พูดคุยหลังเลนส์กับ ช่างภาพสัตว์ป่า มือรางวัลวัย 14 ปี ‘จอมทัพ เจริญลาภนำชัย’

คุยกับ ‘จอมทัพ เจริญลาภนำชัย’ ช่างภาพสัตว์ป่า วัย 14 ปี เจ้าของรางวัลชมเชยจากเวทีประกวดภาพสัตว์ป่าระดับโลก Wildlife Photographer of the Year ปี 2022

ช่างภาพสัตว์ป่า – บางเวลาถ้าคุณเห็นสัตว์ป่าที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ คุณอาจมองผ่านไปด้วยความเคยชิน แต่หากคุณมีสายตาของช่างภาพแล้ว คุณจะมองสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไป เช่นเดียวกับ ‘จอมทัพ เจริญลาภนำชัย’ เจ้าของเพจ JT STORY นักเรียนมัธยม 2 วัย 14 ปี ที่ใช้เวลาวัยเด็กไปกับการถ่ายภาพสัตว์ป่าเป็นงานอดิเรกที่จริงจัง สู่การส่งภาพเข้าประกวดทั้งเวทีในประเทศและระดับนานาชาติ จนคว้ามาหลายรางวัล เช่น รางวัลจากการประกวดภาพถ่าย ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’, Nature in Focus Photography Awards 2022-City Light, Jury Selection, Young Photographer เป็นต้น และล่าสุด รางวัลชมเชยจากเวทีประกวดภาพสัตว์ป่าระดับโลก Wildlife Photographer of the Year ปี 2022

ภาพแมลงสู่ก้าวแรกของแรงบันดาลใจ

ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นการถ่ายภาพสัตว์ป่า ของ จอมทัพ เจริญลาภนำชัย เด็กชายที่หลงไหลในสีสันและรูปร่างของแมลงตั้งแต่สมัยอนุบาล จอมทัพเห็นคุณพ่อของเขาถ่ายภาพแมลงที่เลี้ยงไว้ พอเขาได้เห็นภาพถ่ายฝีมือคุณพ่อ จอมทัพในวัย 7 ปีได้เริ่มอยากจะลองถ่ายภาพดูบ้าง เพราะอยากจะบันทึกภาพแมลงที่เขาเลี้ยงเก็บไว้ดู

“พอรู้ว่าตัวเองอยากจะถ่ายภาพแมลง ผมเลยเริ่มไปเข้าค่ายที่จัดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากับอุทยาน ผมเริ่มเข้าป่าครั้งแรกตอน ป.1 จำได้ว่าไปเข้าค่ายที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ชัยภูมิ นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้ไปสัมผัสธรรมชาติแล้วผมประทับใจมาก ๆ จนผมรู้สึกได้เลยว่าธรรมชาติมันเจ๋งแค่ไหน พอได้เข้าป่าไปก็เห็นว่านอกจากแมลงยังมีนก มีสัตว์ตัวอื่น ๆ อีกที่น่าสนใจ”

กล้องตัวแรกที่จับ

เมื่อความชอบมาคู่กับแรงบันดาลใจ ขั้นตอนต่อไปนั่นคือการลงมือทำ อาวุธที่ช่างภาพจะขาดไม่ได้เลยคือกล้อง “กล้องตัวแรกที่คุณพ่อคุณแม่ให้เป็นกล้อง Compact ที่ไม่มีเลนส์พิเศษอะไร พอได้กล้องมาผมก็เริ่มจากถ่ายภาพแมลงที่เลี้ยงไว้บ้าน มีคุณพ่อเป็นคนสอนอยู่ข้าง ๆ ครับ พอเริ่มโตขึ้นหน่อยคุณพ่อซื้อกล้อง Olympus มาให้ใช้เป็นกล้องเริ่มต้น ถึงตอนนั้นผมมีกล้องแต่ก็ยังไม่รู้วิธีถ่ายภาพเท่าไหร่ เน้นถ่ายบันทึก ถ่ายใกล้ ๆ แต่พอได้ออกไปถ่ายภาพในป่า ผมก็ได้รับคำแนะนำจากพี่ ๆ ช่างภาพคนอื่น ๆ อย่างเรื่องการถ่ายสปีดสูง การดูมุมกล้อง เอามาปรับใช้ในการถ่ายภาพของตัวเองครับ”

มองผ่านเลนส์ที่กว้างขึ้น

นอกจากเหล่าแมลงและนกที่จอมทัพเคยเก็บภาพมา  Urban Wildlife หรือชีวิตสัตว์ในเมือง เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่จอมทัพสนใจ เขาได้เล่าอีกหนึ่งมุมมองของ ‘ลิงแสมบางขุนเทียน’ จากผลงานภายใต้ภาพที่ชื่อว่า ‘ลิงในเมือง’ ในขณะที่การจราจรขวักไขว่ ผู้คนพลุกพล่าน อีกฟากของถนนมีสิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆ กำลังคุ้ยหาเศษอาหารจากกองขยะในช่วงพลบค่ำ

ลิงในเมือง

“ภาพลิงในเมือง หรือลิงแสมบางขุนเขียน ในแต่ละครั้งที่ผมไปบางขุนเทียนผมก็จะเห็นพฤติกรรมของลิงที่เราสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนิสัยที่ก้าวร้าวแล้ว การกระทำของพวกมันมีทั้งเหตุและผลซุกซ่อนอยู่ อะไรคือสิ่งที่ทำให้ลิงฝูงนี้ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเพื่อความอยู่รอดของมัน จนทำให้เราอยากสื่อสารให้คนได้เห็นอีกมุมมองของลิงฝูงนี้ ว่า เมื่อพื้นที่อยู่อาศัยเปลี่ยน ไม่มีแหล่งอาหารตามธรรมชาติ พฤติกรรมใหม่จึงเกิดขึ้น”

พร้อมเสริมอีกว่า “ผมชอบภาพที่มันสื่ออารมณ์ มีองค์ประกอบที่ชัดและสวย ทุกท่วงท่าของสัตว์เวลามันขยับตัว แค่ขยับต่างกันเพียงวินาทีเดียว แค่นี้อารมณ์ของภาพก็จะไม่เหมือนกันแล้วครับ เวลาถ่ายไปแล้วพอเอามาดูเราจะเห็นว่ามีเรื่องราวอยู่ในนั้นอย่างภาพลิงบางขุนเทียนนี้ ผมนั่งรถไปถ่ายตอนเย็น แล้วเจอลิงนั่งอยู่ตรงหน้าแอ่งน้ำบนถนนพอดี ในภาพจะเห็นว่าน้ำสะท้อนกับแสงไฟรถ ตอบโจทย์คำว่า Urban Wildlife ที่เราคิดไว้ชัดเจนมาก ทีนี้เวลาคัดภาพส่งประกวดผมก็จะตีโจทย์จากหัวข้อที่ได้มาแล้วก็ส่งภาพไปประกวดครับ”

จอมทัพกับการประกวด

The last eye contact – การสบตากันครั้งสุดท้าย (ของมดกับปลา) รางวัล Young Photographer ให้หัวข้อการประกวด “EYE” ของงานประกวด Wild art Photographer of the year

ภาพมดกับปลานี้  จอมทัพเล่าว่า เขาไปถ่ายที่บึงน้ำ จังหวะที่เขากำลังหามุมดี ๆ เพื่อเก็บภาพซักมุม จอมทัพได้เห็นเถาวัลย์จากต้นไม้ริมบึงห้อยหย่อนลงไปใกล้ผิวน้ำ ในขณะนั้นเองมีมดไต่ลงมาจากเถาวัลย์อย่างไม่ขาดสาย เป็นสัญญานเรียกปลาซิวทั้งหลายว่าอาหารได้มาถึงแล้ว

“ผมยกขาตั้งกล้องลงไปยืนถ่ายในน้ำระดับน้ำลึกประมาณเอว แต่ฉากหลังนั้นค่อนข้างรก ผมจึงต้องย่อตัวต่ำทำให้น้ำอยู่ที่ระดับอก และปรับมุมกล้องให้เฉียดผิวน้ำเพื่อให้ฉากหลังนั้นยกสูงขึ้น เมื่อยสุดๆ ฮะ พอได้มุมแล้วผมจับจังหวะการกระโดดของปลา ตอนแรกอยากถ่ายปลาฮุบมดให้ได้แบบพี่อาเฌอ แต่สุดท้ายแล้วที่ผมชอบที่สุดก็ออกมาเป็นภาพนี้ ภาพปลาที่กำลังสบตากับมดก่อนที่มันจะกระโดดฮุบมดตัวนั้นไป” จอมทัพกล่าว

นอกจากการถ่ายภาพสัตว์ป่าที่ครอบครัว ‘เจริญลาภนำชัย’ สนับสนุนจอมทัพแล้ว การเรียนก็เป็นอีกสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ของเขาให้ความสำคัญไม่แพ้กัน

“คุณพ่อคุณแม่สนับสนุนเรื่องถ่ายภาพนะครับ แต่ว่าพอกลับมาโรงเรียนก็ต้องตั้งใจเรียนด้วย”

ในวัยเด็กจอมทัพจะไปท่องเที่ยวถ่ายภาพสัตว์ป่ากับครอบครัว เมื่อโตขึ้นเขาก็เริ่มออกเดินทางคนเดียว ภาพปัจจุบันของจอมทัพส่วนใหญ่จึงมาจากการออกไปถ่ายภาพในวันหยุด หรือในช่วงปิดเทอม เว้นถ้าวันไหนมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้น มีบ้างที่เด็กชายจอมทัพต้องขอลาเรียนแล้วตามการบ้านในวันถัดไป

กุญแจสำคัญของการเฝ้ารอภาพที่ถูกใจ

การเตรียมตัวเมื่อจะไปถ่ายรูปในธรรมชาติ นอกจากการดูพยากรณ์อากาศแล้ว จอมทัพยังต้องทำตัวให้กลมกลืนกับป่า ไม่ใช่แค่การห้ามเคลื่อนไหวเสียงดัง เสื้อผ้าที่เลือกใส่ต้องไม่ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มที่มีกลิ่นแรงด้วย เพราะสัตว์จะไม่กล้าเข้ามาใกล้และอาจตกใจหนีไปได้ จอมทัพจะเลือกเข้าป่าไปช่วงเช้ากับช่วงเย็นเพราะมีแสงที่สวย  และเฝ้ารอหลายชั่วโมงเพื่อที่จะได้ภาพสัตว์ที่ต้องการ

เขาเสริมว่า “เมื่อก่อนเวลาต้องรอนาน ๆ จะมีเบื่อบ้างเพราะอากาศมันร้อน แต่บางครั้งที่ไปรอเราอาจจะได้เจอสัตว์อื่น ๆ ที่ไม่ได้คาดหมายว่าจะเจอ เป็นความสนุกอีกมุมนึงในการถ่ายภาพครับ”

“เรื่องอดทนรอเราจำเป็นต้องรอ เพราะธรรมชาติเป็นอะไรที่ไม่แน่นอน บางทีเราคิดว่าวันนี้สัตว์ที่เรารอจะมา แต่อีกสองวันก็ยังไม่มา ถ้าเราล้มเลิกกลับไปก่อน เราอาจจะไม่ได้ภาพที่เราตั้งใจเอาไว้ครับ”

ความฝันที่ยังไม่มีบทสรุป

จากวันแรกถึงปัจจุบัน ทุกการเดินทางของ จอมทัพ เขาได้อะไรมากกว่าการมองภาพผ่านเลนส์กล้อง เพราะทุกภาพที่ถ่ายของเขาเป็นเหมือนตัวแทนของความรู้สึกในขณะที่กดชัตเตอร์ จุดมุ่งหมายของจอมทัพไม่ใช่แค่การนำภาพที่ได้มาส่งประกวดอย่างเดียว แต่มันยังเป็นงานอดิเรกที่เขาได้ใช้ชีวิตในวัยเด็กจดจ่ออยู่กับสิ่งนี้เป็นเวลาถึง 8 ปี

“ถึงแม้ผมยังไม่ค่อยมั่นใจว่าโตไปอยากเรียนเรื่องการถ่ายภาพโดยเฉพาะเลยไหม แต่ผมก็อยากจะถ่ายภาพไปเรื่อย ๆ เพราะเวลาผมอยู่กับการถ่ายภาพแล้วผมมีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำครับ จริง ๆ ในอนาคตผมก็คิดว่าอยากจะลองถ่ายบันทึกแบบวิดิโอดู ด้วยความที่ยังไม่เคยลอง มันน่าจะยากกว่าถ่ายภาพนิ่งพอสมควร ตอนนี้เลยคิดว่าเราน่าจะค่อยเป็นค่อยไปก่อนดีกว่า”

เพราะเป็นช่างภาพที่ฝึกฝนฝีมือมาตั้งแต่อายุน้อย การได้รับรางวัลมากมายน่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนรอบข้างได้บ้าง

“ผมคิดว่าบางคนเห็นงานของผมแล้วอาจจะอยากออกไปถ่ายภาพค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบ หรือว่าบางคนอาจจะไม่ได้ชอบถ่ายภาพเหมือนผม แต่ชอบออกไปอยู่กับธรรมชาติ ผมว่ามันทำได้ทั้งสองแบบนะ แค่เราต้องลองไปค้นหาสิ่งที่เราชอบและใช้เวลากับมันครับ”

เกาะกลางทะเล (หมอก)
ขณะที่กวางตัวหนึ่งกำลังเดินฝ่าดงหญ้าแล้วมาโผล่ที่กลางเกาะ ได้มีนกอีกาคู่หนึ่งก็ได้บินลงมาที่หลังกวางและหยอกล้อกัน ทำให้ภาพจากเกาะที่ขาวโพลนเต็มไปด้วยหมอก ดูมีชีวิตชีวาขึ้น

“ลองไปดู ไปอยู่กับธรรมชาติด้วยตัวเองก่อน เพราะคนเรามีความคิดที่ไม่เหมือนกัน มาลองทำความรู้จักด้วยตัวเอง แล้วในวันนึงเราจะเห็นความสำคัญของมันครับ” จอมทัพกล่าวถึงเพื่อนรุ่นใหม่

เรียบเรียงเรื่องโดย อรจิรา มกุลพานิช

โครงการสหกิจศึกษา บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จํากัด (มหาชน)

ภาพโดย จอมทัพ เจริญลาภนำชัย


อ่านเพิ่มเติม ตามดู นกหายาก ที่สุลาเวสี ปีกแห่งอินโดนีเซีย กับช่างภาพรุ่นเยาว์

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.