เฝ้าจับตาการละลายบน เทือกเขาแอนดีส

สูงขึ้นไปบน เทือกเขาแอนดีส ทีมสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศ ซึ่งอาจช่วยให้พื้นที่ตอนกลางของชิลีรับมือกับภัยแล้งและภาวะโลกร้อนที่คุกคามแหล่งน้ำในภูมิภาคได้

ที่ความสูงกว่า 5,800 เมตรเหนือระดับทะเลเล็กน้อย บนภูเขาตูปุนกาโตในประเทศชิลี เบเกอร์ เพร์รี และนักปีนเขาร่วมทีมถูกพายุหิมะที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าพัดกระหน่ำในช่วงรุ่งสาง ตรึงพวกเขาไว้ในเต็นท์ด้วยกระแสลมทารุณและหิมะหมุนวน เพร์รี นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยแอปพาเลเชียนสเตตในนอร์ทแคโรไลนา จำได้ว่า เขาเผชิญเหตุการณ์นั้นด้วยมุมมองเชิงปรัชญา

“ปรากฏการณ์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของความงามแห่งขุนเขา แต่ก็ท้าทายมากในเวลาเดียวกัน นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราไม่มีสถานีตรวจวัดสภาพอากาศตั้งอยู่มากนักในพื้นที่แบบนี้ครับ” เพร์รีบอก

เพร์รีเป็นผู้นำร่วมของทีมนานาชาติ ซึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เดินและปีนเขาฝ่าหิมะหนาเป็นเวลา 15 วัน เพื่อติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศ ณ ตำแหน่งเกือบถึงยอดเขาตูปุนกาโต ซึ่งเป็นภูเขาไฟสงบทางตอนใต้ของเทือกเขาแอนดีส สถานีตรวจวัดสภาพอากาศซึ่งตั้งอยู่ตรงจุดที่ประเทศชิลีบรรจบกับอาร์เจนตินา เป็นสถานีที่อยู่สูงที่สุดในซีกโลกใต้และซีกโลกตะวันตก และจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่า สภาพภูมิอากาศในภูมิภาคนี้กำลังเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเพียงใด การสำรวจครั้งนี้จัดขึ้นโดยสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และได้รับการสนับสนุนจากโครงการริเริ่มเพื่อโลกที่ยั่งยืนของโรเล็กซ์ (Rolex’s Perpetual Planet Initiative)

ส่วนบนสุดของเส้นทางที่ทีมสำรวจใช้ไต่ขึ้นเขาตูปุนกาโตเลาะไปตามเส้นขอบฟ้าทางซ้ายของยอดเขา ทุ่งหิมะและ ธารน้ำแข็งที่ละลายจากภูเขาไฟลูกนี้ไหลลงสู่แม่น้ำไมโปจนถึงตอนนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ฝนและหิมะตกน้อยลงทางตอนกลางของชิลี ส่งผลให้เกิดภัยแล้งยืดเยื้อยาวนาน

โดยอาศัยข้อมูลอุณหภูมิ ความเร็วลม และความลึกของหิมะที่สถานีนี้จะรวบรวมได้ นักวิทยาศาสตร์หวังว่า จะสามารถเข้าใจได้ดีขึ้นว่า พื้นที่ตอนกลางของชิลีและซานเตียโกซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ จะรับมืออย่างไร เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ภูมิภาคนี้เผชิญกับภัยแล้งบ่อยขึ้น เช่น ภัยแล้งครั้งประวัติการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ และทำให้ “หอเก็บน้ำ” บนภูเขา หรือธารน้ำแข็งและทุ่งหิมะที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ หดเล็กลงและถอยร่น

“เวลานี้เดิมพันสูงมากครับ” ทอม แมตทิวส์ สมาชิกทีมสำรวจ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยลัฟบะระในสหราชอาณาจักร บอกและเสริมว่า “ผู้คนหลายล้านคนอาศัยอยู่ในบริเวณปลายน้ำของ หอเก็บน้ำเหล่านี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่เรารู้จักน้อยมาก ในแง่ของปฏิกิริยาที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อสภาพภูมิอากาศอบอุ่นขึ้น”

ตูปุนกาโตเป็นยอดเขาสูงสุดอันดับหกของชิลี และเป็นภูเขาสูงที่สุดในลุ่มน้ำไมโป ซึ่งหล่อเลี้ยงประชากร 6.7 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในและรอบๆกรุงซานเตียโก เมื่อมีข้อมูลชัดเจนขึ้นว่า มีหยาดน้ำฟ้าปริมาณเท่าใดตกลงบนยอดเขาอย่างตูปุนกาโต เจ้าหน้าที่รัฐจะสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้นว่า พวกเขาต้องจัดสรรน้ำมากน้อยเพียงใดในปีนั้นๆ

ฟรังโก บูกลิโอ (ทางซ้าย), มัคคุเทศก์ปีนเขา มานูเอล มีรา, อาเลฆันดรา เอสปิโนซา (ก้มอยู่) และเฟร์นันโด อูร์บินา ติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศที่ความสูงกว่า 6,500 เมตร ใกล้กับยอดภูเขาไฟตูปุนกาโตในชิลี บูกลิโอ, เอสปิโนซา และอูร์บินา มาจากกรมทรัพยากรน้ำของชิลี ข้อมูลที่สถานีตรวจวัดสภาพอากาศแห่งนี้รวบรวมได้ จะช่วยให้เข้าใจผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อแหล่งน้ำสำคัญแห่งหนึ่งสำหรับภูมิภาคตอนกลางของชิลี

“ผมศึกษาธารน้ำแข็งมาตั้งแต่ปี 1982 ในช่วงชีวิตผม เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในธารน้ำแข็งและชั้นหิมะปกคลุมครับ” ฆีโน กาซัสซา ผู้นำร่วมของการสำรวจ และเป็นหัวหน้าหน่วยงานธารน้ำแข็งของรัฐบาลชิลี กล่าว

พื้นที่ตอนกลางของชิลีเป็นเขตภูมินิเวศแบบเมดิเตอร์เรเนียน เขตภูมินิเวศนี้ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายอาตากามา ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตขั้วโลกที่แห้งแล้งที่สุดในโลก และแทรกอยู่ระหว่างเทือกเขาแอนดีสกับมหาสมุทรแปซิฟิก

ชาวชิลีคุ้นเคยกับปีที่แห้งแล้งเป็นระยะๆ เช่น ปี 2010 ก็เป็นปีที่แห้งแล้งปีหนึ่ง แต่ในปี 2011 ตามด้วย ปี 2012 และ 2013 ฝนก็ยังตกน้อยเหมือนเดิม

“พอเข้าปี 2014” ซึ่งยังแห้งแล้งเหมือนเดิม “และนั่นก็น่าสงสัยแล้วละครับ” เรอเน การ์โร นักภูมิอากาศวิทยาจากมหาวิทยาลัยชิลีซึ่งไม่มีส่วนร่วมในการสำรวจครั้งนี้ บอก

มาร์เซลิโน ออร์เตกา มาร์ติเนซ (ข้างหน้า) และเฟร์นันโด ออร์เตการ์ ออร์เตการ์ เป็นนักขี่ล่อ หรือผู้มีความชำนาญ ในการขนย้ายอุปกรณ์โดยใช้ล่อบรรทุก และมีบทบาทสำคัญในการสำรวจครั้งนี้ ในภาพ พวกเขาขี่ม้าอยู่ข้างล่อบรรทุกอุปกรณ์ มุ่งหน้าไปยังแคมป์บัญโญสอาซูเลส ที่ความสูง 2,500 เมตร

ล่วงถึงปี 2015 การ์โรและเพื่อนร่วมงานชาวชิลีฟันธงว่า ภูมิภาคนี้กำลังเผชิญกับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า มหันตภัยแล้ง (megadrought) ภัยแล้งรอบนี้ยาวนานกว่าหนึ่งทศวรรษ โดยเฉลี่ยแล้ว ตั้งแต่ภัยแล้งรอบนี้เริ่มขึ้นเมื่อ ปี 2010 ฝนมีปริมาณลดลงหนึ่งในสามของที่เคยตกในแต่ละปี และในปี 2019 ซึ่งเป็นปีแห้งแล้งที่สุดของภัยแล้งรอบนี้ ปริมาณฝนลดลงเหลือไม่ถึงหนึ่งในสี่ของปริมาณฝนปกติ

ความผันแปรตามธรรมชาติบางประการมีอิทธิพลต่อปริมาณฝนรวมในระยะเวลาหนึ่งทศวรรษ การ์โรกล่าวและเสริมว่า แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีส่วนทำให้เกิดมหันตภัยแล้งนี้อย่างไม่ต้องสงสัย โดยทั่วไปแล้ว เป็นที่คาดการณ์กันว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีส่วนทำให้เขตแห้งแล้งยิ่งแล้งหนักขึ้น ขณะที่เขตชุ่มน้ำ จะยิ่งหลากชุ่มมากขึ้น และแม้ชิลีจะเคยประสบกับช่วงภัยแล้งยาวนานมาก่อนแล้ว แต่ไม่มีครั้งใดเลวร้ายยืดเยื้อ เท่ารอบนี้ อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นทำให้รูปแบบสภาพอากาศที่เคยนำพาหยาดน้ำฟ้ามาตกในพื้นที่เปลี่ยนไป และแบบจำลองก็บ่งชี้ว่า รูปแบบเหล่านี้มีแนวโน้มสูงที่จะยังคงอยู่ต่อไป

ช่างภาพวิดีโอ บริตทานี มุมมา (คนหน้า) และช่างภาพ อาร์มันโด เบกา อยู่ในโค้งสุดท้ายของการไต่ขึ้นเขา ตูปุนกาโต เพื่อติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศที่อยู่สูงที่สุดในซีกโลกใต้ ภารกิจนี้ใช้เวลา 15 วันในการเดินทางขึ้นไปและกลับลงมา โดยใช้เวลาวางแผนกว่าหนึ่งปี (ภาพถ่าย: เดิร์ก คอลลินส์)

นั่นถือเป็นข่าวร้ายสำหรับภูมิภาคตอนกลางของชิลี ซึ่งต้องพึ่งพาน้ำจืดจากหอเก็บน้ำบนภูเขาในบริเวณลุ่มน้ำไมโป ตามรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร เนเจอร์ เมื่อปี 2019 หอเก็บน้ำทั่วโลก ตั้งแต่เทือกเขาแอนดีสจนถึงเทือกเขาหิมาลัย ล้วนตกอยู่ในอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทีมสำรวจใช้เวลาราว 10 วันกว่าจะไต่ถึงยอดเขาตูปุนกาโตซึ่งสูงกว่า 6,500 เมตร และใช้เวลาห้าวันในขาลง ในช่วงหลายเดือนก่อนการเดินทาง สมาชิกในทีมต่างฝึกทักษะและเตรียมสภาพร่างกายกันอย่างเข้มข้น

สถานีตรวจวัดสภาพอากาศที่ทีมสำรวจขนขึ้นเขาตูปุนกาโตเป็นโครงสร้างสามขาพับได้ที่ทำจากอะลูมิเนียม มีความสูง 1.8 เมตร หนัก 54 กิโลกรัม เป็นสถานีที่เบาพอจะขนขึ้นไปได้ โดยแยกเป็นชิ้นส่วนกระจายใส่เป้สะพายหลังหลายใบ แต่ต้องแข็งแรงพอจะต้านกระแสลมที่จัดว่ารุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งในโลกได้

การติดตั้งอุปกรณ์เข้าที่ ณ จุดใกล้กับยอดเขาต้องใช้วิธียึดฐานสามขาของสถานีตรวจวัดสภาพอากาศกับ พื้นหิน แล้วตรึงให้มั่นคงด้วยสายเคเบิล สถานีใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ที่ชาร์จไฟด้วยแสงอาทิตย์ และมีสายอากาศสำหรับการสื่อสารผ่านดาวเทียม

เพร์รีแวะล้างเนื้อล้างตัวอย่างรวดเร็วระหว่างทางไปยังแคมป์เปนิเตนเตสที่ความสูงราว 4,300 เมตร การเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศและสภาพภูมิอากาศอาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลันสำหรับนักปีนเขา ภูมิทัศน์ซึ่งเต็มไปด้วยไม้พุ่มขนาดเล็ก เปลี่ยนเป็นพื้นที่ยอดเขาสูง ธารน้ำแข็ง และหิมะอย่างรวดเร็ว

ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังติดตั้งเซนเซอร์วัดอุณหภูมิลึกลงไปหนึ่งเมตรในชั้นดินเยือกแข็งคงตัวใกล้กับยอดเขา เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในดินเยือกแข็ง สถานีดังกล่าวจะวัดรังสี ความลึกของหิมะ และค่าแอลบีโด (albedo) หรืออัตราส่วนรังสีสะท้อน ค่าแอลบีโดมีความสำคัญ เพราะเมื่อหิมะตกน้อยลงและน้ำแข็งละลาย สิ่งนี้จะทำให้เกิดการผุดโผล่ของชั้นหิมะที่อยู่ด้านล่าง และลงไปถึงชั้นหินสีเข้มในท้ายที่สุด ส่งผลให้อุณหภูมิพื้นผิวโดยรอบสูงขึ้น และอาจเร่งอัตราการละลายให้เร็วขึ้นอีก

การจะระบุให้แน่ชัดว่า ชิลีมีปริมาณน้ำจืดกักเก็บอยู่บนขุนเขาของประเทศมากเท่าใด และจะลดลงถึงระดับวิกฤติเมื่อใด เป็นการคาดการณ์ที่ซับซ้อน แมตทิวส์บอก ในระยะสั้น ความร้อนที่เร่งหิมะและน้ำแข็งให้ละลายเร็วขึ้น จะส่งผลให้มีน้ำมากขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมได้ แต่เมื่ออัตราการละลายเพิ่มสูงขึ้น ท้ายที่สุด ธารน้ำแข็งจะ “มีขนาดเล็กลงมากจนแม้จะละลายอย่างรวดเร็วมาก แต่ก็มีน้ำแข็งเหลือให้ละลายน้อยลง” ดังนั้นปริมาณน้ำไหลผ่านจึงน้อยลงตามไปด้วย เขาสรุป

นักวิทยาศาสตร์เรียกจุดเปลี่ยนผ่านนี้ว่า “มวลน้ำสูงสุด” (peak water) ซึ่งก็คือเมื่อการไหลหลากของน้ำในระยะสั้นเปลี่ยนผันเป็นการขาดแคลนน้ำในระยะยาว

ลุ่มน้ำไมโปมีสถานีตรวจวัดสภาพอากาศบนพื้นที่สูงอีกเพียงสองแห่ง กาซัสซาหวังว่า สถานีแห่งใหม่นี้จะกลายเป็นหนึ่งในอีกหลายแห่งที่เขากับเพื่อนร่วมงานจะติดตั้งไว้ทั่วประเทศชิลี

เรื่อง ซาราห์ กิบเบนส์
ภาพถ่าย อาร์มันโด เบกา


บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการริเริ่มเพื่อโลกที่ยั่งยืนของโรเล็กซ์ (Rolex Perpetual Planet Initiative) ซึ่งร่วมมือกับสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในโครงการสำรวจทางวิทยาศาสตร์เพื่อสำรวจ ศึกษา และบันทึกการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคที่มีความแตกต่างโดดเด่นหลายแห่งของโลก


อ่านเพิ่มเติม หน้าต่างบานใหม่สู่สภาพอากาศ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.