วิถี ควายชน ชีวิตของคนกับควาย

วิถี ควายชน ชีวิตของคนกับควาย

หลังจากจบบทสนทนากับผู้ใหญ่ท่านนึง ณ จังหวัดบ้านเกิดของข้าพเจ้า(สุราษฎร์ธานี)

” โอ้ย อย่าว่าแต่ควายชนเลยยย แค่ควายตัวเป็นๆเด็กๆสมัยใหม่ยังหาดูไม่ได้ ”

ประโยคข้างต้น จึงเป็นที่มาของสารคดีภาพชุดนี้

ด้วยหลายคนอาจมองเห็นเป็นการทารุณสัตว์ ความรุนแรง การพนัน และสิ่งไม่ดีต่างๆอีกทั้งหลาย แต่อยากให้ลองมองอีกด้านนึง ซึ่งอาจจะมีอะไรแอบแฝงไว้มากกว่านั้น ทำให้การชนควายเป็นมากกว่าการพนันชนควาย เกิดขึ้นเป็น ” ประเพณีชนควาย ” เกิดขึ้นมาให้ได้ศึกษา ณ อีกด้านหนึ่งของเกาะสมุย – และเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี

1. ย้อนกลับไปเป็นเวลานานมาแล้ว ทั้งเกาะสมุย และเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เป็นแหล่งขึ้นชื่อของพันธ์มะพร้าว ทั่วทุกพื้นที่อุดมไปด้วยป่ามะพร้าว จึงจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานจากควาย เอามาเทียมเกวียนเป็นหลักในการออกไปเก็บเกี่ยวผลผลิต ด้วยต้องขึ้นเขา ลงห้วย เดินในที่ราบหรือบนหาดทรายตามแต่เจ้าของจะพาไป ควายที่นี่จึงตัวใหญ่และมีกล้ามเนื้อที่แตกต่างออกไปจากควายทั่วไปที่ไว้ใช้ ไถนา

มะพร้าวจะมีช่วงเวลาเก็บเกี่ยวประมาณ 5 – 6 ครั้งต่อปี เมื่อถึงยามว่างเว้นจากการเก็บเกี่ยวมะพร้าว ในช่วงนี้จากควายที่เคยออกกำลังอยู่เสมอ จะทำให้ควายอยู่นิ่งไม่เป็นต้องหาทางแสดงออก และจะยิ่งเป็นมากในช่วงเป็นสัด ควายจะแสดงออกโดยการขวิดคันดิน โคนมะพร้าว ขวิดเจ้าของหรือแม้กระทั่งขวิดกันเองเพื่อแสดงศักดิ์ดา เมื่อผู้คนพบเห็นจึงเกิดการเชียร์ และเกิดการพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยๆมา จนเกิดเป็นประเพณีชนควาย

2. ก่อนเริ่มมีการชนควาย จะมีการประกบคู่ควาย พิจารณาควายแต่ละตัวตามลักษณะ เมื่อได้คู่แล้วเจ้าของควายจะนำควายมาเลี้ยงไว้ในบริเวณสนามที่ใช้ชนควาย ก่อนประมาณ 1 เดือน โดยมีทีมพี่เลี้ยงมาอยู่ดูแลประจำ ทำหน้าที่ดูแล เลี้ยงดู และคอยเฝ้าระวังภัยต่างๆ

ในบริเวณรอบๆสนามชนควาย จะมีการสร้างศาลาหลังเล็กๆ หรือภาษาใต้เรียกว่า ” ขนัม ” ไว้โดยรอบ สำหรับทีมพี่เลี้ยง ในแต่ละทีมก็จะประกอบไปด้วยหลายๆหน้าที่ แบ่งกันไป

ภาย ในบริเวณร้านหรือขนัม สิ่งที่เราพบได้คือชุดเครื่องนอนครบครัน สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ทีวี ดีวีดี โน็ตบุ้ค ลำโพงเครื่องเสียง และเครื่องใช้อื่นๆตามกำลัง

3. หลักสำคัญของการนำควายไปอยู่ที่สนามก่อนเป็นเวลานานคือ ควายเป็นสัตว์จำพวกหนึ่งที่ค่อนข้างหวงถิ่น และควายหนุ่มจะเริ่มสร้างถิ่นของตัวเองขึ้นมา ในแต่ละวันเช้าสายพบ่ายเย็น เด็กเลี้ยงควายจะต้องทำการพาควายเดินวนรอบสนาม ในสนาม หรือที่เรียกว่า”ลูกใน” มีลักษณะเป็นบริเวณวงกลมมีสร้างด้วยการขึ้นหลักและนำไม้ไผ่ มาขัดกันให้เป็นรั้ว มีทางให้ควายเข้า-ออก โดยควายจะขี้เยี่ยวภายในบริเวณ ถือเป็นการสร้างถิ่น

บริเวณใกล้ๆร้านหรือขนัมที่พัก ก็จะมีการแบ่งส่วนสำหรับประกอบหุงหาอาหารกันในบริเวณนั้นเลย โดยจะมีอาหารสด เครื่องใช้จำพวกตู้เย็น น้ำดื่ม เครื่องทำน้ำร้อน อุปกรณ์ทำครัวตั้งไว้ ซึ่งถือว่าเป็นที่ส่วนกลางสำหรับทุกคน ที่เป็นอย่างนี้เพราะต้องมาอยู่เฝ้ากันเป็นเดือนๆ จะทิ้งไปไหนไกลๆโดยไม่มีคนเฝ้าแทบจะไม่ได้เลย

4. ก่อนเวลาพลบค่ำ พี่เลี้ยงก็จะพาควายกลับเข้ามาในคอก และทำการล้อมคอกอย่างมิดชิด โดยที่หลับนอนของพี่เลี้ยงโดยมากจะอยู่ติดกันกับคอก เพื่อป้องกันภัยใดๆก็ตาม หรือภัยที่เกิดจากฝ่ายตรงข้ามในยามวิกาล เช่นพวกการวางยา ปองร้าย หรือพิธีไสยเวทย์ต่างๆนานาตามความเชื่อแต่โบราณ

5. ในเวลารุ่งสาง พี่เลี้ยงจะทำการนำควายออกจากคอกออกมาเดินเพื่อออกกำลัง ลัดเลาะผ่านป่ามะพร้าวบ้าง บนถนนบ้าง บริเวณริมชายหาดบ้าง ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่รอบๆบริเวณสนามชนควายจะเอื้ออำนวย บ้างใช้ไม้มะพร้าวประมาณสองถึงสามท่อนตัดล่ามเชือกเทียมให้ควายลากเป็นการ ออกกำลังกล้ามเนื้อ บางวันอาจมีการนำควายตัวเมียมาทำการล่อ เพื่อให้ควายชนได้วิ่งไล่ ขึ้นอยู่กับการจัดตารางการฝึก

6. หลังจากเสร็จในช่วงสายๆ ก็จะทำการพาควายกลับยังที่พัก ลับเขา อาบน้ำ ให้อาหาร ซึ่งอาหารก็จะเป็นจำพวกหญ้าสด บริเวณยอดอ่อน โดยจะมีทีมคนดูแลที่มีหน้าที่ก็จะต้องออกไปตระเวณรอบเกาะหาตัดมาให้ทุกวัน หลังจากนั้นก็จะล่ามควายแล้วเด็กเลี้ยงควายก็จะพักผ่อน

7. คืนก่อนที่จะมีการชนควาย หมอควายจะทำการตั้งหิ้งบูชา ครูหมอควายภายในบริเวณร้านที่พัก บางพื้นที่อาจมีการทำขวัญควายในคืนนั้น หรือวันรุ่งขึ้นก่อนวันชน จะมีการทำขวัญควายหรือแต่งควายที่ชาวบ้านเรียกจะมีพิธีขั้นตอนดังนี้

เช้าตรู่จะมีการซื้อข้าวต้มมัดให้ควายกินจำนวน 9 ลูก อาจเป็นหลักความเชื่อในเรื่องของตามเชื่อ ของความเหนียวจากข้ามต้มมัดที่ทำมาจากข้าวเหนียว และอื่นตามความหมายประกอบกัน

ทำพิธีชุมนุมเทวดา ทำโดยปักหลักทั้งเก้าหลัก โยงสายสิน จุดธูปปักแต่ละหลักอันเชิญเทวดาทั้งแปดทิศมาสถิตย์

นำของเซ่น ซึ่งประกอบไปด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู วางไว้บริเวณหลักควายจุดธูป ไหว้พระแม่ธรณี เจ้าที่เจ้าทาง

นำของเสี่ยงทายมาวาง ซึ่งในกระทงใบตองประกอบไปด้วย กล้วย อ้อย ข้าวตอก ดอกไม้ และหมากพลู ซึ่งนัยยะของการเสี่ยงทายคือ การที่ควายเลือกกินเครื่องเสี่ยงทาย ไม่ว่าจะสิ่งใดก็ตาม จะหมายความถึงการเสี่ยงทายว่าควายตัวนั้นๆจะเป็นผู้ชนะ

หลังเสร็จพิธีการเสี่ยงทาย การแต่งควายก็จะเริ่มขึ้น โดยมีการสวมพวงมาลัยบริเวณเข้าสองข้าง ผู้กสายสิญที่คอ และบริเวณเขากับที่หัวไขว้กัน มีการนำเงินมาเสียบซึ่งเป็นนัยยะของการชนะพนัน จากนั้นทำการปิดทอง เริ่มจากบริเวณหน้าผาก ไปยังเขา ไล่ไปจนถึงปลายเขา มีการนำผ้าข้าวม้าบ้างก็ผ้าขาวนำมาห่มคลุม

บางความเชื่อวันที่จะมี การชน เด็กเลี้ยงควายจะนำปัสสาวะของควายตัวเมียมาถูทาตามตัว และเสื้อผ้า ให้ควายชนได้กลิ่นสาป และเกิดอาการฮึกเหิม บริเวณขาหน้าทั้งสองฝั่งทาน้ำมันหอมไว้เมื่อตอนชนควายจะมุดหัว และจะได้สูดดมทำให้เกิดกำลังฮึด

8. ในวันแข่งขันประมาณบ่ายสามโมง จะทำการล้างควาย ถอดเครื่องแต่งตัวควาย และนำควายเข้าสนาม โดยการนำควายเข้าสนามจะต้องดูทิศของหลักปักควายในสนาม ซึ่งขึ้นกับวัน ในบริเวณสนามหรือลูกในจะมีผ้าขาวกั้นกลางแบ่งเป็นสองฝั่ง เพื่อกันไม่ให้ควายเห็นกันก่อนที่จะชน

จากนั้นก็จะฉีดน้ำอาบน้ำให้ ควายเรื่อยไปจนกว่าจะเวลา และสัญญาณเริ่มชนในเวลาประมาณห้าโมงครึ่ง ในเวลานี้ก็จะเริ่มมีผู้ให้ความสนใจเข้ามาในสนาม เพื่อมาสังเกตุอาการควายที่แสดงออกก่อนชน

ไกล้ได้เวลาชนภายในบริเวณ เราพบว่า มีความหลากหลายทางอายุของผู้ที่เข้าชม และไม่จำกัดเพศ และเชื้อชาติ ถ้ามองในอีกแง่นึงอาจเทียบได้คล้ายกับงานวัดที่มีการรวมพบปะ พูดคุย ทักทาย บอกเล่าข่าวสารของชาวบ้านทุกช่วงวัยและอายุ หากเรามองข้ามมุมมองของการพนันไป

9. ได้เวลาฤกษ์ยามแห่งการต่อสู้ เสียงนกหวีดดังขึ้นเป็นสัญญาณว่าทั้งสองฝ่ายพร้อมเริ่ม เชือกล่ามถูกหั่นด้วยเคียว ม่านขาวถูกรูดออกสู่ด้านข้าง พลันเจ้าของวิ่งชักควายทั้งสองเข้าหากัน ดำท่าหลา และดำลูกหมู เข้าปะทะโรมรันกัน เสียงปะทะดังกึกก้องไปทั่วอาณาบริเวณเกือบจะกลบเสียงคนที่รอดูอยู่เกือบจะ ทั้งสนาม

แม่ไม้เชิงชนของควายอาจเปรียบได้คล้ายๆแม่ไม้มวยไทย “ แย็บ ฟัน ทอ ยก “ แต่ละตัวก็จะมีเอกลักษณ์ และการชิงไหวชิงพริบเป็นของตัวเอง กล่าวได้จากลักษณะเขา

หลังรู้แพ้ รู้ชนะ ควายตัวที่แพ้จะหันหลังวิ่งไปรอบๆสนาม คนที่อยู่ด้านนอกก็จะเปิดประตูที่เตรียมไว้สำหรับตัวที่แพ้ให้ออกไป โดยมีเด็กเลี้ยงควายที่อยู่ด้านในคอยกำกับให้วิ่งออกไปตามทาง และไปล้อมจับกันข้างนอกต่อไป

10. หลัง การชนผ่านพ้นไป ร่องรอยบาดแผลที่เกิดจากการต่อสู้ สามารถรักษาหายได้ภายในระยะเวลาอาทิตย์กว่าๆถึงสอง แต่ที่สำคัญคือกล้ามเนื้อส่วนต่างๆของควาย ยิ่งใช้เวลาชนนานก็กล้ามเนื้อก็จะช้ำมากกว่า “ควายชนสิบนาทีพักสองเดือนก็เป็นปกติแล้ว”

ควายบางตัวอาจนำมาเพื่อชน เมื่อเสร็จสิ้นก็มีการขนย้ายกลับตามภูมิลำเนาเดิม เพื่อเจ้าของไว้ใช้ในการทำเกษตรกรรมต่อไป

เรื่องและภาพ วสวัตติ์ จันเรียง 

รางวัลชมเชย โครงการประกวดสารคดีภาพ “10 ภาพเล่าเรื่อง” ปี 2013 โดยนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม ออกตัวไปแล้วและไปลับ บอกลากีฬาแข่ง สุนัขเกรย์ฮาวนด์

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.