Anand Varma วิทยาศาสตร์ผ่านภาพถ่าย และการถอดรหัส “สื่อสารให้ทรงพลัง” แบบ National Geographic ในงาน SX 2023

Anand Varma วิทยาศาสตร์ผ่านภาพถ่าย และการถอดรหัส “สื่อสารให้ทรงพลัง” แบบ National Geographic ในงาน SX 2023

Storytelling อันทรงพลังของ National Geographic มีอะไรอยู่เบื้องหลัง ? รวมบทสรุปเสวนาในงาน “เล่าเรื่องอย่างไรให้ทรงพลังแบบ National Geographic” โดย Kaitlin Yarnall – Chief Storytelling Officer ของ National Geographic และ Anand Varma ช่างภาพ National Geographic ในงาน Sustainability Expo 2023

21 วันแรกในชีวิตของผึ้งเป็นอย่างไร? การเกิดของแมงกะพรุนในทะเลเป็นแบบไหน? ชีวกลศาสตร์ของนกฮัมมิ่งเบิร์ดที่ถูกบันทึกแบบวินาทีต่อวินาที, ภาพปรสิตที่ค่อยๆเข้าสู่ชีวิตของแมลงเต่าทองอย่างช้าๆ

ที่กล่าวมาข้างต้นคือส่วนหนึ่งของผลงานที่ถูกนำเสนอในนิตยสาร  National Geographic โดยทั้งหมดนั้นคือผลงานของ Anand Varma (อานันด์ วาร์มา), ช่างภาพมือรางวัล และนักสำรวจของ National Geographic สื่อที่นำเสนอสารคดีวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา วัฒนธรรมมาหลายสิบปี โดยในงาน SUSTAINABILITY EXPO 2023 เราก็ได้ Anand Varma มาถ่ายทอดประสบการณ์ของเขาในหัวข้อ เล่าเรื่องอย่างไรให้ทรงพลังแบบ National Geographic (National Geographic Impact Storytelling)

แต่ก่อนจะถึงคิวของ Anand Varma  งานเสวนานี้เปิดเรื่องด้วยมุมมองของ Kaitlin Yarnall (เคทลิน ยาร์แนล), Chief Storytelling Officer ของ National Geographic ผู้บริหารที่ดูแลภาพรวมด้านการเล่าเรื่อง อันเป็นหัวใจสำคัญของ National Geographic Society ในทุกแพลตฟอร์ม

เธอปูพื้นถึงความสำคัญของการเล่าเรื่องว่า เรื่องที่ดีทำให้สมองของมนุษย์จดจำและเรียบเรียงความคิดได้ง่ายขึ้น เป็นพื้นฐานที่จะทำให้เกิดไอเดียต่างๆ และเรื่องที่โดดเด่นมิใช่เพียงการเดินทางของข้อมูลจากผู้เล่าไปสู่ผู้รับฟังเท่านั้น หากการเล่าเรื่องต้องแฝงไปด้วยอารมณ์ การมีตัวละคร มีสถานที่ ซึ่งทำให้องค์ประกอบของเรื่อง ครบถ้วนและตราตรึงมากยิ่งขึ้น

Kaitlin Yarnall (เคทลิน ยาร์แนล) Chief Storytelling Officer ของ National Geographic กับการบรรยายการเล่าเรื่องแบบ National Geographic

ตัวอย่างของหลักการนี้ Kaitlin พูดถึงตัวละคร โฟรโด แบ๊กกิ้นส์ (Frodo Baggins) ตัวเอกในภาพยนตร์เรื่อง The Lord of the Ring ซึ่งเป็นเพียงคนหนุ่มธรรมดาๆ แต่ต้องทำภารกิจที่แสนท้าทายและแทบจะดูเป็นไปไม่ได้ แต่เขาก็ฝ่าฟัน และพาคนดูไปตลอดทั้งเรื่อง และจากตัวอย่างนี้เราสามารถสรุปบทเรียนได้ว่า หลักการเรื่องที่ดี ควรจะมีองค์ประกอบได้ 4 ข้อหลัก ประกอบด้วย

Character (ตัวละคร) ซึ่งเป็นสิ่งที่พาผู้คนเดินทางตามเส้นเรื่อง และถ้ายิ่งเป็นตัวละครที่ไม่สมบูรณ์แบบ ยิ่งทำให้ผู้คนทั่วไปรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเอง

Emotion (อารมณ์) การกระตุ้นอารมณ์ของผู้ชม ซึ่งเป็นพลังสำคัญของการเล่าเรื่องเลย โดยมี 7 อารมณ์ ที่นักเล่าเรื่องพึงใส่ลงไปในเรื่องราว

  • Awe (ความประหลาดใจ) เพื่อพาผู้ชมไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่
  • Pride (ความภาคภูมิใจ) เพื่อยึดโยงกับตัวตน กระตุ้นให้เกิดการลงมือทำ
  • Parental Love (ความรักแบบพ่อแม่) แสดงถึงความรู้สึกปกป้องดูแล
  • Hope (ความหวัง) ก่อให้เกิดเส้นทางไปสู่อนาคต
  • Sadness (ความเศร้า) ทำให้คนหาทางออก เพื่อให้รู้สึกดีขึ้น
  • Anger (ความโกรธ) ทำให้เกิดแรงกระตุ้นในการลุกขึ้นมาแสดงความรู้สึก
  • Fear (ความกลัว) กระตุ้นสัญชาตญาณเพื่อหนีและต่อสู้ของคน

เช่นเดียวกับเรื่องราวที่ตราตรึง ควรมี Conflict (ความขัดแย้งขอเรื่อง) และ Resolution ที่เสมือนบทสรุป และการคลี่คลายปมขัดแย้งของเรื่อง

ขณะที่โครงสร้างของเรื่อง ก็ควรจะประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก คือ จุดเริ่มต้น (Beginning) ตรงกลาง (Middle) และตอนท้าย (End) หากแต่ในขนบของการเล่าเรื่องก็ขึ้นอยู่กับผู้สร้างสรรค์ว่าจะพาผู้ชมท่องไปในเรื่องเล่าของตนในแบบใด เช่น ในอดีตเราอาจคุ้นเคยกับการโครงสร้างเรื่องแบบการเริ่มด้วย ช่วง Exposition ซึ่งคือช่วงเริ่มต้นและการแนะนำตัวละคร สถานการณ์ ช่วง Rising Action ซึ่งเป็นช่วงที่เล่าถึง การพัฒนาเหตุการณ์ Rising Action ซึ่งจะเป็นปมของเรื่อง ก่อนจะถึงช่วงที่เป็นจุด Climax ซึ่งเป็นจุดพีคที่สุด และทุกอย่างค่อยๆคลี่คลาย เป็นบทสรุป Resolution ของสถานการณ์ทั้งหมด  กระนั้น เมื่อเวลาผ่านไป โครงสร้างของเรื่องก็มีวิธีการใหม่ๆ เช่น ในซีรี่ส์เกาหลี (K-Drama) ซึ่งมีจุด Twist ของเรื่อง ที่ซับซ้อนกว่าเดิม

โครงสร้างของเรื่องก็มีวิธีการใหม่ๆ เช่น ในซีรี่ส์เกาหลี (K-Drama) ซึ่งมีจุด Twist ของเรื่อง ที่ซับซ้อนกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม การจะสื่อสารเรื่องให้ดี หนีไม่พ้นการตั้งเป้าหมาย (Goal) ของการเล่าเรื่องให้ชัดว่าเราต้องการอะไรในเรื่องเล่านี้ รวมไปถึงกลุ่มคนฟัง (Audience) ที่เราต้องการให้เกิดอารมณ์และการกระทำที่มีต่อเรื่องเล่านี้คือใคร

“สิ่งที่สำคัญของเรื่องเล่าที่ดีคือการมีภาพ (Visuals) ที่ดี เพราะ สมองของมนุษย์ประมวลผลภาพได้เร็วกว่าข้อความถึง 60,000 เท่า และ 90 % ของข้อมูลที่ส่งไปยังสมองนั้นเป็นภาพ ขณะที่  70% ของตัวรับความรู้สึกอยู่ในดวงตา ซึ่งนั่นอธิบายว่าทำไม ภาพที่ดี จึงเสริมการเล่าเรื่องได้อย่างไม่มีที่ติ”

ถอดรหัสวิทยาศาสตร์ในภาพถ่าย

เรื่องของภาพที่ทรงพลังนั้น จึงโยนเข้าไปสู่เรื่องหลักที่ Anand Varma   ซึ่งมาแชร์ประสบการณ์ โดยมีคุณ Melati Wijsen ผู้ก่อตั้ง Youthtopia เป็นผู้ซักถาม

Anand เป็นช่างภาพ นักทำสารคดี นักสำรวจของ National Geographic ซึ่งเขาใช้ความรู้จากการเรียนจบสาขาชีววิทยามาบูรณาการผสานกับความชอบด้านการถ่ายภาพธรรมชาติที่มีมาตั้งแต่เด็ก มาสู่ช่างภาพผู้บันทึกเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตด้วยความหลงใหลในวิทยาศาสตร์

Anand บอกว่า หากเราเล่าเรื่องได้เก่งมากพอ จะก่อให้เกิดเป็นอำนาจ อำนาจที่สามารถเปลี่ยนทัศนคติ ความคิด ความเชื่อของผู้ชม สิ่งที่เราจะได้จากผู้ชมคือ ‘ความสนใจ’ เมื่อเราได้ความสนใจจากผู้ชม เมื่อผู้ชมฟังเสียงของเราแล้ว เราอาจใช้มันขับเคลื่อนสิ่งดีๆ ในสังคม

Anand บอกว่า ตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก เขาชอบที่จะใช้ชีวิตอยู่นอกบ้าน สำรวจสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบบ้าน ก่อนจะเดินทางไปที่ต่างๆ และการไปเที่ยวแต่ละครั้งก็จะพกกล้องซึ่งเป็นของพ่อติดตัวไปด้วยเพื่อบันทึกภาพ โดยที่ตอนนั้นยังไม่ได้คิดถึงแนวทางอาชีพ เพราะเป็นเพียงความสนุกและความรักของเด็กชายคนหนึ่งที่มีต่อโลกธรรมชาติ

“ผมยังจำภาพแรกที่ผมใช้กล้องบันทึกภาพสัตว์ครั้งแรกได้เลย วันนั้นผมเจองู แล้วผมก็พยายามถ่ายมัน ผมแค่ต้องการบันทึกเหตุการณ์ตรงหน้าไว้ พอภาพออกมา โอเค, มันไม่ใช่ภาพที่สวยงามอะไร แต่เมื่อเอาให้เพื่อนๆ ดู ทุกคนตื่นตาตื่นใจ และในวันนั้นมันก็ทำให้รู้ว่า ‘ภาพ’ กระตุ้นความรู้สึกต่อธรรมชาติได้”

ภาพงูตัวแรกที่ Anand Varma บันทึกไว้

จุดเริ่มต้นเล็กๆ จึงเป็นการค้นพบตัวเองว่า การถ่ายภาพได้เป็นสิ่งกระตุ้นให้เขามี Passion ต่อโลกธรรมชาติ และเมื่อเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย เขาก็เลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์เพื่อมุ่งหน้าสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ โดยมีความชอบในการถ่ายภาพซ่อนอยู่ กระนั้น “การถ่ายภาพ” กับการเดินทางสู่การเป็น “นักวิทยาศาสตร์” ก็ยังเป็นเส้นขนานที่ยังไม่มีวันได้พบเจอ ตามความคิดของเขาในตอนนั้น

“การถ่ายภาพจะมีเส้นทางอาชีพเป็นอย่างไร” นั่นคือสิ่งที่นักศึกษาหนุ่มถามตัวเองอยู่เสมอ จนกระทั่งเขาก้าวเข้าสู่อาชีพนักวิทยาศาสตร์ และได้ทุนสำรวจของ National Geographic และทำให้เขาเริ่มได้ทำวิจัยเรื่องต่างๆ อาทิ ปรสิตที่ค่อยๆ ห่อหุ้มแมลงเต่าทองก่อนควบคุมพฤติกรรมของแมลงที่มีขนาดใหญ่กสว่า การศึกษาเรื่องผึ้งและการสร้างอาณาจักรของมัน โดยการตั้งกล้องถ่ายภาพตลอด 3 สัปดาห์ตั้งแต่เกิด ซึ่งทั้งหมดล้วนอาศัยการรอ ระยะเวลา และเทคนิคถ่ายภาพแบบพิเศษที่เขาลองคิดค้นขึ้นมา

เมื่อถึงตรงนี่เอง ผู้คนในฮอลล์ ก็ต้องตกตะลึงกับภาพที่เห็นอยู่ข้างหน้า ด้วยพลังของภาพถ่ายที่ Anand  แสดงอยู่บนมอนิเตอร์จอยักษ์ Anand  แสดงภาพบนจอให้เคลื่อนไหว ราวกับต้องการร่ายมนต์ใส่ผู้ฟังในเช้าวันอาทิตย์

ภาพนั้นไล่ตั้งแต่การจับภาพของผึ้งครั้งปฏิสนธิเพื่อได้ตัวอ่อน จนถึง 21 วันแรกของชีวิต ภาพการเคลื่อนไหวของของค้างคาวที่ให้เห็นถึงสรีระ สีหน้า ของสัตว์ที่คนทั้งโลกไม่คุ้นตา โปรเจคการจับภาพนกฮัมมิ่งเบิร์ด ที่เขาศึกษาการเคลื่อนไหวของมันในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การเคลื่อนไหวของปีก การเคลื่อนที่ผ่านสายน้ำซึ่งจำลองสถานการณ์ฝนตก การกินอาหาร  ซึ่งเป็นภาพที่ได้เห็นถึงวิธีการที่เคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ โดยใช้การถ่ายภาพแบบ Slow Motion และอุปกรณ์ชนิดพิเศษเพื่อจับภาพจังหวะและขณะเสี้ยววินาทีที่ธรรมชาติทำงาน

“ทั้งหมดเกิดขึ้นที่บ้าน ในโรงรถ ผมมีห้องทดลองในบ้าน เพื่อวิจัยและศึกษาพฤติกรรมของสัตว์เหล่านี้ พร้อมๆ กับพัฒนารูปแบบของการถ่ายภาพ ผมค่อยๆ เฝ้ารอ เพื่อได้มาซึ่งจังหวะสำคัญ ที่บ้านผมเลี้ยงผึ้งไว้ 1 รัง และผมก็ไปดูว่าพวกมันมีวงจรชีวิตอย่างไร จากนั้นผมก็คิดว่า ถ้ามี ‘วิดีโอ’ ก็น่าจะบันทึกให้เห็นวงจรชีวิตของพวกมันให้ได้จาก 3 สัปดาห์ เหลือเพียง 1 นาที นี่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของผม”

หรืออย่างโปรเจกต์ล่าสุด ที่ Anand เปลี่ยนโรงรถเป็นแล็ปทดลองเลี้ยงแมงกะพรุนน้ำเค็ม โดยใช้เวลานานนับปีเพื่อศึกษาการสร้างรูปทรงของแมงกะพรุน โดยจำลองสภาพการอยู่อาศัย และใช้เครื่องมือเข้าไปถ่ายในตู้อยู่เป็นเดือนๆ จนเห็นภาพที่สิ่งมีชีวิตค่อยๆ ปรับตัวเองเป็นชั้นๆ

ในช่วงหนึ่งของชีวิต Anand เคยพูดกับตัวเองว่า เมื่อเขาอยากจะเอาดีด้านการถ่ายภาพ เวลาเดียวกันนั้น การมีอาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็คงถึงทางตัน ทว่า ภายหลังที่ผลงานภาพถ่ายของเขาทยอยออกมา กลับมีนักวิทยาศาสตร์โทรหาเขาเป็นจำนวนมาก พวกเขาเหล่านั้นล้วนแสดงความขอบคุณ และบอกว่าภาพของ Anand  เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยเป็นอย่างมาก การถ่ายภาพของ  Anand จึงไม่ต่างอะไรจากการทำงานวิทยาศาสตร์ที่ต้องใช้ทฤษฎี และการใช้เทคนิคพิเศษ และแน่นอนว่า ทั้งหมดล้วนเกิดจากหัวใจของนักสำรวจ ที่ต้องการอยากรู้ และเฝ้ารอความเป็นไปของสิ่งมีชีวิต

ที่อเมริกา ผลงานของ Anand  นั้น ถูกนำไปแสดงในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งในพื้นที่จัดแสดง เขาก็ได้วางเส้นทางสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ชมในแต่ละส่วน ไล่ตั้งแต่ การวางภาพนิทรรศการ การทดสอบประสาทสัมผัส ภาพวิดีโอ เสียงการบรรยาย และจบด้วยตู้แมงกะพรุน ซึ่งแน่นอนว่า ภาพตรงหน้าล้วนดึงดูดสายตาของผู้ชม  อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า สิ่งที่เขาประทับใจที่สุดคือการที่เขาได้เห็นมีครอบครัวหนึ่งเดินเข้ามา โดยที่มีเด็กนั่งตรงกลาง เด็กคนนั้นใช้เวลามองภาพที่อยู่ตรงหน้าแบบตาไม่กะพริบ สีหน้าที่ตื่นเต้น และแววตาที่ประหนึ่งเป็นสัญญาณของการสำรวจโลกได้เริ่มขึ้น

“พ่อแม่ของเขาพยายามลากเด็กคนนั้นไปที่อื่น แต่เขาก็สะบัดมือของพ่อออก เพื่อส่งสัญญาณว่าเขาอยากจะดูภาพตรงหน้าต่อ” Anand บอก

เวลาเดียวกันนี้เอง ที่พลังของภาพได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว

ชมการบรรยายหัวข้อ National Geographic Impact Storytelling โดย Kaitlin Yarnall (เคทลิน ยาร์แนล), Chief Storytelling Officer ของ National Geographic,  Melati Wijsen ผู้ก่อตั้ง Youthtopia และ Anand Varma ในงาน Sustainability Expo 2023 ย้อนหลังได้ที่นี่


อ่านเพิ่มเติม : เสพศิลป์ สร้างแรงใจ สู่แนวคิดโลกสมดุลยั่งยืน ที่โซน Better World งาน Sustainability Expo 2023

Recommend