9,000 ตัน (จำนวนขยะในกรุงเทพมหานคร)

9,000 ตัน

ณ กรุงเทพมหานคร เมืองที่มีผู้คนอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งย่อมหมายถึงการใช้สอยและบริโภคสินค้ามากที่สุดด้วยเช่นกัน จนเป็นที่มาของขยะวันละ 9,000 ตัน ขยะเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้จัก แต่มีเพียงไม่กี่คนที่รู้ว่าจะจัดการกับมันอย่างไร

หลังจากข้าวของที่ซื้อมากลายสภาพเป็นสิ่งไร้ค่าที่รอวันทำลายทิ้ง ไม่ว่าจะด้วยการเผาหรือการฝัง หนทางในการจัดการกับขยะปริมาณมหาศาลของกรุงเทพมหานครนับวันมีแต่จะตีบตัน สวนทางกับตัวเลขปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี

ยิ่งผู้คนหลั่งไหลเข้ามาทำงานมากขึ้น และอนาคตที่ชาติอาเซียนกำลังขยับขยายสู่เออีซี ทำให้มหานครแห่งนี้ยิ่งต้องเร่งแก้ไขปัญหา ก่อนที่ทุกอย่างจะใหญ่โตจนเกินมือ เพราะการฝังกลบขยะและการเผานั้นเห็นชัดแล้วว่าส่งผลกระทบต่อพื้นที่ใกล้เคียง จึงไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืน

การแก้ไขที่ดีที่สุดคือการปลูกฝังให้เยาวชนและภาคประชาชนเริ่มแยกขยะและลดการใช้ตั้งแต่ระดับครัวเรือนเท่านั้น

เรื่องและภาพ อิศเรศ สงวนนาม
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง โครงการประกวดสารคดีภาพ “10 ภาพเล่าเรื่อง” ปี 2013 โดยนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

แม้เวลาจะล่วงเลยเกินเที่ยงคืนแล้ว แต่คนงานแยกขยะของกรุงเทพมหานครไม่เพียงต้องทำงานแข่งกับเวลาตลอด 24 ชั่วโมง แต่ยังต้องรับมือกับขยะปริมาณมหาศาลไม่ตํ่ากว่าวันละ 8,500-9,000 ตัน
ที่โรงรีไซเคิลขยะแห่งหนึ่ง ขยะได้รับการแยกประเภท เช่น พลาสติก กระดาษ และโลหะ ก่อนส่งขายต่อไป
ขวดพลาสติกเกือบทุกรูปแบบในท้องตลาดปัจจุบัน สามารถนำกลับมาใช้ใหม่โดยผ่านกระบวนการรีไซเคิล (recycle) ในภาพนี้ขวดพลาสติกจำนวนนับไม่ถ้วนถูกบีบอัดเพื่อให้ง่ายต่อการขนส่ง
แม้จะเปิดทำการเพียงสัปดาห์ละสองวัน แต่ขยะจากตลาดนัดสวนจตุจักรก็มีปริมาณไม่ตํ่ากว่าวันละ 21 ตัน
บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยที่ห้างโมเดิร์นเทรดแห่งหนึ่งในเมืองกรุงคึกคักขึ้นทุกครั้งในช่วงสิ้นเดือน การบริโภค ที่เพิ่มขึ้นย่อมหมายถึงปริมาณขยะที่มากขึ้นตามไปด้วย
ผู้ประกอบการรับซื้อของเก่าซึ่งเป็นธุรกิจเล็กๆ ที่กระจายอยู่ตามชุมชนต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ คือกลไกหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขยะหลากหลายประเภทยังไม่ถือว่าเป็นขยะอย่างแท้จริง หากสามารถนำกลับมาใช้ ใหม่หรือที่เรียกว่า รียูส (reuse) โดยอาศัยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ในการประดิษฐ์ ทำให้ขยะแปรสภาพเป็นของใช้ได้อีกครั้ง
เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจร คนงานเก็บขยะของกรุงเทพมหานครมักทำงานในช่วงที่คนกรุงส่วนใหญ่หลับใหล
อันตรายในอาชีพนี้มีสารพัด เช่น อุบัติเหตุจากของมีคมและสัมผัสกับสารเคมี ดังจะเห็นได้จากริ้วรอยบนมืออันหยาบกร้านคู่นี้

อ่านเพิ่มเติม ไทย: งดถุงพลาสติก แต่ก็นำเข้าขยะ – เพราะการงดแจกถุงพลาสติกอย่างเดียวอาจไม่พอ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.