ถอดรหัส Immersive Storytelling ผ่านเสวนา ‘Ways We Are Following the Water’” เทคโนโลยีช่วยเล่าเรื่องโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร?

อะไรคือสิ่งที่ซ่อนอยู่ในภาพของการเล่าเรื่องที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ถอดความคิดจากการเสวนา National Geographic Impact Storytelling ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

The mind must see before it can believe คือประโยคที่อธิบายง่าย ๆ ได้ว่า ความเชื่อคือสิ่งที่เกิดขึ้น หลังจากที่ความรู้สึกของเรามองเห็นสิ่งนั้นก่อน

ถ้าใจไม่ถูกเปิดออก ต่อให้พูดดังแค่ไหน ภาพคมชัดเท่าไร ความรู้สึกก็ยังไม่เกิดขึ้นอยู่ดี และประโยคข้างต้นของ Gilbert H. Grosvenor นักภูมิศาสตร์ชาวอเมริกัน นักเขียน และอดีตบรรณาธิการนิตยสาร National Geographic ถูกใช้เป็นสัญญาณเริ่มต้นของเสวนาในปี 2024 ในหัวข้อ Immersive Storytelling for Impact Experience” เซสชั่นการเล่าเรื่องแบบ National Geographic ในงาน Sustainability Expo ที่จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

หากยังจำกันได้ National Geographic Impact Storytelling เมื่อปีที่แล้วได้เชิญอานันด์ วาร์มา (Anand Varma) ช่างภาพผู้คิดค้นเทคนิคการจับจังหวะชีวิตของสัตว์เล็ก ๆ มาเล่าเรื่อง เขาบันทึกการเติบโตของผึ้งภายใน 21 วันในห้องทดลองที่สร้างเองในบ้าน เปลี่ยนโรงรถให้เป็นแล็บศึกษากลศาสตร์การบินของนกฮัมมิ่งเบิร์ด ความสนใจในรายละเอียดที่หลายคนมองข้ามนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัยพฤติกรรมการเคลื่อนที่ของสัตว์ทางวิทยาศาสตร์ ทั้งยังบันทึกภาพอันทรงพลังให้คนทั่วไปได้สัมผัส

ในปีนี้ ณ สถานที่แห่งเดียวกันสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก (National Geographic Society) เลือก มาร์ติน เอดสตรอม (Martin Edström) Immersive storyteller และมาลิน เฟเซไฮ (Malin Fezehai) ช่างภาพรางวัล World Press Photo Award  ผู้เดินทางไปบันทึกเรื่องราวของผู้คนที่กำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลงเรื่อย ๆ โดยทั้งสองเป็นนักสำรวจของเนชั่นเนล จีโอกราฟฟิก (National Geographic Explorer) ที่คลุกคลีกับการบันทึกภาพสารคดีมาอย่างยาวนาน และหนนี้พวกเขาเลือกหัวข้อ  ‘Ways We Are Following the Water’ เพื่อถ่ายทอดวิธีที่พวกเขาเล่าเรื่องโดยมีสายน้ำเป็นศูนย์กลาง

ทำไมต้องเป็น “น้ำ” คำถามนี้เฉลยโดย เมลาที วิจเซน (Melati Wijsen) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม เจ้าของแคมเปญ Bye Bye Plastic ในบาหลี อินโดนีเซีย

เวทีนี้เมลาทีรับบทเป็นผู้ดำเนินการเสวนาและวิทยากรในคราวเดียวกัน เหตุผลที่ต้องเป็น “น้ำ” นั่นก็เพราะว่าส่วนประกอบใหญ่ของโลกล้วนมีน้ำเป็นองค์ประกอบ และก็เป็น “น้ำ” นี่เอง ที่เชื่อมผู้คนเข้าด้วยกัน ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาณถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งจากภัยแล้ง อุทกภัย จนถึงภูมิประเทศที่เปลี่ยนแปลงจากระบบนิเวศน้ำที่เปลี่ยนไป

เมลาที วิจเซน (Melati Wijsen) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม เจ้าของแคมเปญ Bye Bye Plastic ในบาหลี อินโดนีเซีย

ถอดรหัส Impact Storytelling

ไอเดียหลักของเสวนานี้ คือการเชื่อว่า Story ที่ดีนำไปสู่การสร้างการรับรู้ และ Story นี่เองที่เป็นตัวขับเคลื่อน ทำให้ผู้คนที่อยู่ทุกมุมของโลกให้มารับฟัง เปลี่ยนมุมมอง และลงมือทำอะไรสักอย่าง

“โปรเจคของการอธิบายเรื่องน้ำ คือการมองหาชุมชนที่เชื่อมโยงกับน้ำในมิติต่าง ๆ ฉันเดินทางไปหลายแห่งเพื่อดูว่า แต่ละที่มีวิถีชีวิตโดยใช้น้ำเป็นส่วนประกอบอย่างไร และความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ส่งอย่างไรกับน้ำที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาไม่ได้เหมือนเดิม” มาลิน เฟเซไฮ เล่าส่วนหนึ่งของผลงานเธอที่ชื่อ “Life on Water”

การหาจุดเชื่อมต่อระหว่างผู้คนกับน้ำ จึงเป็นหัวใจของการเล่าเรื่องน้ำของมาลิน เธอเชื่อว่าผู้คนสัมพันธ์กับน้ำทางใดทางหนึ่ง ผลงานที่เธอยกมาคือการที่เธอตั้งใจเก็บข้อมูลจากประเทศต่าง ๆ ทั้งหมู่บ้านในทะลสาบ Ganvie ในประเทศเบนิน  ชุมชนในประเทศบังคลาเทศ ที่สร้างบ้านอยู่ในน้ำ ใช้ไม้ไผ่ทำบ้าน มีฟาร์มลอยน้ำที่เป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ให้กับชุมชน

หรือภาพชุมชนอูรอส (Uros) บนทะเลสาบติติกากาบนพรมแดนระหว่างเปรูและโบลิเวีย ซึ่งเกาะเหล่านี้สร้างขึ้นจากพืชท้องถิ่นที่เติบโตในทะเลสาบ และบ้านเรือนต่าง ๆ ก็สร้างบนน้ำเช่นกัน ขณะเดียวกันชุมชนแห่งนี้กำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของทะเลสาบ

“ถึงเช่นนั้น ตัวอย่างที่เปรูสวนทางกับสิ่งที่ฉันพบมาในอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอแลนด์ พวกเขามีชุมชนลอยน้ำที่น่าสนใจเช่นกัน แต่มีลักษณะแตกต่างจากชุมชนอูรอสในเปรูอย่างมาก”

มาลิน เฟเซไฮ (Malin Fezehai) ช่างภาพรางวัล World Press Photo Award  ผู้เดินทางไปบันทึกเรื่องราวของผู้คนที่กำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลงเรื่อย ๆ

ชุมชนลอยน้ำในอัมสเตอร์ดัมเป็นการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ที่ตอบสนองต่อความท้าทายด้านที่อยู่อาศัยและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และลักษณะของบ้านเป็นบ้านลอยน้ำสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นอย่างถาวร ไม่ใช่เรือบ้านแบบดั้งเดิม มีการออกแบบที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพด้านพลังงาน และปรับตัวได้กับระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลง มีระบบน้ำประปา ไฟฟ้า และการบำบัดน้ำเสียเช่นเดียวกับบ้านบนบก และเนื่องจากความสำเร็จของโครงการ มีแผนที่จะขยายชุมชนลอยน้ำในอนาคต ซึ่งทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในเมืองที่มีพื้นที่จำกัดและเสี่ยงต่อน้ำท่วม เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในบริบทเมืองสมัยใหม่

ความหมายของ “น้ำ” ในแต่ละภาพที่มาลินไปพบเจอจึงไม่เหมือนกันสักที่เดียว

 เทคโนโลยีกับการเล่าเรื่อง

ส่วน มาร์ติน เอดสตรอม ที่โดดเด่นเรื่องการนำเสนอภาพด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual Reality) อธิบายว่า ในฐานะช่างภาพ นักบันทึก และนักเล่าเรื่อง เขาพยายามมองหาประเด็นที่สื่อสารถึงความเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขยะพลาสติก ซึ่งเรื่องเหล่านั้นมีใจความสำคัญของเรื่องคือ เป็นเรื่องที่สร้างผลกระทบต่อโลก

แต่จะทำอย่างไรให้สื่อสารนั้นทรงพลัง “ผมพยายามไปให้ไกลกว่าการถ่ายภาพ เพราะยิ่งสื่อสารให้ดีเท่าไร ผู้คนก็อยากจะรู้จักมากขึ้น อยากจะมาเห็นด้วยตาตัวเอง หัวใจของการเล่าเรื่องด้วยเทคโนโลยีไม่มีกฎตายตัว และในอีกทางหนึ่งก็ไม่ต่างอะไรจากการเล่าด้วยภาพถ่ายนั้นคือการคิดที่จะให้ภาพทรงพลังมากที่สุด สื่อสารถึงสิ่งตรงหน้ามากที่สุด แต่การใช้ Immersive คือการเพิ่มเติมเพื่อให้ภาพสื่อสารได้มากกว่าเดิม” มาร์ตินอธิบาย และเล่าถึงการทำงานของเขาที่ใช้สื่อเสมือนจริงพาผู้ชมไปสู่หลากสถานที่

ตัวอย่างที่ถ้ำเซินด่อง (Son Doong Cave) ในเวียดนาม ถ้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก และสร้างประสบการณ์ดิจิทัลการออกสำรวจเชิงวิทยาศาสตร์บนเมานต์เอเวอร์เรสต์ รวมถึง VR Series 3 ตอน ที่ชื่อว่า “พลาสติกในแม่น้ำคงคา Plastic on the Ganges” ที่สร้างให้กับสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก 

“ผมเห็นสิ่งที่เชื่อมต่อกับภายในและภายนอกถ้ำซึ่งก็คือแสงที่ส่องมาจากถ้ำ ทั้งขนาด จำนวนชั้นของหินที่เรียงตัวกันมันมหัศจรรย์มาก ผมจึงตั้งโจทย์ว่าทำอย่างไรให้สิ่งที่ผมเห็นถูกส่งต่อไปให้ดีที่สุด นั่นจึงเป็นที่มาของการนำ Virtual Reality มาช่วย”

การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ภาพอธิบายด้วยตัวมันเองมากขึ้นจึงไม่มีกฎตายตัว มาร์ติน บอกว่า หัวใจในการสร้างงานที่ทรงพลังคือการให้ ภาพสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้ดูได้มากพอ  

“อย่างถ้ำ VR ช่วย สื่อสารให้เห็นจากภายนอกและภายในถ้ำ ถ้ำให้ผู้คนทึ่งว่ามีสถานที่นี้อยู่ในโลก ทำให้คนดูอยากจะมา อยากจะอนุรักษ์ และทำความรู้จักมัน การอธิบายสิ่งที่เห็นตรงหน้าด้วยเทคโนโลยีจึงไปไกลกว่าการสื่อสารความจริงแค่เพียงฟุตเทจที่มี” มาร์ตินอธิบาย และยกตัวอย่างว่า เช่น งานหนึ่งในประเทศเตอร์กิสถาน เขาใช้เทคโนโลยี 3D มาร่วมในงานสารคดีนี้ทำให้ภาพที่ถูกบันทึกก้าวไปอีกขั้น เป็นการสร้าง Interactive Journey ที่ใช้ Data ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ จนทำให้งานทรงพลังมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ Climate change story”

“ผมใช้สื่อเพื่อพาเรื่องราวไปถึงผู้คน เมื่อผู้คนใช้เวลาดูและได้คิด เขาจะเข้าใจมัน เราไม่สามารถพาสถานที่อย่างถ้ำ หรือแม่น้ำไปหาผู้คนได้ แต่เทคโนโลยีพาผู้คนไปได้”

นอกจากนี้ มาร์ติน ยังอธิบายถึงสารคดี  Plastic on the Ganges ซึ่งนำเสนอปัญหามลพิษพลาสติกในแม่น้ำคงคา ซึ่งเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย และซึ่งเขาได้นำสารคดีเรื่องนี้มาให้ผู้ชมได้ชมผ่านแว่น VR ให้ผู้สนใจได้ร่วมรับชมหลังจากจบการเสวนาหลัก

“วิกฤตมลพิษพลาสติกในแม่น้ำคงคา ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก ถ้าผมทำให้ผู้คนในอีกมุมหนึ่งของโลกเห็นภาพที่น่าตกใจของขยะพลาสติกที่ลอยอยู่ในน้ำและกองอยู่บนฝั่ง เพื่อแสดงให้เห็นถึงขนาดของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับแหล่งน้ำสำคัญ พวกเขาก็จะตระหนักและนำไปสู่การลงมือทำอะไรสักอย่าง”

ท่ามกลางโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง การเล่าเรื่องที่ทรงพลังจึงไม่ต่างอะไรกับพาหนะที่พาเราจากอีกที่ไปยังอีกที่หนึ่ง ไม่ว่าจะด้วยการร้อยเรียง เลือกสถานที่ เลือกผู้คนที่เราจะไปสนทนา หรือการใช้เทคโนโลยี และอีกสารพัดวิธีเพื่ออธิบายสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ไปไกลขึ้นกว่าเดิม

ทั้งหมดก็เพื่อทำให้หัวใจของผู้คนได้เปิดออกนั่นเอง


อ่านเพิ่มเติม : Anand Varma วิทยาศาสตร์ผ่านภาพถ่าย และการถอดรหัส “สื่อสารให้ทรงพลัง” แบบ National Geographic ในงาน SX 2023

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.