อานันด์ วาร์มา ชายผู้ ‘ร่ายมนต์’ ด้วย “ภาพถ่ายวิทยาศาสตร์”

อานันด์ วาร์มา ชายผู้ ‘ร่ายมนต์’ ด้วย “ภาพถ่ายวิทยาศาสตร์”

ผลงานของช่างภาพวิทยาศาสตร์ผู้นี้ช่วยให้มนุษย์ได้พิจารณาส่วนต่างๆ ของธรรมชาติที่พวกเขาไม่ค่อยได้เห็น หรือไม่เคยได้เห็นมาก่อน

อานันด์ วาร์มา (Anand Varma) นักสำรวจของ National Geographic ชี้ไปที่สิ่งที่ดูเหมือนโครงกระดูกในตู้ปลาในมุมหนึ่งของห้องแล็บที่ใช้เป็นห้องทำงาน (มันคงเป็นห้องทำงาน หากเขาไม่ได้คิดจะใช้มันเป็นพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ) โดยห้องนี้มีการเคลือบพื้นด้วยสีที่ใช้ทาเรือไปจรดผนังเพื่อให้กันน้ำได้

“ส่วนใหญ่ สถานที่นี้จะเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลและสัตว์น้ำของเราหลายชนิด แม้ว่าเราจะมีการติดตั้งโครงสร้างเพื่ออำนวยความสะดวกในการถ่ายภาพบางอย่างเข้าไปด้วยก็ตาม” เขาพูดในแบบที่ดูเป็นเรื่องปกติ เขาเคยสร้างตู้เลี้ยงสัตว์น้ำขนาดเล็กกว่านี้มาก่อน ขณะเดียวกัน สตูดิโอถ่ายภาพของเขา ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆ ในขณะนี้ก็เคยเป็นโรงรถมาก่อน พื้นที่ของเขาตรงนี้ซึ่งเคยเป็นโรงงานผลิตซอสมะเขือเทศที่ปิดไปเมื่อปี 1927 ได้ถูกออกแบบเป็น WonderLab ศูนย์กลางสำหรับการทดลองในการบันทึกภาพของสิ่งมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่มักมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และช่วยสนับสนุนให้คนอื่นๆ ให้ทำได้ในแบบเดียวกัน

ความอยากรู้อยากเห็น การทดลอง และความหลงใหลของวาร์มานั้นไม่มีที่สิ้นสุด การระบุตัวเองว่าเป็นช่างภาพวิทยาศาสตร์นั้น “คลุมเครือพอสมควร” เขากล่าว แม้ว่าเขาจะเป็นนักชีววิทยาตามวุฒิการศึกษาที่ได้รับมา แต่ในขณะเดียวกัน ความหลงใหลในการถ่ายภาพได้นำพาเขาไปสู่อาชีพการทำงานเพื่อ “บันทึกธรรมชาติ” ผ่านการถ่ายภาพสายพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาเป็นเวลาหลายปี (ตั้งแต่นกฮัมมิ่งเบิร์ดไปจนถึงปรสิต) รวมไปถึงกระบวนการทางชีววิทยาของพวกมันด้วย เขาได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับคำถามอีกมากมาย

วาร์มามักสงสัยว่ากระบวนการทางธรรมชาติเกิดขึ้นได้อย่างไร ลูกไก่ที่กำลังก่อตัวในไข่มีลักษณะเป็นแบบไหน ลิ้นของนกฮัมมิ่งเบิร์ดทำงานอย่างไร การแสวงหาความอยากรู้อยากเห็นอย่างไม่ลดละของเขาได้หล่อหลอมเข้ากับการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งหากมีเทคโนโลยีที่สามารถตอบคำถามเหล่านี้อยู่แล้ว เขาคงไม่จำเป็นต้องสร้างมันขึ้นมาเอง

“ผมเป็นวิศวกรที่ไม่มีใบรับรอง” เขาพูดถึงตัวเองอย่างถ่อมตัว แต่รอบๆ WonderLab ในขณะที่เขาให้สัมภาษณ์นี้มีถังน้ำประมาณ 40 ถัง เครื่องฟักไข่ 16 เครื่อง เครื่องมือทางวิศวกรรมนับไม่ถ้วน และรถเข็นที่เต็มไปด้วยสิ่งประดิษฐ์มากมาย ผู้ที่สร้างมันต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างทุกอย่างให้ได้มาตรฐานในระดับนี้

การทำงานร่วมกันของวิทยาศาสตร์และการถ่ายภาพ

หน้าต่างของ WonderLab เปิดออกสู่ถนน San Pablo ในเบิร์กลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย พื้นที่นี้เต็มไปด้วยอาคารโรงงานและอุตสาหกรรมที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของเมือง วาร์มามองพื้นที่นี้เป็นสถานที่ฝึกอบรมนักปฏิบัติการรุ่นใหม่ที่สามารถออกแบบเทคนิคของตนเองเพื่อปลูกฝังความอยากรู้อยากเห็นในความมหัศจรรย์ของธรรมชาติก่อนที่จะเปิดประตูรับนักเรียนอย่างเป็นทางการในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ นอกจากนี้ยังมีไฟเอลอีดีส่องเข้ามา ซึ่งจะทำให้แสงในห้องมืดลงเหลือประมาณ 0.3 เปอร์เซ็นต์เมื่อเขาต้องการ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการวางรากฐานของ WonderLab โดยการลงทุนเวลาในลักษณะนี้ได้ให้ผลลัพธ์ที่ดีอย่างยิ่งในความคิดของวาร์มา

“นี่คือระบบที่ผมสร้างขึ้นสำหรับแมงกะพรุน” วาร์มายืนอยู่หน้าโต๊ะเหล็กขนาดใหญ่ที่เขาซื้อมาจากห้องแล็บออปติกที่เชี่ยวชาญด้านการวิจัยโดยใช้แสงเลเซอร์ แผ่นหินที่ดูเหมือนลอยอยู่กลางอากาศนี้ช่วยแยกการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจากภายนอก “หมายความว่าเราสามารถตั้งกล้องเพื่อถ่ายภาพสิ่งที่เล็กมากจริงๆ ได้โดยไม่มีการสั่นสะเทือน” กล้องจุลทรรศน์เก่า ๆ ที่เขาพบในเว็บ eBay เชื่อมต่อกับสายเคเบิลด้วยเทคนิคทางวิศวกรรมบางอย่าง ทำให้เขาสามารถปรับมอเตอร์และไฟผ่านรีโมทคอนโทรลได้ “เราสามารถเชื่อมต่อกับซอฟต์แวร์ที่ทำให้เราสามารถตั้งค่าการเคลื่อนไหวและใช้เปลี่ยนฉากได้”

คนทั่วไปอาจมองว่า สตูดิโอสำหรับถ่ายทำภาพยนตร์ขนาดเท่าโต๊ะทำงานนี้มีลักษณะเหมือนหุ่นยนต์แฟรงเกนสไตน์ แต่ในทางกลับกัน อุปกรณ์ที่ต่อชุดกล้องถ่ายภาพทั้งหมดเข้าด้วยกันซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ถ่ายแบบภาพยนตร์แบบสต็อปโมชั่นในแบบฮอลลีวูด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีประเภทเดียวกันที่ใช้ในการสร้างแอนิเมชั่นเรื่อง วอลเลซและกรอมิต (Wallace and Gromit)

วาร์มาได้เปิดเผยว่า เขาเติบโตมากับการทำภาพสต็อปโมชั่นด้วยดินน้ำมัน (Clay stop motion) ร่วมกับพี่ชายของเขา เขาตระหนักได้ตั้งแต่ตอนนั้นว่าแอนิเมชั่นประเภทนี้สามารถนำไปใช้กับโลกธรรมชาติที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าได้ เขายังจดจำความหลงใหลในภาพวาดวงจรชีวิตของแมงกระพรุนในตำราชีววิทยาเล่มหนึ่งได้อีกด้วย ในตอนนั้นเขามีความคิดว่า “การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายในตลอดชีวิตของพวกมันดูเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล จากที่ตอนแรกพวกมันใช้ชีวิตแบบติดพื้นแล้วต่อมาก็ล่องลอยไปในมหาสมุทร มันมีช่วงระหว่างกลางที่ดูแปลกๆ” การผสมผสานความสนใจของเขาในสื่อภาพและวิทยาศาสตร์ก็เริ่มชัดเจนขึ้น

ต่อมา เดวิด กรูเบอร์ (David Gruber) นักชีววิทยาทางทะเล ที่ต่อมาเป็นนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เช่นเดียวกับวาร์มา ได้เชิญเขาให้มาร่วมงานในการทำงานกับฉลาม แมงกระพรุน และเต่าทะเล หลังจากได้เห็นการเสวนาของบนเวทีของวาร์มา ในงานเทศกาลนักสำรวจ (Explorer’s Festival) ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในปี 2017 ขณะนั้นวาร์มาได้สร้างผลงานภาพถ่ายที่ดังกระฉ่อนไปทั่วโลกอย่างภาพถ่ายวงจรชีวิตของผึ้งและปรสิตเพื่อเปิดเผยโลกและพฤติกรรมของพวกมันที่มนุษย์อย่างเราไม่เคยเห็นมาก่อนในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกไปแล้ว

photograph by FREDDIE WHITMAN, NATIONAL GEOGRAPHIC SOCIETY

“เขา [กรูเบอร์] ถามว่า ‘คุณสนใจเรื่องพวกนี้ไหม’ ผมโตมาพร้อมกับความต้องการที่จะเป็นนักชีววิทยาทางทะเล ดังนั้นผมจึงอยากทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้” แมงกระพรุนเป็นสัตว์ที่ทำงานได้ด้วยง่าย พวกมันสามารถผสมพันธุ์ในห้องใต้ดินได้ และยังขนส่งผ่านไปรษณีย์ได้อีกด้วย และนั่นคือสิ่งที่วาร์มาทำ นั่นคือการถ่ายภาพแมงกระพรุน

วาร์มาใช้เวลาสี่ปีในการถ่ายภาพแมงกะพรุน หลายครั้งที่เขาคิดว่าเขาเข้าใจมันดีพอแล้ว แต่ก็ต้องเจอกับความท้าทายใหม่ๆ จนต้องกลับไปศึกษาใหม่ที่โต๊ะทำงานอีกครั้ง ในตอนนั้น เขาได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ เกี่ยวกับกายวิภาคและกระบวนการเพื่อการอยู่รอดของพวกมันไปพร้อมๆ กัน เช่นความจริงที่ว่าพวกมันสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ ซึ่งวาร์มาได้เห็นโดยบังเอิญหลังจากพวกมันได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากท่อประปาในที่ตู้เลี้ยงมันเอาไว้

“เหมือนกับพอคุณพบกับลักษณะหรือพฤติกรรมแปลกๆ ของพวกมัน แล้วคุณเอาไปถามเหล่านักวิทยาศาสตร์และพวกเขาก็พูดว่า ‘ไม่ เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร คุณช่วยส่งวิดีโอเหล่านั้นมาให้เราได้ไหม เพราะเราไม่เคยเห็นสิ่งนั้นมาก่อน’”

สิ่งที่คล้ายกันนี้เกิดขึ้นกับงานภาพถ่ายผึ้งของเขาในปี 2015 ที่เขาเริ่มทำโครงการภาพถ่ายวัฏจักรชีวิตผึ้ง 21 วันของเขา หลังจากพยายามหลายสิบครั้งในช่วงเวลา 6 เดือน วาร์มาได้ออกแบบเครื่องฟักไข่ของตัวเองและปรับแต่งสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับผึ้งในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่ตัวอ่อน ไปจนถึงดักแด้ และไปจนถึงผึ้งงาน เขาได้บันทึกกระบวนการพัฒนาและพฤติกรรมเฉพาะตัวที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เคยเห็น

“นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมเริ่มมองเห็นภาพถ่ายและวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เป็นสิ่งที่แยกกัน แต่เป็นความพยายามร่วมกัน”

การท้าทายสมมติฐาน

แม้ว่าบรรณาธิการนิตยสารจะแนะนำว่าในฐานะช่างภาพ เขาไม่จำเป็นต้องสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ แต่เขาคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะบันทึกเรื่องราวของชีววิทยาโดยที่ไม่เข้าใจมัน ภาพของปรสิตที่ดิ้นออกมาจากท้องของจิ้งหรีด เตือนให้เขารู้ว่านี่เป็นปรากฏการณ์ทางชีววิทยาที่จะคงอยู่ไปตลอดกาล เขาทำปรากฎการณ์นี้ซ้ำอีกครั้งที่เพื่อจะเข้าใจมัน “มันไม่ใช่แค่การจัดแสงแล้วกดชัตเตอร์เพียงอย่างเดียว แต่การถ่ายภาพเหล่านี้ต้องทำควบคู่ไปกับความเข้าใจ การค้นพบ หรือการสำรวจ”

ในหลายๆ ด้าน วาร์มารู้สึกว่าเขามีหน้าที่ที่จะช่วยให้ผู้คนท้าทายสมมติฐานเดิมของตนเองเกี่ยวกับโลกธรรมชาติ โดยกลุ่มเป้าหมายที่เขาชื่นชอบมากที่สุดคือเด็กนักเรียน เพราะวาร์มามองว่าจิตใจของเด็กๆ ยังคง “เปิดรับได้ง่าย”

“ความท้าทายที่ยากกว่าคือการทำให้คนที่ฝังรากลึกอยู่ในสมมติฐานเดิมของพวกเขาได้เข้าใจถึงที่โลกเปลี่ยนไป ผมจะทำอย่างไรให้พวกเขากลับมา “เปิดรับ” อีกครั้งได้” เขาไม่ลดละในการแสวงหาวิธีการสร้างภาพถ่ายที่น่าทึ่งพอที่จะทำให้ผู้คนเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับปรสิต ในขณะเดียวกัน เขาบันทึกภาพนกฮัมมิ่งเบิร์ด ซึ่งนอกเหนือจากความน่ารักแล้ว พวกมันยังมีความซับซ้อนอย่างน่าเหลือเชื่อ

ผลงานของวาร์มาทำให้เห็นว่า ภาพที่น่าสนใจสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดและเปิดโอกาสให้ความคิดใหม่ๆ ได้อย่างไร เพราะแม้แต่ WonderLab ก็เป็นการท้าทายความคิดแบบเดิมๆ เช่นกัน

“เมื่อผมไปที่ห้องแล็บวิทยาศาสตร์ สำหรับผมมันไม่ใช่สถานที่ที่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น มันดีกว่าการเป็นอาคารสำนักงานแค่นิดหน่อยเท่านั้นเอง” WonderLab เป็นสถานที่รวบรวมสิ่งประดิษฐ์เพื่อการดำรงชีวิตชองสิ่งมีชีวิตและการเล่าเรื่อง นอกเหนือจากวัตถุประสงค์การใช้งานเหล่านั้นแล้วยังมีความสวยงามแบบเรียบง่ายอีกด้วย

ห้องทำงานของเขาเต็มไปด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือ สิ่งประดิษฐ์จะเรียงตามโปรเจกต์ต่างๆ ของเขาซึ่งเรียงอยู่ในถังสีน้ำเงิน วางซ้อนกันจากพื้นจรดเพดานบนชั้นวาง ดูเป็นการจัดการที่มีระเบียบอย่างที่สุด และซ่อนอยู่หลังประตูสองชั้นอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย กระบวนการทางประดิษฐ์กรรมและวิศวกรรมอาจโดดเดี่ยว วุ่นวาย และบางครั้งก็โหดร้าย แต่เป็นเรื่องจำเป็นก่อนที่จะเสร็จสมบูรณ์ เช่นเดียวกับการสร้างสรรค์ของธรรมชาติ

โคมไฟรูปทรงแมงกะพรุนขนาดยักษ์ 2-3 ดวงห้อยลงมาจากเพดาน โต๊ะทำงานแบบมีล้อวางเรียงกันอย่างเป็นระเบียบบนพื้นไม้ที่ได้รับแสงธรรมชาติ และบางส่วนของผลงานที่น่าภาคภูมิใจที่สุดของวาร์มาก็ติดอยู่บนผนังเป็นภาพฝาผนังขนาดยักษ์ เมื่อกดปุ่ม ม่านหน้าต่างจะลงมาและห้องแล็บก็มืดลง “เราจะสามารถจัดฉากสำหรับกลางคืนในโหมดโรงละครหรือโหมดภาพยนตร์” เขากล่าว พื้นที่แห่งนี้ได้รับการออกแบบให้รองรับนักเรียนได้ 32 คน และไม่ใช่ห้องเรียนธรรมดาๆ

“ซักพักเรามีปู หอยแมลงภู่ และเม่นทะเลอยู่ข้างในนั้น นักเรียนสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า จากนั้นจึงใช้กล้องถ่ายรูปในการสังเกตต่อไป”

วาร์มาทำการวิจัยมาอย่างดี แบบอย่างของเขามาจากการศึกษาหนังสือ Slow Looking โดย Shari Tishman ผู้ซึ่งออกแบบกรอบการทำงานเพื่อส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็นและความใส่ใจซึ่งตรงกับสิ่งที่วาร์มาต้องการ “นี่คือชีวิตและงานของผม Shari ตั้งชื่อและสร้างโครงสร้างให้กับมัน และให้บทเรียนเกี่ยวกับการสอน และผมก็คิดว่า ‘โอ้ นี่คือสิ่งที่ผมจะทำอย่างแน่นอน แล้วผมจะจับคู่มันกับการถ่ายภาพได้อย่างไร?’”

ความบ้าคลั่งของวิทยาศาสตร์

ณ จุดนี้ วาร์มาและผู้ช่วยห้องปฏิบัติการของเขาทั้งสองคน Mark Unger และ Jacob Saffarian ได้รับพัสดุชิ้นหนึ่ง “มันเหมือนโลงศพเลย” หนึ่งในนั้นแสดงความเห็น กล่องไม้ขนาดพอดีกับแท็งก์บำบัดน้ำเสียภายในกล่อง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างตู้เลี้ยงสัตว์น้ำที่กำลังดำเนินการอยู่ มันจะเป็นที่อยู่อาศัยของไข่หมึกกระดองและปลาหมึกที่ทีมงานจะต้อนรับมันในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ด้วยคำแนะนำจาก Marine Biological Laboratory ใน Woods Hole วาร์มาได้เรียนรู้วิธีออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อให้สัตว์ทะเลสามารถมีชีวิตอยู่ได้

วาร์มาเป็นคนที่มีเสน่ห์มาก สำหรับคนที่ใช้เวลามากมายไปกับการฝังตัวเองในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปะของตัวเอง เขาเก่งมากในการอธิบายแนวคิดที่ซับซ้อนในแง่มุมของคนธรรมดา

Photograph by MARK THIESSEN / NATIONAL GEOGRAPHIC SOCIETY

“วิธีคิดเกี่ยวกับชีวิตของแมงกะพรุนนั้นเหมือนกับต้นแอปเปิ้ล คุณมีต้นไม้ต้นนี้ที่ผลิตผลแอปเปิ้ล แอปเปิ้ลร่วงลงไปและถูกพัดพาออกไป แล้วต้นของมันจะตายไป ในกรณีของแมงกะพรุน หลังจากที่มันผลิตลูกแมงกะพรุนแล้ว มันจะกลายกลับเป็นโพลิป (ลูกแมงกระพรุน) อีกครั้ง มันยังไม่เสร็จสิ้นขยายพันธุ์ โดยในหนึ่งสายพันธุ์ โพลิปนั้นสามารถโคลนตัวเองได้ถึง 7 วิธีที่แตกต่างกันในอย่างน้อยหนึ่งสายพันธุ์” เขาเห็นกระบวนการเหล่านี้ครั้งแรกขณะบันทึกภาพแมงกะพรุนในตู้ปลาของเขาที่ถูกสัตว์ทะเลร่างอ่อนอีกชนิดหนึ่งชน นั่นคือทากทะเล และแมงกะพรุนได้ทิ้งร่างโคลนเล็กๆ ของตัวมันเองไว้ในเปลือกหุ้มของมัน แมงกะพรุนบางชนิดจัดระเบียบร่างกายของพวกมันให้เป็นโพลิปโดยไม่เคยสืบพันธุ์จริงๆ “พวกเขาเรียกมันว่าแมงกะพรุนที่เป็นอมตะ”

“ไม่มีจุดจบของชีวิตสำหรับโพลิปตัวนั้นที่สามารถโคลนตัวเองได้โดยไม่มีที่สิ้นสุด” เขาจะบันทึกภาพความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ครั้งต่อไป นั่นคือความอยากมีชีวิตอมตะของมนุษย์ได้หรือไม่? “มันอาจจะเกิดขึ้นได้กับมนุษย์หรือไม่ก็ได้ ใครจะรู้ล่ะครับ นี่แหละคือความบ้าคลั่งของวิทยาศาสตร์”

เป็นปลาเสมอมา

ตั้งแต่อายุประมาณแปดขวบ วาร์มาตัดสินใจที่จะเป็นนักชีววิทยา เขาเล่นกับความคิดที่จะศึกษาวิชามีนวิทยา ซึ่งจะทำให้เขามีโอกาสได้มองดูปลาในแบบที่ไม่เหมือนใคร ตั้งแต่ครั้งที่ปลากดอเมริกัน (Channel catfish)  ยื่นจมูกออกมาให้เขาเห็นที่ตลาดเกษตรกรในแอตแลนตาเมื่อตอนที่เขายังเป็นเด็กเล็ก มันเป็นปลาที่ดึงดูดความสนใจของเขาอย่างมาก “ผมสูงพอที่จะมองข้ามขอบถังได้พอดี มันเป็นหนึ่งในปลาตัวที่กระโดดออกมาหาผม ผมจำได้ว่าล้มลงไปข้างหลัง และผมตกตะลึงกับเจ้าปลาตัวนี้” มันเป็นจุดเริ่มต้นของความหลงใหล แม้ว่าเขายังจำได้ว่าขอให้พ่อแม่ของเขาหยุดล้างปลาเรนโบว์เทราต์เพื่อที่เขาจะได้ชื่นชมเกล็ดและสีทั้งหมดของมันในทุกส่วน เขาย้อนรำลึกความรู้สึกในตอนนั้นว่า “เร้าใจและน่าประหลาดใจ”อย่างยิ่ง

ตอนอายุ 14 ปี เขาได้รับใบอนุญาตก่อนวัยให้ทำงานที่ร้านขายสัตว์น้ำ โดยเขาต้องการหาเงินให้กับงานอดิเรกของเขาในการเลี้ยงตู้ปลาที่บ้านที่มีมากถึง 7 ตู้

ในช่วงที่เขาเรียนมัธยมปลาย เขาขอยืมกล้องดิจิทัลของพ่อมาถ่ายรูปในป่ากับเพื่อนๆ และกลับมาพร้อมกับรูปถ่ายเชิงทดลอง หลังเรียนจบมาไม่นาน เขาได้งานในช่วงฤดูร้อนโดยเป็นผู้ช่วยช่างภาพของ เดวิด ไลท์ชเวเกอร์ (David Liittschwager) ในงานที่ National Geographic มอบหมาย คือการโรยตัวลงไปในถ้ำในอุทยานแห่งชาติ Sequoia และช่วยไลท์ชเวเกอร์ถ่ายภาพชนิดพันธุ์ใหม่ในทางวิทยาศาสตร์

ต่อมา เขาทำงานในโครงการที่ฮาวาย โดยการเก็บลูกปลาลิ้นหมา ลูกกุ้ง และลูกปู หน้าที่ของเขาคือทำให้พวกมันมีความสุขขณะที่ไลท์ชเวเกอร์ถ่ายภาพพวกมัน ถึงตอนนี้ เขาได้ใช้เวลากับคนทำงานอิสระนานมากพอที่จะรู้ว่าชีวิตแบบนั้นไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ เขาใช้เวลาหลายปีในการดูผู้คนทำงานมาหลายสิบปี และพบเห็นว่าบางครั้งพวกเขาก็ต้องดิ้นรนเพื่อหางานทำ เขาจึงตั้งใจที่จะเรียนต่อปริญญาตรีหลังจากไปผจญภัยครั้งสุดท้าย แต่โอกาสก็ยังคงเข้ามาหาเขาอยู่ดี

“ผมจะไม่ปฏิเสธโอกาสที่จะได้ไปดำน้ำตื้นในตาฮิติหรือปีนต้นไม้ในคอสตาริกา” เขาย้อนนึกพร้อมหัวเราะ ในที่สุด เขาก็เริ่มทำงานในโปรเจกต์ของตัวเอง ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนในช่วงแรกจากสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ผ่านโครงการ Young Explorer Grant เพื่อสนับสนุนโครงการบันทึกภาพพื้นที่ชุ่มน้ำของปาตาโกเนีย สิบห้าปีต่อมา เขายังคงสร้างเส้นทางและการมองโลกในแบบของเขาเอง

ทุกอย่างต้องใช้เวลา

ห่างจากตู้เลี้ยงสัตว์น้ำในห้องทดลองไปไม่ไกล มีไข่ไก่ที่มีตัวอ่อนกำลังเติบโตอยู่ด้านในอยู่สองสามใบ ไข่ที่เก่าแก่ที่สุดในขณะนี้คือ 14 วัน การเฝ้าสังเกตลูกไก่ในอนาคตในงานล่าสุดของวาร์มานี้แสดงให้เห็นถึงความคลั่งไคล้ราวกับเป็นเด็กของเขาซึ่งยังคงเป็นมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ได้เห็นตัวอ่อนของลูกไก่ในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่ซานฟรานซิสโก ตอนนี้ เขากำลังบันทึกชีวิตของพวกมันในช่วงแรกตั้งแต่ก้อนเซลล์ขนาดเล็ก ไข่ไก่ ไปจนถึงลูกไก่ โดยการสังเกตเข้าไปในไข่

เขาพูดถึงวิธีการสังเกตของเขาว่า “ง่ายอย่างน่าประหลาดใจ” เขาชูกรรไกรผ่าตัดที่ไม่มีอันตรายตัดเข้าไปในเปลือก ซึ่งทำให้มนุษย์มองเห็นสิ่งมีชีวิตก่อตัวขึ้นในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เขาใช้เวลานานพอสมควรในการพัฒนาวิธีนี้ร่วมกับห้องทดลองที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก

ผลลัพธ์นั้นน่าประทับใจ แต่วาร์มายังคงปรับปรุงวิธีการของเขาเพื่อหลีกเลี่ยงขอบหยัก รูเอียง และสิ่งกีดขวางจากฝุ่นเปลือกที่รบกวน “เรากำลังสร้างวิธีการต้นแบบโดยใช้เครื่องกรอฟันของหมอฟัน มอเตอร์ขนาดเล็กนี้ที่จะทำให้เราขูดเปลือกได้โดยไม่เจาะเยื่อหุ้ม”

นี่คือการทดลองที่ทำให้วาร์มาประสบความสำเร็จในการศึกษาไข่ไก่ เขาเรียนรู้ว่าไข่จำเป็นต้องหมุนทุกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าตัวอ่อนจะไม่ติดกับเยื่อหุ้มไข่

แล้วจะหมุนไข่ในขณะที่ถ่ายภาพไปด้วยได้อย่างไร? คราวนี้เขาจ้างวิศวกรมาพัฒนาระบบที่จะคอยเขย่าอยู่ห้านาที ในขณะที่กล้องที่แขวนอยู่ด้านบนจะถ่ายภาพในช่วงเวลาที่แม่นยำ

ทุกอย่างต้องใช้เวลา แต่การถ่ายภาพที่เร็วที่สุดของเขาตั้งแต่ตั้งค่ากล้องจนถึงกดถ่ายภาพคือตอนที่เขาถ่ายภาพค้างคาว “มันเป็นความพยายามถ่ายครั้งที่สอง มันใช้เวลา 2-3 วัน นั่นคือภาพที่ใช้เวลาสั้นที่สุดในภาพที่ผมเคยถ่าย” ภาพถ่ายนี้ได้รับการชื่นชมอย่างมาก และเขาได้นำภาพนี้ตกแต่งห้องทดลองตรงข้ามกับภาพนกฮัมมิงเบิร์ดของวาร์มา ซึ่งเขาบอกว่าเป็นภาพที่มีคุณค่ามากที่สุดสำหรับเขา

โครงการนกฮัมมิงเบิร์ดเป็นผลรวมจากการทำงานนานนับสิบปี ภาพวิดีโอเผยให้เห็นรายละเอียดทางชีววิทยาของนกตัวเล็กๆ ซึ่งสามารถจับภาพได้ที่ความเร็ว 2,000 เฟรมต่อวินาทีในความละเอียด 4k อันเป็นวิดีโอที่ภาพเคลื่อนไหวช้าๆ แต่ว่าชัดเจน ภาพนี้ทั้งสวยงามและให้ความรู้ หลังจากใช้เวลานานกว่าแปดปีในการทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับวิธีการจัดการและฝึกนกฮัมมิงเบิร์ด เขาได้บันทึกว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้รับมือกับฝนอย่างไร ทำความสะอาดตัวเองอย่างไร และใช้ลิ้นแฉกของพวกมันกินอาหารอย่างไร วิดีโอนี้นำผู้ชมไปไกลกว่าการมอง “ความน่ารักและสีสัน” ของพวกมัน เพื่อเผยให้เห็นถึงการบินแข็งแกร่งพร้อมชีวกลศาสตร์ที่น่าประทับใจของพวกมัน

สำหรับการถ่ายแมงกระพรุน เขาต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด เขาต้องเปลี่ยนสภาพเพื่อการอยู่อาศัยและฉากถ่ายภาพของพวกมันตั้งแต่เริ่มต้น ใช้สามปีในการทดสอบตู้เลี้ยง ทดลองการไหลของน้ำ แสง และเรียนรู้วิธีจัดการทางชีววิทยาของพวกมัน

มีสามสิ่งที่จำเป็นต้องมาบรรจบกันเพื่อให้ได้ภาพ: ชีววิทยา วิศวกรรม และการถ่ายภาพ จากการประเมินของเขา งานของวาร์มาประกอบด้วยวิศวกรรม 65 เปอร์เซ็นต์ ชีววิทยา 30 เปอร์เซ็นต์ และการถ่ายภาพ 5 เปอร์เซ็นต์

“เวลาที่ต้องใช้จริงๆ ตั้งแต่การเปิดกล้องและบันทึกภาพคือเท่าไหร่? เรื่องนั้นอาจจะมีผลซัก 0.1 เปอร์เซ็นต์”  เขากล่าว

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปรับปรุงสภาพแวดล้อมเพื่อให้สัตว์เหล่านี้มีชีวิตอยู่ จากนั้นจึงกำหนดปรากฏการณ์ที่เขาต้องการจับภาพ และจากนั้นจึงคิดว่าต้องใช้วิธีการทางวิศวกรรมประเภทใดเพื่อให้ถ่ายภาพได้ “จากนั้นคุณจึงสามารถเริ่มตัดสินใจเกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์ที่ใช้ในภาพถ่าย” เขาสรุป แต่ตามธรรมชาติ กระบวนการนี้เหล่านี้ยุ่งยาก ไม่เป็นไปตามลำดับเวลา และดูเหมือนต้องคอยย้อนกลับมาตรวจสอบอยู่เรื่อยๆ

“มันไม่เคยเกิดขึ้นและจบในสามขั้นตอน พอคุณถ่ายภาพและมันดูไม่ดี คุณต้องย้อนกลับไปที่งานวิศวกรรมเพื่อดูแสงหรือมุมให้ถูกต้อง หรือถ้าหากคุณไม่ได้เห็นปรากฏการณ์ที่คุณกำลังพยายามถ่ายภาพ คุณย้อนกลับไปดูในส่วนของชีววิทยา หรือบางครั้งคุณต้องกลับไปที่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง”

ในขณะที่ปลาหมึกยักษ์กำลังเดินทางไปยังห้องแล็บ วาร์มากำลังอยู่ในขั้นตอนทางชีววิทยาของโครงการภาพถ่ายวงจรชีวิตล่าสุดของเขาที่ชื่อว่า Metamorphosis (กระบวนการเจริญเติบโตของสัตว์ที่เปลี่ยนรูปร่าง) เขาไม่ได้กังวลกับกำหนดเวลาเป็นพิเศษ เพราะเขาไม่รู้ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนในการถ่ายภาพ แต่วาร์มามีประสบการณ์มากพอที่จะรู้ว่าเขาคงจะต้องคอยปรับแต่ง และปรับแต่งใหม่อีกครั้ง

สำหรับวาร์มา การถ่ายภาพเป็นเพียง “ยานพาหนะในการสร้างความรู้สึกมหัศจรรย์” ผลงานของเขาพิสูจน์ให้เห็นถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับหัวข้อที่สนใจ และใกล้ชิดกับธรรมชาติมากพอที่จะรู้วิธีทำให้มันมีชีวิตอยู่ รู้จักนิสัยใจคอของมัน และแสดงมุมที่สวยที่สุดของมัน

ไข่ปลาหมึกและปลาหมึกยักษ์เป็นสิ่งทดลองทางการถ่ายภาพ ชีวภาพ และวิธีทางวิศวกรรมใหม่ๆ คุณจะรักษาให้พื้นที่สะอาด มีอากาศถ่ายเท และทำให้มุมมองชัดเจนเพียงพอที่จะสังเกตเห็นว่ามันเติบโตอย่างไร เจ้าปลาหมึกที่จะเติบโตในอนาคตนี้จำเป็นต้องหมุนอยู่ในเปลือกของมันในขณะที่พัฒนาตัวอ่อนของมันหรือไม่ บางที อาจมีบางสิ่งที่น่าสนใจให้เราดูเมื่อมันฟักออกมา แต่ไม่ใช่ในขณะที่มันเติบโต เขายังไม่รู้ ความหลงใหลในแบบเดียวกับเมื่อครั้งยังเป็นเด็กของเด็กของวาร์มายังคงมีต่อโลกธรรมชาติทำให้เขารู้สึกว่าการทำงานนี้ล้วนมีคุณค่า และแน่นอนว่าเขาก็ได้เรียนรู้บางอย่างไปด้วย

งานของเขาเป็นด่านหน้าในการศึกษาสิ่งมีชีวิตในระยะใกล้ กระนั้น ธรรมชาติก็ยังคงเก็บงำความลับไว้ และบางครั้งก็อาจดูเหมือนเต็มไปด้วยความขัดแย้ง วาร์มากล่าว ตัวอย่างเช่น เอ็มบริโอขนาดเล็กนั้นแข็งแรงพอที่จะทนต่อการถูกเขย่าได้ แต่ก็มีการ ‘เล่นแร่แปรธาตุ’ ภายในที่ละเอียดอ่อนเช่นกัน “ทันใดนั้น ในตอนท้าย [ของการพัฒนาตัวอ่อน] เนื่องจากขั้นตอนที่ 2 จาก 483 ขั้นตอนนั้นหยุดไปเล็กน้อย กระบวนการทั้งหมดจึงหยุดลง” เขาอธิบายด้วยความประหลาดใจและงุนงง

“ผมรู้สึกเหมือนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของกระบวนการในความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับโลก แต่ผมก็พร้อมที่จะเข้าใจมัน ผมรู้มากพอที่จะรู้ว่าสิ่งนี้จะไม่จบลงอย่างเรียบง่ายในท้ายที่สุด ผมรู้สึกว่ามีคำถามในใจเพิ่มขึ้นมากกว่าตอนเริ่มต้นเสียด้วยซ้ำ”

การเติบโตสู่ตัวตนอาชีพของตัวเอง โดยการแตะเข้าไปในสาขาวิชาต่างๆ และสบายใจกับการไม่จำกัดตัวเองกับกรอบความรู้แขนงใดแขนงหนึ่ง คือผลตอบแทนคือความทุ่มเทของวาร์มาให้กับธรรมชาติที่เขาถ่ายภาพ บวกกับแนวทางที่เป็นนวัตกรรมใหม่ในอาชีพการงานของเขา ทำให้เขาได้รับการยกย่องจากนักวิทยาศาสตร์ ช่างภาพ และวิศวกร “คุณไม่จำเป็นต้องยอมรับคำจำกัดความในพจนานุกรมของนักวิทยาศาสตร์หรือการถ่ายภาพ เพราะเวทมนต์นั้นอยู่ที่จุดตัดของสิ่งเหล่านั้น” เขากล่าวเสริม

เขาหวังว่าจะถ่ายทอดแนวทางที่เปิดกว้างในแนวทางการพัฒนาอาชีพเช่นนี้ไปสู่คนรุ่นใหม่ผ่านบทบาทการเป็น “พี่เลี้ยง” โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์และงานอดิเรก

“ภาพถ่ายมีหน้าที่ที่มากกว่าที่ผมจะสามารถนิยามมันได้อย่างชัดเจน” วาร์มากล่าว “เป้าหมายของภาพถ่ายคือเพื่อสร้างการเชื่อมต่อระหว่างผู้คนกับวิทยาศาสตร์ และนิยามใหม่ว่าผู้คนเกี่ยวข้องกับธรรมชาติอย่างไร ผมคิดว่าสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดผ่านการสร้างความรู้สึกมหัศจรรย์” และแม้ว่ามนุษย์จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และสร้างนิยามของ สิ่งมหัศจรรย์ ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ” แต่เขาก็ต้องให้แสดงโลกธรรมชาติให้เป็นสิ่งใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเขาก็กำลังเดินหน้าต่อไปอย่างไม่ลดละ

“อะไรคือสิ่งที่ต้องใช้ในการสร้างสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ขึ้นมาใหม่? นั่นดูเหมือนจะเป็นงานของผม”

ชมการบรรยายหัวข้อ National Geographic Impact Storytelling โดย Kaitlin Yarnall (เคทลิน ยาร์แนล), Chief Storytelling Officer ของ National Geographic,  Melati Wijsen (เมลาติ วิจเซน) ผู้ก่อตั้ง Youthtopia และ Anand Varma (อนันด์ วาร์มา) ในงาน Sustainability Expo 2023 ย้อนหลังได้ที่นี่

และชมผลงานภาพถ่ายของอานันด์ วาร์มา ได้ที่ 

https://www.instagram.com/anandavarma/

https://www.varmaphoto.com/

เรื่อง สมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก สหรัฐอเมริกา


อ่านเพิ่มเติม Anand Varma วิทยาศาสตร์ผ่านภาพถ่าย และการถอดรหัส “สื่อสารให้ทรงพลัง” แบบ National Geographic ในงาน SX 2023

Anand Varma

Recommend