ดำสำรวจใต้ผืนน้ำแข็งของ กรีนแลนด์

Laurent Chauvaud นักนิเวศวิทยาทางทะเล จาก CNRS ดำน้ำเก็บตัวอย่างวิจัยใต้ผืนน้ำแข็งของ กรีนแลนด์
ภาพถ่ายโดย CNRS

ดำสำรวจใต้ผืนน้ำแข็งของ กรีนแลนด์

บนผืนน้ำแข็งทางตะวันออกเฉียงเหนือของ กรีนแลนด์ ดูว่างเปล่าไร้ชีวิต ทุกอย่างที่คุณเห็นมีแค่สีเทาและฟ้า และหากสายลมพัดพาเอาหิมะผ่านมา คุณจะแทบแยกไม่ออกเลยว่าไหนคือผืนดิน ไหนคือผืนฟ้า

Jean Gaumy ช่างภาพชาวฝรั่งเศสบรรยายว่ามัน “แอบสแตรก” มาก แต่สำหรับ Frédéric Olivier นักนิเวศวิทยาชาวฝรั่งเศสระบุว่า นี่คือ “terra incognita” คำนี้มาจากภาษาละตินมีความหมายว่า ดินแดนที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งคู่ร่วมงานกันลงพื้นที่สำรวจยังภูมิภาคนี้ร่วมกับนักนิเวศวิทยาอีกท่านหนึ่งนาม Laurent Chauvaud

ภูเขาน้ำแข็งในกรีนแลนด์
ภาพถ่ายโดย Jean Gaumy
นักวิทยาศาสตร์ทดสอบน้ำก่อนดำสำรวจจริงบริเวณสถานีวิจัย Daneborg ในกรีนแลนด์ พวกเขาตั้งใจที่จะเก็บสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่พื้นทะเล ตลอดจนสาหร่าย และครัสเตเชียนขนาดเล็ก
ภาพถ่ายโดย Jean Gaumy

Olivier และ Chauvaud คาดหวังว่าจะบันทึกเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในภูมิภาคนี้เอาไว้เท่าที่สามารถทำได้ เกาะกรีนแลนด์ตั้งอยู่ในภูมิภาคอาร์กติก ดินแดนที่เผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมากที่สุด ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หิ้งน้ำแข็งขนาดเท่าเกาะแมนฮัตตันเพิ่งจะแตกหักหลุดออกจากธารน้ำแข็ง Helheim ของกรีนแลนด์

ไม่ใช่พืดน้ำแข็งกว้างสุดลูกหูลูกตา แต่คือข้างใต้ต่างหากที่ดึงดูดใจสองนักวิทยาศาสตร์ สิ่งมีชีวิตเหล่านี้เจริญเติบโตในน้ำเย็นจัดของอาร์กติก พวกเขาวิจัยพื้นดินใต้สมุทร, ศึกษาสัตว์ไฟลัมมอลลัสกา, ครัสเตเชียน, อาร์โทรพอด, หนอน และดาวทะเล ทั้งยังเก็บตัวอย่างของน้ำทะเล เพื่อมองหาสิ่งมีชีวิตที่อาจไม่เคยพบมาก่อน

รูเล็กๆ กลางผืนน้ำแข็งนี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ดำสำรวจลงไปยังเบื้องล่างได้
ภาพถ่ายโดย Jean Gaumy

ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ประมาณกันว่าในภูมิภาคอาร์กติกน่าจะมีสิ่งมีชีวิตราว 2,000 สายพันธุ์ ทว่า Olivier เชื่อว่าจำนวนที่แท้จริงมากกว่านั้นถึงสองเท่า

ในน้ำที่เยือกแข็ง การเก็บข้อมูลไม่ใช่เรื่องง่าย…กระบวนการเต็มไปด้วยความยากลำบากและอันตราย บางครั้งหมีขั้วโลกก็โผล่มาด้อมๆ มองๆ หรือบางครั้งสภาพอากาศก็เลวร้ายเกินคาดเดา และผลตอบแทนของความพยายามไม่ได้เกิดขึ้นในทันที บางครั้งภารกิจการสำรวจสิ้นสุดลงด้วยความว่างเปล่าหากเก็บอะไรไม่ได้ หากเก็บตัวอย่างได้สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นจะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์ และอาจใช้เวลาราวปีถึงสองปี กว่าที่จะรู้ว่าสิ่งนั้นคือสัตว์สายพันธุ์ใหม่หรือไม่ “ทุกตัวอย่างที่เก็บคือการต่อสู้กับสภาพอากาศอันเลวร้ายและการแข่งกับเวลา” Olivier เล่า

นอกเหนือจากการเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิต นักวิทยาศาสตร์ทดลองบันทึกเสียงใต้ทะเลที่เกิดขึ้นจากสัตว์และการแตกหักของน้ำแข็ง
ภาพถ่ายโดย Jean Gaumy
ชั้นน้ำแข็งหนาและยากต่อการขุดเจาะ จากภาพคือความพยายามเจาะรูเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เมตร
ภาพถ่ายโดย Jean Gaumy

ลึกลงไปใต้ผืนน้ำแข็งอันว่างเปล่า Olivier เล่าว่า นี่คือสถานที่ที่มีความหลากหลายมากที่สุดเท่าที่เขาเคยเห็นมา และมากยิ่งกว่าพื้นที่ใดในอาร์กติก พวกเขาได้ข้อมูลใหม่ๆ มากมาย เช่น ในการศึกษาหอยสองฝาชนิดหนึ่ง นักวิจัยทั้งคู่เล่าว่าพวกเขาเข้าใจผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากยิ่งขึ้น

และไม่ใช่แค่สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลกรีนแลนด์เท่านั้นที่ทั้งคู่ศึกษา ภูมิภาคนี้ยังเปิดโอกาสให้พวกเขาวิจัยเกี่ยวกับเสียงอีกด้วย ในธรรมชาติบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลมักมีความไวต่อเสียงมาก ยกตัวอย่างเช่นวาฬ พวกมันสื่อสารกับวาฬตัวอื่นๆ ที่อยู่ห่างไกลด้วยเสียง แต่จากงานวิจัยนี้พวกเขาพบว่าเสียงจากเรือดำน้ำ และเสียงจากการขุดเจาะน้ำแข็งสามารถรบกวนการสื่อสารของพวกมันได้

แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ของอาร์กติกที่กำลังเผชิญกับเรือท่องเที่ยว และเรือขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรีนแลนด์ยังคงเงียบเหงา ซึ่งนอกเหนือจากภาพถ่ายแล้ว Olivier และ Chauvaud ยังบันทึกเสียงใต้น้ำของดินแดนที่ยังไม่เคยถูกสำรวจนี้เอาไว้ด้วย ด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่งสิ่งนี้อาจกลายเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้เปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ในอนาคต

เรื่อง Sarah Gibbens

ภาพถ่าย Jean Gaumy

ทีมนักวิทยาศาสตร์กำลังเลือกจุดที่จะดำน้ำสำรวจ
ภาพถ่ายโดย Jean Gaumy
ที่สถานีวิจัย Daneborg นักวิทยาศาสตร์ต้องตักหิมะวันละหลายครั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าออก
ภาพถ่ายโดย Jean Gaumy
บรรยากาศใต้พืดน้ำแข็งของกรีนแลนด์
ภาพถ่ายโดย CNRS
ตัวอย่างของหอยสองฝา และครัสเตเชียนขนาดเล็กที่เก็บมาได้จากใต้น้ำแข็ง นักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่าการศึกษาพวกมันจะช่วยทำความเข้าใจต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากยิ่งขึ้น
ภาพถ่ายโดย Jean Gaumy
จากบนอากาศ ภูมิภาคแห่งนี้ดูเวิ้งว้างไร้ซึ่งชีวิต แต่ใต้ผืนน้ำแข็งนั้นต่างออกไปโดยสิ้นเชิง
ภาพถ่ายโดย Jean Gaumy

 

อ่านเพิ่มเติม

ดีเอ็นเอเผย ชาวนอร์สในกรีนแลนด์ค้า งาวอลรัส ให้ยุโรป

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.