ผลงานเข้ารอบ 10 ภาพเล่าเรื่อง Season 9 : ‘The Mekong,’ An Edible Civilization

ผลงานเข้ารอบ 10 ภาพเล่าเรื่อง Season 9 : ‘The Mekong,’ An Edible Civilization

ผลงานเข้ารอบ 10 ภาพเล่าเรื่อง Season 9 : ‘The Mekong,’ An Edible Civilization

โดย กฤตนันท์ ตันตราภรณ์

แนวคิดสารคดี

แม่น้ำโขง สายน้ำยิ่งใหญ่ที่ทอดตัวผ่านใจกลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นมากกว่าเส้นทางน้ำธรรมดา แต่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนในภูมิภาค สายน้ำอันอุดมสมบูรณ์นี้เป็นบ้านของปลากว่า 1,000 สายพันธุ์ ตั้งแต่ปลาตัวจิ๋วในน้ำตื้นไปจนถึงปลาขนาดใหญ่ในเขตน้ำลึก รวมถึงสาหร่ายเทาที่สำคัญต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายนี้สะท้อนในวิธีการถนอมและปรุงอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น แกงปลา ปลาส้ม หรือลาบปลา แสดงถึงการปรับตัวของชุมชนริมน้ำโขงที่ยังคงเชื่อมโยงกับแม่น้ำอย่างแนบแน่น อย่างไรก็ตาม ความอุดมสมบูรณ์นี้กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสร้างเขื่อน ซึ่งอาจทำลายสมดุลระหว่างความต้องการของมนุษย์และความยั่งยืนทางนิเวศวิทยา ความเร่งด่วนในการอนุรักษ์ระบบนิเวศและมรดกทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ จากปลาแห้งที่แขวนอยู่ในตลาดริมน้ำ ไปจนถึงลาบปลาที่เสิร์ฟในร้านอาหารหรูในกรุงเทพฯ อิทธิพลของแม่น้ำโขงแผ่ขยายไกลเกินกว่าริมฝั่ง เตือนใจเราว่าในภูมิภาคนี้ สิ่งที่คุณกินนั้นเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับสายน้ำอันยิ่งใหญ่ที่หล่อเลี้ยงอารยธรรมนับพันปี

ความหลากหลายของวัตถุดิบอาหารจากแม่น้ำโขง ปลาจากชนิดพันธุ์มากมาย ทั้งปลาแค้ ปลาคัง ปลาเบี้ยว ปลาสงั่ว ปลาโจก แมลง ตัวอ่อนของแมลง หรือแม้แต่ ‘ไก’ หรือ ‘เทา’ สาหร่ายน้ำโขง สะท้อนถึงระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง ซึ่งไม่เพียงเป็นแหล่งอาหาร แต่ยังเป็นรากฐานสำคัญของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น
แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไหลผ่าน 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เมียนมาร์ ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม สายน้ำสีน้ำตาลทอดยาวเป็นเส้นแบ่งธรรมชาติระหว่างประเทศแต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสายใยเชื่อมโยงผู้คนสองฝั่ง เป็นสายชีวิตหล่อเลี้ยงวัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของชุมชนริมฝั่ง
‘ไก’ หรือ ‘เทา’ สาหร่ายในแม่น้ำโขง มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ เป็นแหล่งอนุบาลของปลาและสัตว์น้ำและวัฒนธรรมอาหาร ภาพนี้เป็นภาพขยาย 150 เท่า จากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (SEM) และ การทำสีจำลองแบบ false color เผื่อแสดงจุดเด่น แสดงกลุ่มคลอโรพลาสต์ แหล่งสารอาหารสำคัญในลุ่มน้ำโขง
คุณสุทิน ชาวประมงจังหวัดเลย ใช้วิธี ‘วางอวน’ แบบดั้งเดิมจับปลา หลังจับได้จะ ‘ล่าม’ ปลาไว้ใต้น้ำเพื่อรักษาความสดให้นานที่สุด สะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรประมง
การทำปลาแดดเดียวเป็นภูมิปัญญาในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยเฉพาะในช่วงที่ปลาชุกชุม ชาวบ้านจะแปรรูปปลาโดยตากแดดในที่โล่ง เพื่อเก็บไว้บริโภคในยามขาดแคลน โดยเป็นการนำเนื้อปลาที่แล่แล้วมาตากในที่ที่มีแดดจัดและอากาศถ่ายเทสะดวก
ชุมชนบ้านเดื่อ จ.หนองคาย ทำฟาร์มปลานิลในระบบปิด หรือ การเพาะเลี้ยงในน้ำ (aquaculture) ให้ได้เนื้อปลารสชาติดีเหมือนปลาแม่น้ำ ด้วยการให้ปลาเพาะเลี้ยง’ ว่ายทวนกระแสน้ำเหมือน ‘ปลาแม่น้ำะรรมชาติ’ ทำให้มีกล้ามเนื้อมาก ไขมันน้อย เนื้อไม่เละและมีกลิ่นคาวน้อย
คุณสายัญ เจ้าของร้านอาหารริมโขง ใช้ประสบการณ์หลายสิบปีในการเลือกปลาแม่น้ำแท้ๆ มาปรุงอาหาร เพื่อให้ได้รสชาติเนื้อปลาที่ดีที่สุด สะท้อนความพิถีพิถันในการรักษาคุณภาพอาหารท้องถิ่น
อาหารอีสานโดดเด่นด้วยรสจัดจ้านและวัตถุดิบท้องถิ่นตามฤดูกาล ทั้งสัตว์น้ำ ผักพื้นบ้าน เนื้อสัตว์ และสมุนไพร ความหลากหลายนี้สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้เป็นที่นิยมของคนทั่วโลก
นักท่องเที่ยวหลากหลายมาเยือนริมฝั่งโขงในวันหยุด เพื่อชมและถ่ายภาพความกว้างใหญ่ของแม่น้ำ แม่น้ำโขงกลายเป็นแหล่งพักผ่อนทางจิตใจสำหรับผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ
เด็กริมโขงเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน แสดงถึงความผูกพันระหว่างผู้คนกับแม่น้ำ แม่น้ำโขงไม่เพียงหล่อเลี้ยงชีวิต แต่ยังเป็นแหล่งความสุขที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน การเล่นน้ำกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต

เจ้าของผลงาน : กฤตนันท์ ตันตราภรณ์


อ่านเพิ่มเติม : ผลงานเข้ารอบ 10 ภาพเล่าเรื่อง Season 9 : ชาวจีนข้ามทะเล (Overseas Chinese)

Recommend