Talk Series #2 Fight Food Waste! เล่าเรื่องขยะอาหาร การต่อสู้เพื่อรับมือปัญหาขยะอาหารอย่างยั่งยืน

บันทึกวงสนทนาว่าด้วยขยะอาหาร ตัวการสำคัญจากพฤติกรรมการบริโภคที่เพิ่มความร้อนให้โลก

อาหารที่เรากินเหลือทิ้ง ปลายทางอยู่ที่ไหน?

ขยะอาหาร (Food Waste)กับ การสูญเสียอาหาร” (Food Loss) ต่างกันอย่างไร?

การบริโภคอาหารไม่หมดจาน ส่งผลอย่างไรต่อโลก?

ไม่ว่า คำถามจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ทั้งหมดคือความกังวลว่าด้วยขยะจากอาหาร (Food waste) ที่นับวันยิ่งมีมากขึ้น และอยู่ใกล้ตัวของพวกเราทุกๆคน

ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations:  FAO) ระบุว่า ทุกๆปี เราจะอาหารเหลือทิ้งทั่วโลก 1.6 พันล้านตัน และจำนวนอาหารเหลือทิ้งนี้มีส่วนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ราว 3.3 พันล้านตัน นั่นจึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมขยะอาหารยังเป็นต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของภาวะโลกร้อน

สถานการณ์ที่ว่านี้ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยซึ่งแม้จะขึ้นชื่อเรื่อง ความอุดมสมบูรณ์ด้านอาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพ หากแต่อีกด้านหนึ่ง การผลิตแบบจำนวนมาก และการมีบริโภคจนเกินพอดีก็นำมาซึ่งขยะจำนวนมหาศาล ซึ่งในงาน Sustainability Expo มี Talk Series #2 Fight Food Waste! ได้มี 3 วิทยากรจากภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจเพื่อสังคม ได้มาร่วมเสวนาทางออก เพื่อรับมือปัญหาขยะอาหารอย่างยั่งยืนได้อย่างน่าสนใจ

เริ่มที่ภาคธุรกิจเพื่อสังคม  ปารีณา ประยุกต์วงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท บางกอก รูฟท็อป ฟาร์มมิ่ง จำกัด (Bangkok Rooftop Farming) ที่สร้างกระบวนการนำเศษอาหารมาแปลงเป็นวัสดุปรุงดิน ช่วยในการจัดการขยะเปียกพร้อมทั้งสร้างพื้นที่สีเขียวในพื้นที่จำกัด เล่าว่า Bangkok Rooftop Farming เน้นไปที่การจัดการขยะเศษอาหาร ซึ่งเป็นขยะที่มีปริมาณมากที่สุด ทั้งยังเป็นปัญหาที่ยังไม่มีองค์กรใดลงมาพัฒนาอย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นการจัดการที่ยากลำบาก

กระบวนการจัดการนี้นอกจากจะเป็นการช่วยจัดการขยะอินทรีย์แล้ว ยังช่วยในการจัดสรรพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้งาน เช่น พื้นที่ดาดฟ้าให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดพร้อมทั้งสร้างรายได้และช่วยลดขยะไปพร้อมกัน ขณะที่ความกังวลในเรื่องของกลิ่น จากกระบวนการทำจะเป็นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยจึงหมดกังวลในเรื่องของกลิ่นและแมลง ไม่สร้างความรบกวนต่อผู้อาศัยในบริเวณใกล้เคียงอย่างแน่นอน

“เกิดขยะมากมายในระบบอาหาร และมีขยะอาหารที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มากมาย ซึ่งสิ่งที่เราทำคือการพยายามนำเศษวัสดุเศษอาหารเหล่านั้นนำกลับมาสร้างมูลค่าใหม่ ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมด จะอยู่บนหลัก 4 Cares คือแคร์ผู้บริโภค แคร์คนทำงาน แคร์ธรรมชาติ และแคร์สุขภาพจากการได้รับประทานอาหารปลอดภัย”

ขณะที่ ทวี อิ่มพูลทรัพย์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ SOS Thailand   (Scholars of Sustenance Foundation ) ซึ่งมุ่งเป้าไปที่ภารกิจ Food Rescue หรือ “โครงการรักษ์อาหาร” ให้มุมมองว่า ในแต่ละวันมีอาหารส่วนเกินความต้องการในปริมาณมาก ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ผลิตเกินการจำหน่าย และสินค้าใกล้หมดอายุ อาหารปรุงสุกจากไลน์ปุฟเฟต์ แต่ยังเป็นอาหารปลอดภัยต่อการบริโภค ซึ่งหน้าที่ของ SOS Thailand คือการส่งต่ออาหารส่วนเกินเหล่านั้นให้กับชุมชน

การทำงานแบ่งปันอาหารนั้น ไม่ใช่แค่การนำเอาอาหารไปแจกจ่ายและหยิบยื่นให้เท่านั้นแต่ยังต้องทำงานกับชุมชน มีขั้นตอนติดต่อกับผู้นำชุมชน การดูแลความปลอดภัยทางอาหาร เข้าไปแนะนำการจัดตั้ง  วิธีจัดการกับวัตถุดิบที่ชาวบ้านไม่คุ้นเคย เช่น บร็อคโคลี่ แครอท รวมถึงผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรส ที่มีหลากหลาย

โมเดลการกอบกู้อาหารส่วนเกิน จึงเป็นตัวกลางสร้างระบบการจัดเก็บอาหารจากภาคธุรกิจที่จำหน่ายไม่หมด แต่ยังมีคุณภาพและปลอดภัยเพียงพอที่จะรับประทานได้ นำไป “ส่งต่อ” ให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือในสังคม และมุ่งสู่การจัดตั้งธนาคารอาหารในประเทศไทย เพื่อความยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร เพื่อดูแลทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ในส่วนของการลดขยะอาหาร และด้านสังคมคือ ช่วยให้ผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือได้รับอาหารเพียงพอ

 “ขยะอาหารที่เป็นของเหลือจากที่หนึ่ง เมื่อมาผ่านกระบวนการจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนคนมีรายได้น้อย และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม  แต่โครงการก็เผชิญปัญหาปริมาณอาหารส่วนเกินที่ได้บริจาคลดลง เห็นได้ชัดเจนจากโควิดระลอกที่ 3  อาหารส่วนเกินจากห้างร้าน ธุรกิจอาหาร โรงแรมหายไป ขณะที่อาหารส่วนเกินจากซุปเปอร์มาร์เก็ตยอดลดลง 30% สภาพของสินค้าคุณภาพลดลงและใกล้วันหมดอายุมากกว่าเดิม เพราะกำลังซื้อคนลดลง ส่วนการประชุมหรืองานจัดเลี้ยงยกเลิกจากโควิดระบาด ขณะนี้ยังต้องการผู้บริจาคอาหารส่วนเกินจากภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม“

ปิดท้ายด้วยตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่ง พสุ ศิริเสรีวรรณ ผู้จัดการทั่วไป ด้านการบริหารความยั่งยืนองค์กร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ซึ่งสะท้อนว่า การลดขยะอาหารและการลดการสูญเสียในการผลิต เป็นสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมให้ความสำคัญ ซึ่ง CPF ก็มีแนวทางในการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การทำเมนูอาหารยั่งยืน แบบ Low Carbon ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะมีการประเมินว่าเมนูอาหารนั้นๆ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ ตั้งแต่ต้นทางของวัตถุดิบจนถึงการผลิต และแสดงข้อมูลก๊าซเรือนประจกของอาหารแต่ละจานให้ผู้บริโภคทราบ

ขณะเดียวกัน ยานพาหนะบรรทุกอาหารที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล ก็เป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน วัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารแต่ละเมนูที่เน้นหาซื้อจากร้านค้าที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากศูนย์อาหารเพื่อย่นระยะการขนส่ง

ทุกวันนี้ CPF กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายรูปแบบของ CP Food World ศูนย์อาหารต้นแบบไปยังสาขาอื่นๆ ทั้งในพื้นที่มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลและศูนย์การค้า โดยเฉพาะเมนูอาหารยั่งยืน เมื่อได้รับผลคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดช่วงวัฏจักร (Life Cycle Assessment) ครบถ้วนทั้งวงจรแล้ว CPF วางแผนจะเพิ่มเมนูที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในทุกสาขาเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคในที่อื่นๆ อีกด้วย

“การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน จะเกิดขึ้นได้เมื่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคเดินควบคู่กันไป ผู้ผลิตก็ควรคำนึงถึงการได้มาของวัตถุดิบ ผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่เกิดการสูญเสีย เป็นการสร้างการผลิตอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็ควรซื้อสินค้าแต่พอประมาณ บริโภคให้หมด ไม่เหลือทิ้งเป็นขยะอาหาร นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการบริโภคอย่างยั่งยืนแล้ว”

สำหรับกิจกรรม Talk Series #2 Fight Food Waste! ใน Sustainability Expo นี้นอกจากเวทีเสวนาแล้ว ยังมีการจัดบูธของ SOS ที่ให้ความรู้น้อง ๆ นิสิต นักศึกษาที่เข้าร่วมงานถึงปัญหาขยะอาหารในประเทศไทย และการทำงานด้านการกอบกู้อาหารส่วนเกินที่ทางมูลนิธิฯ ได้ทำมาตลอด 7 ปี ทั้งนี้เพื่อให้ ทุกคนตระหนักถึงปัญหาขยะอาหารที่เกิดขึ้นและอยากเป็นส่วนหนึ่งในการเเก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน

ให้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ช่วยลดขยะจากเศษอาหารและสามารถช่วยโลกได้อีกทางหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม : ขยะอาหาร (Food Waste) และการสูญเสียอาหาร (Food Loss)

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.