การถ่ายภาพสารคดี เป็นศาสตร์ในการถ่ายภาพแขนงหนึ่งที่มีมนต์เสน่ห์ที่ถ่ายทอดได้โดยช่างภาพที่มีทักษะและฝีมือในการเล่าเรื่อง โดยการถ่ายภาพสารคดีนี้ หลายคนอาจมีมุมมองหรือนิยามของภาพถ่ายสารคดีที่แตกต่างกันออกไป และสำหรับผู้คนทั่วไปที่สนใจในศาสตร์แห่งการถ่ายภาพ อาจจะยังมองหาแนวคิดหรือคำแนะนำที่ทำให้เข้าใจและเข้าถึงการถ่ายภาพเชิงสารคดีได้ดียิ่งขึ้น
ในงาน Amarin Expo 2023 ได้มีการจัดเสวนาในโค้งสุดท้ายของการส่งภาพประกวดภาพถ่ายสารคดี ‘10 ภาพเล่าเรื่อง’ โดย National Geographic ที่กำลังจะปิดรับผลงานภายในวันที่ 31 พ.ค. 2566 นี้
ภายในงาน ได้เชิญ 3 ช่างภาพที่มีส่วนร่วมกับโครงการมาพูดคุยกันถึงความสำคัญของภาพถ่ายสารคดี ที่ต้องมีทั้งมุมมองในการคัดเลือกภาพ การเล่าเรื่องเพื่อถ่ายทอดประเด็นที่ต้องการนำเสนอได้อย่างครอบคลุม น่าสนใจ สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชม โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับสายน้ำ ที่เป็นหัวข้อการประกวดภาพถ่ายสารคดี ‘10 ภาพเล่าเรื่อง’ “Water of Life สายน้ำแห่งชีวิต” ของเราในปีนี้ อย่าง ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้เป็น กรรมการตัดสิน ‘10 ภาพเล่าเรื่อง’ , จิตรภณ ไข่คำ ช่างภาพสารคดีอิสระ และผู้เคยได้รับรางวัล ‘10 ภาพเล่าเรื่อง’ และ เอกรัตน์ ปัญญะธารา ช่างภาพอาวุโส National Geographic ฉบับภาษาไทย และกรรมการตัดสิน ‘10 ภาพเล่าเรื่อง’
หากคุณกำลังเตรียมตัวส่งภาพเข้าประกวดให้ทันภายใน 31 พ.ค.นี้ หรือเป็นคนหนึ่งที่รักการถ่ายภาพ สนใจการเล่าเรื่องเชิงสารคดี เราอยากชวนคุณมาฟังเสวนานี้จากช่างภาพและนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้เป็นกรรมการตัดสิน, ช่างภาพอาวุโสของ National Geographic ฉบับภาษาไทย และช่างภาพสารคดีอิสระ ที่เคยได้รับรางวัลจาการประกวด ‘10 ภาพเล่าเรื่อง’
นี่เป็นเนื้อหาจากการเสวนาที่จะทำคุณได้แนวคิดในการถ่ายภาพ การเล่าเรื่องผ่านภาพ ที่จะสร้างความแตกต่างให้งานภาพถ่ายของคุณ
สไตล์ภาพของผม เริ่มเจากรสนิยมตัวเองว่าชอบภาพแบบไหน เรามีวิธีการ มุมมองในชีวิตเราอย่างไร เรามองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราอย่างไร แล้วอยากจะจับภาพมาอย่างไร
ผมเป็นคนที่มีพื้นที่ทำงานที่เฉพาะ โปรเจกต์ส่วนตัวของเราต่างจากคนอื่น ๆ มีความเฉพาะ (niche) ทำให้ผมต้องถามตัวเองก่อนว่าเราชอบอะไร ชีวิตของเราเกี่ยวข้องกับอะไร พอตกผลึกกับตัวเองได้แล้วเราจึงออกเดินทาง อย่างเช่นผมก็มักจะเล่าเรื่องของสิ่งที่อยู่ในบ้านเกิดของตัวเอง ตามรอยในสิ่งที่เรารู้สึกเชื่อมต่อ อย่างเช่นที่บ้านของผมจะมีเพื่อนบ้านจากแม่น้ำสองฝั่ง คือสาละวินและแม่น้ำโขง มีทั้งคนเมียนมาและลาว ผมก็จะทำให้เห็นว่าชีวิตของพวกเขามันเชื่อมโยงกันอย่างไร การเดินทางถ่ายภาพของผมจึงเน้นการเล่าเรื่องเหล่านี้
ผมพยายามพูดให้น้อย แล้วใช้ ‘ภาษาภาพ’ ให้มาก ถ้าคนที่เป็นนักเขียนเก่งๆ อาจจะมีสไตล์ในการเขียนที่แพรวพราว และต่างคนก็ต่างสไตล์การเขียน แต่ถ้าเป็นภาพถ่าย ผมใช้ภาษาภาพ ถ้าเราอยู่กับการถ่ายภาพเยอะๆ เราอาจจะมีทักษะในการถ่ายถอดที่ดีขึ้น มีชั้นเชิงมากขึ้น มีศิลปะ มีเทคนิคการเล่าที่ดึงดูดมากขึ้น โดยให้ภาพทำหน้าที่แทนตัวหนังสือ
อย่างผม ผมเน้นความสวยงาม เล่าให้น่าสนใจ มีแนวคิดการจับคู่และรวมชุดภาพด้วยกัน และเขียนคำบรรยายใส่ลงไป โดยแต่ละภาพมีประเด็นต่างกันออกไป ใน 1 ภาพ จะ 1 ฉาก และควรเลือกภาพที่มีประเด็นหรือหัวข้ออยู่เบื้องหลัง
ในชุดภาพ ผมจะมีทั้ง Intro (เกริ่นนำ) ว่าพยายามจะเล่าอะไร แล้วก็พัฒนาเรื่องราว และอาจจะมี climax (จุดสำคัญสูงสุดของเหตุการณ์) หรือเซอร์ไพร์สผู้ชม ไปจนถึงรูปสุดท้ายว่าเราจะสรุปอะไรให้คนดู สำหรับผม ภาพ 1 ชุด จะโดดเด่นได้ถ้าเราสร้างเซอร์ไพร์สให้ผู้ชม และผู้ชมจะมีอารมณ์ร่วม จนชุดภาพของเรามีพลังในการศึกษาและสร้างความแตกต่างได้ สิ่งเหล่านี้เกิดจากสไตล์ของแต่ละคน ซึ่งจริงๆ เราจะเอา climax ไปไว้ก่อนหรือหลังก็ได้ แล้วแต่เราจะเรียงอย่างไร
แนะนำว่าเราต้องคิดก่อนว่าแม่น้ำคืออะไร แล้วมีอะไรบ้างอยู่ในแม่น้ำสายนี้ อาจจะคิดแบบ Mind Map (แผนผังความคิด) แล้วค่อยๆ ลากไปว่ามันมีอะไรบ้าง เช่น แม่น้ำโขงปัจจุบันตอนนี้เป็นอย่างไร แล้งหรือไม่ ชาวบ้านจับปลาได้น้อยไหม ผู้คนต้องเปลี่ยนอาชีพหรือไหม แล้วลองออกไปเก็บภาพถ่ายตามนั้น
ผมมักจะถ่ายภาพที่เกี่ยวกับปัญหา พยายามเล่าว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อเป็นการจุดประกายให้เกิดการพัฒนา ช่วยเหลือ ตระหนัก ซึ่งจะก่อให้เกิดการร่วมมือกันต่อไป ผลตอบรับที่ผมสังเกตได้คือ อย่างน้อยก็มีคนพูดถึง ถ้าหนึ่งคนพูดถึง คือเราสื่อสารได้ แต่ถ้าเราจุดประกายให้สังคมได้คิดต่อได้ก็เป็นสื่งสำคัญ
ขอให้เราเป็นตัวของตัวเอง แล้วก็ตกผลึกกับตัวเองว่าเราชอบในที่ออกไปถ่ายจริงๆ แล้วถ่ายทอดออกมาในแบบที่ไม่เหมือนใคร สิ่งนี้จะทำให้งานของเราโดดเด่นด้วย รายละเอียดอื่นๆ เช่น การลำดับภาพ องค์ประกอบภาพก็สำคัญเช่นกัน และสิ่งที่สำคัญคือการถามตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง แล้วถ่ายทอดออกมา ส่วนการเขียนคำบรรยายรูป แนะนำให้เป็น Smart Caption เพื่อบ่งบอก 5W1H หรือเขียนเล่าว่าเกิดขึ้นในภาพ บอกวันที่เกิดเหตุการณ์ แล้วอธิบายภูมิหลังที่อยู่ในภาพ
สำหรับผม ภาพของ National Geographic ไม่ใช่ภาพที่มองเห็นกันได้โดยธรรมดาทั่วไป แต่จะเป็นภาพที่เจาะลึก ภาพ 1 ภาพ สามารถบอกเล่า ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ ได้เลย ซึ่ง National Geographic ทำสิ่งนี้อยู่ตลอด
สำหรับผมสิ่งสำคัญของภาพสารคดีไม่ใช่แค่การเดินผ่านแล้วก็ถ่ายรูป ถ้าคุณยิ่งศึกษาข้อมูลก่อนว่าคุณถ่ายเพราะเหตุผลอะไร มันจะมีเนื้อหาที่มากับรูปด้วย แล้วก็เติมแง่มุมของความงามลงไป นี่คือสิ่งที่ผมเห็นจาก National Geographic ทุกครั้ง
การที่คุณจะทำให้คนเข้าใจเรื่องหนึ่งเรื่องได้ด้วยภาพโดยที่ไม่ต้องอ่าน เป็นที่มาของการนำเสนอ 10 ภาพ เพราะเราต้องเห็นมิติที่หลากหลายบนบริบทที่ช่างภาพไปอยู่ในสถาานการณ์นั้น ถ้าเราเจาะลึกในหนึ่งเรื่องแล้วเล่าแบบต่อเนื่องไปเลย ข้อดีคือตัวเนื้อหามันต่อเนื่องแน่ๆ ในรูป แต่ถ้าคิดถึงวัตถุประสงค์ของการเล่าเรื่องที่เกิดจากหลายเรื่องราวก็ต้องมีตัวเชื่อมกลางที่เป็นเหมือนปลั๊กให้เชื่อมต่อกัน เช่น เส้น สี เนื้อหา คำสำคัญ (Keyword) ให้มันต่อเนื่องกัน
สำหรับภาพถ่ายสารคดี จะมีประเด็นคำถามเรื่องของ ‘การรอจังหวะ’ ถือเป็นการเซ็ต (จัดฉาก) เพื่อถ่ายภาพหรือไม่ สำหรับผม ถ้าคุณไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเขา และถ้าช่างภาพไปฝังตัวกับบุคคลหรือเรื่องราวที่คุณถ่ายมากพอ เขาก็ไม่ได้รู้สึกเกร็งว่าเวลาคุณถ่ายรูป ซึ่งจะเซ็ต หรือไม่เซ็ต สำหรับผม ผมไม่ได้ติดขัดตรงนั้น แต่ผมมองไปถึงการให้เกียรติคน และคุณเข้าใจความเป็นเขามากแค่ไหน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เนื้อหาที่คุณอยากเล่ามันจริง ต้องอย่าลืมว่าทุกภาพที่คุณถ่าย ไม่ว่าจะถูกเผยแพร่หรือไม่ สิ่งนั้นได้เกิดขึ้นไปแล้ว และมันจะส่งไปถึงผู้คนในที่สิ่งที่คุณพยายามกำลังจะจุดประเด็น ต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม
คุณต้องสวมวิญญาณความกระหายรู้ เหมือนคุณเป็นคนหนึ่งที่รายงานเรื่องราวผ่านภาพที่ต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ถ่ายภาพเหตุการณ์ แต่เป็นการเล่าเรื่องว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง รวมไปถึงบริบทแวดล้อม จะทำให้เรื่องน่าสนใจมากขึ้น เช่น ถ้าเราอยากเล่าเรื่องต้นไม้ ก็ต้องถ่ายให้เห็นบริบทของต้นไม้ว่าต้นไม้ให้อะไรเรา ให้ลมพัดเย็น ต้นไม้นั้นลู่ลม ถ้าจะเล่าว่าต้นไม้คือคความยั่งยืนต้องถ่ายเฉพาะรากด้วยไหม มันคือการแยกส่วนวิธีคิดของคุณและประกอบร่างสุดท้ายออกมาเป็นชุดภาพ แต่ถ้ารูปใบที่หนึ่ง เป็นต้นไม้ ใบที่สองก็ต้นไม้ธรรมดา คุณจะไม่อยากดูอะไรต่อ ดังนั้นในชุดภาพจึงอยากให้หาส่วนผสมที่มันลงตัว เหมือนภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ต้องมีวิธีการเสนอฉากที่หลากหลายทั้งถ่ายมุมใกล้ ทำภาพให้ช้า (Slowmotion) และทั้งแทรกฉากเพิ่มเติม เพื่อให้เรื่องกลมกล่อมขึ้น
ผมเชื่อว่ารูปที่ดีจะทำหน้าที่พูดออกมาได้อย่างเสียงดัง และสิ่งที่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญคือการเรียงลำดับภาพของตัวเอง ผมอยากให้ลำดับภาพที่ผ่านการคิดออกมาแล้วในหลายๆ มุมว่าจะเล่าเรื่องแบบไหนที่สื่อสารเรื่องราวได้มากกว่าเดิม เพราะนี่คือมนต์เสน่ห์ที่สำคัญในการเล่าเรื่องด้วยภาพ อย่าลืมว่า 10 ภาพ เมื่อเอามานำมาแสดงพร้อมด้วยกันต้องจะทำงานกับคนดูได้มาก เพราะฉะนั้นลำดับภาพเป็นเรื่องคำคัญ
สไตล์ภาพถ่ายส่วนตัวของผมจะสนใจมิติในเรื่องที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง เวลาที่เกิดประเด็นหนึ่งขึ้นมา เราสามารถมองได้หลายมุม ผมจะมองในประเด็นที่คนไม่พูดถึงแล้วคิดว่าสามารถทำอะไรกับมันได้บ้าง แต่ในถ้าเป็นในการทำงาน ผมต้องเสนอประเด็นหลักที่ตั้งไว้ให้ครอบคลุม
สำหรับผมภาพถ่ายคือกรอบสี่เหลี่ยมที่สะท้อนว่าเรามองโลกอย่างไร เวลาผมพิจารณาภาพ ผมไม่ได้มองแค่ว่างานชุดนี้สวยงามอย่างไร แต่มองไปด้วยว่าเขามีมุมมองต่อโลกอย่างไร และจากงานชุดนี้ เขาสามารถต่อยอดอะไรได้อีก ไม่ใช่แค่การถ่ายภาพออกมาเซ็ตเดียวแล้วจบไป
National Geographic เป็นนิตยสารที่ใช้ภาพนำ เวลาที่เราเปิดดูสารคดีแต่ละเรื่องในนิตยสาร บางเรื่องมีจำนวนหน้าน้อย บางเรื่องมีจำนวนหน้าเยอะ เพราะถ้าช่างภาพถ่ายภาพมา และผ่านกระบวนการพิจารณาจากบรรณาธิการฝั่งไทย และเมืองนอกแล้ว มีรูปแค่ 8 รูป จำนวนหน้าของสารคดีอาจมีแค่ 16 หน้าแต่ถ้านักเขียนเขียนเรื่องมา 24 หน้า ก็ต้องตัดให้ได้เหลือแค่ 16 หน้า แล้วยึดภาพแค่ 8 ภาพเป็นหลัก ดังนั้น ภาพในนิตยสาร National Geographic ต้องเล่าได้ด้วยตัวเอง ต้องสามารถดูภาพอย่างเดียวแล้วเข้าใจเรื่องทั้งหมดได้เลย
ศิลปะทุกแขนงมีสิ่งหนึ่งที่จำเป็นมากคือต้องควบคุมการรับรู้ของคนดูให้ได้ ผ่านปัจจัยต่างๆ ที่อยู่รายรอบ ถ้าเราควบคุมการรับรู้ได้ เราจะลำดับการรับรู้ได้ว่าเขาควรจะรับรู้อะไรก่อน แล้วไปจบที่ตรงไหน ลองนึกถึงภาพยนตร์ที่สามารถพาคุณดูไปถึงบทสรุปของเรื่องได้ ฉะนั้นการร้อยเรียงสิ่งต่างๆ ผ่านภาพถ่ายจึงสำคัญมาก
ผมขอยกตัวอย่างต้นไม้หนึ่งต้น ถ้าเรามองในให้ลึกพอ มันจะมีโครงสร้างบางอย่างที่สามารถแตกย่อยออกมาได้ พอแตกออกมาแล้วก็จะกลายเป็น Mind map กลายเป็น shot ของภาพถ่าย ซึ่งภาพไม่ควรจะซ้ำกัน แต่ในความไม่ซ้ำนั้นควรจะมีจุดร่วมบางอย่างที่ร้อยเรียงกันอยู่ เช่น คู่สี หรือ หรือฟอร์มที่คล้ายกัน เพื่อส่งไปยังรูปที่ 1 ไป 2 และ 3
งานภาพถ่ายที่ยั่งยืนต้องสร้าง Impact (ผลกระทบ) ให้กับคนดู เพื่อที่รูปจะได้ให้ผู้ชมไปตั้งคำถามต่อว่าเขาจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไรให้ดีขึ้น
เมื่อเป็น 10 ภาพเล่าเรื่อง ผมจะให้ความสำคัญกับโครงสร้างในการเล่าเรื่อง สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือความกลมกล่อมของเรื่องราว มิติ ที่ช่างภาพคนนั้นมองและเลือกภาพเพื่อมารวมกันแล้วเกิดความรู้สึกอย่างไร และมันเล่าเรื่องได้อย่างไร เรามองหาการเล่าเรื่องภาพรวม และผมอาจมองหาเซอร์ไพร์สในชุดภาพนั้น
ถ้าคุณอยู่ในเมือง คุณไม่จำเป็นต้องดั้นด้นไปถ่ายสายน้ำไกลถึงแม่น้ำโขง ผมสนใจในประเด็นที่มันอยู่แวดล้อมรอบตัวแต่ไม่ได้นำมาเล่า ทุกคนสามารถทำประเด็นที่อยู่รอบตัว ไม่จำเป็นต้องเป็นแม่น้ำ ขึ้นอยู่กับว่าคุณตีความคำว่า ‘สายน้ำแห่งชีวิต’ ไว้ว่าอย่างไร บางทีอาจหมายถึง ชีวิต การกำเนิด เวลา การเปลี่ยนผ่าน มันตีความได้หลากหลายมาก ไม่จำเป็นต้องไปในพื้นที่อันไกล และการแต่งรูปสามารถทำได้ ถ้าคุณเข้าใจว่าแต่งเท่าไหร่ถึงจะพอดี
ชมวิดีโอบันทึกการเสวนาได้ที่นี่
เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน! สำหรับการส่งภาพเข้าประกวด ’10 ภาพเล่าเรื่อง’ National Geographic Thailand Photography Contest 2023
การประกวดเพื่อเฟ้นหาสุดยอดภาพถ่ายสารคดีแห่งปีที่เล่าเรื่อง 1 เรื่อง ด้วยชุดภาพถ่าย 10 ภาพ พร้อมแนวคิดและคำบรรยาย
.
ครั้งนี้มาในโจทย์ “Water of Life สายน้ำแห่งชีวิต”
ชวนผู้รักการถ่ายภาพส่งชุดภาพถ่ายสารคดีที่สามารถถ่ายทอดมิติต่างๆ ของสายน้ำ ซึ่งชวนให้ขบคิด สร้างแรงบันดาลใจ ในยุคที่เราต้องรู้จัก รัก เข้าใจ และปกป้องสายน้ำที่เป็นดั่งชีวิต
.
ชิงรางวัลรวมกว่า 100,000 บาทและโอกาสทำงานร่วมกับ National Geographic ฉบับภาษาไทย
· รางวัลชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัล
เงินสด 50,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร
สมาชิกนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย 1 ปี มูลค่า 1,920 บาท
· รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 1 รางวัล
เงินสด 30,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร
สมาชิกนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย 1 ปี มูลค่า 1,920 บาท
· รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 1 รางวัล
เงินสด 20,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร
สมาชิกนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย 1 ปี มูลค่า 1,920 บาท
· รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล
ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร
สมาชิกนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย 1 ปี มูลค่า 1,920 บาท
· รางวัล Popular Vote จำนวน 1 รางวัล
สมาชิกนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย 1 ปี มูลค่า 1,920 บาท
· รางวัลผู้ร่วมโหวต จำนวน 3 รางวัล
สมาชิกนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย 6 เดือน มูลค่า 960 บาท
สมัครส่งภาพที่ https://ngtcontest2023.amarin.co.th/
อ่านกติกาและเงื่อนไขการประกวดเพิ่มที่ https://ngthai.com/photography/46817/photo-contest-2023/