ในร้านเหล้าที่แทบจะร้างผู้คนในเมืองทะเลทรายอันมืดมิด ชายขี้เมาร่างเตี้ยกำลังกล่อมลูกค้าให้ควักกระเป๋าซื้อสินค้า บนโต๊ะบิลเลียดข้างๆ เขา มีก้อนหินขนาดไล่เลี่ยกับถาดใบโตวางอยู่ คริสทัลสีม่วงและสีขาวที่ดูบอบบางราวกับเศษแก้วสิบกว่าแท่งโผล่ขึ้นมาจากหินก้อนนั้น ชายขี้เมาป่าวร้องว่า “300 เหรียญเอาไปเลย ไม่สนเหรอ งั้นร้อยเดียวขาดตัว ถูกเหมือนได้เปล่าเลยนะเพ่”
พื้นที่ห่างไกลทางตอนเหนือของเม็กซิโก ซึ่งอยู่ทางใต้ของเมืองชิวาวาราวหนึ่งชั่วโมงทางรถยนต์แห่งนี้ ขึ้นชื่อในเรื่องคริสทัล อีกทั้งค่าแรงน้อยนิดที่ชาวบ้านครึ่งค่อนเมืองได้รับจากเหมืองตะกั่วและเหมืองเงินในท้องถิ่นก็เป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดตลาดมืดขึ้น “สามสิบสนไหมเพ่” เขายื่นหน้ามาใกล้ๆ “งั้นสิบเหรียญเอ้า” ผมนึกถึงภาษิตที่ว่า อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา ขึ้นมาตงิดๆ หลายชั่วโมงก่อนหน้านี้ ผมยังคืบคลานอยู่ในถ้ำที่อยู่ลึกลงไปใต้ร้านเหล้า ท่ามกลางดงคริสทัลที่พูดได้ว่าใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งมีทั้งแท่งที่ใหญ่และหนา บางแท่งยาวกว่า 10 เมตรและมีอายุเก่าแก่ร่วมครึ่งล้านปี อีกทั้งใสแจ๋วและเรืองรองจนดูเหมือนมาจากนอกโลก พวกมันทำให้แท่งคริสทัลบนโต๊ะบิลเลียดกลายเป็นที่ทับกระดาษที่ดูดาดๆ ไปเลย
คงไม่มีอะไรเทียบได้กับคริสทัลขนาดมหึมาที่พบในถ้ำกูเอบาเดโลสกริสตาเลส หรือถ้ำแห่งคริสทัล (Cave of Crystals) อีกแล้ว ถ้ำหินปูนและคริสทัลที่ทอประกายระยิบระยับแห่งนี้ถูกค้นพบเมื่อปี 2000 โดยพี่น้องคู่หนึ่งที่ขุดเจาะลึกลงไปใต้ดินเกือบ 300 เมตรในเหมืองไนย์กาที่จัดว่ารุ่มรวยที่สุดแห่งหนึ่งของเม็กซิโก แต่ละปีที่นี่ผลิตแร่ตะกั่วและเงินได้เป็นตันๆ ทั้งคู่ประหลาดใจกับสิ่งที่ค้นพบ แต่ก็ใช่ว่าเรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกระบวนการทางธรณีวิทยาที่สร้างตะกั่วและเงินก็สรรค์สร้างคริสทัลได้เช่นกัน และที่เหมืองไนย์กานี้คนงานเคยขุดพบโพรงถ้ำคริสทัลอันน่าตื่นตามาแล้วหลายแห่ง แม้ว่าจะมีขนาดเล็กกว่าถ้ำแห่งคริสทัลมากก็ตาม เมื่อข่าวการค้นพบคริสทัลยักษ์แพร่สะพัดออกไป นักวิทยาศาสตร์พากันตั้งคำถามว่า พวกมันมีขนาดใหญ่โตถึงเพียงนี้ได้อย่างไร
เรานั่งรถตู้ลงไปตามทางที่คดเคี้ยวของปล่องเหมืองเป็นเวลา 20 นาทีจึงถึงทางเข้าถ้ำ อุณหภูมิภายในถ้ำและเหมืองส่วนใหญ่มักเย็นเยียบและคงที่ แต่ที่เหมืองไนย์กายิ่งลึกกลับยิ่งร้อน เนื่องจากที่นี่ตั้งอยู่เหนือบริเวณที่มีการแทรกซอนของหินหนืด (magma) ซึ่งอยู่ลึกลงไปจากผิวดินราว 1.5 กิโลเมตร อุณหภูมิภายในถ้ำสูงถึง 44 องศาเซลเซียส ขณะที่ความชื้นอยู่ที่ร้อยละ 90 ถึง 100 ร้อนพอที่จะทำให้เป็นลมได้ทุกครั้งไป ครั้นพอถึงปากทางเข้าถ้ำ เนื้อตัวพวกเราก็ชุ่มโชกไปด้วยเหงื่อ การเตรียมตัวเข้าถ้ำช่างเหมือนกับการเตรียมตัวออกไปเดินในอวกาศไม่มีผิด ผมสวมเสื้อกั๊กที่มีแผ่นประคบเย็นขนาดเท่าฝ่ามือสิบกว่าแผ่นเย็บติดไว้ในกระเป๋าเสื้อทั่วทั้งหน้าอกและแผ่นหลัง แล้วสวมเสื้อกั๊กทับอีกตัวเพื่อเป็นฉนวนกันความร้อนให้แผ่นประคบเย็น ก่อนจะทับด้วยชุดสำรวจถ้ำสีส้มแปร๊ดไว้บนสุด นอกจากนี้ ยังมีหมวกนิรภัย ไฟฉายคาดศีรษะ หน้ากากกันก๊าซพิษที่จะเป่าลมเย็นจากน้ำแข็งเข้ามา ตามด้วยถุงมือและ
รองเท้าบู๊ต
แม้นักสำรวจถ้ำจะห่อหุ้มร่างกายด้วยเครื่องป้องกันทั้งหมดที่ว่ามา แต่ความร้อนก็อาจทำให้ถึงกับหมดเรี่ยวหมดแรงและเป็นอันตรายได้ ส่วนใหญ่แล้วการสำรวจถ้ำแต่ละครั้งจะกินเวลาไม่เกิน 20 นาที ในครั้งนี้เรามีโจวันนี บาดีโน นักฟิสิกส์จากทีมสำรวจลาเวนตา (La Venta) ของอิตาลี เป็นผู้นำทางแท่งคริสทัลเรืองแสงเหล่านี้มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร บางแท่งหนาถึงหนึ่งเมตร บนพื้นและผนังถ้ำมีกลุ่มคริสทัลขนาดย่อมลงมาที่คมเหมือนใบมีดและโปร่งใสไร้ที่ติ บาดีโนเดินอย่างระมัดระวังเพราะกลัวจะไปทำความเสียหายแก่คริสทัล ซึ่งเกิดจากเซเลไนต์ (selenite) หรือแร่ยิปซัมรูปแบบหนึ่งที่มีลักษณะโปร่งใสและอ่อนนุ่ม ขูดขีดเป็นรอยได้ง่ายหากโดนส้นรองเท้าหรือแม้แต่เล็บมือ
โครงสร้างของคริสทัลมีความเป็นระเบียบมาก โมเลกุลเหล่านี้เรียงตัวกันเป็นชั้นๆตามกฎเหล็กของธรรมชาติ แต่คริสทัลก็สะท้อนสภาพแวดล้อมของพวกมันด้วย ควนมานูเอล การ์เซีย-รูอิซ นักผลิกศาสตร์ (crystallographer) ชาวสเปน เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญคนแรกๆที่ศึกษาคริสทัลที่ไนย์กามาตั้งแต่ปี 2001 การ์เซียและเพื่อนร่วมงานปะติดปะต่อเรื่องราวการเติบโตของคริสทัลจากการตรวจสอบฟองของเหลวที่เก็บกักอยู่ในผลึก จนได้ข้อสรุปว่าน้ำบาดาลที่เจือแคลเซียมซัลเฟตซึมผ่านถ้ำหลายแห่งที่ไนย์กาเป็นเวลาหลายแสนปี โดยได้รับความร้อนจากหินหนืดที่อยู่ข้างใต้ เมื่อหินหนืดเย็นตัวลง อุณหภูมิของน้ำภายในถ้ำค่อยๆลดลงจนคงที่อยู่ที่ประมาณ 58 องศาเซลเซียส ที่อุณหภูมิระดับนี้แร่ธาตุในน้ำจะเริ่มแปรสภาพเป็นเซเลไนต์ โดยโมเลกุลจะเรียงตัวกันเหมือนอิฐก้อนเล็กๆก่อร่างขึ้นเป็นคริสทัล
ส่วนในถ้ำใต้ภูเขาแห่งอื่นๆ การที่อุณหภูมิแปรปรวนขึ้นๆลงๆ หรือสภาพแวดล้อมถูกรบกวน ส่งผลให้รูปแบบการก่อตัวของคริสทัลแตกต่างออกไปและมีขนาดเล็กกว่า ทว่าสภาวะต่างๆภายในถ้ำแห่งคริสทัลนี้ไม่เปลี่ยนแปลงเลยตลอดช่วงเวลานับพันๆปี คริสทัลจึงเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆภายใต้การโอบอุ้มของความเงียบสงัดและเกือบนิ่งสนิท กระทั่งราวปี 1985 นี้เองที่กระบวนการเติบโตหยุดชะงักลงหลังคนงานเหมืองใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่สูบน้ำ ทำให้ระดับน้ำใต้ดินภายในถ้ำลดลงโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขณะนี้ทีมนักสำรวจและนักวิทยาศาสตร์กำลังทำการวิจัยและถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีอยู่ในถ้ำ สไตน์-เอริกเลาริตเซน อาจารย์ด้านธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยเบอร์เกนในนอร์เวย์ กำลังเก็บตัวอย่างคริสทัลเพื่อนำมาหาอายุโดยหาปริมาณยูเรเนียมต่อตะกั่ว (uranium thorium dating) ในผลการวิจัยเบื้องต้นเขาสันนิษฐานว่าแท่งคริสทัลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมีอายุราว 600,000 ปี ส่วนเพเนโลปี บอสตัน รองศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ทางถ้ำและคาสต์ [karst คือพื้นที่หินปูนที่น้ำชะหินออกไปมากจนเป็นตะปุ่มตะป่ำ] ที่มหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโกเทคได้ตรวจหาจุลินทรีย์ที่อาจอาศัยอยู่ท่ามกลางคริสทัล
คริสทัลบางแท่งมีฟองของเหลวเล็กจิ๋วซึ่งเป็นสิ่งที่การ์เซียศึกษา ส่องประกายแวววาวเมื่อกระทบแสงไฟ ฟองเหล่านี้คือไทม์แคปซูลขนาดจิ๋ว ทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีนำโดยอันนา มาเรีย แมร์กูรี ได้สกัดละอองเรณูที่อาจถูกกักเก็บไว้ในมลทิน (inclusion) หรือสิ่งแปลกปลอมในแร่ออกมา ละอองเรณูพวกนี้ดูเหมือนมีอายุ 30,000 ปีและแสดงให้เห็นว่าพื้นที่แถบนี้ของเม็กซิโกเคยปกคลุมด้วยผืนป่า ไม่ใช่ทะเลทรายอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ คริสทัลเรียวยาวแท่งหนึ่งมีรอยแผลลึกจากการที่มีคนพยายามตัดมันออกมา นักสะสมอาจยอมควักกระเป๋าหลายหมื่นเหรียญสหรัฐเพื่อแลกกับคริสทัลจากถ้ำแห่งนี้ ต่อมาเจ้าของเหมืองจึงติดตั้งประตูเหล็กหนักอึ้งเพื่อป้องกันขโมย แม้เท่าที่ผ่านมาวิธีนี้ดูเหมือนจะได้ผล แต่ไม่มีใครบอกได้ว่าจะอีกนานเท่าไร เพราะคนงานเหมืองล้วนเข้าถึงเครื่องมือขุดเจาะและวัตถุระเบิด และแม้ว่าเราจะสามารถหยุดยั้งการทำเหมืองและโครงการก่อสร้างต่างๆเพื่ออนุรักษ์แหล่งโบราณคดีได้ แต่ในเม็กซิโก แร่ธาตุซึ่งรวมทั้งคริสทัล ไม่อยู่ในข่ายที่ได้รับการปกป้องเช่นนั้น
นอกจากนี้ คริสทัลยังอาจถูกคุกคามจากภาวะขาดแคลนน้ำ ตอนที่ถ้ำยังมีน้ำหล่อเลี้ยง น้ำได้ช่วยพยุงและรักษาสภาพแท่งคริสทัลเอาไว้ ทว่าปัจจุบันถ้ำกลับแห้งผาก และอากาศก็เข้ามาแทนที่ คริสทัลจึงอาจค่อยๆ โค้งงอหรือแตกร้าวเพราะน้ำหนักของตัวมันเอง ซ้ำร้ายยังอาจขุ่นมัวเพราะมีก๊าซอย่างเช่นคาร์บอนไดออกไซด์ไหลเข้าสู่ถ้ำ ผู้บริหารเหมืองบอกผมว่า บริษัทเปโญเลสของ เขายอมทุ่มเทเพื่ออนุรักษ์คริสทัลเหล่านี้ไว้ แต่เป้าหมายหลักของทางบริษัทไม่ใช่คริสทัล หากเป็นการทำเหมืองแร่เงินและตะกั่ว บาดีโนและคนอื่นๆ หวังจะโน้มน้าวให้บริษัทปกป้องคริสทัลมากขึ้น (เช่น มีการพูดถึงการรณรงค์ให้องค์การยูเนสโกขึ้นทะเบียนที่นี่เป็นมรดกโลก) แต่ทุกวันนี้อนาคตของแท่งคริสทัลยังแขวนอยู่บนเส้นด้าย โดยอาจเป็นที่รู้จักนอกเม็กซิโกมากกว่าในประเทศเสียอีก
เราหยุดพักกันครู่หนึ่ง ทุกอย่างรอบตัวเปล่งประกายระยับ ราวกับว่าเรากำลังยืนอยู่ข้างในดวงดาวสุกสกาวบาดีโนหันกลับมา ถอดหน้ากากออกแล้วพูดทั้งรอยยิ้มว่า “เอาเถอะครับ แค่ได้มาเห็นที่นี่ก็นอนตายตาหลับแล้วละ”
มหาวิหาร ดวงดาว หลุมฝังศพ คือคำอุปมาที่เราเฟ้นหามาอธิบายความงามอันน่าพิศวงที่ปรากฏแก่สายตาเราออกจากถ้ำหลังเวลาผ่านไปครึ่งชั่วโมง เนื้อตัวชุ่มโชกไปด้วยเหงื่อ เลือดลมสูบฉีดแรง ผู้สร้างหนังสารคดีที่แวะมาเยี่ยมถามผมว่า ถ้ำแห่งคริสทัลหน้าตาเป็นอย่างไรผมจนใจอธิบายไม่ถูก เขาได้แต่พยักหน้าอย่างเข้าใจ “เอสโกโมอุงซูเอโญเดนีโญ” เขาว่า “เหมือนกับความฝันในวัยเยาว์ใช่ไหมครับ”
เรื่อง นีล ชี
ภาพถ่าย คาร์สเทน ปีเตอร์
อ่านเพิ่มเติม