หลังเหตุการณ์วาตภัยถล่มเมืองสงขลาเมื่อสองปีที่ผ่านมา โบราณสถานหลายแห่งได้รับความเสียหายอย่างหนัก กำแพงเมืองที่เคยยืนหยัดและกรำศึกหลายต่อหลายครั้งมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ถึงกับล้มพังพาบยอมแพ้ให้กับลมและน้ำ จากฟากฟ้า
เช่นเดียวกันกับวัดมัชฌิมาวาส วัดเก่าแก่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ที่ได้รับการบูรณะมาแล้วหลายครั้ง โดยการบูรณะครั้งใหญ่ในช่วงต้นรัชกาลที่ ๔ ซึ่งว่ากันว่าเป็นยุคทองของพุทธศิลป์ รายละเอียดทุกอย่างล้วนเป็นฝีมือของช่างสิบหมู่วังหน้าผสมผสานกับช่างท้องถิ่นอย่างลงตัว งานพุทธศิลป์ของที่นี่จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปะระดับหัวแหวนแห่งเดียวของภาคใต้ ก็ว่าได้
ผลกระทบของวาตภัยดังกล่าวส่งผลให้งานไม้แกะสลักประดับกระจกบนอุโบสถอายุกว่าร้อยปีพังลงมาบางส่วน เมื่อประเมินความเสียหายแล้วพบว่า ต้องรื้อของเก่าลงมา แล้วแกะของใหม่ขึ้นไปใส่แทนที่ ภารกิจนี้กลายเป็นการเดินทาง (ด้วยรถ) อันยาวไกลที่สุด และการ “เที่ยวทะเล” ครั้งแรกของเหล่าช่างไม้ชาวเหนือที่มากอบกู้พุทธศิลป์ไม้แกะสลักช่างสิบหมู่ที่หลงเหลือ อยู่ของปักษ์ใต้
เรื่องและภาพ กิติธัช โพธิวิจิตร
รางวัลชมเชย จากโครงการประกวดสารคดีภาพ “10 ภาพเล่าเรื่อง” ปี 2012
โดยนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย