ภาพไหนเอไอทำ? เคล็ดลับที่ทำให้คุณแยกภาพจริง กับ ภาพ AI สร้างได้

ภาพไหนเอไอสร้าง? นี่คือเคล็ดลับที่ทำให้คุณสามารถแยกความแตกต่างระหว่างภาพจริง กับ  ภาพ AI

13 มิลลิวินาทีแห่งสัญชาติญาณ

‘ใช้เวลาเพียง 13 มิลลิวินาทีในการมองภาพ จากนั้นเชื่อสัญชาตญาณ เพราะมนุษย์มีความสามารถในการจับความผิดปกติที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ’ ซิเหวย หลิ่ว (Siwei Lyu) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล สหรัฐอเมริกา ได้แนะนำวิธีที่ที่ดีสุดเพื่อมองหา ‘ความปลอม’ จากเอไอ

เพื่อจับความปลอม ขั้นแรกคือ ใช้เวลาเพียง 13 มิลลิวินาทีในการประมวลภาพแต่ภาพ ด้วยเวลาเท่านั้นก็อาจเพียงพอให้คุณรู้สึกตะหงิดในใจว่ามันคืออะไร แม้จะยังไม่พอที่จะตัดสินว่าเป็นภาพจริงหรือไม่ แต่มันก็เพียงพอให้คุณรู้สึกขัดแย้งกับความเป็นจริง ดังนั้น อย่าเพิกเฉยต่อสัญชาตญาณนั้น

“ครั้งต่อไปที่เราเห็นอะไรน่าสนใจหรือตลก หวังว่าเราจะหยุดคิดสักนิด” หลิ่วกล่าว “หากเรารู้สึกว่ามีอะไรน่าสงสัย เราจะไม่รีทวิตทันที ดังนั้นเราควรจะหยุดปัญหา แทนที่จะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา”

นี่คือภาพถ่ายจริงของเสือชีตาห์ ซึ่งถ่ายโดย Frans Lanting ในนามิเบีย คุณเริ่มเห็นความเป็นธรรมชาติของภาพถ่ายไหม เมื่อเทียบกับภาพล่าง
นี่คือภาพที่สร้างโดย AI
ด้วย DALL·E 2 โดยใช้ prompt (คำอธิบายภาพ) ว่า “a National Geographic style profile photograph of a cheetah in Africa.” AI ค่อนข้างที่จะสร้างดวงตาให้เหมือนจริงได้ยาก มีปัญหาในการให้แสงตามธรรมชาติ รวมถึงเงาสะท้อนในดวงตา ที่ทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติ

เทพเจ้าอยู่ในรายละเอียด

หลิ่วกล่าวว่าปัญญาประดิษฐ์เหล่านั้นฝึกฝนสร้างภาพเหมือนโดยดูจากของจริงเป็นจำนวนมาก เขาเรียกสิ่งนี้ว่า ‘Achilles heel’ คือโปรแกรมจะรู้จักเฉพาะสิ่งที่มันได้รับข้อมูล และไม่รู้ว่าจะต้องใส่ใจใน “รายละเอียด” ใดบ้าง ทำให้เราเห็นความผิดปกติชัดเจนเมื่อตรวจสอบอย่างใกล้ชิด

เช่นคนในวิดีโอจาก Deepfake ที่ไม่ค่อยกระพริบตา เพราะเอไอถูกสอนจากภาพคนที่ลืมตา รวมไปถึงความเกี่ยวโยงต่าง ๆ ตามที่ พอลโล ออร์โดเวซา (Paulo Ordoveza) นักพัฒนาเว็บไซต์และการยืนยันรูปภาพเสริมว่ามักมีความไม่ต่อเนื่องในเส้นผม แว่นตา หมวก เครื่องประดับ หรือพื้นหลัง

ดวงตาเป็นหน้าต่างของความเป็นมนุษย์

ขณะที่ เดวิด มัตซึโมโต (David Matsumoto) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโกกล่าวว่า ดวงตาเป็นสิ่งสำคัญ และมนุษย์ก็ใช้มันประเมินสิ่งต่างๆ มาอย่างยาวนาน ผู้คนจะสบตากันเพื่อรับรู้ข้อมูล นี่คือวิธีที่เราตัดสินมิตรและศัตรู รวมถึงประเมินสภาวะทางอารมณ์ของอีกฝ่าย

แต่ภาพที่เอไอสร้างมักมีรูปเงาแปลก ๆ ตรงกลางดวงตา มันอาจสร้างแสงหรือเงาในจุดที่ไม่ควรมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีหน้าต่างหรือพื้นผิวที่สะท้อนแสงในภาพ สิ่งนี้เป็นเรื่องยากสำหรับเอไอ รวมถึงปัญหากับกฏฟิสิกส์ เช่น แรงโน้มถ่วง ด้วยเช่นกัน

ภาพสังเคราะห์จำนวนมากยังไม่มีความเรียบเนียนเป็นธรรมชาติ เช่น ในภาพพระสันตะปาปาที่สร้างโดยเอไอ หากสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าสร้อยคอไม้กางเขนของท่านมีขอบโค้ง และยังลอยอยู่เหนือนหน้าอกเล็กน้อย โดยไม่สนใจแรงโน้มถ่วง

แต่วิธีที่จริงจังและยั่งยืนกว่าคือ การตั้งข้อสงสัยถึง “แหล่งที่มา” และตรวจสอบความถูกต้องของภาพหรือวิดีโอเหล่านั้นอีกครั้ง และผู้คนทั่วไปก็สามารถย้อนกลับที่มาได้ง่าย ๆ ด้วยการใช้การค้นหารูปภาพของกูเกิล (Google) และดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างกับรูปภาพนี้

อย่างไรก็ตาม ปัญหายังคงอยู่ เนื่องจากปัจจุบันผู้คนเข้าถึงโปรแกรมสร้างภาพปลอมได้ง่ายขึ้นและไม่ต้องใช้ความพยายามมากมาย ซึ่งทำให้ภาพถูกสร้างและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยไม่สนว่าจะมีผลกระทบอย่างไร ในทางตรงข้าม กลับไม่มีใครลงทุนในวิธีป้องกันความปลอมที่เกิดขึ้น

“มันชัดเจนมากว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อคุณอนุญาตให้ผู้คนสร้างเสียง วิดีโอ และรูปภาพที่ซับซ้อนมาก ผู้คนจะทำสิ่งที่เลวร้ายกับมัน” ฮานี่ ฟาริด (Hany Farid) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ กล่าว

ทางหลิ่วและทีมงาน ได้พยายามพัฒนาโปรแกรมฟรีบนเว็บไซต์ที่ชื่อว่า ‘DeepFake-o-meter’ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือตรวจจับภาพปลอมเหล่านั้น แต่ “งานของเราได้รับความสนใจน้อยลงมาก และโดยพื้นฐานแล้วเรากำลังหมดทุนทรัพย์ในการพัฒนา” เขากล่าว

“เรากำลังพยายามป้องกันไม่ให้ผู้คนสูญเสียทางการเงินหรือถูกหลอกทางจิตใจ” ในตอนนี้สิ่งที่เราทำได้คือเชื่อสัญชาตญาณ ระวังตัว และตรวจสอบให้ดีก่อนที่จะเชื่อในสิ่งที่คุณเห็น

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/science/article/how-can-you-tell-if-a-photo-is-ai-generated-here-are-some-tips 

อ่านเพิ่มเติม กติกาการประกวดภาพถ่ายสารคดี “10 ภาพเล่าเรื่อง” Photography Contest 2023

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.