การระบาดโควิด-19 และวัฒนธรรม จิตอาสา ในไทย

การระบาดโควิด-19 และวัฒนธรรม จิตอาสา ในไทย

ในขณะนี้ ประเทศไทยมีผู้ป่วยจากโรคติดเชื้อโควิด-19 กว่า 2.1 ล้านคนและผู้เสียชีวิตอีกกว่า 21,000 คน ผู้ต้องการความช่วยเหลือต่างพึ่งพาเหล่าอาสาสมัคร จิตอาสา ผู้มาช่วยเหลือ ในยามที่รัฐไม่ตอบสนองพวกเขา

กรุงเทพ, ประเทศไทย – ณ ยามใกล้โพล้เพล้ ชาวไทยผู้ไร้บ้านกลุ่มหนึ่งเริ่มปรากฏตัวที่ถนนราชดำเนิน บรรดาผู้คนซึ่งสวมเสื้อผ้าเก่ารุ่งริ่งและมีแววตาเหนื่อยล้าขยับตัวอย่างช้าๆ บนถนน พวกเขาและเธอหล่านี้กำลังเดินทางไปรับบริจาคอาหารจากมูลนิธิอิสรชน กลุ่มไม่แสวงผลกำไรในกรุงเทพซึ่งมีภารกิจช่วยเหลือผู้ยากไร้

ที่หน้าแถว ผู้นำมูลนิธิท่าทางสุภาพคนหนึ่งให้กำลังใจผู้มาต่อแถวให้สู้ต่อไปแม้ช่วงเวลานี้จะยากลำบากเป็นพิเศษ

จิตอาสา, โควิด-19, ชุมชนคลองเตย
อาสาสมัครวัยเยาว์ของมูลนิธิดวงประธีปโดยสารรถกระบะเพื่อมุ่งหน้าไปยังคลองเตย เชื้อโควิดแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในชุมชนแออัดแห่งนี้

“คุณไม่รู้หรอกค่ะ วันหนึ่งเราอาจจะกลายเป็นเหมือนพวกเขา หรือวันหนึ่งเขาอาจจะมาอยู่ในจุดเดียวกับเรา” อัจฉรา สรวารี เลขาธิการของมูลนิธิอิสรชนกล่าว “เราจึงไม่เคยตัดสินผู้คนที่ยากลำบากเหล่านี้เมื่อช่วยพวกเขา พวกเขาเป็นพลเมืองเหมือนกับเรา และควรจะได้เข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐาน”

ในขณะนี้ ประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิดกว่า 2.1 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 21,000 คน อาจมีบางคนกล่าวว่ายอดผู้ป่วยที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงที่เลวร้ายที่สุด มีสาเหตุโดยตรงจากการที่รัฐบาลแจกจ่ายวัคซีนอย่างล่าช้า และความไม่พร้อมรับมือเมื่อสายพันธุ์เดลตามาถึงกรุงเทพ

ชุด PPE
พนักงานจัดการศพในชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หรือ PPE หยิบถุงบรรจุศพของเหยื่อโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ไร้ญาติซึ่งถูกปิดไว้เพื่อนำไปเผา ศพเหล่านี้ถูกเก็บในตู้แช่เย็นซึ่งนำมาเพื่อรับมือกับศพที่ล้นทะลักห้องดับจิตที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แต่คนไทยมีวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่าง นั่นนคือ “จิตอาสา” รากฐานทางวัฒนธรรมที่เน้นย้ำถึงการช่วยเหลือชุมชน ซึ่งช่วยอธิบายได้ว่าเหตุใดจึงมีคนไทยมากมายเลือกเป็นอาสาสมัครเพื่อต่อสู้กับผลกระทบของโควิด แทนที่จะรอการช่วยเหลือจากรัฐ

“ในเอเชีย เราถูกสอนมาให้ดูแลคนในครอบครัวครับ” ทอม เครือโสภณ นักลงทุนชื่อดัง กล่าวและเสริมว่า “เราไม่ได้อาศัยอยู่ในเมือง แต่อาศัยอยู่ในชุมชน”

เมื่อต้นปีที่แล้ว สถานการณ์โควิดในกรุงเทพย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็วจนโรงพยาบาลหลายแห่งไม่มีทรัพยากรเหลือ และการระบาดของสายพันธุ์เดลตาเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมาทำให้ทั้งเมืองหลวงต้องปิดลงอย่างสมบูรณ์พร้อมการล็อกดาวน์และข้อห้ามเคร่งครัดต่างๆ โรงพยาบาลต้องเผชิญผู้ป่วยอย่างล้นหลาม และตอนนี้ ความกังวลต่างๆ กลับมาอีกครั้งเนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน แม้ในตอนนี้จะยังไม่ทราบว่ามันจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างในประเทศไทย

เมื่ออัตราการเสียชีวิตเริ่มเพิ่มขึ้น อาสาสมัครจากหลากหลายพื้นเพจึงเริ่มออกมาช่วยเหลือผู้คนและรักษาชีวิต

เส้นด้าย, จิตอาสา
สมาชิกทีมเส้นด้ายขนสิ่งยังชีพในเต็นท์เก็บของในกรุงเทพ สิ่งของยังชีพเหล่านี้ถูกบริจาคให้ผู้ป่วยซึ่งกักตัวอยู่ที่บ้านเมื่อเตียงโรงพยาบาลขาดแคลนอย่างสาหัส อาสาสมัครเหล่านี้กลายเป็นที่รักใคร่จากการช่วยดูแลผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ

ช่วยเหลือคนไร้บ้าน

อัจฉราช่วยเหลือคนไร้บ้านในกรุงเทพมากว่า 10 ปีแล้ว กรุงเทพมีผู้คนเหล่านี้มากมายมาโดยตลอด พวกเขาเหล่านี้มีจำนวนอย่างน้อยนับพันอยู่ทั่วเมืองแม้ในสถานการณ์ปกติ

แต่ตอนนี้ เธอกำลังเห็นจำนวนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างที่เธอไม่เคยเห็นมาก่อน

“พื้นที่ตรงนี้มีคนไร้บ้านเยอะขึ้นสองเท่าค่ะ จาก 300 คนเป็น 600 คน” เธออธิบายขณะที่เหล่าอาสาสมัครแจกจ่ายอาหาร “ทั่วทั้งกรุงเทพก็เช่นกัน และโควิดทำให้คนที่เคยเร่ร่อนแค่ชั่วครั้งชั่วคราวกลายเป็นคนเร่ร่อนอย่างถาวร”

อัจฉราประมานว่ามีคนไร้บ้านอย่างน้อย 4,500 คนทั่วทั้งกรุงเทพ แม้จำนวนในความเป็นจริงอาจสูงกว่านี้ หลายคนที่นอนข้างถนนไม่มีบัตรประชาชน เธอกล่าว ส่วนคนอื่นๆ หลายคนต้องทุกข์ทนกับปัญหาสุขภาพจิตอย่างหนัก

มูลนิธิอิสรชน, คนเร่ร่อน, โควิด-19, จิตอาสา, อาสามัคร, คนไร้บ้าน
ผู้คนต่อแถวรับบริจาคอาหารจากมูลนิธิอิสรชน องค์กรไม่แสวงผลกำไรซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนคนยากจนขั้นสาหัส จากข้อมูลของเหล่าผู้นำมูลนิธิ จำนวนประชากรไร้บ้านในละแวกรอบพื้นที่แจกจ่ายอาหารเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในช่วงการระบาด

เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งเดินมาที่หัวแถวและเกาะแม่ของเธอไปด้วย

“อย่างน้อยร้อยละ 5 ของประชากรเหล่านี้เป็นเด็กค่ะ” อัจฉรากล่าว “คุณจินตนาการถึงความยากลำบากได้เลย บ่อยครั้งที่พ่อแม่ของเด็กพวกนี้ไม่มีบัตรประชาชน พวกเขาจึงไม่สามารถเข้าถึงการบริการสุขภาพได้ ไม่มีครอบครัวช่วยเหลือ และพวกเขาบางคนต้องดูแลลูกๆ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การหางานแทบเป็นไปไม่ได้”

เธอกล่าวว่ารัฐไม่ช่วยเหลือคนกลุ่มเปราะบางเหล่านี้มากพอ เมื่อเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว ทางรัฐแจกเงินจำนวนเล็กน้อยให้คนไทยที่มีรายได้ต่ำ แต่เธอกล่าวว่ามันแทบไม่ช่วยแก้ไขต้นตอของปัญหา เช่นการปรับปรุงระบบการเยียวยาปัญหาสุขภาพจิตหรือการจัดสรรบ้านที่ดีกว่าโดยรัฐ

“เราร้องขอให้รัฐปรับปรุงระบบสวัสดิการมาอย่างยาวนาน” อัจฉรากล่าว ทางรัฐยอมรับว่าปัญหามีอยู่จริง “แต่พวกเขาไม่เคยทำอะไรเลย แม้แต่ในช่วงโควิดก็ตาม” เธอกล่าว และเสริมว่ามันไม่มีแผนที่ชัดเจนสำหรับการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากเมื่อโรคระบาดเมื่อโรคดังกล่าวระบาดในไทย

“เราจึงมาที่นี่ทุกวันอังคารเพื่อแจกจ่ายอาหารค่ะ” เธอกล่าว

เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ติตต่อโฆษกรัฐบาลไทยหลายครั้งเพื่อขอความเห็นในเรื่องนี้ แต่ไม่มีการตอบรับทั้งทางโทรศัพท์และอีเมล

โรงพยาบาลสนาม, จิตอาสา, โควิด-19
ผู้ป่วยพักผ่อนในเต็นท์ที่โรงพยาบาลสนามชุมชนท่าเรือ กรุงเทพ โรงพยาบาลซึ่งจัดการโดยมูลนิธิไม่แสวงผลกำไรดวงประทีปแห่งนี้ดูแลรักษาผู้ป่วย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากชุมชนยากจนและแรงงานต่างด้าว โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

นักรบเส้นด้าย

มะห์มุด อนุสรณ์วีรชีวิน เกร็งตัวแน่นเพื่อทรงตัวขณะรถตู้เร่งเครื่องอยู่บนท้องถนนมืดมิดในกรุงเทพ เขาเป็นหนึ่งในอาสาสมัครที่เตรียมตัวอยู่หลังรถพยาบาลสนาม ขณะที่คนขับแล่นไปตามถนนในคืนหนึ่งในเดือนกันยายน พวกเขาอยู่ห่างจากเหยื่ออีกคนกนึ่งของสายพันธุ์เดลตา

คนขับเหยีบบเบรคและจอดรถอยู่หน้าบ้านเล็กๆ หลังหนึ่งขณะที่เหล่าอาสาสมัครเร่งรีบลงจากรถในชุดป้องกันตั้งแต่หัวจรดเท้า ตอนนั้นเป็นเวลาราวสามทุ่ม พวกเขาเข้าไปในบ้านอย่างเงียบๆ และเจอชายอายุ 50 กลางๆ นอนอัมพาตอยู่บนเตียงและพยายามหายใจอย่างยากลำบาก

เส้นด้าย, อาสาสมัคร, ตรวจเชื้อ โควิด-19, จิตอาสา
ทีมอาสาสมัครของเส้นด้ายช่วยตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้คนงานที่ท่าเรือในชลบุรีด้วยชุดตรวจหาเชื้อแบบรวดเร็ว (rapid antigen tests) จังหวัดทางตะวันออกแห่งนี้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึนเมื่อเชื้อแพร่กระจายไปทั่วประเทศและสร้างภาระกดดันต่อบริการสาธารณสุข
ชุมชนคลองเตย, จิตอาสา, โควิด-19
อาสาสมัครจากชุมชนคลองเตยฆ่าเชื้อให้กันและกันหลังการช่วยดูแลผู้ป่วยที่พื้นแยกกักชั่วคราว

“สวัสดีครับ ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง ตอนนี้พวกเรามาดูเเลคุณนะครับ” มะห์มุด อดีตนักโทษวัย 41 ซึ่งผันตัวมาเป็นหน่วยกู้ชีพอาสา กล่าว เขาถูกจำคุกในข้อหาค้ายาเสพติดแต่รอดจากโทษประหารแต่ต้องถูกจำคุกเป็นเวลา 15 ปี สี่ปีหลังออกมา เขากลายเป็นหัวหน้าหน่วยกู้ชีพของเส้นด้าย กลุ่มอาสาในกรุงเทพซึ่งมีสมาชิกหลายสิบคน

ทีมงานเริ่มตรวจชีพจรของชายคนนั้นและพบว่าระดับของออกซิเจนของเขาต่ำในระดับอันตราย มะห์มุดส่งสัญญานให้หมออาสาอาสาที่ติดตามพวกเขาไปในคืนนั้นให้ตรวจร่ายกายของผู้ป่วย

“ผมคิดว่าไวรัสลงปอด” หมดบอกมะมุดด้วยน้ำเสียงเร่งรีบ “เราต้องพาเขาไปโรงพยาบาลตอนนี้เลย”

ผู้ป่วยโควิด-19, โควิด-19
แสงอวน ธีวรัตน์ดำรงค์ ผู้ป่วยโควิดอายุ 82 ปีซึ่งป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ถูกรัดบนเตียงโดยบุคลากรสาธารณสุขหลังอาสาสมัครกลุ่มเส้นด้ายสามารถหาเตียงให้เธอ บุญน้อย มาตรา ลูกสาวอายุ 59 ปีของเธอซึ่งติดเชื้อเช่นกันและเป็นโรคเบาหวาน หายใจจากถังออกซิเจนขณะนั่งพิงเสา

เมื่อเดือนกรกฎาคม เสียงเรียกทุกสายคือเรื่องของชีวิตและความตาย

“ทุกครั้งผู้ป่วยกำลังเข้าใกล้ความตายครับ” มะห์มุดกล่าว และอธิบายว่ากลุ่มอาสาเจอผู้ป่วยเฉลี่ยหกคนต่อคืน “หลายๆ คนก็เสียชีวิต ผมเคยเจอผู้ป่วยเสียชีวิตคาอ้อมแขนของผม”

เมื่อสามเดือนที่แล้ว สายเรียกแบบนี้เกิดขึ้นทุกคืนในกรุงเทพ เมื่อตอนนั้น ทีมของมะมุดต้องมารับผู้ป่วยอย่างน้อย 10 เคสต่อคืน

กลุ่มเส้นด้าย ซึ่งก่อตั้งเมื่อเดือนเมษายน ช่วยเหลือเหยื่อของโควิด-19 มานับหมื่นราย งานของกลุ่มขยายจากการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กักตัวอยู่บ้านเป็นการหาเตียง และในตอนนี้ เหล่าอาสาสมัครช่วยแจกจ่ายยาต้านไวรัสและตรวจหาเชื้อครั้งละจำนวนมาก (mass tasting) ทั่วทั้งในกรุงเทพและที่อื่นๆ ในประเทศ

เมื่อเขาตรวจผู้ต้องการความช่วยเหลือในค่ำคืนเหล่านั้น มะห์มุดกล่าวว่าเขาทำใจทิ้งใครสักคนไว้เบื้องหลังไม่ได้ เขารู้สึกว่าผู้ป่วยถูกไวรัสจองจำ และเขาอยากปลดปล่อยคนเหล่านั้น

“ตอนผมอยู่ในคุก ผมรู้สึกเหมือนคนตาย” มะห์มุดกล่าว “แต่ก็มีคนมาช่วยผมและให้ชีวิตผมอีกครั้ง ตอนนี้ผมจึงอยากช่วยผู้ป่วยเหล่านี้บ้าง มันคือสิ่งที่ดีที่สุดที่ผมทำตั้งแต่ออกจากคุกเลยครับ”

แรงงาน, โควิด-19, ตรวจเชื้อโควิด
แรงงานรอการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยอาสาสมัครจากกลุ่มบัณฑิตอาสาที่ค่ายแรงงานแห่งหนึ่งที่ชานเมืองกรุงเทพ เมื่อช่วงระลอกที่สามของโรคระบาด ชุมชนสลัมและค่ายแรงงานรอบๆ กรุงเทพได้รับผลกระทบอย่างหนักเนื่องจากสภาพแออัดและการเข้าไม่ถึงหรือไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจฯ

การแลกเปลี่ยนอันโหดร้าย

ที่พัทยา เมืองติดทะเลที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวและเสียหายยับเยินจากผลกระทบที่โควิด-19 มีต่อเศรษฐกิจ อัญชณาภรณ์ พิลาสุตา หรือแอนนา กลายเป็นวีรสตรีโดยไม่ตั้งใจ

“ฉันคิดว่าทุกอย่างในโลกมีวันหมดอายุ” อดีตผู้ให้บริการทางเพศอายุ 40 ปีกล่าวที่หน้าทางเข้า “ถนนคนเดิน” ถนนที่เคยแน่นขนัดไปด้วยนักท่องเที่ยวและอื้ออึงไปด้วยเสียงของชีวิตราตรี

ในวันนี้ ถนนทุกสายเงียบสงัด

“คุณจะบอกว่าประเทศนี้เปิดได้ยังไง” แอนนาถามอย่างไม่ต้องการคำตอบ และสื่อถึงการตัดสินใจเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบสำหรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบแล้วของรัฐเมื่อต้นเดือนตุลาคม เธอชี้นิ้วไปที่บาร์สภาพทรุดโทรมที่ตั้งเรียงเป็นแถวยาว

หาดป่าตอง,
หุ่นลองเสื้อนั่งแทนลูกค้าในร้านอาหารแห่งหนึ่งที่หาดป่าตอง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องราตรีที่นิยมที่สุดบนเกาะภูเก็ตก่อนโควิดมาถึง นักท่องเที่ยวยังคงมีอยู่เพียงน้อยนิด แม้เกาะแห่งนี้จะเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ตาม

“ตอนนี้ผู้ให้บริการทางเพศต้องเปลี่ยนอาชีพเพื่อเอาตัวรอดค่ะ” แอนนากล่าว

ร้านทำเล็บ แผงค้าขาย และร้านน้ำปั่นเปิดตัวขึ้นในขณะที่บาร์และร้านอาหารปิดภายใต้ข้อบังคับใหม่ๆ “ตอนนี้ผู้ค้าบริการทางเพศหลายต่อหลายคนย้ายไปทำงานที่ร้านพวกนี้ค่ะ บางคนแค่รอลูกค้าที่ชายหาด แต่นั่นมันไม่พอ ทางรัฐบาลไม่ช่วยเหลือเยียวยาเราเลย” เธอกล่าว

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แอนนาช่วยเหลือสังคมผู้ค้าบริการฯ ในพัทยาโดยการให้การสนับสนุนต่อคนเหล่านี้ในฐานะอาสาสมัครของมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการหรือ SWING (Service Workers In Group) องค์กรซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองดังกล่าวและให้บริการสุขภาพและการรักษา รวมทั้งส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของผู้ค้าบริการทุกคน แม้ในทางเทคนิคแล้ว การค้าประเวณีจะผิดกฎหมาย มันก็ยังทั้งมีอยู่อย่างมากมายและเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวมาช้านาน

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคือหนึ่งในภาคส่วนธุรกิจหลักของไทย คิดเป็นร้อยละ 6-7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ในปี 2020 ในตอนนี้ผู้ค้าบริการบางคนต้องกลายเป็นคนไร้บ้านเช่นกัน

หาดใหญ่, ฉีดวัคซีน, จิตอาสา, โควิด-19
ผู้ได้รับวัคซีนรอดูผลข้างเคียงหลังการฉีดที่สนามกีฬาจิระนคร หาดใหญ่ ธุรกิจในศูนย์กลางการค้าและจุดหมายการจับจ่ายซื้อของในภาคใต้แห่งนี้ได้รับผลกระทบอย่างสาหัสจากการระบาดของโควิด

ความประมาทของภาครัฐ

เครือโสภณ ผู้มีความใกล้ชิดกับกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่าสาเหตุง่ายๆ ของความล้มเหลวของรัฐคือความประมาท

“ปัญหาคือสายพันธุ์เดลตามาถึงเร็วเกินไปมากครับ” เขากล่าว

เมื่อสิ่งต่างๆ เลวร้ายถึงขีดสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม ไทยมียอดรายงานผู้ป่วยติดเชื้ออย่างต่ำ 20,000 คนต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตโดยเฉลี่ยวันละ 150-200 คน จำนวนเหล่านี้พุ่งสูงอย่างมากหากเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว เมื่อเคสรายวันเฉลี่ยที่หลักหน่วยและแทบไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักรัฐศาสตร์และนักวิชาการชื่อดังซึ่งอุทิศเวลาส่วนใหญ่ในปีที่แล้ววิเคราะห์ว่าเหตุใดจึงเกิดความผิดพลาด กล่าวว่ารัฐบาลไม่เพียงแต่ละเลยปัญหา แต่พวกเขาไร้ประสิทธิภาพอย่างจงใจ

พระสงฆ์เดินลงจากบันไดของวัดแห่งหนึ่งซึ่งบริการเผาศพเหยื่อโรคโควิด-19 โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในจังหวัดปทุมธานี เมื่อไทยต้องดิ้นรนต่อสู้กับอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น หลายคนเลือกเป็นอาสาสมัครเพื่อต่อสู้กับผลกระทบของโรคระบาด แทนที่จะรอการตอบสนองอย่างเป็นทางการจากรัฐ

“ในประเทศไทย มันไม่ไช่สิ่งผิดปกติที่ความประมาทจะกลับมาเล่นงานคุณครับ” ฐิตินันท์กล่าว เขาเห็นด้วยกับเครือโสภณว่ารัฐทำงานได้ดีสำหรับการรักษาตัวเลขผู้ป่วยให้อยู่ในระดับต่ำในปี 2020 แต่จำนวนเพิ่มขึ้นเมื่อต้นปีนี้เพราะพวกเขาเชื่อมั่นในความสามารถผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกาของตนเองมากเกินไป พวกเขาไม่เห็นว่าสายพันธุ์เดลตาจะจู่โจมไทยอย่างหนักเป็นพิเศษ

“แล้วมันก็มีจำนวนเคสที่กลับมาเพิ่มขึ้น” เขากล่าว “ทางรัฐจึงหมดหนทาง แอสตราเซเนกาไม่ได้เข้าสู่สายการผลิตอย่างที่พวกเขาเคยคิด แล้วเดลตาก็แผลงฤทธิ์อย่างสาหัส ความประมาทนั่นจึงกลับมาหลอกหลอนพวกเขา”

“คนด่านหน้าจึงต้องช่วยเหลือตนเองครับ วีรบุรุษและสตรีของทุกวันนี้คืออาสาสาธารณะสุขที่ทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเพื่อดูแลชุมชนของตนเอง”

ที่กรุงเทพ อัจฉรายังคงหาทางแก้ปัญหาให้คนไร้บ้านในจังหวัดแห่งนี้ต่อไป มันจะเป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน “ทางรัฐมองว่าคนเหล่านี้ไม่มีค่าค่ะ” เธอกล่าว นี่คือเหตุผลที่เราพยายามแก้ไปปัญหาระยะยาวแม้สถานการณ์โรคระบาดจะเริ่มดีขึ้น”

เหมือนเหล่าอาสาสมัครคนอื่น อัจฉราไม่มองตัวเองว่าเป็นวีรสตรี เธอเพียงแค่รู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จ

เรื่อง CALEB QUINLEY

ภาพถ่าย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน


อ่านเพิ่มเติม มองจากภายใน: สถานการณ์การระบาดในประเทศไทย

Recommend