ฟันเฟือง ในเมืองใหญ่

ฟันเฟือง ในเมืองใหญ่

สารคดีเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “แรงงานก่อสร้าง” ในประเทศไทย กลุ่มคนเล็กๆที่เป็นแรงงานหลักในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัยกว่า 65 ล้านคนในประเทศ คิดเป็นมูลค่ามหาศาลในระบบเศรษฐกิจ โดยจำนวนแรงงานก่อสร้างในปัจจุบันไม่สมดุลกับอุตสาหกรรมก่อสร้างที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในประเทศขึ้น

อาจจะด้วยปัจจัยหลายอย่างในการทำงาน เช่น เป็นงานที่มีความ เสี่ยงสูงและไม่มีสวัสดิการที่มั่นคง อีกทั้งแรงงานชาวไทยยังมีความผันผวนอันเนื่องมาจากเป็นแรงงานที่มาจากภาคเกษตรกรรม จนเป็นผลให้มีการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ พม่า ลาว และกัมพูชา เป็นต้น

แรงงานก่อสร้างเป็นกลุ่มคนที่ถือได้ว่ามีทางเลือกในชีวิตไม่มากนัก ด้วยต้นทุนทางการศึกษาที่มีน้อย หรือด้วยปัจจัยอื่นๆ จึงจำเป็นต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานในเมืองใหญ่เพื่อหวังเพียงให้ชีวิตของพวกเขาและครอบครัวมีความเป็นอยู่ ที่ดีขึ้น ถึงแม้พวกเขาอาจจะเป็นแค่ฟันเฟืองเล็กๆ ที่ผู้คนอาจมองไม่เห็นความสำคัญ หากทุกคนได้มองดูสิ่งปลูกสร้าง รอบตัวหรือตึกระฟ้าที่ตั้งตระหง่านในเมืองใหญ่ เชื่อได้ว่ามาจากหยาดเหงื่อและแรงกายของพวกเขาทั้งสิ้น

เรื่องและภาพถ่าย อนุชิต เลิมสุ่ม

รางวัลชมเชย จากโครงการประกวดสารคดีภาพ “10 ภาพเล่าเรื่อง” ปี 2015 โดยนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

แรงงานก่อสร้างผู้มุ่งมั่นคนนี้เขาเป็น 1 ในแรงงานกว่า 2.5 ล้านคนที่ทำงานเพื่อตอบสนองผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยและสิ่งปลูกสร้างต่างๆของผู้คนกว่า 65 ล้านคนในประเทศนี้ซึ่งมีมูลค่าอุตสาหกรรมการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 1.1 ล้านล้านบาทต่อปี
ฉากหน้าของอาคารที่เปลือยเปล่า เผยให้เห็นเบื้องหลังของเมืองที่สวยงาม และถ้าหากขาดแรงงานก่อสร้างซึ่งเปรียบเสมือนฟันเฟืองเล็กๆเหล่านี้แล้วภาพแห่งเมืองที่คุ้นตาของผู้คนอาจจะไม่ใช่อย่างที่เห็นเฉกเช่นในปัจจุบัน
ระหว่างมื้อเย็นของแรงงานครอบครัวหนึ่งท่ามกลางแสงสว่างที่น้อยนิดกลับเผยให้เห็นถึงความเป็นอยู่ของผู้คนหลายหลายชีวิตที่อาศัยรวมกันอยู่บนพื้นที่เพียง 9 ตารางเมตร
ในทุกๆเช้าสองฝากถนนสุเหล่าคลองหนึ่ง หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ถนนกีบหมู” นั้นจะคราคร่ำไปด้วยกลุ่มช่างฝีมือและแรงงานก่อสร้างอิสระกว่าพันชีวิตพร้อมเครื่องมือทำงานของตนมายืนรอผู้ว่าจ้างแต่เช้ามืดโดยแรงงานบางคนให้เหตุผลว่า สามารถต่อรองราคาค่าจ้างกับผู้ว่าจ้างได้โดยตรง แต่กระนั้นปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบนั้นก็ยังคงมีอยู่และในขณะเดียวกันตลาดค้าแรงงานอิสระแห่งนี้ก็ไม่มีใครสามารถรับรองคุณภาพฝีมือของแรงงานเหล่านี้ได้
แรงงานข้ามชาติผู้นี้ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย การนำเข้าแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย ผ่านข้อตกลงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาล พม่า ลาว กัมพูชา (มติ ครม.3สัญชาติ) ถือว่าเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานก่อสร้างในประเทศไทย
ปัญหาแรงงานคืนถิ่นในฤดูเกษตรกรรม แรงงานก่อสร้างชาวไทยส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตรกรรมที่มีความผันผวนตามฤดูกาล ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานขั้นวิกฤติในช่วงฤดูเพาะปลูก และเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร
เจ้าหน้าที่กู้ภัยและทีมอาสาสมัครกำลังเร่งกู้ร่างผู้เสียชีวิตรายนี้จากเหตุการณ์ตึกถล่มทับคนงานก่อสร้างหลังจากที่พยายามยื้อชีวิตของเขามากว่า 19 ชั่วโมง
นายตุ๋ย สมสุข อายุ 42 ปี อดีตแรงงานก่อสร้างผู้ประสบอุบัติเหตุไฟฟ้าช็อตขณะทำงานจนต้องตัดแขนทั้งสองข้างกลายเป็นคนพิการและใช้ชีวิตอย่างยากลำบากโดยมีลูกสาววัย 12 ปี คอยดูแลเขามาตั้งแต่ประสบเหตุ
เด็กหญิงกับภาพวาดในจินตนาการของเธอในห้องเรียนศูนย์เด็กก่อสร้าง ซึ่งเป็นโรงเรียนตู้คอนเทรนเนอร์แห่งแรกในประเทศไทยที่ให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กๆที่อาศัยในแค้มป์คนงานแห่งนี้และหวังได้ว่าจะเป็นหนทางที่จะทำให้มีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น
เด็กน้อยวัย 2 ขวบผู้นี้หยิบจับอุปกรณ์ก่อสร้างต่างของเล่นตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งทำให้สามารถคาดเดาอนาคตของเด็กที่ด้อยโอกาสและอาศัยอยู่ในไซด์งานก่อสร้างลักษณะนี้ได้อย่างไม่ยากเลยเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษาและมีทางเลือกในชีวิตไม่มากเหล่านี้ควรเข้าสู่ตลาดแรงงานที่กำลังขาดแคลน หรือว่าควรที่จะคิดหาวิธีการแก้ปัญหาทรัพยากรแรงงานที่ยั่งยืนมากกว่านี้

อ่านเพิ่มเติม ชีวิตที่จำจากจรของแรงงานอพยพ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.