มิวเซียมสยาม จัดพื้นที่การเรียนรู้เรื่องขยะ

ก่อนการระบาดใหญ่ กระแสการรักษาสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นที่กล่าวถึงในระดับมหาภาค ประชาชนเริ่มสังเกตเห็นผลกระทบสจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างชัดเจน รวมถึงการนำเสนอของสื่อต่างๆ ที่นำเรื่องราวปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมออกมาตีแผ่เพื่อสร้างการรับรู้มากขึ้น

หนึ่งในประเด็นที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคือ ปัญหาขยะพลาสติกและเรื่องการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่หลายภาคส่วนพยายามทุ่มเทงบประมาณ เพื่อรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้มาตั้งแต่ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ขยะที่เกิดขึ้นในปัจจุบันยังคงเป็นปัญหาในหลายพื้นที่

หลายภาคส่วนพยายามสื่อสารว่า การแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค การลด การใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดปริมาณขยะ และยืดอายุการใช้งานพลาสติกให้นานขึ้น และดูเหมือนว่า ความพยายามดังกล่าวจะได้รับการร่วมมือมากขึ้นในช่วงปี 2019 ซึ่งสะท้อนจากภาพของบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่หลายรายในประเทศให้ความสำคัญกับการลดการใช้พลาสติกมากขึ้น และคำนึงถึงกระบวนการผลิตเพื่อนำบรรจุภัณฑ์กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น

ในปี 2020 วันคุ้มครองโลก (Earth Day) ครบรอบ 50 ปี นับเป็นโอกาสดีที่จะขยายเรื่องการจัดการขยะออกไปให้กว้างขึ้น และวสร้างการรับรู้เรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนทุกคน เพื่อความยั่งยืนด้านการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ

มิวเซียมสยาม หนึ่งหน่วยงานที่ส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับชาวไทย ร่วมมือกับเครือข่ายองค์การรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Earth Day Network จัดพื้นที่ภายในมิวเซียมสยามเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการจัดการขยะ และโครงการขยะบทที่ 2 เพราะมิวเซียมสยามเป็นแหล่งเรียนรู้สาธารณะให้กับประชาชนชาวไทย ดังนั้น เรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งหนึ่งที่เราทุกคนต้องเรียนรู้ และร่วมกันแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม จึงเป็นหน้าที่ขององค์กรที่ให้ความรู้อย่างเราในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ความรู้เรื่องนี้

ปัจจุบัน เราเห็นกันอยู่แล้วว่า ผู้คนทั่วโลกสนใจเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดใช้พลาสติกที่ใช้แบบครั้งเดียวทิ้ง การหันมาใช้กระบอกน้ำเพื่อลดการใช้ขวดพลาสติก แต่สิ่งที่หนึ่งที่เรามองเห็นคือ ผู้คนยังไม่รู้วิธีการจัดการขยะอย่างถูกวิธี และ ไม่รู้ว่าขยะที่หลายคนมองว่าไร้คุณค่านั้น แท้จริงแล้ว สามารถนำไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์หรือสินค้าใหม่ๆ ที่เกิดประโยชน์ได้ หากมีการจัดการที่ถูกวิธี คุณราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กล่าว

มิวเซียมสยาม จึงได้จัดทำโครงการขยะบทที่ 2 นี้ขึ้นมา ร่วมรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมโลกไปกับ Earth Day Network ในโอกาสครบรอบปีที่ 50 โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการเผยแพร่ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมไทยเรื่องวิธีการจัดการขยะอย่างถูกวิธี และเห็นคุณค่าในการต่อยอดการใช้ประโยชน์จากขยะ

นอกจากนี้ มิวเซียมสยามยังร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอีก 11 แห่ง ประกอบด้วย SCG, Precious Plastic, วัดจากแดง, บริษัท Toll Way, SIAM SERPENTARIUM และเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ไทย อีก 7 แห่ง (เดอะศาลายา ไทยโซน, พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน,พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น, พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ) ในการร่วมมือฟื้นชีวิตขยะให้มีค่าอีกครั้ง

ทั้งนี้ โครงการขยะบทที่ 2 ถือว่าเป็นโครงการที่สอดคล้องกับแนวคิดของมิวเซียมสยามที่ว่า “ให้ทุกการเรียนรู้สนุกกว่าที่คิด” คือการจัดพื้นที่ให้ความรู้ด้านการคัดแยกขยะผ่านรูปแบบ “ถังขยะความรู้” จัดตั้งไว้รอบๆ บริเวณของมิวเซียมสยาม ดังนั้น การแยกขยะก่อนทิ้งจะกลายเป็นเรื่องที่ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป เพราะนอกจากผู้เข้าชมจะมีส่วนร่วมกับเราในการคัดแยกและบริจาคขยะที่ไม่ใช้แล้ว ยังได้ความรู้และสามารถนำกลับไปทำที่บ้านของตัวเองได้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการ “Learning by Doing” ไปพร้อมๆ กัน และรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศเราร่วมกันอีกด้วย

มิวเซียมสยามนำเสนอการเรียนรู้เรื่องการจัดการขยะอย่างไร

การส่งต่อความรู้เรื่องการจัดการขยะ ครั้งนี้มิวเซียมสยามไม่ได้จัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการ แต่จัดพื้นที่โดยรอบมิวเซียมสยามให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้การจัดการขยะ

เราได้จัดตั้งถังขยะ ซึ่งเรียกว่า “ถังขยะความรู้” ตามจุดต่างๆ ของมิวเซียมสยาม จุดละ 3 ถัง คือ ถังขยะสีเขียวที่ทิ้งขยะได้ทั่วไป ถังขยะสีน้ำเงินทิ้งขวดพลาสติก และถังขยะสีเหลืองทิ้งกระป๋องและขวดแก้ว โดยแต่ละถังเราได้สอดแทรกวิธีการจัดการขยะคือ ให้คนที่ทิ้งขยะทราบว่า ถังสีไหน ต้องทิ้งขยะประเภทอะไร และมีวิธีการจัดการก่อนทิ้งขยะลงถังอย่างไร เช่น ต้องเทน้ำออกจากขวดก่อน แยกฝาและขวดออกจากกัน เพราะพลาสติกต่างชนิดกัน ก็นำไปสร้างประโยชน์ที่แตกต่างกัน เป็นต้น คุณราเมศกล่าวและเสริมว่า

นอกจากนี้ เรายังขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดวิกฤตการณ์ขยะที่จะเกิดขึ้นหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 นี้ ไม่ว่าจะเป็นขวดเจลแอลกอฮอล์ หรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกต่างๆ โดยเราขอเชิญชวนทุกคนคัดแยกขยะประเภทขวดและฝาพลาสติก และกระดาษใบเสร็จต่างๆ นำมาบริจาคที่กล่องรับบริจาคของเราได้

หลังจากที่เราได้ขยะที่ประชาชนมาบริจาคมิวเซียมสยามขอรวบรวมนำไปส่งต่อให้เครือข่ายที่องค์กรความร่วมมือที่จะนำขยะไปพัฒนาต่อยอดใช้ประโยชน์ต่อไป วัดจากแดงจะนำขยะประเภทขวดพลาสติกไปแปรรูปเป็นเส้นใยและทำจีวรพระ กลุ่ม Precious Plastic จะจัดการฝาพลาสติกไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มและสามารถนำไปใช้ต่อได้ เช่น กระถางต้นไม้ ที่รองแก้ว และตะกร้าใส่ผลไม้ เป็นต้น บริษัท Toll Way นำสลิปกระดาษและใบเสร็จ ไปสร้างเป็นสมุดเล่มใหม่ส่งมอบให้กับเด็กๆ ได้ใช้ประโยชน์ต่อไป

ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการขยะบทที่ 2

ที่มาของคำว่าขยะบทที่ 2 มาจากแนวคิดที่พวกเรามองเห็นร่วมกันว่า ขยะที่ทุกคนทิ้ง แท้จริงแล้วสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้เป็นอย่างดี เพียงแต่ต้องรู้วิธีการจัดการขยะที่ถูกต้อง และมิวเซียมสยามในฐานะแหล่งการเรียนรู้สาธารณะ จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมไทยในเรื่องนี้

โครงการขยะบทที่ 2 ทางมิวเซียมสยามทำหน้าที่เป็นพื้นที่การเรียนรู้ โดยให้ความรู้เรื่องของการจัดการขยะเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ โดยมีการจัดทำถังขยะความรู้เพื่อให้ความรู้เรื่องการคัดแยกและจัดการขยะแต่ละประเภท การรณรงค์ให้ทุกคนลดการใช้วัสดุ บรรจุภัณฑ์แบบครั้งเดียว และเชิญชวนทุกคนร่วมบริจาคขยะเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อภายใต้แนวคิด You bring I give โดยการรับบริจาคขยะประเภทฝา ขวดพลาสติก และกระดาษสลิปใบเสร็จ เพื่อส่งต่อให้องค์กรเครือข่ายที่จะต่อยอดและใช้ประโยชน์จากขยะ ได้แก่ Precious Plastic วัดจากแดง และ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง ในการนำขยะมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์ เช่น ของใช้ในบ้าน จีวรพระ และสมุดเขียนบันทึก เป็นต้น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการสร้างมูลค่าขยะให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจหมุนเวียน และเรายังเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมการลดการใช้แบบครั้งเดียว ภายใต้แบรนด์ Muse Shop กับคอลเล็กชันใหม่ที่มีชื่อว่า มี.มา.เอง เพื่อเอาใจกลุ่มรักสิ่งแวดล้อมด้วย

เป้าหมายของโครงการนี้ก็คือ เผยแพร่ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนไทยได้เรียนรู้การจัดการขยะอย่างถูกวิธี และลดจำนวนขยะที่มีโอกาสทำลายสิ่งแวดล้อม และร่วมกันนำขยะมาบริจาคสร้าง บทที่ 2 ของขยะในการต่อยอดให้เกิดประโยชน์เป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีคุณค่าช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศต่อไป

ข้อมูลการเข้าเยี่ยมชมมิวเซียมสยาม ติดตามได้ที่ https://www.museumsiam.org/

ขอขอบคุณ คุณราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: เมื่อคลื่นลมพัดพาขยะขึ้นฝั่ง ความร่วมมือจึงเกิดขึ้น

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.