์ เดลกาโด กล่าว เขาเป็นนักโบราณคดีสังกัดสำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯหรือโนอา (National Oceanic and Atmospheric Ad-
ministration: NOAA) และเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้นำการสำรวจครั้งนี้  “ที่ผ่านมาการพยายามทำความเข้าใจซากเรือไททานิก อุปมาไปแล้วก็เหมือนกับการเพ่งมองนครนิวยอร์กกลางพายุฝนตอนเที่ยงคืนด้วยไฟฉายเพียงกระบอกเดียว ตอนนี้เรามีจุดอับปางที่สามารถสำรวจตรวจวัดได้ และมีรายละเอียดต่าง ๆ ชัดเจนคอยบอกเรา ในอีกหลายปีข้างหน้า แผนที่ประวัติศาสตร์ฉบับนี้อาจเผยเรื่องราวของผู้วายชนม์ที่เสียงของพวกเขาประหนึ่งจะจมหายไปกับสายน้ำเย็นยะเยือกตลอดกาล”

ซากเรืออาร์เอ็มเอส ไททานิก มีอะไรน่าดึงดูดนัก หนึ่งร้อยปีผ่านไป เหตุใดผู้คนจึงยังทุ่มเทกำลังสมองและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมหาศาลให้กับสุสานโลหะที่จมอยู่ใต้พื้นสมุทรลึกลงไปราวสี่กิโลเมตร

 

ท้ายเรือ ไททานิก ในสภาพที่หางเสือจมอยู่ ในทรายและใบจักรสองใบโผล่ ให้เห็นท่ามกลางความมืดมัว นอนสงบนิ่งอยู่บนที่ราบก้นสมุทร ห่างจากหัวเรือที่มีการถ่ายภาพไว้มากกว่าลงไปทางใต้ราว 600 เมตร ภาพโมเสกนี้ประกอบขึ้นจากภาพถ่ายความละเอียดสูง 300 ภาพที่ถ่ายไว้ระหว่างการสำรวจเมื่อปี 2010

สำหรับบางคน เสน่ห์ชวนดึงดูดของ ไททานิก อยู่ที่อวสานอันยิ่งใหญ่ของมันนั่นเอง นี่คือเรื่องราวของความเป็นที่สุด นั่นคือเรือเดินสมุทรที่แข็งแกร่งและยิ่งใหญ่ที่สุดอับปางลงในน่านน้ำสุดลึกล้ำและแสนเยียบเย็น แต่สำหรับอีกหลาย ๆ คน ความน่าหลงใหลของ ไททานิก เริ่มต้นและจบลงด้วยเรื่องราวผู้คนบนเรือ กว่าที่ ไททานิก จะจมลงสู่ก้นสมุทรก็กินเวลานานถึงสองชั่วโมงสี่สิบนาที เนิ่นนานพอที่จะทำให้เรื่องราวโศกนาฏกรรมขั้นมหากาพย์ 2,208 เรื่องได้โลดแล่นบนเวที เล่ากันว่าชายตาขาวคนหนึ่งถึงกับแต่งชุดสตรีพยายามแย่งลงเรือชูชีพ แต่คนส่วนใหญ่บนเรือมีศักดิ์ศรีและหลายคนหาญกล้า กัปตันปักหลักมั่นอยู่ที่สะพานเดินเรือ วงดนตรียังคงบรรเลงต่อไป พนักงานประจำวิทยุโทรเลขอยู่ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือกระทั่งนาทีสุดท้าย ผู้โดยสารส่วนใหญ่ยังรวมกลุ่มกันตามชนชั้นอันเป็นค่านิยมแห่งยุคสมัย นาทีสุดท้ายของชีวิตพวกเขาเป็นเช่นไร เป็นเรื่องที่คนทั้งโลกสงสัยใคร่รู้

แต่ยังมีบางสิ่งนอกเหนือจากชีวิตมนุษย์ที่จมลงพร้อมกับเรือ ไททานิก นั่นคือมายาภาพแห่งความเป็นระบบระเบียบ ศรัทธาต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รวมทั้งความฝันถึงอนาคตที่ดีขึ้น ขณะที่ยุโรปกำลังก้าวเข้าสู่ความขัดแย้งและสงครามเต็มรูปแบบ ทั้งหมดนี้ถูกแทนที่ด้วยความหวาดกลัวและความพรั่นพรึงอย่างที่พวกเราในยุคปัจจุบันเคยคุ้น ”อวสานของเรือ ไททานิก ทำให้ภาพฝันสลายไปครับ” เจมส์ แคเมรอน บอกกับผม ”ในช่วงสิบปีแรกของศตวรรษที่ยี่สิบ ผู้คนรู้สึกถึงความเจริญก้าวหน้ามากมายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นลิฟต์ รถยนต์ เครื่องบิน วิทยุโทรเลข ทุกอย่างช่างดูมหัศจรรย์ ราวกับมีแต่จะพุ่งสูงขึ้นไม่สิ้นสุด แต่แล้วทุกอย่างก็พังครืนลง”

 

มารดาแห่งเรืออับปางทั้งปวงมีที่พำนักหลายแห่ง ทั้งสถานที่จริง ในทางกฎหมาย และในเชิงอุปมา แต่คงไม่มีแห่งไหนที่ดูเหลือเชื่อยิ่งกว่าโรงแรมลักซอร์ในลาสเวกัส ที่นั่นมีนิทรรศการจัดแสดงศิลปวัตถุจากเรือ ไททานิก ซึ่งกู้ขึ้นมาโดยบริษัทอาร์เอ็มเอสไททานิกอิงค์หรืออาร์เอ็มเอสที  (RMST) ผู้มีสิทธิกู้ศิลปวัตถุจากซากเรือ ไททานิก อย่างถูกต้องตามกฎหมายแต่เพียงผู้เดียวมาตั้งแต่ปี 1994 นิทรรศการดังกล่าว ตลอดจนงานแสดงทำนองเดียวกันนี้ของบริษัทอาร์เอ็มเอสทีใน 20 ประเทศทั่วโลกมีผู้เข้าชมมากกว่า 25 ล้านคน

ผมใช้เวลาหนึ่งวันเต็ม ๆ ที่โรงแรมลักซอร์เพื่อเดินชมข้าวของจากเรือ ไททานิก ซึ่งมีอาทิหมวกพ่อครัวใบหนึ่ง มีดโกนเล่มหนึ่ง ถ่านหินหลายก้อน ถ้วยชามในสภาพสมบูรณ์หนึ่งชุด รองเท้านับคู่ไม่ถ้วน ขวดน้ำหอม กระเป๋าหนังใบหนึ่ง แชมเปญขวดหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นข้าวของธรรมดาทั่วไปที่กลายเป็นของไม่ธรรมดาหลังการเดินทางอันเลวร้ายและยาวนานนำพาพวกมันมาอยู่ในตู้โชว์ผมเดินผ่านห้องโถงมืดสลัวที่รักษาอุณหภูมิให้เย็นจัดราวกับตู้แช่เนื้อ ภายในมี ”ภูเขาน้ำแข็ง” หล่อเลี้ยงด้วยสารฟรีออน (สารทำความเย็น) และผู้เยี่ยมชมสามารถสัมผัสได้ แต่ของชิ้นเด่นที่สุดของนิทรรศการคือชิ้นส่วนตัวเรือ ไททานิกชิ้นมหึมาที่รู้จักกันในชื่อ ”เหล็กชิ้นยักษ์” หนัก 15 ตันที่ยกขึ้นจากก้นทะเลด้วยปั้นจั่นเมื่อปี 1998

เครื่องยนต์สองเครื่องของ ไททานิก อยู่ในสภาพเปลือยเปล่าในภาพตัดขวางช่วงหนึ่งของท้ายเรือที่ทะลุโหว่ โครงสร้างที่ปกคลุมด้วย “สนิมย้อย” สีส้มซึ่งแบคทีเรียกินสนิมสร้างขึ้นนี้ มีขนาดใหญ่โตมหึมาสูงเท่าตึกสี่ชั้น และเคยขับเคลื่อนวัตถุชิ้นใหญ่ที่สุดในโลกที่มนุษย์สร้างขึ้น

นิทรรศการของบริษัทอาร์เอ็มเอสทีถือว่าจัดได้ดี แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นักโบราณคดีใต้น้ำจำนวนมากพูดถึงบริษัทนี้ด้วยถ้อยคำรุนแรง ก่นด่าว่าเป็นโจรปล้นสุสานบ้าง นักล่าสมบัติบ้าง และอย่างอื่นที่แย่กว่านี้ โรเบิร์ต บัลลาร์ดเองคัดค้านมาตลอดว่า ซากเรือและข้าวของทั้งหมดของ ไททานิก ควรเก็บรักษาไว้ในสภาพอย่างที่เป็นอยู่ ณ ก้นสมุทร เมื่อพูดถึงระเบียบวิธีที่อาร์เอ็มเอสทีใช้ เขากล่าวว่า ”ไม่มีใครไปชมพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์แล้วใช้นิ้วจิ้มรูปโมนาลิซากันหรอกครับ คนพวกนี้ทำได้ทุกอย่างเพราะความโลภ ไปดูได้เลยจากประวัติเหลวแหลกของบริษัทนี้”

แต่หลายปีหลังมานี้ บริษัทอาร์เอ็มเอสทีได้ผู้บริหารชุดใหม่ และตั้งเป้าหมายต่างไปจากเดิม โดยเบนเข็มจากการกู้ข้าวของเพียงอย่างเดียวมาเป็นแผนระยะยาวในการปฏิบัติต่อซากเรือในฐานะแหล่งโบราณคดี ขณะเดียวกันก็ทำงานร่วมกับองค์กรวิทยาศาสตร์และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับเรือ ไททานิก อันที่จริงแล้ว การสำรวจในปี 2010 ที่ทำให้สามารถถ่ายภาพจุดอับปางทั้งบริเวณได้เป็นครั้งแรก ก็ได้บริษัทอาร์เอ็มเอสทีเป็นทั้งผู้จัด ผู้นำการสำรวจและผู้ออกทุน อาร์เอ็มเอสทียังกลับลำหันมาสนับสนุนข้อเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายคุ้มครองซากเรือ ไททานิกและจุดอับปางในฐานะอนุสรณ์สถานทางทะเล ล่าสุดเมื่อปลายปี 2011 อาร์เอ็มเอสทีได้ประกาศแผนที่จะนำศิลปวัตถุจากเรือ ไททานิก ที่อยู่ในความครอบครองทั้งหมดซึ่งมีมูลค่า 189 ล้านดอลลาร์สหรัฐมาขายทอดตลาด พร้อมทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทันวาระครบรอบหนึ่งร้อยปีแห่งโศกนาฏกรรม ไททานิก แต่มีข้อแม้ว่าผู้ประมูลต้องยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขอันเข้มงวดของศาลสหรัฐฯ ซึ่งข้อหนึ่งระบุว่า ผู้ครอบครองไม่สามารถจำหน่าย จ่าย โอน โบราณวัตถุส่วนหนึ่งส่วนใดได้ และต้องเก็บรักษาไว้ด้วยกันทั้งหมด

ผมพบกับคริส ดาวีโน ประธานของอาร์เอ็มเอสทีที่โกดังเก็บศิลปวัตถุของบริษัทในแอตแลนตา ลึกเข้าไปภายในอาคารควบคุมสภาพอากาศ รถยกคันหนึ่งค่อย ๆ วิ่งไปตามทางเดินยาวระหว่างชั้นวางที่มีลังซ้อนกันอยู่เป็นตั้ง ๆ ทุกลังมีป้ายระบุอย่างชัดเจน ภายในบรรจุศิลปวัตถุและข้าวของนานาชนิด อาทิ จานชาม เสื้อผ้า จดหมาย ขวด ชิ้นส่วนท่อประปา หน้าต่างกลมข้างเรือ ซึ่งเก็บกู้ขึ้นมาจากบริเวณที่ ไททานิก อับปางตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ดาวีโนซึ่งเข้ามากุมบังเหียนของอาร์เอ็มเอสทีตั้งแต่ปี 2009 อธิบายทิศทางใหม่ของบริษัทให้ผมฟังว่า  ”รู้ ๆ กันอยู่ครับว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา สิ่งเดียวที่ประชาคม ไททานิก เห็นพ้องต้องกันคือความรังเกียจเดียดฉันท์ที่มีต่อเรา ถึงเวลาแล้วที่เราต้องทบทวนทุกอย่าง เราต้องทำอะไรสักอย่างนอกเหนือจากการกู้ข้าวของขึ้นมา เราต้องเลิกทะเลาะกับผู้เชี่ยวชาญ และหันมาทำงานร่วมกับพวกเขาแทน”

สถานการณ์เป็นเช่นนั้นจริง หน่วยงานภาครัฐอย่างโนอา ซึ่งเคยมีคดีพิพาทกับอาร์เอ็มเอสทีและบริษัทแม่คือ พรีเมียร์เอ็กซีบิชันส์อิงค์ ปัจจุบันกลับทำงานร่วมกับอาร์เอ็มเอสทีโดยตรง โดยดำเนินโครงการทางวิทยาศาสตร์ด้วยกันหลายโครงการเพื่ออนุรักษ์พื้นที่บริเวณจุดอับปาง เดฟ คอนลิน หัวหน้านักโบราณคดีใต้น้ำสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติสหรัฐฯ ยอมรับว่า ”ไม่ใช่เรื่องง่ายครับที่จะหาจุดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการทำกำไร อาร์เอ็มเอสทีควรถูกประณามจริงเมื่อหลายปีก่อนโน้น แต่ก็สมควรได้รับคำชมด้วยที่กลับตัวกลับใจหันมายึดแนวทางใหม่ครับ” เมื่อไม่นานมานี้ นักวิชาการพากันชื่นชมอาร์เอ็มเอสที  หลังจากบริษัทได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ ไททานิก ระดับหัวกะทิคนหนึ่งของโลกให้มาวิเคราะห์ภาพถ่ายจากการสำรวจปี 2010 และเริ่มต้นระบุเศษซากปริศนาบนพื้นสมุทรจำนวนมาก บิล ซอเดอร์ คือชายผู้นั้น นามบัตรที่ระบุตำแหน่งว่า ”ผู้อำนวยการการศึกษาวิจัยเรือ ไททานิก” ไม่อาจบรรยายสรรพคุณความรอบรู้ระดับสารานุกรมของเขาในสาขาเรือเดินสมุทรตระกูล ไททานิก ได้

 

ใบจักรของเรือ โอลิมปิก เรือที่เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นคู่แฝดเหมือนของ ไททานิก ทำให้คนงานที่อู่ต่อเรือในเบลฟาสต์ ซึ่งเป็นสถานที่ต่อเรือเดินสมุทรทั้งสองลำ ดูตัวเล็กลงไปถนัดตา ภาพถ่ายของเรือ ไททานิก มีอยู่ไม่มากนัก เรือ โอลิมปิก จึงช่วยให้เราเห็นงานออกแบบอันยิ่งใหญ่ของเรือได้

ตอนที่พบกันในแอตแลนตา ซอเดอร์นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ และพยายามระบุประเภทเศษซากอับปางกองหนึ่งของ ไททานิก ซึ่งถ่ายไว้เมื่อปี 2010 จากบริเวณใกล้ ๆ ซากท้ายเรือ การสำรวจเรือลำนี้ส่วนใหญ่มักพุ่งเป้าไปยังส่วนหัวเรือ ซึ่ง ”ขึ้นกล้อง” กว่า และจมอยู่ห่างจากเศษซากส่วนใหญ่มากกว่าครึ่งกิโลเมตรทางทิศเหนือ แต่ซอเดอร์คิดว่าบริเวณรอบ ๆ ซากท้ายเรือควรเป็นจุดที่ได้รับความสนใจในอีกหลายปีต่อจากนี้ เขาบอกว่า ”หัวเรือก็ดูเย้ายวนอยู่หรอกครับ แต่เราไปมาแล้วเป็นร้อยรอบ ซากทั้งหมดทางทิศใต้นี่แหละที่ผมสนใจ”

ซอเดอร์กำลังมองหาชิ้นส่วนอะไรก็ได้ที่พอจะดูออกว่าเป็นอะไร เขาบอกว่า ”เราชอบนึกภาพซากเรือจมเป็นเหมือนมหาวิหารกรีกบนเนินเขา แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่เลย ซากเรือก็คือเขตอุตสาหกรรมล่มสลายดี ๆ นี่เอง มีแต่แผ่นเหล็ก หมุดเหล็ก และเศษเหล็กกองพะเนิน ใครจะตีความซากพวกนี้ได้  ต้องเป็นแฟนของปีกัสโซแน่ ๆ”

ซอเดอร์ขยายภาพตรงหน้าให้ใหญ่ขึ้น และภายในไม่กี่นาที เขาก็ไขปริศนาเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งได้ตรงบริเวณใกล้ซากท้ายเรือ บนกองซากในภาพมีกรอบประตูหมุนทองเหลืองบิดเบี้ยวอยู่บานหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นของห้องสังสรรค์สำหรับผู้โดยสารชั้นหนึ่ง นี่เป็นงานที่ต้องใช้ความวิริยอุตสาหะชนิดที่มีแต่คนที่รู้จักเรือลำนี้ทุกตารางนิ้วเท่านั้นถึงจะทำได้  เป็นงานแกะรอยและปะติดปะต่อเกมปริศนาชิ้นมหึมาซึ่งคงทำให้บิล ซอเดอร์ ง่วนไปอีกหลายปี

ปลายเดือนตุลาคม ผมเดินทางไปยังหาดแมนแฮตตัน รัฐแคลิฟอร์เนีย และเข้าไปในโรงถ่ายภาพยนตร์ขนาดเท่าโรงเก็บเครื่องบิน เจมส์ แคเมรอน ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง  ซึ่งอยู่ท่ามกลางแบบจำลองและของประกอบฉากชวนตื่นตะลึงจากภาพยนตร์เรื่อง ไททานิก (1997) เชิญผู้รอบรู้ด้านการเดินเรือระดับแนวหน้าของโลกกลุ่มหนึ่งมาประชุมกัน นอกจากแคเมรอน, บิล ซอเดอร์และปอล-อองรี นาชีโอเล นักสำรวจจากอาร์เอ็มเอสที แล้วยังมีดอน ลินช์ นักประวัติศาสตร์ เคน มาร์แชลล์ ศิลปินภาพวาด ไททานิก ผู้โด่งดัง วิศวกรเรือหนึ่งนายนักสมุทรศาสตร์จากสถาบันวูดส์โฮลหนึ่งราย และสถาปนิกสังกัดกองทัพเรือสหรัฐฯอีกสองคน

 

แคเมรอนซึ่งเรียกตัวเองว่า ”สาวก ไททานิก นั่งนับหมุดเหล็ก” เป็นผู้นำการสำรวจเรือลำนี้มาแล้วสามครั้ง เขาเป็นผู้พัฒนาและควบคุมยานหรือหุ่นยนต์สำรวจตระกูลใหม่ที่ว่องไว ปราดเปรียว ซึ่งดำลงไปถ่ายภาพด้านในของเรือที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน ซึ่งรวมถึงห้องอาบน้ำตุรกีอันโอ่อ่าหรูหราและห้องพักส่วนตัวชั้นหนึ่งอีกจำนวนหนึ่ง ชมภาพและอ่านเรื่อง ”ถอดวิญญาณเดินชม ไททานิก”

นอกจาก ไททานิก แล้ว แคเมรอนยังถ่ายซากอับปางของ บิสมาร์ก เรือรบนาซีเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่สองด้วย และกำลังสร้างเรือดำน้ำที่จะพาเขาพร้อมกล้องถ่ายทำลงไปยังร่องลึกก้นสมุทรมารีแอนา กระนั้นไททานิก ก็ยังอยู่ในใจเขาเสมอ (ทั้ง ๆ ที่ประกาศวางมือจากเรื่องนี้มาแล้วหลายรอบ แต่สุดท้ายก็หวนกลับมาทุกที) เขาบอกผมว่า ”ใต้น้ำตรงนั้นเหมือนเป็นส่วนผสมอันแปลกประหลาดระหว่างชีววิทยากับสถาปัตยกรรม เป็นอะไรคล้าย ๆ กับชีวจักรกลครับ ผมว่ามันงดงามและเหมือนอยู่ในอีกโลกหนึ่ง คุณจะรู้สึกเลยว่า นี่คืออะไรบางอย่างที่หลุดเข้าไปในทาร์ทารัสหรือแดนยมโลกในเทพปกรณัมกรีก”

ตามคำขอของแคเมรอน การประชุมซึ่งมีกำหนดสองวันจะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นทางนิติวิทยาศาสตร์ล้วน ๆ เป็นต้นว่าเพราะเหตุใด ไททานิก จึงหักสองท่อนอย่างที่เห็น ลำเรือฉีกขาดตรงไหนแน่ ส่วนประกอบมากมายมหาศาลของเรือตกกระแทกพื้นทะเลที่มุมกี่องศา จะว่าไปก็คงไม่ต่างจากการสอบสวนคดีเกือบ 100 ปีหลังเกิดเหตุ

”ที่คุณเห็นคือสถานที่เกิดเหตุครับ ถ้าเข้าใจแบบนั้นแล้วคุณจะอยากรู้ที่มาที่ไปของสิ่งต่าง ๆ เช่น ทำไมมีดถึงมาอยู่ตรงนี้ แล้วปืนไปอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร” แคเมรอนบอก

แล้วก็เป็นไปตามคาด การประชุมเปิดฉากด้วยการถกเถียงเรื่องเทคนิคที่เข้าใจยากล้วน ๆ ทั้งเรื่องอัตราการแล่น แรงเฉือน และการวิเคราะห์ค่าความขุ่น กระนั้นแม้แต่ผู้ฟังที่ไม่ได้มีความรู้เชิงวิศวกรรมก็ยังจับข้อสรุปข้อหนึ่งได้ว่า นาทีสุดท้ายของ ไททานิก นั้นน่าสยดสยองอย่างยิ่ง เรื่องเล่าจากหลายกระแสให้ภาพว่า เรือ ”ค่อย ๆ
จมหายไปกับคลื่นมหาสมุทร” อย่างสงบ แต่เรื่องจริงที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม ผู้เชี่ยวชาญบรรยายฉากสุดท้ายของไททานิก ว่าเกิดขึ้นอย่างรุนแรง โดยอาศัยผลการวิเคราะห์ซากเรืออย่างละเอียดตลอดระยะเวลาหลายปี แบบจำลองการไหลเข้าท่วมของน้ำที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุด ตลอดจนการสร้างภาพจำลองโดย ”วิธีวิเคราะห์โครงสร้างทุกมิติ” ที่ใช้กันในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางเรือยุคใหม่

 

ช่างภาพบนเรือลำหนึ่งที่ลอยลำอยู่ ใกล้ๆ บันทึกภาพขณะเรือโยงแล่นนำเรือ ไททานิก ออกจากท่าเรือเซาแทมป์ตัน ห้าวันต่อมา สัญลักษณ์แห่งยุค “เปลือกทอง” (gilded age) ลำนี้ก็นอนแน่นิ่งอยู่บนพื้นมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ โรเบิร์ต บัลลาร์ด นักสำรวจผู้ค้นพบซากเรือ บอกว่า “เป็นหนึ่งในเรื่องราวที่จะเล่าขานต่อกันไปตลอดกาล”

เรือชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็งตรงด้านข้างเมื่อเวลา 23.40 น. สร้างความเสียหายให้กราบเรือด้านขวาเป็นแนวยาว 90 เมตร และเกิดรอยรั่วในห้องผนึกน้ำหกห้องด้านหน้าตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป เรือต้องอับปางลงอย่างแน่นอนแต่อวสานอาจมาถึงเร็วขึ้นเมื่อลูกเรือเปิดประตูสะพานลงเรือทางกราบซ้ายบานหนึ่งออกเพื่อถ่ายคนลงเรือชูชีพขณะนั้นเรือเริ่มเอียงไปทางกราบซ้ายแล้ว ลูกเรือจึงไม่สามารถต้านแรงโน้มถ่วงเพื่อดึงประตูบานมหึมาให้กลับเข้ามาปิดได้ดังเดิม และพอถึงเวลา 1.50 น. หัวเรือก็จมลงมากพอจนน้ำทะเลทะลักเข้าทางสะพานลงเรือดังกล่าว

พอถึงเวลา 2.18 น. หลังจากเรือชูชีพลำสุดท้ายแล่นออกไปเมื่อ 13 นาทีก่อน หัวเรือก็ถูกน้ำท่วมมิด ท้ายเรือยกลอยสูงขึ้นจนเห็นใบจักร ก่อให้เกิดแรงเครียดมหาศาลที่กึ่งกลางลำเรือ แล้ว ไททานิก ก็หักกลางเป็นสองท่อน พอหลุดจากส่วนท้ายเรือ หัวเรือก็ดิ่งลงสู่ก้นทะเลโดยทำมุมเกือบตั้งฉาก ความเร็วที่เพิ่มขึ้นขณะจมทำให้ส่วนประกอบต่าง ๆ เริ่มหลุดออกจากหัวเรือ ปล่องไฟหักแยกออกมา ห้องถือท้ายแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยหลังจากห้านาทีของการดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง หัวเรือก็ปักลงไปในโคลนด้วยแรงมหาศาลจนเกิดหลุมลึก (ejecta pattern) ซึ่งเนินดินรอบหลุมปรากฏให้เห็นบนพื้นสมุทรถึงทุกวันนี้

ท้ายเรือซึ่งไม่มีปลายตัดน้ำเหมือนส่วนหัวเรือจมลงอย่าง ”ทุรนทุราย” ยิ่งกว่า ทั้งตีลังกาและควงสว่านไปด้วย ส่วนหน้าขนาดใหญ่ซึ่งเปราะบางลงอยู่แล้วจากการร้าวหักที่ผิวน้ำแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ส่งชิ้นส่วนกระจัดกระจายลงสู่ก้นบึ้งมหาสมุทร ห้องผนึกน้ำระเบิด ดาดฟ้ายุบลงมาประกบกัน แผ่นเหล็กตามลำเรือฉีกขาดบรรดาชิ้นส่วนที่หนักกว่าอย่างหม้อไอน้ำจมดิ่งลง ขณะที่ชิ้นส่วนอื่น ๆ พุ่งกระจายออก ท้ายเรือดิ่งลงอย่างทุลักทุเลเป็นระยะทางกว่าสี่กิโลเมตร ทั้งฉีกขาดบิดงอ อัดบีบ และหลุดออกจากกันทีละน้อย ครั้นกระแทกกับพื้นสมุทรส่วนท้ายเรือก็แหลกเหลวจนจำสภาพแทบไม่ได้

แล้วแคเมรอนก็พูดขึ้นว่า ”เราไม่อยากให้ ไททานิกหักและแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ หรอกครับ เราอยากให้มันจมลงในสภาพสมบูรณ์เหมือนตอนที่ลอยลำอยู่ยังไงยังงั้น”

ขณะนั่งฟังอยู่นั้น ผมนึกสงสัยตลอดว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้คนที่ยังอยู่บนเรือขณะที่มันจมลง ในบรรดาผู้เคราะห์ร้าย 1,496 คน ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากภาวะตัวเย็นเกิน (hypo-thermia) ที่ผิวน้ำระหว่างลอยตัวเกาะกันเป็นแพด้วยเสื้อชูชีพบุไม้คอร์กข้างใน แต่อีกหลายร้อยคนอาจยังมีชีวิตอยู่ในเรือ ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวผู้อพยพในกลุ่มผู้โดยสารชั้นสามซึ่งหวังจะไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในอเมริกา พวกเขาจะสัมผัสได้ถึงโลหะที่บิดเบี้ยวและสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงขนาดไหนกัน จะได้ยินเสียงอะไรบ้างและรู้สึกอย่างไรช่างเป็นประสบการณ์อันแสนโหดร้ายจนไม่อยากแม้แต่จะคิด ทั้ง ๆ ที่เวลาล่วงเลยมาถึง 100 ปีแล้วก็ตาม

 

เมืองเซนต์จอนส์บนเกาะนิวฟันด์แลนด์เป็นบ้านอีกหลังของ ไททานิก ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ปี 1912 เรือกู้ชีพลำหนึ่งแล่นกลับเซนต์จอนส์พร้อมศพสุดท้ายจาก ไททานิก ตลอดหลายเดือนหลังโศกนาฏกรรม มีรายงานว่าพบข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น เก้าอี้พับ ชิ้นส่วนผนังไม้ และอื่น ๆ ถูกซัดมาเกยฝั่งนิวฟันด์แลนด์

ผมตั้งใจจะไปยังจุดอับปางพร้อมกับหน่วยตรวจการน้ำแข็งระหว่างประเทศ ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายหลังอุบัติภัยครั้งนั้นเพื่อตรวจตราและเฝ้าระวังภูเขาน้ำแข็งตามเส้นทางเดินเรือในเขตมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ แต่เมื่อนอร์อีสเตอร์ (nor’easter) หรือลมพายุตะวันออกเฉียงเหนือทำให้เที่ยวบินทุกเที่ยวถูกยกเลิก ผมจึงเปลี่ยนแผนไปนั่งที่ร้านเหล้าในท้องถิ่นแทน ที่นั่นผมได้รับเลี้ยงเหล้าวอดก้าพื้นเมืองที่กลั่นด้วยน้ำจากภูเขาน้ำแข็ง บาร์เทนเดอร์หย่อนน้ำแข็งสี่เหลี่ยมก้อนเล็ก ๆ ลงในแก้ว เป็นน้ำแข็งที่กะเทาะมาจากภูเขาน้ำแข็งซึ่งน่าจะมาจากธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ผืนเดียวกับที่ให้กำเนิดภูเขาน้ำแข็งซึ่งทำให้ ไททานิกจมลง น้ำแข็งก้อนนั้นแตกลั่นและปล่อยฟองฟู่ เขาบอกว่ามันคือการคายบรรยากาศดึกดำบรรพ์ที่กักอยู่ข้างในออกมา

เพียงไม่กี่ปีก่อนโศกนาฏกรรม ไททานิก กูกลิเอลโม มาร์โกนี สร้างสถานีวิทยุโทรเลขถาวรไว้บนสันดอนจะงอยอันเปล่าเปลี่ยวทางใต้ของเมืองเซนต์จอนส์ ซึ่งเรียกกันว่าเคปเรซ คนท้องถิ่นเล่าว่า บุคคลแรกที่ได้รับสัญญาณแจ้งเหตุร้ายจากเรือ ไททานิก คือ จิม ไมริก ซึ่งขณะนั้นเป็นพนักงานวิทยุโทรเลขวัย 14 ปี สัญญาณที่ส่งเข้ามาในช่วงแรกเป็นสัญญาณซีคิวดี (CQD) ซึ่งเป็นรหัสขอความช่วยเหลือที่ใช้กันทั่วไป แต่ต่อมาเคปเรซก็ได้รับสัญญาณใหม่ซึ่งแทบไม่เคยใช้ก่อนหน้านั้น นั่นคือเอสโอเอส (SOS)

เช้าวันหนึ่งที่เคปเรซ ท่ามกลางซากเก่าเก็บของอุปกรณ์วิทยุโทรเลขมาร์โกนีและเครื่องรับวิทยุคริสทัล ผมได้พบกับเดวิด ไมริก เหลนทวดของจิม เขาเป็นพนักงานวิทยุสื่อสารทางทะเล และเป็นทายาทคนสุดท้ายในตระกูลนักวิทยุสื่อสารรุ่นโบราณ เดวิดเล่าว่าปู่ทวดไม่เคยเอ่ยถึงคืนที่ ไททานิก จม จนกระทั่งล่วงเข้าวัยชรา เราออกไปที่ประภาคาร เหม่อมองไปยังทะเลเยียบเย็นที่ซัดกระแทกผาเบื้องล่าง เรือบรรทุกน้ำมันลำหนึ่งแล่นเอื่อยอยู่ลิบ ๆ ไกลออกไปที่แกรนด์แบงส์มีรายงานว่าพบภูเขาน้ำแข็งลูกใหม่ ๆ ไกลออกไปกว่านั้น บริเวณหลังเส้นขอบฟ้าคือที่พำนักสุดท้ายของเรืออับปางลำโด่งดังที่สุดในโลก ห้วงความคิดของผมเต็มไปด้วยสารพันสัญญาณที่ล่องลอยอยู่ในบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์ คลื่นวิทยุจากเรือน้อยใหญ่ที่หลอมรวมกันเมื่อกาลเวลาผ่านไปเนิ่นนาน ชั่วขณะนั้น ผมเกิดจินตนาการว่าตัวเองได้ยินเสียงเพรียกจาก ไททานิก เรือเดินสมุทรผู้เปี่ยมความทระนงล้นอยู่ในนาม แล่นฉิวอย่างสง่าผ่าเผยสู่โลกใหม่ แต่แล้วกลับถูกกระชากพรากชีวิตโดยสิ่งที่เก่าแก่โบราณและแสนเชื่องช้าอย่างก้อนน้ำแข็ง

เรื่อง แฮมป์ตัน ไซดส์

 

อ่านเพิ่มเติม

15 ภาพถ่ายประวัติศาสตร์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.