ฟอสซิลนิ้วอายุ 88,000 ปี รอยต่อของการอพยพในอดีต

ฟอสซิลนิ้ว อายุ 88,000 ปี รอยต่อของการอพยพในอดีต

ย้อนกลับไปราว 85,000 ปีก่อน คาบสมุทรอาหรับมีหน้าตาแตกต่างจากที่เห็นเป็นทะเลทรายเช่นในทุกวันนี้ ภูมิภาคแห่งนี้เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียวจากทุ่งหญ้าไกลสุดลูกหูลูกตา ฝนตกตามฤดูกาลก่อกำเนิดทะเลสาบมากมายนับร้อยแห่ง นักวิจัยพบหลักฐานการมีอยู่ในอดีตของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่าง ฮิปโปโปเตมัส สัตว์ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา นอกจากนั้นพวกเขายังพบเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากหิน แสดงให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประวัติศาสตร์ แต่ไม่เคยมีรายงานการค้นพบฟอสซิลของมนุษย์มาก่อน จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ที่มีการค้นพบ ฟอสซิลนิ้ว

ฟอสซิลของกระดูกนิ้วมนุษย์ถูกค้นพบในปี 2016 ในบริเวณทะเลสาบโบราณของซาอุดิอาระเบียที่มีชื่อว่า Al Wusta ย้อนอายุกลับไปได้เก่าแก่ถึง 88,000 ปี รายงานล่าสุดนี้ถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Nature Ecology and Evolution

ในการหาร่องรอยเพิ่มเติม นักโบราณคดีใช้ภาพถ่ายดาวเทียมช่วยเพื่อมองหาร่องรอยของมนุษย์โบราณและแหล่งน้ำจืดในอดีต “เราพบทะเลสาบโบราณในคาบสมุทรอาราเบียถึง 10,000 แห่ง ในจำนวนนี้ตรวจสอบแล้ว 200 แห่ง และกว่า 80% มีหลักฐานทางโบราณคดี” Michael Petraglia จากสถาบัน Max Planck ผู้นำการวิจัยครั้งนี้กล่าว

ทะเลสาบหลายแห่งในภูมิภาคนี้เกิดขึ้นตามฤดูกาล สังเกตได้จากการหดตัวในหน้าแล้งและขยายเพิ่มขึ้นเมื่อถึงฤดูมรสุม อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าทะเลสาบในเขต Al Wusta จะอุดมสมบูรณ์ตลอดปี รายงานเพิ่มเติมจาก Huw Groucutt นักโบราณคดีผู้ร่วมการวิจัย ซึ่งตัวเขาพบเครื่องมือหินกว่าร้อยชิ้นบริเวณทะเลสาบ Al Wusta

 

ปฐมบทแห่งการอพยพ

ช่วงเวลาที่แท้จริงของการเริ่มต้นอพยพเป็นประเด็นถกเถียงระหว่างนักบรรพชีวินวิทยาและนักโบราณคดีมานาน ก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญหลายรายกล่าวว่าไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษมนุษย์เดินเท้าอพยพออกจากภูมิภาคทางตะวันออกของแอฟริกาเร็วกว่า 60,000 ปีก่อน

ในปี 2007 Petraglia ยกหลักฐานใหม่ที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์สมัยใหม่เดินทางไปไกลทางตะวันออกถึงอินเดีย ตั้งแต่เมื่อ 74,000 ปีก่อนแล้ว “ผมถกเถียงประเด็นนี้มาเป็นสิบปีแล้วครับ” เขากล่าว “เราเชื่อว่ามนุษย์โฮโมเซเปียนส์เดินทางมาถึงทางตอนใต้ของเอเชียตั้งนานแล้ว ดูจากหลักฐานของเครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นหิน เพียงแต่ว่าหลักฐานที่เป็นฟอสซิลจริงๆ นั้นยังไม่มี”

ต่อมาในปี 2014 เขามุ่งความสนใจไปที่ภูมิภาคอาหรับ เนื่องจากในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นทุ่งหญ้ามาก่อน ภูมิทัศน์เช่นนี้เอื้อต่อการอยู่อาศัยและล่าสัตว์ ดังนั้นแล้วเขาจึงตั้งทฤษฎีขึ้นว่าต้องมีร่องรอยบางอย่างที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ที่อพยพออกจากแอฟริกาเดินทางผ่านยังบริเวณนี้

ฟอสซิลของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในโมร็อกโกชี้ให้เห็นว่าในภูมิภาคทางตะวันตกของแอฟริกามีมนุษย์อาศัยอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อ 300,000 ปีก่อน จากนั้นในเดือนมกราคม ปี 2018 ก็มีการค้นพบฟอสซิลขากรรไกรของมนุษย์อายุ 180,000 ปี ในอิสราเอล

(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการค้นพบฟอสซิลในอิสราเอล ที่นี่ )

ทั้ง Petraglia และ Groucutt กล่าวว่า การค้นพบกระดูกนิ้วในซาอุดิอาระเบียบ่งชี้ว่าการย้ายถิ่นฐานของมนุษย์มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์มากกว่าที่เคยเชื่อกันมา

“เราพบร่องรอยเป็นร้อยแห่งในคาบสมมุทรอาหรับ และเกือบทุกแห่งมีเครื่องมือหิน” Groucutt กล่าว “ไม่มีทางที่คุณจะไม่พบเครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้ แต่ความท้าทายก็คือแล้วฟอสซิลมนุษย์ล่ะ”

สำหรับฟอสซิลกระดูกนิ้วที่ถูกค้นพบนี้ ทีมนักวิจัยทราบข้อมูลเพียงน้อยนิด พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเจ้าของนิ้วนี้เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ไปจนถึงอายุของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์คนนี้

“ต่อให้เป็นกระดูกของมนุษย์ปัจจุบันก็ยากที่จะบอกว่าเป็นของใคร จากหลักฐานเพียงชิ้นเดียว” John Hawks นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล-เมดิสัน ผู้ไม่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยกล่าว “ฉะนั้นผมเลยมองว่ามันเร็วเกินไปที่จะเป็นหลักฐานสรุปการอพยพของมนุษย์สมัยใหม่”

“อย่างไรก็ดีมันแสดงให้เห็นว่าคาบสมุทรอาหรับยังมีอะไรอีกมากให้สำรวจ” Hawks กล่าว

ฟอสซิลกระดูกมนุษย์ที่พบใน Al Wusta ทางภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซาอุดิอาระเบีย
ภาพถ่ายโดย Ian Cartwright

 

หลักฐานเพิ่มเติมกำลังมา

Petraglia เห็นด้วยว่าซาอุิอาระเบียเพิ่งเป็นดินแดนที่บรรดานักวิทยาศาสตร์เข้าถึง และการค้นพบครั้งนี้มีนัยยะสำคัญ

“ทุกครั้งที่เรามาที่นี่เราจะพบอะไรใหม่เสมอ” เขากล่าว “เรามีแผนใหญ่ที่จะสำรวจทะเลสาบโบราณกันต่อไปครับ รวมไปถึงขยายขอบเขตให้ถึงภายในถ้ำด้วย ที่นี่เป็นดั่งเหมืองทองคำเลยทีเดียว”

เรื่อง ซาร่าห์ กิบเบ็นส์

 

อ่านเพิ่มเติม

12 ทฤษฎี เราวิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์ได้อย่างไร?

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.