เสือในกรงเลี้ยง: เสียงคำรามที่ไร้ความหมาย
ก่อนจะเข้ามาเรียนที่เมืองหลวง ผมไม่เคยเห็นเสือตัวจริงเลยสักครั้ง
จนเมื่อมีโอกาสมาเรียนต่อ จึงได้พบกับเสือครั้งแรกที่สวนสัตว์ต่าง ๆ แต่เสือส่วนมากที่เห็นก็เป็นเพียง เสือในกรง ที่หมดเรี่ยวแรง สายตาอ่อนล้า นอนหมอบอยู่ในกรงลึกห่างไกลจากสายตา
.
หลังจากเรียนจบ ช่วงเวลานี้เองที่ผมได้ใกล้ชิดกับเสือ โดยเฉพาะเสือโคร่งที่ต้องถ่ายรูปเก็บประวัติให้ได้ครบทุกตัว การทำงานกับเสือนับร้อยพันทำให้ผมจำแนกเสือออกเป็นสามกลุ่มคือ
.
1) เสือที่เกิดมาในกรง รับรู้เพียงว่าห้องสี่เหลี่ยมคือโลกของมัน ตรงมุมห้องมีอ่างอาบนํ้า อาหารจะมาทุกเช้าเย็น ไม้เล็ก ๆ ขนาดยาวเพียงศอกที่เจ้าหน้าที่ถืออยู่ในมือเป็นอาวุธที่ต้องระวัง มันดูร่าเริงสนุกสนานบางครั้งอาจกางเล็บตะปบบ้างตามสัญชาตญาณที่มันไม่รู้จักวิธีการใช้
.
2) เสือที่ดุร้าย เกรี้ยวกราดกับทุกสิ่ง แยกเขี้ยวขู่ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา แววตาแฝงด้วยความหวาดกลัวและอาฆาต
.
3) เสือหมดไฟ ทั้งร่างกายและจิตใจดูหมดแรงและสิ้นหวัง ไม่ค่อยขยับตัว ทำได้เพียงร้องโหยหวนเป็นบางครั้ง
.
จากข่าวสารที่ได้รับในช่วงทำงาน ผมพบว่าเสือโคร่งที่ร่วมงานด้วยนั้นมีกว่า 1,400 ตัว ซึ่งมากกว่าจำนวนเสือโคร่งในธรรมชาติทั้งหมดของไทย 6 – 7 เท่า คงเพราะคุณภาพชีวิต (บางอย่าง) ในกรงเอื้อต่อการขยายพันธุ์ จำนวนเสือในกรงจึงเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ก็หมดความหมายต่อระบบนิเวศอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นเพียงสัตว์ที่รอวันหมดอายุขัย
เรื่องและภาพ อิสระ บุญเย็น
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากโครงการประกวดสารคดีภาพ “10 ภาพเล่าเรื่อง” ปี 2016
โดยนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.