วิธีถ่ายภาพมาโคร ให้เจ๋ง โดยช่างภาพ NAT GEO ผู้เคยมาบรรยายที่ไทย

อานันด์ วาร์มา นักถ่ายภาพและนักสำรวจของ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เผยเคล็ดลับ วิธีถ่ายภาพมาโคร” ที่ให้มุมมองอันน่าประหลาดใจในโลกของสิ่งเล็กๆ

วิธีถ่ายภาพมาโคร – ผมคิดว่าความรักการถ่ายภาพสิ่งเล็กๆ ของผมมาจากวัยเด็ก การสำรวจในสวนหลังบ้าน การวิ่งข้ามท่อนไม้ และหยิบก้อนหินจากลำธารหลังบ้านที่ผมเติบโตในแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย มันทำให้ผมหลงรักกระบวนการสำรวจและการค้นพบ

ถึงแม้ผมจะคิดว่าสัตว์จำพวกช้างและฉลามน่าสนใจ แต่สิ่งมีชีวิตเล็กๆ เช่น แมลงและกิ้งก่า กลับเข้าถึงได้ง่ายกว่าสำหรับตัวผม

ช่วงปลายวัยรุ่น ผมได้ยืมกล้องของพ่อที่มีเลนส์มาโคร ผมถ่ายภาพงูเขียวและสามารถจับรายละเอียดของเกล็ดงูได้ สิ่งที่ผมจำได้คือปฏิกิริยาของเพื่อนที่ได้เห็นภาพนั้น เขาตื่นเต้นกับรายละเอียดทั้งหมดมาก นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมสัมผัสได้ถึงการแบ่งปันภาพถ่ายและความตื่นเต้นในการค้นพบ

[ อ่านเรื่องราวของ อานันด์ วาร์มา เมื่อครั้งมาบรรยายที่ไทยได้ที่ >>> การถอดรหัส “สื่อสารให้ทรงพลัง” แบบ National Geographic ในงาน SX 2023 ]

การถ่ายภาพมาโครมักให้ผลที่น่าประหลาดใจเสมอ เพราะคุณสามารถขยายรายละเอียดเกินกว่าสายตาของคุณจะมองเห็น

นี่คือเคล็ดลับดีๆ ของผมสำหรับการถ่ายภาพมาโครที่ยอดเยี่ยม

จั๊กจั่นโผล่ตัวขึ้นมาจากเปลือกนอกของมัน
ชิ้นส่วนของสาหร่ายข้าวเหนียว (bladderwort) พืชน้ำกินสัตว์ชนิดหนึ่ง

วิธีถ่ายภาพมาโคร – พิจารณาถึงมุมมองและขนาด

ต้องคิดถึงการสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ชมอยู่เสมอ ปกติ เรามักคุ้นเคยกับการมองเห็นทุกสิ่งจากมุมมองระดับสายตาของตัวเองมากเกินไป ในการถ่ายภาพมาโคร ผมชอบที่จะทำลายมุมมองนั้น และพยายามลงมุมมองให้อยู่ในระดับสายตาเดียวกันกับตัวแบบ

ลองพยายามถ่ายภาพจากมุมมองของตัวแบบในขนาดเดียวกัน หรือแม้แต่ลองแหงนมองขึ้นไปที่ตัวแบบของคุณ ถ้าหากตัวแบบเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีใบหน้า การถ่ายภาพในระดับสายตาของมันจะสร้างมุมมองที่แตกต่าง

ขนาดคือกุญแจที่ไขสู่ความมหัศจรรย์ของการถ่ายภาพมาโคร การเปิดเผยและการปิดบังขนาดสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้ชมได้อย่างน่ามหัศจรรย์ คุณสามารถคำนึงถึงขนาดโดยการเทียบเคียงกับสิ่งที่เราคุ้นเคย เช่น เล็บมือหรือเหรียญ ลองวางมันไว้ข้างๆ ตัวแบบของคุณ เพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าใจขนาดของสิ่งที่พวกเขากำลังมองได้ทันที หรืออีกทางเลือกหนึ่ง คุณสามารถลองปิดบังขนาดที่แท้จริงของมันไว้ เพื่อให้เป็นเรื่องยากที่จะบอกขนาดที่แท้จริงของสิ่งมีชีวิตนั้น ซึ่งก็น่าสนุกเช่นกัน

ภาพขนาดใกล้ของ นกฮัมมิงเบิร์ดกัวเตมาลา (Thalurania colombica) ตัวผู้ ถ่ายที่ Tienda las Rosas ใกล้กับเอลโดราโดลอดจ์ ในเทือกเขาซานตามาร์ตา ประเทศโคลอมเบีย

ถ่ายภาพในเวลากลางคืน และใช้แหล่งกำเนิดแสงสว่าง

ผมมักจะถ่ายภาพด้วยการใช้แหล่งกำเนิดแสงสว่างเพื่อโฟกัสไปที่ตัวแบบ ผมมักนำอุปกรณ์แสงของตัวเองไป ไม่ว่าจะเป็นไฟฉายคาดศีรษะ ไฟฉาย หรือแสงจากโทรศัพท์มือถือ

ในเวลากลางคืน เรามักค้นหาแมลงหรือกบที่น่าสนใจได้ง่ายกว่า เนื่องจากสัตว์หลายชนิดมีกิจกรรมในเวลากลางคืน และในตอนกลางคืน คุณสามารถเพ่งหาจุดสนใจเพื่อหารายละเอียดในตัวพวกมันได้ง่ายขึ้นด้วย เพราะเราจะไม่ถูกรบกวนจากรายละเอียดอื่นๆ ที่มองเห็นได้ง่ายเช่นกันในเวลากลางวัน

ภาพขนาดใกล้ของดอกแอนนีโมนีในแอ่งน้ำขังที่สถานพักผ่อนซอลต์ครีก ใกล้กับพอร์ตแองเจลส์ รัฐวอชิงตัน

สวนสาธารณะในพื้นที่ที่คุณอาศัยอยู่ สามารถให้แรงบันดาลใจที่ยอดเยี่ยมได้

เมื่อพูดถึงสถานที่ถ่ายภาพ ให้เลือกสถานที่ที่คุณอยากจะรู้จักมันอย่างลึกซึ้ง ผมชอบไปยังสถานที่ที่คุ้นเคย เพราะการถ่ายภาพมาโครคือการทำให้สถานที่คุ้นเคยกลายเป็นสถานที่แปลกใหม่ และค้นพบรายละเอียดที่น่าประหลาดใจในสิ่งที่ดูธรรมดาและน่าเบื่อ

พื้นที่ธรรมชาติ – เช่น ป่าไม้หรือลำธาร หรือบริเวณรกร้างว่างเปล่าของสวนสาธารณะ – คือพื้นที่ที่คุณจะมีโอกาสพบวัตถุทางธรรมชาติที่น่าสนใจมากที่สุด แม้แต่พื้นที่รกร้างหรือทางเท้าที่มีวัชพืชขึ้นก็สามารถเป็นสถานที่ที่ดีในการค้นหาแมลงหรือสัตว์เล็กๆ ที่น่าสนใจได้

ภาพถ่ายใบบัวเมื่อปี 2018 ในการระหว่างการสำรวจนกในพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วทั้งสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโอกาวังโก ประเทศบอตสวานา

หากคุณไม่ค่อยตื่นเต้นกับแมลง งู ดอกไม้ ใบไม้ และพืชพรรณ คุณก็สามารถหาโอกาสในการถ่ายภาพมาโครได้ เช่นที่ร้านขายต้นไม้ หรือสวนพฤกษศาสตร์ท้องถิ่นก็เป็นสถานที่ที่ดีมากในการค้นหาเนื้อสัมผัส รูปร่าง และสีสันที่น่าสนใจ การถ่ายภาพมาโครเป็นหนึ่งในวิธีที่จะสอนให้เรารู้จักทำตัวให้ช้าลง และรู้จักสังเกตรายละเอียดที่เราพลาดไปในแวบแรก

เรื่องและภาพ อานันด์ วาร์มา


อ่านเพิ่มเติม อานันด์ วาร์มา ชายผู้ ‘ร่ายมนต์’ ด้วย “ภาพถ่ายวิทยาศาสตร์”

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.