ลูกค้าขับรถลอดรูปปั้น โดนัท ขนาดยักษ์อันเป็นสัญลักษณ์ของร้านโดนัทโฮล์ในเมืองลาปวนเต มลรัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อสั่งโดนัท
อย่าให้อาหารเพื่อสุขภาพอย่างสลัดหรือผลไม้แห้งอบใส่ถ้วยมาขัดขวางการกินอาหารที่น่าหลงใหลอย่าง โดนัท
ลอสแอนเจลิสเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของเหล่านักแสวงหาโดนัท ที่นี่มีร้านโดนัทที่บริหารงานอย่างอิสระเกือบ 1,500 แห่ง ให้บริการขนมแป้งทอดรสหวาน นั่นหมายความว่า ในเมืองนี้มีโอกาสในการแสวงหาความหวานจากโดนัทมากกว่าเมืองอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา
แอล.เอ. กลายเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมโดนัทเมื่อ เท็น งอย (Ten Ngoy) ผู้อพยพชาวกัมพูชาได้เดินทางมาที่แคลิฟอร์เนียในช่วงทศวรรษที่ 1970 หลังจากที่ได้เริ่มต้นธุรกิจร้านขายของหวานเป็นของตัวเองแล้ว เขาก็ช่วยให้บรรดาผู้อพยพเพื่อนร่วมชาติที่หลบหนีมาจากการปกครองของเขมรแดงได้มีอาณาจักรขนมอบเป็นของตัวเอง ร้านของงอยเป็นเจ้าแรกที่ทำแพ็กเกจ โดนัทกล่องสีชมพูสว่าง ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ที่แพร่หลายของร้านโดนัททั่วไปเสียแล้ว
คนเชื้อสายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สร้างวัฒนธรรมแห่งโดนัทให้เกิดขึ้นในเมืองนี้ และตำนานในเรื่องนี้ยังคงอยู่ ร้านโดนัทส่วนใหญ่ของเมืองยังคงมีคนอเมริกันเชื้อสายกัมพูชาเป็นเจ้าของ
“ร้านโดนัทเป็นสิ่งที่คนเชื้อสายกัมพูชาสามารถทำได้ในอเมริกา และเป็นกุญแจสู่โอกาสที่ดีในชีวิต” เมย์ลี เทา (Mayly Tao) ผู้บริหารและเจ้าของร้านโดนัทดีเค กล่าวและเสริมว่า “ฉันชอบโดนัทตรงที่มันสามารถหลอมรวมชุมชนโดยไม่เกี่ยวข้องกับดินแดน เชื้อชาติ จะชอบกินที่ร้าน หรือชอบสั่งกลับบ้าน”
เช่นเดียวกับประชากรที่อยู่ในลอสแอนเจลิส โดนัทก็มีการพัฒนาทางวัฒนธรรมในแบบของตัวเอง โดนัทเริ่มจากการเคลือบน้ำตาล โดนัทแบบปราศจากโปรตีนกลูเตน โดนัทสอดไส้แยม ไปจนถึงโดนัทแบบสอดไส้คุกกี้เนย
การเพลิดเพลินไปกับโดนัทกลายเป็นสิ่งที่เปรียบเทียบได้กับกิจกรรมทางศาสนาในเมืองแห่งเทพธิดา (ฉายาของเมืองลอสแอนเจลิส) แห่งนี้ ซึ่งต้องยกเครดิตให้กับชาวอเมริกันเชื้อสายกัมพูชา และในฐานะที่พวกเขาทำให้โดนัทเป็นดาวเด่นของเมืองแห่งนี้
เรื่องโดย HANNAH SHEINBERG
ภาพโดย THEO STROOMER