รำลึกเหตุการณ์ เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์

รำลึกเหตุการณ์ เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์

“รายงานพิเศษจากอดีต” เสนอภาพถ่ายหลายแง่มุมของอาคาร เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ซึ่งรวบรวมจากที่เคยตีพิมพ์ประกอบบทความในเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เรื่อง “Manhattan-Images of the City” โดย เจย์ เมเซล ฉบับกันยายน 1981 เรื่อง “Skyscrapers” โดย เนธัน เบนน์ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 1989 และเรื่อง “Broadway, Street of Dreams” โดย โจดี คอบบ์ ฉบับกันยายน 1990

อาคาร เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เป็นสัญลักษณ์หนึ่งคู่กับนครนิวยอร์ก สารคดีแทบทุกเรื่องที่บรรยายเกี่ยวกับตึกระฟ้าหรือนครนิวยอร์ก มักมีภาพอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์อยู่ด้วยเสมอ แม้กระทั่งภาพหน้า 76 ถึง 77 ในเรื่อง “อานุภาพของแสง” ในเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนตุลาคม ปี 2544 ซึ่งโจ แมคนัลลีถ่ายภาพการเปลี่ยนหลอดไฟบนยอดตึกเอ็มไพร์สเตท เราก็ไม่วายเห็นตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ลิบๆ อยู่ในสายหมอกยามอรุณ ส่วนภาพถ่ายฝีมือเจย์ เมเซลซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับกันยายน 1981 บรรยายถึงเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ไว้ดังนี้ “สองราชาแห่งขอบฟ้านาคร พาสำนักงานหรูหราของบริษัทชั้นนำจากนานาชาติขึ้นสู่ที่สูอันสมควรแก่จะใช้บังคับการ อาคารแฝดแห่งนี้เป็นตึกสูงที่สุดในโลกอยู่ไม่กี่ปีก็ถูกตึกเซียส์แซงหน้าไป แต่ยังไม่มีผู้ใดโค่นตำแหน่งเจ้าแห่งการพาณิชย์ของแมนฮัตตันได้”

อัครมุนี วรรณประไพ นักแปลและนักเขียนซึ่งเคยอยู่ในนิวยอร์กระหว่างปี 1995 – 1999 บอกว่า “เมื่ออยู่ในนิวยอร์ก เราสามารถมองเห็นตึกระฟ้าทั้งสองได้จากแทบทุกที่ เรียกได้ว่าอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของแมนฮัตตัน” เมื่อแรกถึงนิวยอร์กอัครมุนีก็เหมือนคนทั่วไปที่ขึ้นไปเที่ยวบนดาดฟ้าชมวิวที่ยอดอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ แต่วันที่เธอไปไม่มีวิวให้ชมเพราะหมอกลงจัด เธอตั้งใจไว้ว่าวันหลังจะกลับขึ้นไปชมใหม่ให้ได้

กล่องระฟ้า ลักษณะเรียบง่ายของอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์กลายเป็นประเด็นที่สถาปนิกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงอยู่เสมอ ซีซาร์ เพลลิ ผู้ออกแบบอาคารเวิลด์ไฟแนนเชียลเซ็นเตอร์ บอกว่าตึกของตนช่วยลดความกระด้างของตึกระฟ้าแฝดคู่นี้

อาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ตั้งอยู่ในย่านการเงินและการค้าของสหรัฐฯ คือตอนล่างของเกาะแมนฮัตตันซึ่งเป็นหัวใจของนครนิวยอร์ก ตัวอาคารห่างจากตลาดหลักทรัพย์ที่วอลสตรีทเพียง 3 ช่วงตึก หรือชั่วเดินเร็วๆ เพียงห้านาทีสิบนาทีก็ถึง

นครนิวยอร์กมีแผนจะสร้างศูนย์การพาณิชย์ของโลกมาตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง แต่แผนดังกล่าวเพิ่งมาเป็นรูปเป็นร่างเมื่อปลายทศวรรษที่ 50 ย่างเข้าทศวรรษที่ 60 การท่ารัฐนิวยอร์กและนิวเจอร์ซีกำหนดให้สร้างศูนย์ดังกล่าวในเนื้อที่ราว 40 ไร่ โดยมีจุดประสงค์ให้เป็นสถานที่รวมกิจกรรมทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการค้าของโลก และยังต้องการให้เป็นหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ดูแลอุโมงค์ลอดแม่น้ำ ซึ่งเชื่อมนิวยอร์กกับนิวเจอร์ซีย์ และเป็นที่ตั้งต้นสายรถไฟใต้ดินบางสายของนิวยอร์กเองด้วย

เมื่อเริ่มเสนอโครงการก็มีกระแสคัดค้านจากบรรดาเจ้าของอาคารสำนักงานในบริเวณนั้นพร้อมด้วย “…เสียงต่อต้านนายเนลสัน ร็อกกีเฟลเลอร์ (ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กขณะนั้น) โดยโจมตีว่าศูนย์การพาณิชย์โลกเป็นโครงการใหญ่เกินความจำเป็น ดีแต่เป็นอนุสรณ์ไว้เสริมบารมีท่านผู้ว่าฯ” ไรน์ฮาร์ต วูล์ฟ ช่างภาพผู้เขียนหนังสือชื่อ “นิวยอร์ก” บันทึกไว้เช่นนั้น

โครงการเดินหน้าต่อไปท่ามกลางเสียงคัดค้าน ทีมสถาปนิกคัดเลือดแบบจากกว่า 100 แบบ จนเป็นที่ถูกใจเจ้าของโครงการผู้ต้องการเนื้อที่ใช้สอยกลางเมือง 900,000 ตารางเมตร โดยมีงบประมาณไม่ถึง 500 ล้านเหรียญ บริเวณรอบๆ หมู่อาคาร สถาปนิกออกแบบให้มีพลาซ่าเปิดพื้นที่เน้นให้เห็นความสง่าของอาคารสูง ซึ่งเป็นที่ข้อหนึ่งที่ทำให้อาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ได้เปรียบตึกเอ็มไพร์สเตท ตึกระฟ้าอีกแห่งในนิวยอร์กที่ตั้งอยู่ริมถนนติดกับทางเท้าไม่มีบริเวณสำหรับเปิดพื้นที่หน้าอาคารให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมาได้เห็นความสูงสง่าของสิ่งก่อสร้างในระยะใกล้ นอกจากเหตุผลด้านความงามแล้ว พลาซ่าแห่งนี้ยังมีประโยชน์ช่วยกันลมหนาวจากแม่น้ำใกล้ๆ และเป็นหมู่อาคารที่มีประโยชน์ใช้สอยเสริมกับตึกระฟ้า พอล เฮเยอร์ เขียนอธิบายไว้ในหนังสือ “สถาปนิกมองสถาปัตยกรรม ทิศทางใหม่ในสหรัฐฯ” (Architects on Architecture: New Directions in America) ว่า “มิโนรุ ยามาซากิ (สถาปนิก) กำหนดให้พลาซ่าประกอบด้วยหมู่อาคารใช้เป็นที่ตั้งร้านค้า ห้องแสดงนิทรรศการ และโรงแรมขนาด 250 ห้อง”

ดังนั้นนอกจากตึกระฟ้าทั้งสองที่เรารู้จักแล้ว (เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์หนึ่ง หรืออาคารเหนือ และเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์สอง หรืออาคารใต้) ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานขนาดยักษ์ แต่ละชั้นมีพื้นที่ใช้สอย 3,600 ตารางเมตร มีคนทำงานอยู่ในทั้งสองตึกวันละอย่างน้อย 50,000 คน อาคารสองมีดาดฟ้าชมวิวทั้งภายในและภายนอกอาคาร

ในพลาซ่านี้ยังมีอาคารอื่นๆ ซึ่งนับเป็นตึกไม่สูง ได้แก่ โรงแรมนิวยอร์ก แมริออทเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ สูง 22 ชั้น (เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์สาม) อาคารสำนักงานสูง 9 ชั้น 2 หลัง (เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์สี่และห้า) สำนักงานศุลกากรสหรัฐฯ สูง 8 ชั้น กงานศุลกากรสหรัฐฯ สูง าึ่งนับเป็นตึกไม่สูง ได้แก่ โรงแรมนิวยอร์ก แมริออทเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ สูง ไม่มีบริเวณสำหรับเปิดพื้นที (เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เจ็ด)

ยามราตรี อาคารสูงส่วนหนึ่งของเกาะแมนฮัตตันกระจุกตัวกันอยู่ในย่านการเงินและการพาณิชย์ของนครนิวยอร์ก ยามราตรีอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์สูงเด่นกว่าตึกระฟ้าอื่นๆ ถัดไปทางขวาคือตึกเอ็มไพร์สเตท พื้นที่มืดตอนล่างคือสวนสาธารณะตอนใต้สุดของเกาะแมนฮัตตัน

การตัดสินใจสร้างตึกแฝดมีประโยชน์ใช้สอยเป็นปัจจัยตัดสิน เนื่องจากตึกระฟ้าหลังเดียวไม่มีเนื้อที่พอแก่ความต้องการ และการสร้างตึกสูงเป็นหมู่จะทำให้โครงการมีหน้าตาคล้ายแฟลตที่อยู่อาศัย  การสร้างตึกระฟ้า 2 หลังคู่กันจึงเป็นทางออกที่ลงตัวในแง่ของการใช้งาน นอกจากนั้นผู้ที่อยู่ในอาคารยังสามารถชมทัศนียภาพจากความสูงกว่า 400 เมตรด้วย

ก่อนที่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์จึงแก่อวสาน แต่ละวันมีผู้มาเยือนโดยเฉลี่ย 70,000 คน ขึ้นไปชมวิวบนดาดฟ้าของอาคารสอง ทั้งดาดฟ้าห้องกระจกบนชั้น 107 และดาดฟ้าชมวิวภายนอกบนชั้น 100 ซึ่งบรรดาผู้มาเยือนเหล่านี้สามารถชมทิวทัศน์ของนครนิวยอร์ก ตึกระฟ้าอื่นๆ และอ่าวนิวยอร์ก รวมทั้งเทพเสรีภาพด้วย ในวันฟ้าสดใส ทัศนวิสัยบนดาดฟ้าชมวิวจะดีมากจนมองไปได้ไกลถึง 72 กิโลเมตร (ไกลกว่ากรุงเทพฯไปอยุธยาเล็กน้อย) “บนยอดตึกนั้นสูงมากจนเห็นได้ทั่วนิวยอร์ก ไม่ว่าจะเป็นแมนฮัตตัน เขตบรุกลิน เดอะบรองซ์ ควีนส์และสเตตันไอแลนด์” เป็นคำพูดของวรรธนะ ชลายนเดชะ นักกายภาพบำบัดผู้เคยเรียนและทำงานที่นครนิวยอร์ก ระหว่างปี 1991 ถึง 1998

แบบแปลนเดิมของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์กำหนดความสูงของตึกระฟ้าไว้เพียง 80 ถึง 90 ชั้น แต่ความสูงของตึกเพิ่มขึ้นภายหลังตามข้อเสนอแนะของฝ่ายประชาสัมพันธ์ของการท่าฯ เจ้าของโครงการจึงตัดสินใจสร้างอาคารใหม่นี้ให้เป็นตึกที่สูงที่สุดในโลก แทนตึกเอ็มไพร์สเตทซึ่งครองตำแหน่งอย่างเหนียวแน่นเป็นอมตะอยู่เกือบ 40 ปีนับแต่ ค.ศ. 1931 (ครั้งหนึ่งตึกเอ็มไพร์สเตทเคยประสบอุบัติเหตุเมื่อเครื่องบินทิ้งระเบิดบี 25 ของสหรัฐฯ พุ่งชนบริเวณชั้น 79 ในเช้าวันที่หมอกลงจัดของปี 1945 มีผู้เสียชีวิต 14 คน แต่ตึกคงอยู่มาได้จนทุกวันนี้)

บรรดาผู้เช่าทยอยเข้ามาทำงานนาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ตั้งแต่ปี 1970 หรือ 3 ปีก่อนเปิดตึกอย่างเป็นทางการ อาคารนี้ได้ชื่อว่าเป็นตึกที่สูงที่สุดในโลกอยู่ไม่นาน ก็ถูกตึกเซียส์ในนครชิคาโกเฉือนตำแหน่งไปเมื่อตึกนั้นสร้างเสร็จไนปี 1974

อาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ใช้ทุนก่อสร้างประมาณ 350 ล้านเหรียญ “เหตุผลที่ค่าใช้จ่ายในการสร้างตึกระฟ้าทั้งสองไม่สิ้นเปลือง ไม่ใช่เพราะเราเลือกใช้วัสดุเรียบง่าย แต่เป็นเพราะใช้เทคโนโลยีก้าวหน้ามาช่วยประหยัด ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทายมาก” ยามาซากิกล่าว รูปทรงเรียบง่ายของตึกบ่งบอกถึงความทันสมัยและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและวิศวกรรม “เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ควรจะเป็นตัวแทนความเชื่อในสติปัญญาความสามารถของมนุษย์ ในความภาคภูมิของปัจเจกชน ความสมานฉันท์ระหว่างบุคคลซึ่งร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานอันยิ่งใหญ่นี้” สถาปนิกผู้ออกแบบกล่าวเสริม

โครงสร้างของตึกออกแบบตามแนวคิดใหม่ ใช้ผนังตึกเป็นโครงสร้างเหมือนเป็นปล่อง ไม่ต้องใช้เสารองรับน้ำหนักภายใน จึงเพิ่มเนื้อที่ใช้สอย เวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์เป็นตึกระฟ้ารุ่นแรกๆ ที่ไม่มีการก่ออิฐ ผนังภายนอกเป็นผนังสำเร็จรูป ประกอบด้วยโครงเสาวางห่างกัน 24 เซ็นติเมตร แล้วหุ้มด้ยโลหะผสมอะลูมิเนียมสีเงิน ดูไกลๆ แล้วรู้สึกเหมือนตึกนี้ไม่มีหน้าต่าง ตึกสูงติดอันดับขนาดนี้ต้องใช้ลิฟต์ความเร็วสูง สถาปนิกเลือกใช้วิธีแบ่งช่องลิฟต์เป็น “ลิฟต์ด่วน” และ “ลิฟต์ธรรมดา” จัดให้ผู้โดยสารเปลี่ยนลิฟต์ไปชั้นที่ต้องการที่สกายล็อบบี้ ชั้น 44 และ 78 “สมมติว่าอยากไปชั้น 51 ให้ขึ้นลิฟต์ด่วนตรงไปชั้น 44 แล้วไปต่อลิฟต์ธรรมดาที่สกายล็อบบี้ ลิฟต์เร็วและสะดวกมาก ขึ้นลงด้วยความเร็วสูงจนเรารู้สึกได้ถึงแรงฉุด” ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ รองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย ผู้เคยอยู่ในนิวยอร์กในช่วงทศวรรษที่ 80 เล่า การจัดเป็นสกายล็อบบี้เช่นนี้ยังทำให้ไม่เปลืองเนื้อที่ช่องลิฟต์ในอาคาร ช่วยเพิ่มเนื้อที่ใช้สอยภายในได้มาก

ตีกระฟ้า ถือกำเนิดในสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 อาคารสูงในอเมริกามักกระจุกกันอยู่ในนิวยอร์กกับชิคาโก ความก้าวหน้าที่หนุนเนื่องให้ตึกระฟ้าถือกำเนิดได้แก่ ลิฟต์ โครงอาคารเหล็กกล้าและเครื่องปรับอากาศซึ่งควบคุมสภาพภายในอาคารโดยสมบูรณ์

ในช่วงแรก นักวิจารณ์สถาปัตยกรรมโจมตีอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ไว้ค่อนข้างรุนแรงว่ารูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมเป็นคู่ดูแล้วจำเจ เทียบกันไม่ได้เลยกับตึกระฟ้ารุ่นคลาสสิค อย่างตึกเอ็มไพร์สเตทหรือตึกไครส์เลอร์ พอล โกลด์เบิร์ก เขียนใน “แนะนำสถาปัตยกรรมของแมนฮัตตัน” (A Guide of the Architectures of Manhattan) ว่า “เมื่อนครนิวยอร์กมีโอกาสจะรังสรรค์งานชิ้นใหญ่ นครนี้กลับเลี่ยงไปสร้างความสามัญ”

แต่ต่อมาอาคารนี้ก็กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของนครนิวยอร์ก และเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจทางการเงินของสหรัฐฯ ชาวนิวยอร์กพูดเป็นเสียงเดียวว่า มองไปทางไหนก็แทบจะหนีเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ไม่พ้น เพราะเป็นอาคารสูงเด่นเหลือเกิน

ในช่วง 5 ปีที่นิวยอร์ก ยามว่างอัครมุนี วรรณประไพ ชอบไปนั่งชมทิวทัศน์ของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่สวนสาธารณะในอาคารครอบแก้วของเวิลด์ไฟแนนเชียลเซ็นเตอร์ หมู่ตึกสูงใกล้ๆ กันที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำฮัดสัน ในวันฟ้าใส เส้นตรงสีเงินของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์สูงตระหง่านทอประกายตัดกับฟ้าสีคราม “จุดนี้เป็นตำแหน่งซึ่งมองเห็นตึกสวยที่สุด” อัครมุนีย้อนความหลัง เธอชื่นชมรูปทรงเรียบง่ายของอาคารที่ทาบตัดกับท้องฟ้า และเคยนึกว่า ถ้ามีโอกาสจะพามารดาจากประเทศไทยมาชมทิวทัศน์ตรงที่เดียวกันนี้

แต่หลังจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป “เมื่อตึกถล่มก็เหมือนอดีตกับอนาคตถูกทำลายไปด้วย ดิฉันคิดว่าอดีตคือความเก่งกาจของมนุษย์ที่สร้างเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ขึ้นมา เมื่อตึกถล่ม อดีตก็ล่มตาม ขณะเดียวกันโอกาสที่เราจะได้ชมทิวทัศน์เดิม หรือได้พาคนที่เรารักมาชมทัศนียภาพเดียวกันนี้ ก็คงไม่มีอีกแล้ว”

 

อ่านเพิ่มเติม

โฉมหน้าของผู้อพยพในอเมริกาเมื่อปี 1917

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.