ภาพเล่าโลกในรอบปี 2021 : โควิด-19

ปี 2021 การระบาดใหญ่ทั่วโลกกระชากอารมณ์ของเราขึ้นลงราวกับรถไฟเหาะ วัคซีน โควิด-19 ใหม่ๆ ช่วยสร้างความหวังและการกลับคืนสู่วิถีชีวิตปกติอีกครั้ง แต่ความพยายามสร้างภูมิคุ้มกันกลับต้องเผชิญกับการเผยแพร่ข้อมูลเท็จและความขาดแคลน ขณะที่ชีวิตประจำวันค่อยๆ หวนคืนสู่จังหวะเดิม ไวรัสยังคงเป็นภัยคุกคาม

ปีนี้ควรเป็นปีแห่งชัยชนะ ปีที่เราเอาชนะ โควิด-19 ได้ วัคซีนปฏิวัติวงการซึ่งพัฒนาด้วยความเร็วยิ่งยวดจากเทคโนโลยีพันธุกรรมที่ค้นคว้าและปรับแต่งตลอดหลายสิบปี กระจายออกไปในการรณรงค์สร้างภูมิคุ้มกันทั่วโลกครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ การปิดเมือง การกักตัว การสวมหน้ากากอนามัย และพิธีศพที่แทบไม่มีคนเข้าร่วม จะหลีกทางให้การเปิดพรมแดน การอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว และเศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้นอีกครั้ง ในปี 2021 ชีวิตควรกลับสู่ภาวะปกติ

ทว่าสิ่งที่เราไม่รู้คือการรณรงค์ฉีดวัคซีนจะชะงักงัน ในสหรัฐอเมริกา คนหลายล้านหันหน้าหนีวัคซีน ทั้งๆที่ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงในฤดูหนาว ตามมาด้วยอีกระลอกในฤดูร้อน นักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบข้อมูลใหม่ๆและปรับเปลี่ยนคำแนะนำทำให้ผู้คนคลางแคลง ข้อมูลเท็จและยาปลอมแพร่กระจายเร็วพอๆกับไวรัส ผู้คนกล่าวหาว่าวัคซีนเป็นการควบคุมรูปแบบหนึ่งของรัฐบาล การสวมหน้ากากอนามัยคือการละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคล ในทางตรงกันข้าม หลายประเทศในโลกก็แค่ไม่มีวัคซีนให้ฉีดอย่างน่าเห็นใจ

21 กรกฎาคม, จาการ์ตาเหนือ อินโดนีเซีย คลื่นโควิดโถมซัดไร้ปรานี ภาพถ่าย มุฮัมมัด ฟัดลี ญาติรดน้ำกุหลาบและโปรยดอกไม้บนหลุมศพผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 ในย่านชีลินชิง จาการ์ตาเหนือ สุสานสาธารณะรอรอตันเปิดเมื่อเดือนมีนาคมโดยมีหลุมฝังศพ 7,200 หลุม แต่เริ่มเต็มอย่างรวดเร็ว เมื่อยอดผู้ป่วยในอินโดนีเซียพุ่งสูงในเดือนกรกฎาคม ณ จุดสูงสุด ประเทศที่มีประชากรอันดับสี่ของโลกมีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 50,000 ราย

ขณะที่เราโยนโอกาสสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ทิ้งไป ไวรัสก็ฉวยโอกาส ซาร์ส-โควี-2 ทวีจำนวนจนเกิดการกลายพันธุ์นับไม่ถ้วน และการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมแต่ละครั้งหมายถึงโอกาสที่ไวรัสจะอันตรายมากขึ้นด้วยการหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกัน ติดเชื้อในเซลล์ได้ง่ายขึ้น ก่อโรคที่มีอาการรุนแรงขึ้น และแพร่กระจายข้ามพรมแดน

แล้วไวรัสสายพันธุ์ใหม่ก็เกิดขึ้น ได้แก่ อัลฟาในสหราชอาณาจักร เบตาในแอฟริกาใต้ แกมมาในบราซิล เดลตาในอินเดีย

เดลตาทำให้การติดเชื้อรุนแรงขึ้นและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตยิ่งกว่าสายพันธุ์ใดๆ มันแพร่ไปทั่วประเทศที่มีประชากรอันดับสองของโลกด้วยความดุดันไม่ลดละ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์มือเป็นระวิง ผู้ป่วยที่เป็นไข้และขาดออกซิเจนเต็มโรงพยาบาล และส่งร่างไร้ชีวิตไปยังฌาปนสถานที่ไฟในกองฟืนลุกโชติช่วงทั้งวันทั้งคืน

19 มีนาคม, เทลอาวีฟ อิสราเอล เต็มโรง แบบการระบาดใหญ่ทั่วโลก ภาพถ่าย แดน บาลิลตี
——————————————————-
ที่โรงอุปรากรในเทลอาวีฟ ผู้ชมสวมหน้ากากอนามัยนั่งเว้นระยะห่างชมการแสดงของนักร้องโซปราโนจากวงโอเปราอิสราเอล พอถึงกลางเดือนมีนาคม อิสราเอลก็ฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปแล้วกว่าครึ่ง เป็นประเทศแรกในโลกที่จำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างฮวบฮาบ จากปลายเดือนเมษายนถึงปลายเดือนมิถุนายน อิสราเอลมีผู้ป่วยโควิด 19 ใหม่เฉลี่ยวันละไม่ถึง 100 คน จนกระทั่งสายพันธุ์เดลตาเข้ามาและทำให้เกิดคลื่นผู้ป่วยระลอกสาม

พอถึงเดือนกรกฎาคม เดลตาก็กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดไปทั่วโลก และพอถึงเดือนกันยายน ไวรัสนี้ก็ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯสูงกว่ายอดรวมผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดสเปนเมื่อปี 1918 ส่งผลให้โควิด 19 เป็นโรคระบาดร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เมื่อถึงต้นเดือนพฤศจิกายน ชาวอเมริกันเสียชีวิตกว่า 750,000 ราย แต่บางชุมชนถูกไวรัสโคโรนาโจมตีหนักกว่าที่อื่นๆ กล่าวคือ ชนพื้นเมืองอเมริกัน ชาวฮิสแปนิก และชาวอเมริกันผิวดำ มีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุด

การระบาดใหญ่ทั่วโลกเผยความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนอีกประการหนึ่ง นั่นคือช่องว่างในการเข้าถึงวัคซีนทั่วโลก วัคซีนมีเกินพอในหลายประเทศที่คนไม่ไยดี แต่กลับขาดแคลน หรือไม่มีเลย ในประเทศที่คนต้องการ

กระทั่งในขณะที่วัคซีนกระจายออกไปนี้ เราก็อาจไม่มีวันกำจัดไวรัสนี้ให้หมดไปโดยสิ้นเชิงได้ ไวรัสโคโรนาสี่สายพันธุ์ที่ก่อโรคไข้หวัดกลายเป็นไวรัสประจำถิ่น เหมือนไวรัสอื่นๆที่สืบสายจากไวรัสก่อโรคไข้หวัดสเปนซึ่งคร่าชีวิตผู้คน 50 ล้านคนทั่วโลก

21 มิถุนายน, โตสะไมทัน อินเดีย นำวัคซีนสู่ชนบท ภาพถ่าย ดาร์ ยาซิน, AP PHOTO
———————————————–
นาซีร์ อาห์เหม็ด หิ้วกระติกบรรจุวัคซีนโควิด 19 พลางมองหาคนเลี้ยงแกะและชนเผ่าเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้าของโตสะไมทัน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของศรีนคร เมืองหลวงของดินแดนสหภาพชัมมูและแคชเมียร์ของอินเดีย ในการเร่งฉีดวัคซีนสู้ไวรัสซาร์ส-โควี-2 บุคลากรด้านสาธารณสุขต้องพยายามอย่างถึงที่สุดในการไปให้ถึงชุมชนห่างไกล จากศรีนคร อาห์เหม็ดกับเพื่อนร่วมงานราวห้าคนขับรถสามชั่วโมง ก่อนเดินเท้าไปยังจุดที่อยู่ห่างไกลนี้ พวกเขาใช้เวลาสี่ชั่วโมงตามหาคนและฉีดวัคซีนไป กว่าสิบราย

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าไวรัสโคโรนาซาร์ส-โควี-2 มีแนวโน้มมากที่สุดที่จะอยู่กับเรา วิวัฒน์และวนเวียนไปอีกหลายปี แต่ขณะที่เราพัฒนาภูมิคุ้มกันขึ้น การระบาดจะลดลงและไวรัสจะก่อโรคเฉียบพลันน้อยลง

เราจะไม่ได้อยู่กับไวรัสเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งตกทอดที่น่าแสลงใจและเรามีความเข้าใจน้อยนิด นั่นคือผู้ติดเชื้อร้อยละ 10 ถึง 30 จากหลายร้อยล้านคนอาจมีอาการที่มีแนวโน้มทำให้ร่างกายอ่อนแอเรื้อรัง อาการที่หลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด (long Covid) ซึ่งรวมถึงอาการป่วยจากภาวะสมองล้า ความจำเสื่อม และความเหนื่อยล้า ไปถึงการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ประจำเดือนไม่ปกติ การสูญเสียการรับรู้กลิ่นและรสชาติ เหล่านี้จะต้องใช้การบำบัดรักษาแบบใหม่

ขณะเดียวกัน ตราบใดที่คนจำนวนมากไม่มีภูมิคุ้มกัน ก็ไม่มีใครในหมู่พวกเราที่ปลอดภัย ผู้ไม่ได้รับวัคซีนจะเป็นแหล่งกักเก็บให้เกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ จึงจำเป็นต้องทำทั้งโน้มน้าวผู้ที่ยังลังเลให้ฉีดวัคซีน ซึ่งช่วยให้มีภูมิคุ้มกันมากกว่าการติดเชื้อโควิด 19 และส่งวัคซีนไปให้ถึงแม้กระทั่งชุมชนที่ไกลที่สุด
นั่นคือการก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ดังเช่นที่เราได้เห็นในปี 2021 ไวรัสไม่สนใจกรอบเวลาหรือกฎเกณฑ์ใดๆของเรา

24 เมษายน, อวนกาเบลีกา เปรู สุสานประจำเมืองล้นทะลัก ภาพถ่าย อาเลสซันโดร ชินเกว
———————————————————————-
ท่ามกลางแสงอาทิตย์อัสดงที่เคลื่อนคล้อยไปเบื้องหลัง เจ้าหน้าที่จากสถานเก็บศพในอวนกาเบลีกา รอให้จบพิธีศพเพื่อเคลื่อนย้ายโลงศพไปไว้ในช่องที่สุสานประจำเมือง ถึงแม้ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 จะเชื่อถือไม่ได้ แต่เปรูคือประเทศหนึ่งที่มียอดผู้เสียชีวิตต่อหัวประชากรสูงที่สุดในโลก ในพื้นที่ชนบทรอบๆอวนกาเบลีกา การระบาดใหญ่ทั่วโลกคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 1,160 ราย

เรื่อง พิชาล พี. ตรีเวที

สามารถติดตามสารคดี ภาพเล่าโลกในรอบปี 2021 : โควิด-19 ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมกราคม 2565

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/537937


อ่านเพิ่มเติม การระบาดโควิด-19 และวัฒนธรรม จิตอาสา ในไทย

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.