ผลงานเข้ารอบ 10 ภาพเล่าเรื่อง Season 9 : “ไหล” ตามกาลเวลา

ผลงานเข้ารอบ 10 ภาพเล่าเรื่อง Season 9 : “ไหล” ตามกาลเวลา

โดย ศิริพงศ์ กัญจนบุศย์

แนวคิดสารคดี

372 กิโลเมตร ความยาวในการเดินทางของ “แม่น้ำเจ้าพระยา” มีต้นน้ำจากแม่น้ำ 4 สายจากภาคเหนือคือ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน จุดเริ่มต้นแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่บริเวณปากน้ำโพธิ์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยมาบรรจบกันของแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่าน ซึ่งรับน้ำมาจากทิวเขาถนนธงชัยและทิวเขาผีปันน้ำ ไหลสู่ทะเลที่จังหวัดสมุทรปราการ แม่น้ำเจ้าพระยาสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตตั้งแต่อดีต เป็นจุดเริ่มต้นของอารยธรรมและวิถีชีวิตริมน้ำที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย สายน้ำที่ไหลผ่านแต่ละพื้นที่ สร้างความเป็นตัวตนของคนริมน้ำในเมืองของแต่ละจังหวัด ปัจจุบันเส้นทางริมน้ำได้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการจัดระเบียบของเมืองใหม่ เพื่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำป้องกันภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบกับคนกลุ่มเล็ก ๆ ริมน้ำต้องย้ายออกจากถิ่นฐาน แต่ก็ยังมีกลุ่มคนบางส่วนที่เข้ามาใหม่เพื่อพึ่งพิงแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อลดค่าครองชีพในเมือง แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือ แม่น้ำเจ้าพระยายังคง “ไหล” เพื่อให้ทุกชีวิตริมสองฝั่งยังคงดำเนินต่อไป

ล่องเรือโยง
เรือโยงได้ลอดผ่านสะพานพระราม 8 ในเขตกรุงเทพมหานครมาแล้ว และกำลังตีโค้งหลบตอม่อเพื่อลอดผ่านสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเชื่อมถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้าระหว่างเขตพระนคร (ฝั่งพระนคร) กับเขตบางกอกน้อย (ฝั่งธนบุรี) กรุงเทพมหานคร
วิถีชีวิตลุงเงาะ
ลุงเงาะ อายุ 77 ปี จำชื่อจริงไม่ได้เพราะทุกคนเรียกแต่ลุงเงาะมาตลอด อาศัยอยู่ริมน้ำ ขับเรือโยงที่ใช้ลากเรือขนทราย ลุงเงาะอาศัยอยู่บนเรือเพราะคุ้นเคยกับสายน้ำและวิถีชีวิตบนเรือ เรือที่จอดอยู่ในน้ำมานานหลาย 10 ปี บางครั้งก็มีรั่วซึม ลุงเงาะจะใช้ดินผสมปูนอุดรอยรั่วตามท้องเรือ
20 ปี ลุงสวัสดิ์
คุณลุงสวัสดิ์ ศิลป์สถิตถาวร อายุ 74 ปี เคยทำงานที่โรงพิมพ์หนังสือ ปัจจุบันเกษียณอายุแล้ว แต่ยังคงข้ามฝั่งไปมาระหว่างฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนครเพื่อช่วยเพื่อนทำงานหนังสือบ้าง กิจกรรมยามเช้าที่ทำมาตลอด 20 ปี คือ วิ่งออกกำลังกายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยวิ่งข้ามสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
ยายองุ่น
คุณยายองุ่น เนตรสว่าง อายุ 80 ปี อาชีพขายเศษวัสดุโลหะที่งมมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ยายองุ่นกำลังเข็นรถที่บรรทุกเสื้อผ้าเก่าบางส่วนของลูกชายและหลานที่ย้ายไปไม่หมดไปบริจาค ยายองุ่นอาศัยอยู่ชุมชนมิตรคาม 2 มาตั้งแต่อายุ 15 ปี ตอนนี้รัฐให้ผ่อนผันอีก 1 ปี ต้องย้ายไปอยู่ที่ใหม่ที่ไม่ใช่ชุมชนริมน้ำ
ไข่ตุ๋นหาปลา
ด.ช.ฐิตวัฒน์ เนตรสว่าง ชื่อเล่น ไข่ตุ๋น อายุ 9 ขวบ เรียนอยู่ ป.3 มีน้อง 2 คน
ไข๋ตุ๋นกำลังเอาสวิงไปหาปลาในโคลนเลนที่โกยขึ้นมากองไว้ จากการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาและรื้อถอนชุมชนมิตรคาม 2 ช่วง 9 โมงเช้าน้ำลดลงมาก เวลากลางคืนน้ำจะสูงขึ้นประมาณ 2-3 เมตร
ชินโยเด็กริมน้ำ
ด.ญ.ชลันธรี ยิ้มวิชา ชื่อเล่น ชินโย อายุ 9 ขวบ เรียนอยู่ ป.3
ชินโยกำลังเดินเล่นกับแมวข้างบ้าน ถ้าชีวิตเด็กบนฝั่งการเดินเล่นข้างบ้านจะเป็นสวนหรือพื้นดิน แต่สำหรับชินโยคือสะพานไม้จากริมฝั่งเจ้าพระยาไปถึงตัวบ้านประมาณ 20 เมตร เสาของสะพานไม้ใช้เป็นราวตากผ้า พื้นด้านล่างมีแต่พื้นน้ำ
เรือบ้านยายลำพอง
ยายลำพอง บัณฑิต อายุ 87 ปี อาศัยอยู่บนเรือมา 60 ปี สมัยก่อนล่องเรือขายถ่าน เรือบ้านลำใหญ่มีทั้งครัว ที่นอน มีไฟฟ้าที่ต่อจากริมฝั่ง ข้างลำเรือมีชานระดับต่ำใช้ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ ซักล้างสิ่งต่างๆ มีเรือลำเล็กไว้ใช้สัญจร ปัจจุบันยายลำพองอยู่กับลูกชาย ชื่อชนะพันณ์ น้ำทองดี
พระอาทิตย์วันใหม่สายน้ำเดิม
พระอาทิตย์วันใหม่สาดแสงลอดใต้สะพาน กระทบพื้นน้ำเจ้าพระยาเป็นสีเหลืองทอง สมยศ ผิวอ่อนดี อายุ 44 ปี สมยศเป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี กำลังอาบน้ำช่วงเช้าอยู่ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สมยศต้องรีบอาบให้เสร็จก่อนที่เรือด่วนเที่ยวแรกจะเทียบท่าตรงใต้สะพาน สมยศอาศัยนอนตามสวนสาธารณะ
ชายหาปลา
ซาเรน เทน ( Saren Then ) อายุ 24 ปี ชื่อนี้คงจะบอกไม่ได้ว่าเป็นคนไทยซาเรนเป็นชาวกัมพูชาบ้านเดิมอยู่พระตะบอง อยู่ประเทศไทยและทำงานก่อสร้างแบบถูกกฎหมายมา 10 ปี ใช้แหเหวี่ยงหาปลาแถวริมฝั่งเจ้าพระยาบริเวณเขตพระราม 3 ปลาที่ได้แบ่งให้เพื่อนที่อาศัยอยู่ด้วยกันลดค่าใช้จ่ายการดำรงชีวิตในเมือง
ความสัมพันธ์สองฝั่งน้ำ
พระสงฆ์หลายรูปออกจากวัดแต่เช้าตรู่เพื่อขึ้นเรือข้ามฝากที่ท่าวังหลังฝั่งธนบุรี ข้ามไปฝั่งพระนครซึ่งจะมีประชาชนมารอตักบาตรเป็นประจำหนึ่งในพุทธศาสนิกชนที่สำคัญคือ “แม่กุหลาบ” ชื่อนี้พระสงฆ์เกือบทุกรูปและหลายวัดในฝั่งธนบุรีจะทราบกันดีว่าต้องไปรับบาตรที่แม่กุหลาบซึ่งทำมาเป็น 10 ปี

เจ้าของผลงาน : ศิริพงศ์ กัญจนบุศย์


อ่านเพิ่มเติม : ผลงานเข้ารอบ 10 ภาพเล่าเรื่อง Season 9 : ‘The Mekong,’ An Edible Civilization

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.